‘คนไทยเป็นคนขยัน’

(Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP)

ตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่มักกรอกหูผมว่าประเทศไทยไม่เจริญเพราะคนไทยไม่ขยัน แต่สัปดาห์ก่อนผมพบปะเพื่อนฝรั่ง เขากำลังจะเปิดร้านใหม่ที่บ้านเกิด กำลังหาคนมาทำงานเพิ่ม เขาว่ากำลังมองหาคนไทยเป็นหลัก ด้วยเหตุผลว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเขาพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ขยัน

ผมไม่ได้ไถ่ถามต่อมากนักเพราะไม่มีใครรู้จักจะแนะนำเพื่อนฝรั่งท่านนี้ แต่ติดใจกับสิ่งที่เขาพูด เพราะมันขัดกับอะไรที่ผมได้ยินมาทั้งชีวิต จนเกิดเป็นคำถามว่าตกลงคนไทยขยันหรือขี้เกียจกันแน่

คิดเร็วๆ คำตอบหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือคนไทยก็เหมือนคนทุกเชื้อชาติทั่วโลก คือมีนิสัยใจคอแตกต่างกันไป บางคนขยัน บางคนขี้เกียจ ทีนี้นายจ้างจะมีภาพจำอย่างไรก็ขึ้นกับว่าเขา“ดวงดีเจอคนไทยที่ขยัน”หรือดวงร้ายเจอคนขี้เกียจ

ถ้าเป็นเช่นนี้ก็แปลว่าที่ผ่านมาเพื่อนฝรั่งผมค่อนข้างโชคดีเป็นส่วนใหญ่

แต่ตอบเช่นนี้ก็ชวนเปิดคำถามต่อว่าแล้วปัจจัยอะไรที่ทำให้คนไทยหรือคนทุกเชื้อชาติบนโลกแต่ละคนขยันหรือขี้เกียจแตกต่างกันไป

คำตอบเร็วๆ ต่อคำถามใหม่นี้ก็อาจเป็นว่าขึ้นกับการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อม

ถ้าพ่อแม่คนรอบตัวขยัน เด็กก็จะโตมาขยัน

แต่ก็นั่นแหละ ตอบเช่นนี้คนก็ถามต่อไปได้อีกว่าแล้วปัจจัยอะไรที่ทำให้พ่อแม่ของเขา รวมถึงปู่ย่า รวมถึงทวดเทียด และก่อนหน้านั้นขยัน จนสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เขาโตมาขยันไปด้วย

 

งานประวัติศาสตร์เศรษฐกิจหรือเศรษฐศาสตร์พัฒนาที่ผมมีความรู้ระดับงูๆ ปลาๆ อาจมีคำตอบบางประการสำหรับเรื่องนี้

เช่น อธิบายว่ากลุ่มคนที่เกิดในพื้นที่ที่ทรัพยากรรุ่มรวย ออกไปหาผักหาปลากินได้ง่ายก็จะมีแนวโน้มโดนทรัพยากรอันรุ่มรวยสาปให้ขี้เกียจเพราะชีวิตไม่ต้องดิ้นรน นอนกลิ้งไปวันๆ หิวขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ออกไปเดินหาอะไรกินได้ง่ายๆ

คำตอบมากกว่านี้ผมไม่รู้ แต่ที่พอรู้นี้ก็ยังไม่ใช่คำตอบที่ผมพอใจเท่าไหร่ เพราะถ้าบอกว่าคุณภาพของทรัพยากรกำหนดนิสัย คนอเมริกันคงเป็นชนชาติที่ขี้เกียจที่สุดในโลกไปแล้วหากพิจารณาจากความรุ่มรวยของทรัพยากรในทวีปอเมริกาเหนือ

ซึ่งก็ไม่เป็นจริง

นอกจากนี้ ผมดันจำได้ด้วยว่าสมัยเรียน มหาวิทยาลัยเคยเชิญนักเศรษฐศาสตร์พัฒนาชื่อดังอย่างฮาจุน ชาง มานำเสนองาน จำได้ว่าตอนเขานำเสนอ ชางโชว์บันทึกของคนที่เดินทางไปญี่ปุ่นและเยอรมนีในอดีต

ตอนนั้นจำได้ว่าผมตื่นตาตื่นใจไม่น้อย เพราะบันทึกทั้งหมดบอกเล่าถึงความขี้เกียจไว้ใจไม่ได้ของคนชนชาติเหล่านี้ ซึ่งมันต่างเหลือเกินจากความเข้าใจของเราในปัจจุบันว่าทั้งสองคือหนึ่งในชนชาติที่ขยันเอาการเอางานหรือจริงจังกับการทำงานมากที่สุดในโลก

ดังนั้น ถ้านิสัยเปลี่ยนกันได้ เรื่องที่ว่านิสัยคนผูกติดกับทรัพยากรในพื้นที่ก็ไม่น่าจะจริง

แล้วอะไรคือปัจจัยทางสังคมที่หล่อหลอมความขี้เกียจหรือขยัน?

