ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
“ใครก็ตามที่คิดว่า เรื่องราวของข้าพเจ้าใกล้ถึงจุดจบแล้วละก็เตรียมตัวคิดผิดอย่างมหันต์ได้เลย”Donald Trump
อยากจะขอเริ่มต้นด้วยข้อสังเกตในเชิงมหภาคว่า ถ้าทิศทางการเมืองโลกปัจจุบันเปรียบเสมือนกับการขับรถเข้าโค้งแล้วละก็ สารถีของโลกกำลังเลี้ยวโค้งแบบ “หักศอก” ไปทางขวาอย่างทันที
หรืออาจกล่าวได้ว่าโลกตะวันตกในทศวรรษที่ผ่านมา มีทิศทางการเมืองที่ “เลี้ยวขวา” มากขึ้น
และทั้งดูจะเลี้ยวไปทางขาวมากขึ้นเรื่อยๆ
โลกในยุคของฝ่ายขวา
ในภาวะเช่นนี้ เราก็เห็นถึงการถดถอยของฝ่ายซ้ายในทุกที่ พร้อมกับการเมืองของฝ่ายซ้ายอยู่ในความจำกัดอย่างมาก และไม่ได้มีเสียงสนับสนุนจากมวลชนมากในแบบเก่า อีกทั้งกำลังถูกบดบังด้วยการเมืองของฝ่ายขวาที่ขยับตัวเป็นกระแสสูง หรือในอีกด้าน กระแสซ้ายก็มีสภาพที่ “ขายไม่ออก” มากนักในเวทีการเมือง ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการล่มสลายของอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายนับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามเย็น
จนบางทีเราอาจต้องสรุปในโลกยุคปัจจุบันว่า “เรากำลังอยู่ในยุคของฝ่ายขวา”… ใช่แล้ว เรากำลังอยู่ในยุคของฝ่ายขวาอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศลงแข่งขันการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ และมีโอกาสอย่างมากที่เขาอาจได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่ทำเนียบขาว อันเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของกระแสขวา ที่มีลักษณะเป็น “ขวาจัด” ไม่ใช่ขวากระแสหลักแบบเดิมที่โลกตะวันตกคุ้นเคย
แต่ดังที่กล่าวแล้วว่าฝ่ายขวาในโลกปัจจุบันมีหลากหลายอย่างมาก (หลายสเปกตรัมความคิด) ซึ่งทำให้ต้องถามต่อว่า แล้วขวาแบบไหนเล่าที่กำลังครองกระแสการเมืองโลก
ในมุมหนึ่ง เราจะเห็นถึงฝ่ายขวาที่เป็น “อนุรักษนิยมกระแสหลัก” หรือเป็นกลุ่มคนที่ประกาศตัวว่าเป็นพวก “อนุรักษนิยมเสรี” (liberal conservatism) ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปีกขวากลุ่มนี้มีบทบาทอย่างมากในการช่วยค้ำจุนต่อการดำรงอยู่ของประชาธิปไตยเสรีนับจากการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา และระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถดำรงอยู่ได้โดยปราศจากความสนับสนุนของฝ่าย “ขวากระแสหลัก”
การคิดแต่เพียงว่าประชาธิปไตยอยู่ด้วยกระแสเสรีนิยมอย่างเดียวนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เป็นจริงอย่างแน่นอน
ในอีกมุมหนึ่งของการเมืองปัจจุบัน เราเห็นการเคลื่อนไหวของฝ่ายขวาที่มีลักษณะสุดโต่งและรุนแรง หรือที่เป็น “อนุรักษ์นอกกระแสหลัก” หรือพวกที่เป็น “อนุรักษนิยมไม่เสรี” (illiberal conservatism) ซึ่งก็คือฝ่าย “ขวาจัด” (far right) หรืออาจมีสภาวะที่เป็นพวก “ขวาจัดรุนแรง” (right extremism) จนกลายเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างน่ากังวล
