หนทางเยียวยา ‘โลกเดือด’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

คําพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาบอกว่า พ้นจากปลายเดือนกันยายนนี้ ฝนจะตกน้อยลง เนื่องจากมีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือ เป็นสัญญาณเข้าสู่ปลายฝนต้นหนาว ต้นๆ ตุลาคมก็มาลุ้นกันต่อว่ามีพายุพัดเข้ามาฝั่งไทยอีกกี่ลูก

แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศไทยในช่วงตลอดเดือนกันยายนเป็นสัญญาณย้ำเตือนให้รู้ว่า หากไม่มีวิธีรับมือป้องกันวิกฤตภัยให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นๆ อยู่ แนวโน้มจะต้องเจอกับความรุนแรง ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้นอย่างแน่นอน

เมื่อพ้นจากฤดูฝนเข้าสู่ห้วงฤดูหนาว พื้นที่ทางตอนเหนือ อีสานจะเจอกับควันพิษ ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เช่นเดียวกับคนกรุงเทพฯ หนีไม่พ้นกับหมอกควันพิษ ภัยจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จะสร้างความปั่นป่วนอลหม่านกินเวลาราวๆ 2-4 เดือนกว่าจะจบลงด้วยฝนที่เทลงมา ส่วนภาคใต้เผชิญกับมรสุม มีฝนตกแทบทุกวัน

จากนั้นประเทศไทยวนกลับเข้าสู่ฤดูร้อน อาจกลางๆ เดือนกุมภาพันธ์ คนไทยรู้สึกถึงอากาศที่ร้อนสุดขีด ตามมาด้วยภาวะภัยแล้ง

นี่เป็นวงจรธรรมชาติที่มีความผิดปกติจนกลายเป็นความปกติซึ่งรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” จะต้องเตรียมแผนรับมืออย่างสุดกำลัง

 

ในคำแถลงนโยบายเมื่อวันที่ 12 กันยายน “แพทองธาร” บอกว่าคนไทยกำลังเผชิญความท้าทายถึง 9 เรื่อง

1 ในนั้นเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม ภาคการท่องเที่ยว

“ในปี 2567 ประเทศไทยเผชิญกับภาวะภัยแล้งในช่วงครึ่งปีแรกและจะเผชิญกับภาวะฝนตกหนักผิดปกติในช่วงครึ่งหลังของปี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสถานการณ์มลพิษทางอากาศ ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ของไทยยังย่ำแย่ต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีคนป่วยจากมลพิษทางอากาศกว่า 10 ล้านคน ในปี 2566”

คำแถลงดังกล่าวแสดงว่า รัฐบาลและคุณแพทองธารรู้อยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น และกำลังจะเกิดอะไรต่อจากนี้ไป

เมื่อรู้แล้วถ้าไม่สามารถจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความเสียหายมากมายใหญ่โต โอกาสคุณแพทองธารและพรรคเพื่อไทยจะนำทีมกลับมาบริหารประเทศในวาระต่อไปคงเป็นไปได้ยาก

ดังนั้น นับจากนี้ เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความเก่งกาจสามารถของรัฐบาลแพทองธาร

 

กลับมาว่ากันเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมในยุโรป ซึ่งเกิดความเสียหายรุนแรงมากกว่าที่ประเมินเอาไว้ นักวิทยาศาสตร์ของกลุ่มที่มีชื่อว่า The World Weather Attribution (WWA) บอกว่าพายุ “บอริส” ทำให้เกิดฝนตกในช่วงเวลาเพียง 4 วันมีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในยุโรปตอนกลาง

กลุ่ม WWA เอาสถิติอุณหภูมิโลก ย้อนไปเมื่อ 200 ปีก่อนชาวโลกจะพากันเผาถ่านหิน ใช้ก๊าซ น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง มาเป็นแบบจำลองสถานการณ์เทียบกับปัจจุบัน

ผลการประมวลข้อมูลพบว่า อุณหภูมิโลกปัจจุบันสูงขึ้น 1.3 องศาเซลเซียส โอกาสที่ยุโรปเจอพายุอย่าง “บอริส” ในรอบ 100- 300 ปีมีแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แต่ครั้งเดียวชาวยุโรปบอกว่าหนักหนาสาหัสเกินพอ

