‘การเมือง’ เพื่อประชาชน หรือเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง?

ประชาชนที่ติดตาม “การเมือง” หลังเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา จะพบว่าพฤติกรรมของผู้บริหารพรรคการเมืองภายใต้อำนาจของผู้อยู่เบื้องหลังผู้บริหารพรรคอีกชั้นได้ตัดสินใจทางการเมืองครั้งสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลด้วยการทำลายพรรคการเมืองนั้นเองอย่างย่อยยับในสายตาของประชาชน

เริ่มจากการ “ตระบัดสัตย์” ที่ให้ไว้กับประชาชนในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งว่าจะไม่จับขั้วทางการเมืองกับอีกขั้วหนึ่งเพราะมีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน

แต่ในข้อเท็จจริง เมื่อผลประโยชน์ลงตัวก็ “ตระบัดสัตย์” ที่ให้ไว้กับประชาชน สามารถผสมพันธุ์ข้ามขั้ว แล้วอ้างเหตุผลข้างๆ คูๆ ว่าที่รณรงค์หาเสียงไว้นั้นเป็นเพียงเทคนิคการหาเสียง

ประเด็น “การตระบัดสัตย์” คงติดตัวพรรคการเมืองนั้นไปตลอดกาล ชาวบ้านจดจำเพราะการ “ตระบัดสัตย์” เป็นเรื่องร้ายแรงทางคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมือง

 

มีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาที่ทุกพรรคการเมืองล้วนรณรงค์หาเสียงว่ามีนโยบายที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็น “รัฐธรรมนูญของประชาชน”

เมื่อจัดตั้งรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน

แต่ในทางปฏิบัติ รัฐบาลกลับตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาการจัดทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสียเวลาไป 1 ปี โดยไม่มีความคืบหน้าใดๆ กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนตามที่รณรงค์หาเสียงไว้ และที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน

พอลุล่วงมาเป็นรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี นโยบายแก้รัฐธรรมนูญให้เป็น “รัฐธรรมนูญของประชาชน” ยิ่งลดคุณค่าลง

เพราะในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ได้ลดคุณค่าความสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจาก “นโยบายเร่งด่วน” ที่เคยแถลงไว้ในสมัยรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” มาเป็นนโยบายปกติ

แต่ที่แย่กว่านั้นก็คือ เปลี่ยนจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนด้วยการมี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน กลับกลายเป็นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ซึ่งเป็นอำนาจของเสียงข้างมากในรัฐสภา และที่ประชาชนอาจรับไม่ได้เลยก็คือ การขอแก้ไขเป็นรายมาตรานั้นถูกครหาว่าแก้ในประเด็นที่จะเป็นประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องหรือไม่

เหตุใดไม่มอบอำนาจให้ประชาชนด้วยการเลือก ส.ส.ร.เข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

 

มีประเด็นทางการเมืองอีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ สร้างความสามัคคีของประชาชนในชาติด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง กระทำผิดอาญาบ้านเมืองด้วยมีมูลเหตุ มีแรงจูงใจทางการเมือง ทั้งนี้ มีความพยายามที่จะให้คดีความผิดตามมาตรา 112 ได้รับการนิรโทษกรรมด้วย

ประเด็น “นิรโทษกรรม” กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งจะมีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในเร็วๆ นี้

ความจริงแล้ว ถ้าพิจารณารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่มีมาในอดีตของประเทศไทย ล้วนบัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

ดังนั้น จึงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง

ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ขณะเดียวกัน ผู้ใดดูหมิ่น หมิ่นประมาทต่อพระมหากษัตริย์ หรือองค์รัชทายาท เป็นความผิดอันยอมความมิได้

ที่สำคัญ หากมองย้อนไปในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 สภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบกับรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของประชาชนในชาติ โดยรายงานดังกล่าวได้เสนอให้มีการ “นิรโทษกรรม” ดังนี้

นิรโทษกรรมคดีการเมือง คดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ไม่นิรโทษกรรมคดีทุจริต และคดีความผิดตามมาตรา 112

ยกเว้น กระบวนการพิจารณาคดีทุจริตไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม

ผลการพิจารณา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบกับรายงานการศึกษาดังกล่าวอย่างเป็นเอกฉันท์ ไม่มีผู้ใดคัดค้าน

การนำมติสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ที่ให้ความเห็นชอบกับหลักการ “นิรโทษกรรม” มากล่าว ณ ที่นี้ ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าพรรคการเมืองทุกพรรคที่ให้ความเห็นชอบกับรายงานดังกล่าวข้างต้นในขณะนั้น ปัจจุบันทุกพรรคการเมืองที่ให้ความเห็นชอบนั้นก็ยังอยู่ครบถ้วนในสภาชุดนี้ จึงไม่มีเหตุผลใดที่พรรคการเมืองทุกพรรคดังกล่าวจะเปลี่ยนหลักการการนิรโทษกรรมไปจากเดิม

ที่สำคัญ เหตุผลที่ให้ความเห็นชอบในส่วนที่เกี่ยวกับการไม่นิรโทษกรรมคดีความผิดตามมาตรา 112 ก็เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

การปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกพรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

 

อย่างไรก็ตาม การหาทางออกกรณีความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นประเด็นขัดแย้งอยู่ในขณะนี้ มีพรรคการเมืองหนึ่งคือ พรรคไทยสร้างไทย เห็นว่าสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้โดยไม่ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีความผิดตามมาตรา 112 และไม่ต้องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

กรณีแรก เป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้ลงโทษผู้กระทำความผิด ซึ่งมีโทษจำคุก หากผู้กระทำผิดสำนึกในการกระทำ ก็สามารถทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษได้

