ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 กันยายน - 3 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ศัลยา ประชาชาติ |
เผยแพร่ |
สถานการณ์ค่าเงินบาทช่วงนี้ “แข็งค่า” ค่อนข้างเร็วและแรง ทำสถิติแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 19 เดือนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด เปิดตลาดวันที่ 24 กันยายน อยู่ที่ 32.99 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อํานวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าเร็วมาก ในเวลาแค่ไม่ถึง 3 เดือน ตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 3 ถึงปัจจุบัน แข็งค่าแล้วกว่า 10% เป็นรองแค่ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียที่แข็งค่า 12%
“เมื่อเทียบคู่ค้า คู่แข่งสำคัญ เงินบาทถือว่าแข็งค่ามากและเร็ว ซึ่งจะกระทบกับผู้ส่งออก โดยเฉพาะที่ใช้ต้นทุนวัตถุดิบในประเทศสัดส่วนค่อนข้างมาก จะเสียประโยชน์ในด้านราคา นอกจากนี้ เงินบาทยังผันผวนสูงมาก แนะนำผู้ส่งออกว่า ตอนนี้ไม่ใช่จังหวะขายดอลลาร์ ถ้ามีโอกาสรอได้ แนะนำให้รอก่อน หรือทำเฮดจิ้ง ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เพื่อล็อกรายได้ จะได้ไม่ต้องมาลุ้นว่าเดี๋ยวค่าเงินจะแข็งไปอีก”
น.ส.รุ่งกล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองกรอบค่าเงินบาทสิ้นปี 2567 ที่ 32.80-34.00 บาทต่อดอลลาร์
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขณะนี้ ต้องยอมรับว่ามีผลกระทบต่อกำไร และสภาพคล่องของผู้ส่งออกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร แต่ช่วงนี้เป็นช่วงส่งมอบสินค้าเดิม ผลกระทบจะไม่รุนแรงนัก แต่คำสั่งซื้อใหม่ที่จะเข้ามาในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ไปจนถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 น่าเป็นห่วงว่าจะมีผลกระทบอย่างมากกับผู้นำเข้าสินค้าไทย
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนให้ความเป็นห่วงเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง จนถึงระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ จากเดือนก่อนหน้านี้ เงินบาทยังเฉลี่ย 35-36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งค่าเงินบาทที่แข็งค่า กระทบต่อความสามารถการแข่งขันของไทย โดยทุกการแข็งค่า 1 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ข้าวไทยแพงขึ้น 15-30 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งจะบั่นทอนให้ไทยส่งออกข้าวได้ยากขึ้น
“เวลาประมูลข้าว มีโอกาสน้อยที่ไทยจะชนะประมูล เพราะเมื่อเทียบเงินบาทแข็งค่าวันนี้ ราคาส่งออก (FOB) ปากีสถานไม่เกิน 510 ดอลลาร์ต่อตัน แต่ต้นทุนไทยต้องขาย 560 ดอลลาร์ต่อตัน โดยจะเห็นผลกระทบการส่งออกในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ และการส่งออกข้าวในปี 2568 ที่อาจจะลดลง เหลือแค่ 6.5-7.5 ล้านตัน จากเงินบาทที่แข็งค่า และการเข้ามาส่งออกของข้าวอินเดียในรอบ 2 ปี”
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงพยายามดูแลค่าเงินบาทไม่ให้หลุดกรอบ 33 บาทต่อดอลลาร์ โดยผู้ประกอบการจำเป็นต้องป้องกันการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าเพิ่มขึ้น จากปัจจัยการเงินไหลเข้า
“ล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดดอกเบี้ยลงแบบเร็วและแรง 0.50% ซึ่งน่าจะถึงเวลาที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ควรพิจารณาปรับลดดอกเบี้ย ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ประกอบการภาคการส่งออก และภาคท่องเที่ยวและบริการ สามารถแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น”
