ขึ้นรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกสี เริ่มกันยายน 2568 ทำได้จริงหรือขายฝัน?

นโยบายแจกเงินหมื่นกลุ่มเปราะบาง ที่ทำเอากลุ่มอื่นมองตาปริบๆ เพราะเริ่มไม่มั่นใจว่าจะได้ถ้วนหน้าหรือไม่

อีกนโยบายที่หลายคนลุ้น โดยเฉพาะมนุษย์เงินทั้งหลายที่ใช้บริการรถไฟฟ้า คือ ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกสี ว่า รัฐบาลของ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะทำได้จริงหรือไม่

หลัง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประกาศเดินหน้าแน่นอนทุกเส้นทาง ภายในเดือนกันยายน 2568

หลังนำร่องกดสวิตช์นโยบายค่าโดยสาร รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ตั้งแต่ยุครัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ในส่วนของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายฉลองรัชธรรม ให้อัตราราคาอยู่ที่ 20 บาทตลอดสายทุกสถานี อย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2566

เพราะทั้ง 2 สายรัฐเป็นผู้บริหาร แต่สายอื่นๆ ไม่ใช่ แล้วจะเดินหน้าได้จริงหรือ?

 

ผลจากราคารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่นำร่องสีแดงและสีม่วง พบว่า โดนใจประชาชน เข้าใช้บริการจำนวนมาก ยอดผู้ใช้บริการจึงเกินเป้าหมายที่ตั้ง และมีแววจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง

ทำให้ สุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ระบุ รฟฟท. และหน่วยงานที่รับผิดชอบรถไฟฟ้าสายสีม่วง กำลังรวบรวมข้อมูลยอดผู้โดยสารทั้งหมด เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการขอขยายระยะเวลานโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งประเมินว่าปี 2568 ผู้โดยสารจะเติบโตอีกประมาณ 10%

ข่าวการต่ออายุดังกล่าวน่าจะสร้างความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลเดินหน้า และเริ่มเชื่อต่อเนื่องไปยังรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ว่ารัฐบาลน่าจะทำได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดของตัวนโยบาย พบว่ายากและหินสุดสุด เพราะเผชิญกับหลากปัญหา

 

ปัญหาแรก คือ มหากาพย์การฟ้องร้องปมหนี้ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว คดีที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลา 3 ปี จนถึงวันนี้ยังคงต้องสะสางต่อเนื่องจนกว่าจะคลี่คลาย ดังนั้น การที่รัฐบาลจะเข้ามาปรับค่าโดยสารให้เหลือ 20 บาททุกสถานีนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก

ปัญหาที่สอง รถไฟฟ้าสายบางสีมีเรื่องของสัญญาสัมปทานที่ทางรัฐบาลผูกไว้ร่วมกับเอกชน ซึ่งจะมีอัตราราคาที่กำหนดไว้ ถ้ากดราคาลงเหลือ 20 บาท เอกชนอาจจะมองว่าเป็นการกดกำไรและต้องมี ค่าใช้จ่ายที่ทางรัฐต้องชดเชยเพื่อไม่ให้เอกชนเสียผลประโยชน์

ประเด็นเหล่านี้ ทำให้รองนายกฯ สุริยะ เดินหน้าตั้งคณะทำงานเพื่อแบ่งกันติดตามดูแลรายละเอียดในแต่ละเรื่อง โดยเฉพาะการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และการจัดหาเงินเข้ากองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม สิ่งเหล่านี้ต้องเร่งดำเนินการ

โดยกองทุนตั๋วร่วมจะนำเงินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นเงินส่วนแบ่งรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมาสมทบเข้ากองทุน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท

ซึ่งเงินในส่วนของ รฟม. กระทรวงคมนาคมตรวจสอบกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว สามารถดำเนินการได้

