ขอบคุณข้อมูลจาก | คอลัมน์สาระนิยาย Psy ฟุ้ง |
---|---|
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 ตุลาคม 2567 |
เผยแพร่ |
สัญญาณอันเนื่องแต่การจัดตั้งรัฐบาล การแถลงนโยบายของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีความแจ่มชัดเป็นอย่างยิ่งว่าบทบาทของพรรคเพื่อไทยและแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติจะดำเนินการอย่างไร
นั่นก็คือ พรรคเพื่อไทยต่อสู้ผ่านพื้นที่ในทาง “รัฐสภา” นั่นก็คือ นปช.ต่อสู้ผ่านการชุมนุมในจุดอันเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง
ในเมื่อภายในรัฐบาลไม่เพียงแต่จะมี “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ร่วมด้วยอย่างแนบแน่นใกล้ชิด หากแต่ยังมีตัวแทนของ “กองทัพ” ดำรงตำแหน่งสำคัญทางด้านความมั่นคงอยู่อย่างแทบเป็นเนื้อเดียวกัน
กระนั้น พรรคประชาธิปัตย์ และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็คงไม่คาดคิดว่าเพียงเริ่มปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม 2552 “คนเสื้อแดง” ก็ออกโรง
ขอให้ติดตามจาก “มติชน บันทึกประเทศไทย ปี 2552”
ประเดิมเริ่มจากวันที่ 1 มกราคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานทำบุญที่ท้องสนามหลวง
ขณะเดินทางกลับ มีคนเสื้อแดง 2-3 คนยก “เท้าตบ” ขึ้นมากระพือไล่
โดยวันเดียวกันนั้นนายกรัฐมนตรียอมรับว่ามีรายงานใน “ทางลับ” ว่าอาจไม่ปลอดภัย
แม้จะมี “รายงาน” แต่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็อาจไม่เชื่อ
ไม่เชื่อว่าปฏิบัติการจาก “คนเสื้อแดง” จะมีความต่อเนื่องอย่างชนิดที่เรียกได้ว่าแทบไม่ขาดสาย
เด่นชัดยิ่งว่ารายงานใน “ทางลับ” ใกล้เคียงกับความเป็นจริง
ในวันที่ 2 มกราคม กลุ่มเสื้อแดงภาคเหนือก็เปิดปฏิบัติการขับไล่ขบวนของ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ที่เดินทางไปช่วยหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ในจังหวัดลำปางและจังหวัดลำพูน
พร้อมด่าทอและปาไข่ไก่สดเข้าใส่ นายชวน หลีกภัย และคณะ จนนายชวน หลีกภัย ต้องถอดแว่นตาออกมาเช็ด
นั่นเป็นการเคลื่อนไหวใน “ภาคเหนือ”
จากนั้น ในวันที่ 3 มกราคม ปรากฏกลุ่มเสื้อแดงกว่า 30 คนชุมนุมหน้าประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล
ตะโกนด่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
และป่าไข่ใส่ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีขณะสักการะศาลพระภูมิประจำทำเนียบรัฐบาล
แต่พลาดเป้า
ไม่ว่าสถานการณ์ที่กระทำต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ท้องสนามหลวง ไม่ว่าสถานการณ์ที่กระทำต่อ นายชวน หลีกภัย ระหว่างเดินทางไปภาคเหนือ ไม่ว่าสถานการณ์ที่กระทำต่อ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล
แถลงจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประมวลมาได้อย่างรวบรัด
ได้รับรายงานว่าการเคลื่อนไหวของ “คนเสื้อแดง” ทำกันเป็น “ขบวนการ” เพื่อให้รัฐบาล “ยุบสภา” เลือกตั้งใหม่ภายใน 4-5 เดือน
นั่นก็เห็นได้จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 มกราคม ปรากฏคนเสื้อแดงประมาณ 50 คนรวมตัวประท้วงอยู่หน้าประตูกระทรวงการต่างประเทศตะโกนไล่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกษิต ภิรมย์ ออกจากตำแหน่ง
วันที่ 9 มกราคม ขณะ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ขึ้นรถหาเสียงช่วย นายอภินันท์ ช่วยบำรุง ผู้สมัคร ส.ส.ปทุมธานี เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์
ก็ถูก “คนเสื้อแดง” ปาไข่ใส่ขบวนรถหาเสียง
บันทึก ประเทศไทย ปี 2552 ของ “มติชน” ระบุว่า ในวันต่อๆ มา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและแกนนำพรรคประชาธิปัตย์อีกหลายคนก็ถูกม็อบ “คนเสื้อแดง” ปิดล้อม โห่ไล่ เมื่อลงพื้นที่ต่างๆ