พายุบอริสถือว่าเป็นพายุสมบูรณ์แบบที่สุดเหมือนกับหนังเรื่อง Perfect Storm กล่าวคือ มวลอากาศเย็นจากเทือกเขาเอลป์ปะทะกับมวลอากาศร้อนพัดมาจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลดำทำให้เกิดมวลน้ำฝนเททะลักใส่พื้นที่ 7 ประเทศในยุโรปตอนกลาง

ปรากฏการณ์น้ำท่วมยุโรปเมื่อวันที่ 12-16 กันยายน อุณหภูมิผิวโลกอยู่ที่ 1.3 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิพุ่งสูงเป็น 2 องศาเซลเซียส ปริมาณฝนจะมากขึ้นอีก 5 เปอร์เซ็นต์ และเกิดขึ้นถี่กว่าเดิมมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์

แต่ที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถค้นหาคำตอบได้ว่า ทำไมพายุบอริสจึงสามารถอุ้มมวลน้ำฝนมหาศาลและเทน้ำฝนตลอด 4 วันเต็มๆ

นักวิทยาศาสตร์รู้แต่เพียงว่า ทวีปยุโรปมีอุณหภูมิเพิ่มสูงที่สุด เร็วที่สุดเมื่อเทียบกับทวีปอื่นๆ ในช่วง 5 ปีย้อนหลัง ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิของทวีปยุโรปอยู่ที่ 2.3 องศาเซลเซียส

เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว มีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับปรากฏการณ์คลื่นความร้อนที่เกิดในยุโรปถี่บ่อยมาก และเมื่อฝนตกก็ตกหนัก ปริมาณน้ำฝนมหาศาลทำให้เกิดน้ำท่วมกินพื้นที่กว้าง

 

ปรากฏการณ์น้ำท่วมอันเป็นผลจากพายุ “บอริส” ถล่มซึ่งทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจหลายพันล้านยูโร แต่มีผู้เสียชีวิต 24 คน ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2540 และปี 2546

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากรัฐบาลต่างๆ ในยุโรปตอนกลาง ยกระดับเทคโนโลยีการพยากรณ์อากาศ การเฝ้าระวัง ระบบเตือนภัยและการเตรียมแผนอพยพผู้ประสบภัยให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

แม้ทุกประเทศจะมีแผนป้องกันวิกฤตภัยน้ำท่วมดีเลิศขนาดไหน แต่ถ้าชาวโลกยังไม่ผนึกกำลังหยุดยั้งการปล่อยปริมาณก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลก อย่างที่ให้คำมั่นสัญญา “กรุงปารีส” เมื่อปี 2558 ว่า

ทุกประเทศต้องรักษาอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และคำมั่นที่ว่าจะจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซพิษที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ให้อยู่ในระดับเดียวกับที่ต้นไม้ ดินและมหาสมุทรดูดซับได้ ในช่วงเวลาปี 2593-2643

แน่นอน วิกฤตภัยที่มาจากภาวะโลกเดือด ทั้งพายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง และคลื่นความร้อนจะเกิดขึ้นหนักหนาสากรรจ์กว่านี้

 

รายงานล่าสุดขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา ยืนยันว่า ผลการตรวจสอบความเข้มข้นก๊าซพิษในชั้นบรรยากาศโลกสูงเป็นประวัติการณ์ ในระหว่างปี 2564-2566 ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลกสูงขึ้น 1.2 เปอร์เซ็นต์ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีปริมาณ 57,400 ล้านตัน

ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน และไนตรัสออกไซด์ เพิ่มขึ้นสูงทำสถิติใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว

นี่เป็นข้อมูลบอกให้รู้ว่า คำมั่นสัญญาของประเทศต่างๆ ที่ให้ไว้เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นแค่ลมปาก ในทางเป็นจริงกลับทำตรงกันข้าม