ว่าที่จริงแล้วการต่อสู้ในทางความคิดของอนุรักษนิยม 2 ปีกนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง และว่าที่จริงอาจกล่าวได้ว่า ปัญหาการต่อสู้ 2 แนวทางเช่นนี้ เกิดขึ้นในทุกอุดมการณ์ระหว่าง “กระแสหลัก vs. กระแสสุดโต่ง” และเป็นพัฒนาการของทุกอุดมการณ์การเมืองที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าไม่มีการต่อสู้ทางความคิด ก็เท่ากับว่าชุดความคิดตายไปแล้ว จึงไม่มีข้อถกเถียงทางความคิด
หากย้อนกลับไปมองอดีต เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าชุดความคิดของชาวอนุรักษนิยมยุคแรกเกิดขึ้นเพื่อตอบโต้กับการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 ต่อมา กระแสอนุรักษนิยมในช่วงต้นของศตวรรษที่ 19 เข้ามาเป็นตัวแทนของการเรียกร้องหา “ประเพณีและระเบียบ” (tradition and order) ของสังคมแบบเดิม ที่กำลังถูกคุกคามจากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และการเติมโตของแนวคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยม
หรือที่มักจะกล่าวกันว่า การประสานพลังระหว่าง “ทุนนิยม+เสรีนิยม” คือการสร้างพลังที่ก้าวหน้า พร้อมกับสร้างอุดมการณ์ทางการเมืองของการเป็นประชาธิปไตยเสรีให้เกิดตามมา
การปรับตัวของฝ่ายขวา
แต่สำหรับบรรดาชาวอนุรักษนิยมทั้งหลายแล้ว พวกเขาไม่เคยไว้วางใจกับสิ่งที่เรียกว่า “ความก้าวหน้าของฝ่ายเสรีนิยม” (liberal progress) และไม่เคยยอมรับในเรื่องของ “ความเท่าเทียมแบบประชาธิปไตย” (democratic equality) ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้นำของพวกเขาส่วนหนึ่งมีภูมิหลังมาจากครอบครัวของชนชั้นขุนนางผู้ปกครอง ที่มีสถานะของความเป็นชนชั้นสูงในสังคมติดตัวมาแต่กำเนิด อันทำให้พวกเขาเชื่อในเรื่องของ “ชาติกำเนิด” ทั้งมองว่าการมี “ชนชั้น” เป็นเรื่องของธรรมชาติ ในอีกด้าน พวกเขามีชีวิตแบบ “สุขสบาย”
ฉะนั้น เมื่อต้องต่อสู้ในทางการเมืองแล้ว ผู้นำเหล่านี้เคยแต่เป็นผู้ออกคำสั่ง พวกเขาไม่ใช่คนที่ต้องทำหน้าที่ในการอธิบายทางสังคม จึงทำให้การต่อสู้ของกระแสการเมืองในยุคนั้น คนเหล่านี้มักจะไม่ยอมอดทนต่อข้อโต้แย้ง และทนไม่ได้ที่จะยอมรับถึงความเห็นต่างทางการเมือง กล่าวคือ ฝ่ายขวาไม่มี “ความอดทน” ทางการเมือง
แต่แล้วในที่สุดภายใต้แรงกดดันของลัทธิทุนนิยมและการเมืองเสรีนิยม พวกเขาจำเป็นต้องยอมรับการปรับตัว ด้วยตระหนักว่าถึงเวลาแล้ว ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมต้องการการมี “ปัญญาชนฝ่ายขวา” ของตนเอง ซึ่งจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำทางความคิดให้แก่การสร้างอุดมการณ์อนุรักษนิยมสมัยใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างมั่นคง
