วงค์ ตาวัน : แค่ไม่กี่วินาทีในคูหา

ในฐานะที่เป็นประชาชนไทยคนหนึ่ง ซึ่งเคยมีสิทธิในการร่วมตัดสินใจทางการเมือง เคยมีอำนาจในมือที่สามารถลงคะแนนเลือกตั้ง ได้เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินชะตากรรมบ้านเมือง แต่สูญสิ้นสิ่งนี้ไปแล้วเกือบ 4 ปีเต็ม นับจากมีการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557

แล้วนี่กำลังส่อว่าจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก ทั้งที่มีการกล่าวสัญญาเอาไว้ล่าสุดว่าเดือนพฤศจิกายนปีนี้

มองในมุมของคนที่หวงแหนสิทธิทางการเมืองของตัวเอง ทั้งเคยภาคภูมิใจ ที่ประเทศชาติเราเป็นบ้านเมืองที่เจริญทางปัญญา เปิดให้ประชาชนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมทางการเมือง

“ไม่ใช่บ้านเมืองป่าเถื่อนล้าหลัง ที่คนแค่หยิบมือเดียวกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านเมือง คนส่วนใหญ่เป็นผู้ถูกปกครอง ซึ่งไม่มีสิทธิมีเสียงใดๆ”

แต่นับจากเราเข้าสู่ยุครัฐประหาร เท่ากับว่าบ้านเมืองเราถอยหลังกลับไปสู่ยุคล้าหลัง

นี่กำลังจะ 4 ปีแล้ว และจะเลื่อนออกไปอีกเป็นปี ย่อมรู้สึกอึดอัดคับข้องใจอย่างยิ่ง

พร้อมกับต้องนึกย้อนกลับไปยังต้นตอความเป็นมาของบ้านเมืองเราในวันนี้

“ใครบ้างที่ควรจะต้องมีส่วนรับผิดชอบ กับการถดถอยของประเทศชาติเรา!”

เป็นการถอยที่ไม่ใช่แค่การเมือง แต่ยังกระทบไปถึงเศรษฐกิจเงินทอง เกิดปัญหาด้านปากท้องมาหลายปี สำคัญสุดคือสูญเสียโอกาสการพัฒนาความเจริญเติบโตของบ้านเมืองไปอย่างทันตา

ที่พูดกันไปทั้งเมืองว่า เรากำลังจะล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายๆ ประเทศนั้น คงจะได้เห็นกันแน่ๆ ในไม่นานนี้

ประการหนึ่ง เพราะเราถูกฉุดให้ถอยหลังต่อเนื่องมาเกือบ 4 ปีแล้ว ประการต่อมา ด้วยสิ่งที่กลุ่มอำนาจเพียงคนหยิบมือเดียวเป็นผู้กำหนด ไม่ว่าจะเป็นกติกาตามรัฐธรรมนูญ 2560 สำทับด้วยยุทธศาสตร์ชาติอีก 20 ปี ซึ่งเน้นมัดมือมัดเท้านักการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอนาคต ไม่สามารถคิดค้นนโยบายใหญ่ๆ ระดับเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศได้

“นี่จะถ่วงรั้งความเจริญเติบโตทุกด้านไปอีกยาวนาน”

มีอย่างที่ไหน เอาคนสูงวัยที่ก้าวไม่ทันสังคมไทยในวันนี้แล้วด้วยซ้ำ ไม่รู้ทันความฉับไวของโลกยุคดิจิตอลในวันนี้

แต่เอาคนเหล่านี้มาเขียนยุทธศาสตร์ล่วงหน้าอีก 20 ปีโน่น ทั้งที่โลกยุคออนไลน์ก้าวไปไกลในทุกๆ วัน

น่าเศร้ากับชะตากรรมของประเทศชาติเราจริงๆ

การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ซึ่งจุดชนวนโดยม็อบนกหวีด ความหมายจริงคือยังไม่ต้องการให้มีเลือกตั้งให้ยาวนานที่สุด อ้างเหตุผลว่า ต้องการให้ปฏิรูปการเมืองให้ดีงามก่อน แต่ปฏิรูปให้ดีงามโดยคนกลุ่มเดียวมากำหนด มันจะสอดคล้องกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้อย่างไร สอดรับกับโลกในความเป็นจริงได้อย่างไร จุดเริ่มต้นก็ไม่เป็นเหตุเป็นผลแล้ว

แน่นอนว่าการชุมนุมประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในเรื่องนิรโทษกรรม เมื่อปลายปี 2556 นั้น ไม่ใช่เรื่องผิด ถ้าหากไม่มีการกำหนดเป้าหมายแฝงเร้นเอาไว้แล้ว

แต่เมื่อรัฐบาลเพื่อไทยยอมปล่อยให้กฎหมายนี้ตกไปแล้วตามกลไกของสภา ทั้งยังยอมยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจใหม่

ถ้าแกนนำบางคนไม่มีเป้าหมายแอบซ่อนอยู่ อีกทั้งแกนนำล้วนแต่เป็นนักการเมืองที่เติบโตมากับประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ควรจะให้ความสำคัญกับการรักษาประชาธิปไตยเอาไว้

“โดยการนำมวลชนที่ตื่นตัวออกมาร่วมชุมนุม ไปร่วมกันเข้าคูหาเพื่อตัดสินชะตากรรมของพรรคการเมืองฝ่ายทักษิณ”

ทั้งจะได้รับชัยชนะบนหนทางของผู้เจริญ คือ หลักประชาธิปไตย ที่สังคมนุษย์ทั่วโลกยอมรับ

ทั้งรักษาระบบการเมืองที่อำนาจการเมืองอยู่ในมือประชาชนเอาไว้ต่อไป

“ทำไมจึงเลือกหนทางที่ไม่รักษาประชาธิปไตยเอาไว้!?”