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมจะหาเงินสมทบเข้ากองทุนตั๋วร่วมจากแหล่งเงินอื่นด้วย อาทิ กองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นการนำเงินจากผู้ใช้น้ำมัน มาลดการใช้น้ำมัน ไม่ใช่นำมาจากภาษีประชาชนโดยตรง

 

อีกแนวคิดคือ การซื้อคืนกิจการสัมปทานรถไฟฟ้า ให้กลับมาเป็นของรัฐบาล โดยจะเป็นการปรับเปลี่ยนสัญญาบริหารรถไฟฟ้ามาเป็นรูปแบบที่ภาครัฐเป็นผู้จัดเก็บรายได้เองทั้งหมด โดยจ่ายค่าจ้างเอกชนจากการจ้างบริหารการเดินรถ

เรื่องนี้ รองนายกฯ สุริยะ ให้ข้อมูลถึงแหล่งเงินว่า กระทรวงคมนาคมมีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาถึงแนวทางจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ยึดกรอบกฎหมายที่มีอยู่ อาจต้องใช้เงินมากกว่า 5 แสนล้านบาท และกองทุนนี้จะแยกกับกองทุนที่จะเอาไปอุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าตามร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม

“รัฐบาลไม่ได้ไปยึดสัมปทาน แต่เป็นการซื้อคืนระบบเดินรถ ไม่ใช่การยึด พูดแบบนั้น ต่อไปใครจะกล้าเข้ามาลงทุนกับรัฐอีกในอนาคต” รองนายกฯ สุริยะยืนยัน

แนวทางต่างๆ ข้างต้น ได้เกิดเสียงคัดค้าน วิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะการซื้อสัมปทานจากภาคเอกชนคืนกลับมาเป็นของรัฐบาล ถูกมองว่าเป็นการหาเรื่องผลาญงบฯ ไปช่วยเอกชน

จนรองนายกฯ สุริยะ ต้องออกมาชี้แจงว่า ทำให้ค่าโดยสารถูกลง จะทำให้ประชาชนหันมาเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้ามากขึ้น พร้อมยืนยันจะเดินหน้านโยบาย 20 บาทตลอดสายให้สำเร็จ ไม่หวั่นกับปัญหาอุปสรรคที่ต้องเจอ

พร้อมสวนกลับนักค้านทั้งหลายว่า หลักคิดของผู้บริหารองค์กรที่ดี คือทุกปัญหามีคำตอบ ต่างจากผู้บริหารองค์กรที่ล้มเหลว ซึ่งมักคิดว่า ทุกคำตอบมีปัญหา โครงการรถไฟฟ้า 20 บาทก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้จะมีอุปสรรค ก็มั่นใจว่าจะสามารถหาคำตอบเพื่อทำให้สำเร็จได้

 

ฟากมุมมองจาก เอกชัย สุมาลี อาจารย์ประจำหลักสูตรสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในนักวิชาการสายคมนาคม มองว่า พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เชื่อว่ายังไงก็ต้องเกิดขึ้นจริงอยู่แล้ว เพื่อให้รัฐบาลมีอำนาจกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสี แต่ภาครัฐจะต้องคำนวณรายได้ที่เอกชนและรัฐพึงจะได้ทั้งหมดให้ชัดเจน ต้องใช้ข้อมูลทางวิชาการเข้ามาช่วย

พร้อมทิ้งท้ายว่า การซื้อเวนคืนสัมปทานนั้น ส่วนตัวไม่อยากตัดสินว่าเอื้อฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เพราะสุดท้ายขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างรัฐกับเอกชน สิ่งสำคัญที่สุดคือรัฐควรต้องหาแนวทางเจรจาที่ลงตัว หาทางผลักดันนโยบายนี้ไปต่อให้สำเร็จให้ได้

รถไฟฟ้า 20 บาทครบทุกสายทุกสี จะทำจริงกันยายน 2568 หรือแค่ขายฝันคนไทย เดี๋ยวรู้กัน!!