ผลของกระบวนการสร้างอุดมการณ์เช่นนี้ ทำให้กลุ่มอนุรักษนิยมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ยอมรับการประนีประนอมครั้งสำคัญในทางความคิด คือการยอมรับ “ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง” (electoral democracy) เข้ามาเป็นส่วนประกอบของความเป็นอนุรักษนิยม หรือเกิดเป็นอุดมการณ์ในแบบ “อนุรักษนิยมเสรี” ที่เป็นแกนความคิดที่สำคัญของฝ่ายขวาในเวทีทางการเมืองของประชาธิปไตยตะวันตกมาอย่างยาวนาน
การยอมรับเช่นนี้อาจมีข้อวิจารณ์ในทางการเมืองตามมาว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมต้องการใช้ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับชุดความคิดของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ (economic democracy) เช่น แนวทางของพวกสหภาพแรงงานนิยม (unionism) พวกสวัสดิการนิยม (welfarism) พวกสังคมประชาธิปไตย (social democracy) ตลอดรวมถึงพวกสังคมนิยม หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการต่อสู้ของฝ่ายขวากับชุดความคิดทางเศรษฐกิจของกลุ่มการเมืองในปีกซ้าย
การต่อสู้ในมิติความคิดทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมเสรีพร้อมที่จะจับมือกับ “ปีกขวาของฝ่ายเสรีนิยม” (right-wing liberalism) ซึ่งก็มีความหวาดกลัวไม่แตกต่างกันต่อปัญหาของการขยายตัวของลัทธิสังคมนิยม บรรดาสหภาพแรงงาน และกลุ่มเศรษฐกิจการเมืองที่สังกัดในปีกซ้ายทั้งหลาย ในพัฒนาการของการต่อสู้เช่นนี้ กลุ่มอนุรักษนิยมเสรีจึงมีสถานะเป็น “อนุรักษนิยมกระแสหลัก” (mainstream conservatives) ในสเปกตรัมของความเป็นอนุรักษนิยม หรือถ้าเป็นพรรคการเมืองแล้ว ชุดความคิดทางการเมืองชุดนี้คือ “พรรคขวากลาง” (the center-right party) ในระบบการเมืองตะวันตก
[เรามักไม่ค่อยมีพรรคแบบนี้ในการเมืองประเทศกำลังพัฒนา ฝ่ายขวาในประเทศเช่นนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นขวาจัด เช่น รัฐบาลเผด็จการทหาร]
ปัญหาของขวากลาง
แต่ความเป็นขวากลางหรือกลุ่มอนุรักษนิยมกระแสหลักนั้น พวกเขาจะต้องเผชิญกับเสียงวิจารณ์อย่างหนักจากฝ่ายอนุรักษนิยม 2 ส่วนหลัก กล่าวคือ เสียงวิจารณ์ติติงในส่วนแรกมาจากพรรคอนุรักษนิยมแบบขวาจัด ซึ่งสมาชิกในพรรคเช่นนี้ไม่มีทางที่จะยอมประนีประนอมกับชุดความคิดของประชาธิปไตยเสรีได้เลย เพราะพวกเขามองว่าชุดความคิดในแบบประชาธิปไตยนั้น เป็นฝ่ายตรงข้ามกับความเป็นอนุรักษนิยม อันทำให้คนในปีกนี้มักมีข้อวิจารณ์ต่อพวกขวากลางอยู่เสมอว่า พวกเขาเป็น “ขวาปลอม” เพราะอิงกับกระแสเสรีนิยม
เสียงวิจารณ์ในอีกส่วนมาจากกลุ่มอนุรักษนิยมที่อยู่นอกพรรคการเมือง พวกเขาเหล่านี้มักจะหยิบยกด้านที่เลวร้าย หรือด้านที่ “ไร้จริยธรรม” ของสิ่งที่โลกแบบเสรีนิยมได้สร้างขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกแบบเสรีนิยมเช่นนี้ มีอนุรักษนิยมกระแสหลักเป็นผู้ร่วมสร้างด้วย ดังนั้น กลุ่มอนุรักษนิยมอีกส่วนที่ไม่ได้สังกัดพรรคเช่นนี้ จึงเป็นที่มาของคำวิจารณ์อย่างมากต่อพวกขวากลางในเวทีการเมือง เพราะมองว่าฝ่ายขวากลางมีท่าทีประนีประนอมกับฝ่ายเสรีนิยมมากเกินไป จนเสียจุดยืนของความเป็นอนุรักษนิยม คือเป็น “ขวาปลอม” นั่นเอง
