ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (34)

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

โมฆะสงคราม

ระหว่างการพิจารณาคดีศาลอาชญากรสงคราม จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้อ้างพยานหลักฐานขึ้นต่อสู้ในหลายประการ เช่น ข้อโต้แย้งถึงความเป็น “โมฆะสงคราม” ที่นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มิได้ลงนามในคำประกาศสงครามฉบับลงวันที่ 25 มกราคม 2485 รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่าการเข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่นในการทำสงครามนั้นก็ด้วยความจำยอม เพราะกำลังรบของไทยไม่อาจต้านทานทัพญี่ปุ่นในขณะนั้น ถ้าตัดสินใจต่อสู้จะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ข้อต่อสู้ทั้งหลายของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และจำเลยคนอื่นที่ยกขึ้นนำสืบกันมากมายทั้งหลายทั้งปวงนั้น ในที่สุดแล้วก็หามีผลใดๆ ต่อผลแห่งคำพิพากษาไม่ เมื่อศาลฎีกาพิพากษา ‘ยกฟ้อง’ จำเลยในคดีนี้ทั้งหมด 13 คนในที่สุด

เหตุผลสำคัญของการยกฟ้องมิใช่ว่าจำเลยทั้ง 13 คนได้กระทำความผิดหรือไม่ แต่ด้วย “พระราชบัญญัติอาชญากรสงครามขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 61” จึงทำให้กลายเป็น ‘โมฆะ’

ศาลฎีกาอธิบายความว่า ในช่วงเวลาที่จำเลยทั้ง 13 คนกระทำดังกล่าวยังไม่ได้มีการกำหนดโทษว่า ‘ผิดกฎหมาย’ เพราะพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเพิ่งมีผลบังคับใช้ภายหลังการกระทำเหล่านั้น กล่าวคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม กับพวกกระทำการที่ถูกฟ้องว่าเป็นความผิดระหว่างปี พ.ศ.2482-2487 แต่พระราชบัญญัติได้ตราขึ้นและมีผลบังคับใช้ในภายหลังเมื่อปี พ.ศ.2488 ซึ่งสอดคล้องกับหลักการ ‘Nulla Poena Sine Lege’ หรือ ‘ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ’ อันถือเป็นการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล หากรัฐต้องการลงโทษผู้อยู่ใต้ปกครอง ต้องประกาศให้ทราบล่วงหน้าก่อนว่า การกระทำนั้นเป็นความผิดเพื่อให้บุคคลได้รับรู้และระวังตัว

ศาลยังชี้ด้วยว่า หลักการสำคัญคือบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการกระทำใดๆ ที่ต้องถือว่าถูกกฎหมายทั้งสิ้นตราบที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย การออกกฎหมายย้อนหลังนับเป็นการผิดหลักสิทธิมนุษยชน จึงทำให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม และพวก 13 คนรอดพ้นจากคดีอาชญากรสงครามในที่สุด

 

ในความเป็นจริงแล้ว ได้มีการชี้ให้เห็นจุดอ่อนของการออกพระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่แรกแล้วว่ามีจุดอ่อนเช่นเดียวกับที่ศาลฎีกาชี้ แต่รัฐบาลก็ยังคงเดินหน้าจนกระทั่งสามารถผ่านสภาได้ คำพิพากษาจึงถูกมองว่าเสมือนมี ‘ธง’ นำทางอยู่แล้ว ซึ่งย่อมสร้างความสงสัยให้กับผู้คนเป็นอย่างยิ่ง

มีรายงานด้วยว่าคำพิพากษานี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรพอสมควร รวมทั้งผู้แทนราษฎรไทยบางส่วนก็มีการเคลื่อนไหวคัดค้านข้อพิพากษานั้น แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะจะเป็นการขัดกันซึ่งอำนาจสามฝ่าย (นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ)

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ทำให้เกิดความเชื่อว่าเป็นการสมคบคิดกันเพื่อช่วยเหลือจอมพล ป.พิบูลสงคราม และคณะ ไม่ให้ต้องตกเป็นจำเลยคดีอาชญากรสงครามของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ต้องถูกไต่สวนพิจารณาในศาลต่างประเทศ และนำไปสู่การพ้นผิดจากข้อกล่าวหาด้วยการดำเนินการของศาลไทยในที่สุด

จอมพล ป.พิบูลสงคราม และคณะ ได้รับการปล่อยตัวสู่อิสรภาพเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2489

สุพจน์ ด่านตระกูล แสดงความเห็นไว้ในบทนำ “คำให้การต่อศาลอาญากรสงคราม” ว่า (หน้า 23)

“ท่านปรีดี ด๊อกเตอร์อังดรัว (Docteur en Droit) ทางกฎหมายจากฝรั่งเศส ผู้สนับสนุนให้ออกกฎหมายฉบับนี้ ตระหนักดีว่าจะต้องเป็นไปเช่นนั้น คือเป็นโมฆะ และด้วยความจงใจที่จะให้เป็นเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะ

1. สนับสนุนให้ออกกฎหมายอาชญากรสงครามเพื่อเป็นเครื่องมือจับกุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม กับพวกมาดำเนินคดี อันเป็นการแสดงถึงอำนาจอธิปไตยของไทยในศาลในฐานะประเทศที่มีเอกราชสมบูรณ์ เพราะตามความตกลงของฝ่ายสัมพันธมิตรจะนำตัวบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรสงครามไปดำเนินคดีในศาลอาชญากรสงครามที่สัมพันธมิตรหรือสหประชาชาติตั้งขึ้น ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนั้น จอมพล ป.กับพวกก็จะถูกฝ่ายสัมพันธมิตรนำตัวไปดำเนินคดีที่ญี่ปุ่นหรือนานกิง และคงจะไม่รอดพ้นจากการถูกแขวนคออย่างเช่นโตโจ สหายแห่งวงไพบูลย์ของจอมพล ป. หรือจำคุกตลอดชีวิต ท่านปรีดีจึงได้ชิงออกกฎหมายตัดหน้าสหประชาชาติหรือสัมพันธมิตรเพื่อแสดงความเป็นเอกราชของชาติไทยและอธิปไตยของชาติดังกล่าวข้างต้นนั้นประการหนึ่ง

2. อีกประการหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือให้เพื่อนผู้ร่วมเป็นร่วมตายกันมาในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ปลอดภัยจากการถูกลงโทษของศาลอาชญากรสงครามของสัมพันธมิตร ตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อกันระหว่างเพื่อน 7 คน (ปรีดี พนมยงค์ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ ประยูร ภมรมนตรี ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี หลวงศิริราชไมตรี ตั้ว ลพานุกรม แนบ พหลโยธิน) ที่เป็นผู้เริ่มก่อสร้างคณะราษฎรและเปิดประชุมขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2469 ณ บ้านเลขที่ 10 กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ว่าจะซื่อตรงต่อกันและจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

และท่านปรีดีก็ได้ถือปฏิบัติตามคำมั่นสัญญานั้นตลอดมากับเพื่อนผู้ริเริ่มก่อตั้งคณะราษฎรทั้ง 6 คน นอกจากจะเป็นการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อกันเมื่อครั้งนั้นแล้ว ยังเป็นการสนองต่อการขอความช่วยเหลือของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในกรณีที่ต้องเป็นอาชญากรสงครามในครั้งนี้ด้วย”

ความเห็นนี้ได้รับความเชื่อถือทั่วไปในหมู่ประชาชนไทย ซึ่งหากเป็นจริง ย่อมแสดงให้เห็นว่า สำหรับนายปรีดี พนมยงค์ เยื่อใยแห่งมิตรภาพ “ปรีดี-แปลก” ยังคงดำรงอยู่ ส่วนทางด้านหลวงพิบูลสงครามนั้น จะต้องติดตามต่อไปว่า คิดเห็นแตกต่างไปหรือไม่ อย่างไร

แต่มิตรภาพอันเหนียวแน่นตั้งแต่ครั้งเป็นนักเรียนนายร้อยระหว่าง “แปลก-อดุล” ได้สิ้นสุดลงแล้วอย่างเด็ดขาด และจะเป็นเช่นนี้จนกระทั่งต่างฝ่ายเสียชีวิต

คำถามปริศนามิตรภาพ “ปรีดี แปลก อดุล” จึงได้รับคำตอบแล้วส่วนหนึ่ง

 

การเมืองหลังสงคราม

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงเมื่อ 15 สิงหาคม พ.ศ.2488 นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการยกย่องเป็นอย่างยิ่งจากผลงานเสรีไทย ซึ่งส่งผลดีต่อคณะราษฎรไปด้วย แม้บทบาทครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรซึ่งไม่มีองค์กรสืบทอดอย่างเป็นทางการหลังจากไม่สามารถจัดตั้ง “สมาคมคณะราษฎร” ให้เป็นพรรคการเมืองได้สำเร็จจะเริ่มเลือนหายไปจากความทรงจำของประชาชนไปบ้างแล้วก็ตาม

อดีตผู้ก่อการคณะราษฎรโดยเฉพาะสายพลเรือนบางส่วนยังคงเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่นตามอุดมการณ์ที่มีร่วมกัน ขณะที่พลพรรคเสรีไทยนอกจากความรักชาติแล้วส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยด้วยจึงทำให้หลอมรวมกลายเป็นพลังประชาธิปไตยที่เข้มแข็งขึ้น

ในส่วนของอดีตผู้ก่อการสายทหารบกนั้นอาจกล่าวได้ว่าสูญสลายไปจนแทบหมดสิ้นแล้วทั้งจากผลพวงของการกวาดล้าง “ศัตรูทางการเมือง” ของหลวงพิบูลสงคราม และการลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกจับกุมในข้อหาอาชญากรสงครามของจอมพล ป.พิบูลสงคราม

แต่ที่ยังคงเป็นปึกแผ่นคืออดีตผู้ก่อการสายทหารเรือซึ่งผู้นำคือหลวงสินธุสงครามชัยได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือแล้ว

คณะราษฎรเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงยังคงมีนายปรีดี พนมยงค์ และหลวงสินธุสงครามชัย ผู้บัญชาการทหารเรือเป็น 2 ผู้นำสำคัญ

รวมทั้งหลวงอดุลเดชจรัส และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์ของคณะราษฎรอย่างมั่นคง