หลายๆ ประเทศปล่อยให้ชาวบ้าน โรงงานปล่อยก๊าซพิษอย่างมันมือ ไม่มีกฎกติกาบังคับใดๆ เพราะมุ่งเน้นความเจริญทางเศรษฐกิจมากกว่าผลกระทบจากภาวะโลกเดือด

ที่น่าฉงนมากไปกว่านั้น คือการโค่นทำลายป่า ทั้งที่ทุกคนรู้ว่า ป่าไม้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการดูดซับก๊าซพิษ ช่วยลดอุณหภูมิ ลดผลกระทบจากน้ำป่า น้ำท่วม และป้องกันดินโคลนถล่ม

ปีที่แล้ว ทั่วโลกร่วมกันโค่นป่าโดยเฉพาะในเขตร้อนชื้นรวมแล้วกว่า 23 ล้านไร่ หรือทุกๆ 1นาที พื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์โดนทำลายเทียบเท่า 10 สนามฟุตบอล ดังนั้น ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้นไม้จะดูดซับแล้วคายออกมาเป็นออกซิเจน ก็หายไปราว 2.4 ล้านกิ๊กกะตัน หรือเท่ากับปริมาณเชื้อเพลิงชาวอเมริกันปล่อยออกมาในช่วงครึ่งปี

ปรากฏการณ์เกิดภัยพิบัติที่มาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศนั้น นอกจากจะต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเกาะติดการเคลื่อนตัวของพายุ การคำนวณทิศทางพายุที่ให้ความแม่นยำมากขึ้น และการสร้างระบบเตือนภัยใหม่ๆ สำหรับการรับมือกับน้ำท่วม แต่ถึงกระนั้น การปลูกต้นไม้และการดูแลรักษาป่ายังเป็นทางออกที่ช่วยลดอุณหภูมิโลกอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

ป่าไหนที่มีต้นไม้หนาแน่น ป่าแห่งนั้นจะมีน้ำไหลตลอดทั้งปี เพราะต้นไม้ช่วยดูดซับน้ำเอาไว้เมื่อฝนตกลงมา เท่ากับช่วยชะลอความเร็วของกระแสน้ำเอาไว้ ป้องกันดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลาก

 

ภาพเหตุการณ์น้ำป่าและดินโคลนที่ไหลทะลักจากภูเขาสูงบริเวณ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ถล่มบ้านเรือนอาคาร ทั้งเจิ่งไปด้วยผืนน้ำและดินโคลน บางบ้านสูง 2 ชั้นมีโคลนอัดแน่นเกือบติดหลังคา

เหตุการณ์ที่แม่สายเป็นตัวอย่างชัดเจนว่า การโค่นทำลายป่าและสร้างชุมชนอย่างไร้แบบแผนเป็นต้นเหตุแห่งหายนะ เพราะฝนตกหนัก น้ำที่สะสมเหนือยอดเขาก็ไหลทะลักด้วยความเร็ว แรง เนื่องจากไม่มีต้นไม้ช่วยสกัดเอาไว้

การมีป่าไม้จึงเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งยวดเพราะช่วยป้องกันไม่ให้ดินถล่ม และชะลอกระแสน้ำทำให้น้ำไม่เอ่อท่วมอย่างฉับพลัน ชาวบ้านในพื้นที่ยังมีเวลาพอที่จะโยกย้ายอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยง

ที่ใดป่ายังสมบูรณ์จะเป็นแหล่งสร้างสมดุลทางธรรมชาติ มีพืชพันธุ์นานาชนิด มีสัตว์ป่าอย่างหลากหลาย เป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งท่องเที่ยวช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคอีกด้วย

ขอฝากรัฐบาล “แพทองธาร” ไว้ตรงนี้ ถ้าต้องการแก้ภัยแล้ง น้ำท่วม และหวังให้ไทยเป็นผู้นำอาเซียนในด้านลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เป็นศูนย์กลางซื้อขายคาร์บอนเครดิตของอาเซียนผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทย อย่างที่ประกาศไว้ในนโยบายรัฐบาล

ก็โปรดช่วยจัดงบฯ ลงทุนปลูกป่า ปลูกต้นไม้ให้เขียวชอุ่มเต็มพื้นที่ทั่วประเทศ •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]