แต่พัฒนาการของการต่อสู้ทางความคิดภายในกลุ่มอนุรักษนิยมเช่นนี้ ดำเนินไปภายใต้บริบทของการเมืองและเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง และดูจะมีความผันผวนมากขึ้นในช่วงปลายของศตวรรษที่ 20 ต่อเนื่องเข้าสู่ต้นศตวรรษที่ 21 และกลายเป็น “ช่องว่าง” ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มอนุรักษนิยมที่อยู่นอกกระแสหลัก โดยเฉพาะกลุ่มประชานิยมปีกขวา ได้ก้าวเข้ามาเพื่ออ้างสิทธิ์ในการเป็นตัวแทนของความเป็นอนุรักษนิยม เพราะเห็นว่าฝ่ายขวากลางไม่มีพลังในการต่อสู้กับความผันแปรของโลกได้แต่อย่างใด และไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้อง “ประชาชนที่แท้จริง” ที่ถูก “ชนชั้นนำที่ฉ้อฉล” เอาเปรียบ และพวกชนชั้นนำเหล่านี้ยังได้เปลี่ยนแปร “เจตจำนงร่วม” ไม่ให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของ “ประชาชนผู้บริสุทธิ์”
ผลของการเคลื่อนไหวด้วยวาทกรรมเช่นนี้ ทำให้กระแสขวาประชานิยมชุดนี้กำลังครอบทับชุดความคิดของฝ่ายขวาอื่นๆ จนเกิดคำถามด้วยความน่ากังวลว่า ถ้าเช่นนี้แล้วอนุรักษนิยมกระแสหลักที่เป็นขวากลางนั้น จะมีจุดยืนอย่างไรในทางการเมือง?
ปัญหาที่ต้องตัดสินใจ
ฝ่ายขวากลางจะตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับปีกขวาจัด และปล่อยให้ประชาธิปไตยเสรี ที่พวกเขาเคยทำหน้าที่ในการค้ำจุนมาอย่างยาวนานนั้น ต้องเผชิญกับความผันผวนของเศรษฐกิจการเมืองโลก พร้อมกับเผชิญกับแรงต้านจากกระแสประชานิยมปีกขวาอย่างโดดเดี่ยวหรือไม่… กลุ่มอนุรักษนิยมกำลังถูกท้าทายอย่างมากอีกครั้งในท่ามกลางการขับเคลื่อนของกระแสขวาจัด
ดังจะเห็นในการเมืองร่วมสมัยว่า ประชานิยมปีกขวาขยับตัวขึ้นสู่กระแสสูง ทั้งในสหรัฐและในยุโรป และในกระแสสูงครั้งนี้ ไม่มีใครเป็นตัวแทนที่ชัดเจนได้เท่ากับ “โดนัลด์ ทรัมป์” อันเป็นตัวแทนที่ทำให้กลุ่มอนุรักษนิยมอเมริกันกระแสหลักต้องคิดอย่างใคร่ครวญอย่างยิ่ง
ถ้าเช่นนั้นในที่สุดแล้ว พวกเขาจะลงคะแนนเสียงให้กับใครในการเลือกตั้ง 2024 นี้… จะจับมือกับพรรครีพับลิกันที่เป็นฝ่ายประชานิยมเพื่อเอาชนะพรรคเดโมแครตที่เป็นตัวแทนของฝ่ายเสรีนิยม หรือจะลงคะแนนให้กมลา แฮร์ริส ที่เป็นผู้แทนปีกเสรีนิยม เพื่อโค่นล้มโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้เป็นจิตวิญญาณของประชานิยมขวาจัดอเมริกัน
คำถามนี้เป็นความท้าทายที่สำคัญยิ่งในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน… ถึงเวลาที่กลุ่มอนุรักษนิยมเสรีต้องตัดสินใจใหญ่อีกครั้งแล้ว!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022