กรณีที่สอง เป็นกรณีที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ไม่ว่าในชั้นพนักงานสอบสวน หรือชั้นอัยการ ควรมีการแก้ไขกฎหมายให้อำนาจพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจที่จะ “พระราชทานอภัย” ได้ เพราะการกระทำความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดอันยอมความมิได้

นอกจากนั้น เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งในการดำเนินคดีความผิดตามมาตรา 112 ก็ควรแก้กฎหมายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในส่วนของการร้องทุกข์กล่าวโทษ ให้มีคณะกรรมการที่ประกอบด้วย ตำรวจ ฝ่ายปกครอง อัยการ นักวิชาการ กลั่นกรองคำร้องทุกข์คดีความผิดตามมาตรา 112 ก็จะสร้างความมั่นใจกับประชาชนว่าการมีคณะกรรมการดังกล่าวจะช่วยป้องกันการ

กลั่นแกล้งในการดำเนินคดีความผิดตามมาตรา 112 ได้

ทางออกในการแก้ไขปัญหาคดีความผิดตามมาตรา 112 ดังกล่าวข้างต้นนั้น ผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในคณะทำงานที่มีส่วนในการยกร่างนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคให้ความเห็นชอบ จนเป็นมติพรรคในที่สุด

 

การทำงาน “การเมือง” เพื่อประชาชนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้าง “ความเชื่อมั่น” สร้าง “ศรัทธา” ให้เกิดขึ้นกับประชาชนถึงจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและนำไปสู่ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมือง

ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีชุดนี้มีหลายท่านได้รับการเปรียบเปรยว่าเป็น “นอมินี” ของผู้มีอำนาจตัวจริงของแต่ละพรรคการเมือง

กล่าวคือ รัฐมนตรี “ตัวจริง” ไม่อาจเข้ามาทำหน้าที่ได้ด้วยหลายเหตุผลที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย จึงส่ง “นอมินี” เข้ามาทำหน้าที่แทน ในขณะที่เป็นที่ทราบกันดีว่าบ้านเมืองของเราในปัจจุบันมีปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ที่สลับซับซ้อน จึงต้องการบุคคลระดับ “มันสมอง” เข้ามาเป็นรัฐมนตรี เป็นผู้บริหารประเทศ แต่การณ์กลับตรงข้าม เราได้รัฐมนตรีจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยมีประสบการณ์สำคัญใดเลยที่จะให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะบริหารประเทศชาติ แก้ไขปัญหาของประชาชนได้

ทำอย่างไรถึงจะสร้าง “ความเชื่อมั่น” สร้าง “ศรัทธา” ให้เกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้

ในชั้นนี้ผมเห็นว่าปัญหาเร่งด่วนที่จะสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นกับประชาชนก็คือ

1. แทนที่รัฐบาลจะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งถูกครหาว่ากระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง รัฐบาลควรเร่งแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับผ่าน ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยเร็ว มีไทม์ไลน์ให้ประชาชนเห็นชัดเจน

ขณะเดียวกัน มีงานเร่งด่วนอย่างยิ่งคือ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเฉพาะหน้าในปัญหาอุทกภัยทางภาคเหนือ อย่างเร่งด่วนที่สุด

รัฐบาลต้องระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนลงไปฟื้นฟู เยียวยาประชาชนอย่างทั่วถึงและรวดเร็วที่สุด รวมไปถึงการเยียวยาธุรกิจทุกขนาด โดยเฉพาะขนาดเล็กให้ฟื้นตัวเลี้ยงชีพได้ อย่าให้ถึงกับต้องล้มละลายไป

2. การออกกฎหมายนิรโทษกรรมควรยึดหลักการที่สภาชุดที่ผ่านมาให้ความเห็นชอบไว้แล้ว เมื่อ 19 สิงหาคม 2563 ดังกล่าวข้างต้น เหตุผลก็คือ ทุกพรรคการเมืองที่เคยให้ความเห็นชอบในขณะนั้นล้วนอยู่ในสภาชุดนี้ครบถ้วน ไม่มีเหตุผลใดที่จะเปลี่ยนหลักการไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ที่สำคัญเป็นการยืนยันว่าทุกพรรคการเมืองล้วนมีความเห็นในแนวทางเดียวกันคือ ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ

ส่วนการแก้ไขปัญหาคดีความผิดตามมาตรา 112 สามารถดำเนินการแก้ไขได้โดยไม่ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมและไม่ต้องแก้ไขมาตรา 112 เพียงแต่ผู้กระทำผิด หรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด รู้สำนึกในการกระทำ แล้วดำเนินการแก้ไขตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

3. แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ตามที่แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภา

ประเด็นสำคัญที่สุดที่รัฐบาลไม่ได้กล่าวเน้นในนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาเลยก็คือ การปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง ยิ่งการจัดสรรคณะรัฐมนตรีด้วยการแบ่งโควต้าให้แต่ละพรรคการเมืองบริหารกระทรวงต่างๆ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีคุมกระทรวงในส่วนที่พรรคตนเองรับผิดชอบ แนวทางดังกล่าวส่งผลให้คณะรัฐมนตรีขาดความรับผิดชอบร่วมกัน ยิ่งเป็นช่องทางในการบริหารราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้องได้ง่ายยิ่งขึ้น ที่สำคัญ เป็นช่องทางในการทุจริตที่ตรวจสอบได้ยากอย่างยิ่ง

ผู้เขียนมีความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวข้างต้นด้วยความสุจริตใจ โดยไม่มีอคติใดๆ ทั้งให้ข้อเสนอแนะอย่างตรงไปตรงมา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความเห็นโดยสุจริตใจดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาตามที่เห็นสมควร