ชี้ได้เลยว่า มีบางคนเตรียมเอาไว้แล้วว่า จะลงเอยเข้าสู่ยุครัฐประหารและยาวนานด้วย

การกล่าวอ้างว่า ประชาธิปไตยของไทยเรานั้น เต็มไปด้วยความเลวร้าย ควรจะต้องหยุดเพื่อปรับปรุงให้ดีก่อน ระบบที่ใช้อยู่นี้ ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองเพียงแค่เดินเข้าคูหาไม่กี่วินาที จากนั้นอำนาจทั้งหมดก็ไปอยู่ในมือของนักการเมืองโกงกิน

แล้วสรุปว่า เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ได้สะท้อนอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นการเลือกตั้งที่เป็นเหยื่อของกลุ่มทุนการเมืองมากกว่า อะไรทำนองนั้น

“นี่คือข้ออ้างของผู้ที่ต้องการหยุดเลือกตั้ง”

แต่ถามว่าแล้วประชาธิปไตยที่สงบและเจริญในหลายๆ ประเทศทั่วโลกนั้น เขาใช้ระบบนี้หรือไม่

ประชาธิปไตยที่มั่นคงในยุโรป ก็ให้ประชาชนเดินเข้าคูหากาบัตรในเวลาแค่ไม่กี่วินาทีแบบนี้

จะให้เข้าไปใช้สิทธิทีละเป็นชั่วโมงๆ หรือใช้สิทธิได้ทุกวันอย่างนั้นหรือ

“ระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ใช้จริงและก้าวหน้าจริงในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เป็นระบบแบบนี้แหละ ไม่มีอะไรพิสดารไปกว่านี้!!”

ประชาชนเข้าคูหาไม่กี่วินาที แต่คนหลายล้านพร้อมใจกันเลือกตั้งคนไหนพรรคใหญ่มากๆ คนนั้นก็ชนะเลือกตั้ง เมื่อครบวาระ ประชาชนก็จะตัดสินกันใหม่ว่าจะเลือกพรรคเดิมต่อไป หรือเปลี่ยนพรรค และการตัดสินใจของประชาชนไม่กี่วินาทีนั่นแหละ ที่ตัดสินชะตากรรมของพรรคการเมืองและนักการเมืองได้จริงๆ

การพัฒนาการเมืองที่ดีที่สุด มีแต่จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารมาทำให้สะดุด

เลือกตั้งไปเรื่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ พัฒนาการเมืองไปเรื่อยๆ นี่จะเป็นหนทางที่มั่นคงและยืนยาว ดังที่หลายๆ ประเทศเป็นมาแล้ว

คนที่ไม่เชื่อมั่นว่าประชาชนควรมีส่วนร่วมทางการเมือง มักมาจากทัศนะดูหมิ่นประชาชน โดยเฉพาะชาวบ้านในชนบทว่าโง่ เห็นแก่เงินนั่นเอง!

หลังอัยการมีคำสั่งส่งฟ้องแกนนำ กปปส. ในคดีอันเนื่องจากเหตุการณ์ชัตดาวน์เมื่อปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557 ทั้งข้อหากบฏ ก่อการร้าย ขัดขวางการเลือกตั้ง อันเป็นข่าวที่จุดกระแสให้ผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของนกหวีด ออกมาขยายผลกันอื้ออึง

โดยเฉพาะในประเด็นที่ทำให้ประชาชนคนส่วนใหญ่สูญเสียอำนาจทางการเมืองที่มีอยู่ในมือไปแล้ว และยังไม่มีทีท่าจะได้กลับคืนมาง่ายๆ เนื่องจากโรคแม็ปกลับคืนประชาธิปไตยนั้น เลื่อนแล้วเลื่อนเล่า

หลังจากนั้นฝ่ายกองเชียร์ กปปส. ได้ออกมาตอบโต้ทำนองว่า ถ้าไม่มีการชุมนุมต่อสู้ในวันนั้น ป่านนี้บ้านเมืองจะเสียหายร้ายแรงขนาดไหนหาก พ.ร.บ.นิรโทษเหมาเข่ง ผ่านออกมาบังคับใช้

“ถ้าไม่มีนกหวีดในวันนั้น ป่านนี้ชาติจะย่อยยับกับโครงการจำนำข้าวขนาดไหน!”

ฟังถ้อยความที่หยิบยกมาดังกล่าวแล้ว ก็คงจะบอกได้ว่า เป็นความจริงที่การต่อสู้ของ กปปส. ทำให้ พ.ร.บ.นิรโทษตกไป แต่เมื่อตกไปแล้ว เขายอมยุบสภาแล้ว ทำไมไม่เลือกหนทางตามวิถีประชาธิปไตย

“คนที่รักประชาธิปไตยและหวงแหนสิทธิเลือกตั้ง ก็อยากถามกลับว่า แล้วความเสียหายที่เกิดกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน มากมายมหาศาลขนาดไหน!!”

แกนนำ กปปส. ก็ล้วนนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นทั้งสิ้น

วิถีของนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ก็คือ การนำความจริงมาตีแผ่ให้ประชาชนได้รับรู้ ว่าพรรคการเมืองคู่แข่งมีนโยบายเลวร้ายผิดพลาดเช่นไร

“เพื่อให้ประชาชนไปตัดสินใจในขณะเดินเข้าคูหากาบัตร”

ไม่มีนักการเมืองในวิถีประชาธิปไตย ที่ปฏิเสธหนทางนำข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รู้และไปตัดสินใจในวันเลือกตั้ง แล้วไปเลือกหนทางทำทุกอย่างให้ทหารออกมาปฏิวัติรัฐประหาร

อย่างที่เกิดขึ้นในวันนั้น!