กระทั่งเกิดเหตุการณ์ผู้บริหารหญิงรายหนึ่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถูกตบหน้ากลางงานวันสถาปนามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 24 มกราคม
สถานการณ์จากก่อนรัฐประหาร 2549 หลังการเลือกตั้ง 2550 มีการเปลี่ยน
เมื่อเข้าสู่สถานการณ์ถอดถอน นายสมัคร สุนทรเวช ยุบพรรคพลังประชาชน และการเกิดขึ้นของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปลายปี 2551
เปลี่ยนจาก “พันธมิตร” เคลื่อนไหว เป็น “นปช.” เคลื่อนไหว
ถามว่า ไม่ว่าการเคลื่อนของ “คนเสื้อแดง” พรรคเพื่อไทย ไม่ว่าการตั้งรับของรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ของ นายอถิสิทธิ์ เวชชาชีวะและพันธมิตรโดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนเนวิน ดำรงอยู่อย่างไร
ผลการเลือกตั้ง “ซ่อม” จำนวน 29 เขตในวันที่ 11 มกราคม 2552 คือ คำตอบหนึ่งในทางการเมือง
จำนวน 22 จังหวัด 26 เขต จำนวน 29 ที่นั่งนั้นประกอบด้วย
1 กรุงเทพมหานคร เขต 10 ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ บางขุนเทียน บางบอน 2 เขต 1 ฉะเชิงเทรา 3 เขต 1 นครปฐม 4 เขต 1 นครพนม 5 เขต 2 นราธิวาส 6 เขต 2 บุรีรัมย์ 7 เขต 4 บุรีรัมย์ 8 เขต 1 ปทุมธานี 9 เขต 1 มหาสารคาม 10 เขต 2 ร้อยเอ็ด
11 เขต 1 ราชบุรี 12 เขต 1 ลพบุรี 13 เขต 1 ลำปาง 14 เขต 1 ลำพูน 15 เขต 1 ศรีสะเกษ 16 เขต 2 ศรีสะเกษ 17 เขต 1 สมุทรปราการ 18 เขต 2 สระบุรี 19 เขต 1 สิงห์บุรี 20 เขต 1 สุพรรณบุรี จำนวน 3 คน 21 เขต 2 สุพรรณบุรี จำนวน 2 คน
22 เขต 2 อุดรธานี 23 เขต 1 อุทัยธานี 24 เขต 2 อุบลราชธานี 25 เขต 3 อุบลราธานี 26 เขต 1 อ่างทอง
ผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่า
ฝ่ายรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ได้ 7 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนาได้ 10 ที่นั่ง พรรคเพื่อแผ่นดินได้ 3 ที่นั่ง
รวมเป็นฝ่ายรัฐบาล 20 ที่นั่ง
ขณะเดียวกันฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยได้ 5 ที่นั่ง พรรคประชาราชได้ 4 ที่นั่ง รวมเป็น 9 ที่นั่ง
คะแนนและความนิยมโน้มไปทางด้าน “รัฐบาล” มากกว่าทางด้าน “ฝ่ายค้าน”
เด่นชัดยิ่งว่าระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย ฝ่ายใดเป็นกระแส “หลัก” ฝ่ายใดเป็นกระแส “รอง”
เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มี “กลุ่มเพื่อนเนวิน”
เมื่อรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มีฐานกำลังมหึมาจาก “กองทัพ” อันมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นตัวแทนในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
เมื่อพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในสถานะกุม “กลไก” แห่ง “อำนาจรัฐ”
การสัประยุทธ์ระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านก็ปรากฏขบวนทัพในลักษณะที่เหมือนกับจะคล้ายแต่มีความแตกต่าง
พรรคเพื่อไทยถูกกันออกไปอยู่ “วงนอก”
การเกิดขึ้นของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นการสนธิกำลังครั้งใหญ่ภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549
เป็นรัฐบาลแห่งความหวังตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ใน “รัฐประหาร”
เริ่มจากรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แม้จะถูกคั่นโดยรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ผ่านกระบวนการต่อสู้ที่มี “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” เป็นกองหน้า ประสานกับการระดมอาวุธอย่างที่เรียกว่า “ตุลาการภิวัฒน์” เข้ามา รัฐบาลพรรคพลังประชาชนก็ถูกโค่น แม้กระทั่งพรรคพลังประชาชนเองก็ถูกยุบโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
การต่อสู้จึงอยู่ในมือของพรรคเพื่อไทยและ นปช.
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022