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เฟดปรับลดดอกเบี้ย 0.50% ถือว่าไม่น้อย แต่ตลาดได้รับรู้ และเกิดผลไปก่อนหน้านี้แล้ว เช่น ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า ส่งผลให้สกุลเงินในภูมิภาคและเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น และกระทบตลาดเงินผ่านอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) บ้าง ส่วนผลกระทบในแง่เศรษฐกิจไม่ได้มาก เพราะเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่พึ่งพาระบบธนาคาร
อย่างไรก็ดี เงินบาทแข็งค่าและผันผวนเร็วในช่วงหลัง โดยนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันแข็งค่าแล้ว 3.1% ซึ่งเดิมแข็งค่าใกล้เคียงกับมาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันใกล้เคียงเกาหลี นอกจากปัจจัยดอลลาร์อ่อนค่าแล้ว ไทยยังมีผลจากปัจจัยของราคาทองคำที่สูงเป็นประวัติศาสตร์ เนื่องจากสกุลเงินบาทมีความสัมพันธ์กับราคาทองคำมากกว่าประเทศอื่น และเคลื่อนไหวสูงกว่าภูมิภาคทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
ทั้งนี้ หากดูผลกระทบเงินบาทต่อภาคการส่งออก จะเห็นว่าในเชิงปริมาณของการส่งออกไม่ได้ปรับลดลง แต่ยอมรับว่าจะกระทบต่อส่วนต่างกำไร (มาร์จิ้น) บ้าง
“เราไม่อยากเห็นค่าเงินบาทผันผวนเร็วและเยอะ แต่ช่วงหลังผันผวนเพิ่มขึ้น โดยสิ่งที่เราทำ คือ 1. ดูที่มาของการแข็งค่ามาจากปัจจัยอะไร ซึ่งมาจากดอลลาร์อ่อนค่า จากเฟดลดดอกเบี้ย เป็นการปรับไปตามกลไกตลาด แต่สิ่งที่ไม่อยากเห็นคือ การแข็งค่าที่ไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐาน เช่น การเก็งกำไรค่าเงิน หรือ Hot Money ซึ่งดูตอนนี้ยังไม่เห็น”
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวด้วยว่า สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินมองว่า แม้ว่าเฟดปรับลดดอกเบี้ย 0.50% ไม่ใช่เฟดลดแล้ว ไทยต้องลดตาม เนื่องจากไทยไม่ใช่ประเทศที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ โดยการดำเนินนโยบายการเงินของไทย ยังคงยึดกรอบ 3 ด้าน คือ 1. แนวโน้มเศรษฐกิจเข้าสู่ศักยภาพ 2. เงินเฟ้อกลับเข้ากรอบเป้าหมาย 1-3% และ 3. เสถียรภาพระบบการเงิน
ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ระดับศักยภาพ โดยพิจารณาจากข้อมูลมองไปข้างหน้า (Outlook Dependent) มากกว่าข้อมูลปัจจุบันหรือตัวเลข GDP ซึ่งจะไม่ทันการณ์ เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะกลับเข้ากรอบ แม้ว่าจะช้ากว่าคาดการณ์ ดังนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไม่ได้มีการเปลี่ยนไปจากเดิมและเป็นไปตามอย่างที่คาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ ธปท.กังวล จะเป็นเรื่องของเสถียรภาพระบบการเงิน จะเห็นว่าความเสี่ยงทางด้านเครดิต (Credit Risk) สูงขึ้น ทำให้การปล่อยสินเชื่อเข้มข้นขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ ธปท.ติดตามใกล้ชิด
“เราไม่ได้ยึดติดว่าดอกเบี้ยจะต้องอยู่เท่านี้ เราพร้อมเปลี่ยนแปลงหาก Outlook เปลี่ยน และตอนนี้ยังไม่จำเป็นต้องมีการประชุมนัดพิเศษ”
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวด้วยว่า การปรับลดดอกเบี้ยจะต้องพิจารณาและชั่งน้ำหนักว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากแค่ไหน และจะกระตุ้นหนี้ใหม่เยอะแค่ไหน โดยปัจจุบันจะเห็นว่าครัวเรือนมีปัญหาหนี้ไม่น้อย แต่หนี้ก็มีทั้งอัตราดอกเบี้ยลอยตัว และดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) ดังนั้นไม่ใช่ลดดอกเบี้ยแล้ว ภาระหนี้จะลดลงทันที
ดูแล้วน่าจะชัดเจนว่า การประชุม กนง. ในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ คงยังไม่เห็นการลดดอกเบี้ย ซึ่งบรรดานักเศรษฐศาสตร์มองกันว่า รอบเดือนธันวาคมมีโอกาสมากกว่า
แต่หากผู้ส่งออกได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้น แรงกดดันต่อ ธปท. ก็จะเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022