 

ผมไม่มีคำตอบเบ็ดเสร็จ พิสูจน์ชัดทางวิชาการ แต่เรื่องนี้ชวนผมนึกถึงคุณป้าท่านหนึ่งที่ผมเคยไปพำนักอยู่ด้วยสมัยไปแลกเปลี่ยนทำวิจัยที่อเมริกา

ไม่รู้ว่าเรื่องราวชีวิตของแกจะเป็นจริงโดยทั่วไป (generalised) มากน้อยแค่ไหน

แต่ก็น่าสนใจสำหรับผมไม่น้อย เพราะคุณป้าแกเคยเป็นทั้งคนไทยที่ขี้เกียจก่อนเปลี่ยนมาขยันจนกลายเป็นเจ้าของบ้านเช่าสองหลังในอเมริกาและยังทำงานไม่ยอมเกษียณจนอายุย่างใกล้เจ็ดสิบปี

และที่สำคัญ แกมีคำอธิบายที่ชัดเจนว่าเหตุใดนิสัยแกจึงเปลี่ยนไป

จำได้ตอนนั้นผมถามแกเกี่ยวกับเคล็ดลับความรวย

แกเล่ายาวว่าสมัยแกยังสาว แกไปทำงานที่ร้านอาหารหรือโรงงานไหนก็โดนไล่ออก เพราะไม่เอาไหน มาสาย เช้าชามเย็นชาม หน้ำซ้ำได้เงินมาเท่าไหร่ก็เอาไปลงหวย เหล้า การพนันจนหมด

สุดท้ายพอเริ่มแก่ก็ติดหนี้จนต้องหนีหนี้มาทำงานในร้านอาหารที่ยุโรป

และตรงนี้คือจุดเปลี่ยน พอไปถึงที่นั่น แกกลับกลายเป็นคนเอาการเอางาน ทำสามงานในหนึ่งวัน เริ่มศึกษาวางแผนการเงิน ใช้หนี้สิ้นที่ไทยหมดในไม่กี่ปีโดยไม่มีคนช่วยเหลือ ก่อนเริ่มเก็บเงินเป็นเรื่องเป็นราวจนก้าวสู่ชีวิตในปัจจุบัน

แกว่าที่มีทุกวันนี้เพราะทำงานเยอะและเก็บหอมรอมริบล้วนๆ

ก่อนเข้าท่อนฮุกโดยไม่ต้องรอผมถามต่อ

“ป้าไม่ใช่คนฉลาด แต่พอมาที่นี่ป้าตั้งใจทำงานมาก เพราะลองทำดูไม่กี่วันก็เห็นแล้วว่าค่าแรง กับสวัสดิการหลังจ่ายภาษีมันดูเป็นกอบเป็นกำ แล้วเห็นว่าถ้าตั้งใจทำงานมันจะมีอนาคตที่ดีได้”

 

ผมไม่คิดว่าเรื่องของป้าจะเกิดขึ้นกับคนไทยทุกคนที่มาทำงานที่ประเทศนี้ แต่อย่างน้อยก็น่าจะเกิดขึ้นกับคนจำนวนไม่น้อย อย่างน้อยมันสอดคล้องกับความรู้สึกของผมสมัยทำงานพาร์ตไทม์เพื่อเก็บเงินระหว่างเรียน

“อ้าว แล้วทำไมไม่ขยันเก็บเงินตั้งแต่ที่ไทย” ผมถาม

“เก็บยังไง ค่าแรงแต่ละวันใช้เสร็จเหลือไม่กี่ร้อย เก็บทั้งเดือนได้ไม่ถึงสามสี่พัน จะเช่าที่อยู่ดีๆ ในกรุงเทพฯ ยังไม่ไหว”

เรื่องของป้าก็มอบสมมุติฐานคำตอบบางอย่าง

ว่าผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับแรงงานที่คนลงไป หรือที่ป้าใช้คำว่าทำงานแล้ว “เห็นอนาคต” หรือ “เป็นกอบเป็นกำ” มีผลต่อการสร้างอุปนิสัยความขยันของคน

พูดง่ายๆ คือคนจะมีนิสัยขยัน อย่างน้อยก็ขยันมากขึ้น หากเขาเห็นรางวัลที่ชัดเจนจากความขยัน

 

ผมคล้อยตามป้านะครับ สมมุติถ้าผมทำงานแล้วรายได้แค่สองสามร้อยบาทต่อวัน แน่นอนว่าถ้าประหยัดสุดชีวิตเก็บเงินสักวันละร้อย ทำงานทุกวัน ทำสักสามสิบปีก็อาจซื้อหรือผ่อนบ้านของตัวเองหมด

แต่พอผมมองตัวเลขสามสิบปีปุ๊บผมก็คิดว่าช่างมันเถอะ ถ้าต้องใช้ชีวิตแค่กินข้าวสามมื้อไปสามสิบปี สู้เช่าบ้านไปทั้งชีวิต เลิกงานแทงบอล กินเหล้าไปเรื่อยๆ แบบนี้สนุกกว่า

ความรู้ทั่วไปหนึ่งในแวดวงเศรษฐศาสตร์คือเรื่อง Delay Discounting

เรื่องนี้ใช้อธิบายภาวะที่ของสิ่งเดียวกันจะมีมูลค่าต่อบุคคลหนึ่งน้อยลงหากเลื่อนระยะเวลาการรับของออกไป ยิ่งนานยิ่งมูลค่าลด

ตัวอย่างเช่น เรามีแนวโน้มที่จะอยากได้เงินหนึ่งล้านในวันนี้ มากกว่าหนึ่งล้านหนึ่งหมื่นในอีกห้าปีข้างหน้า เหตุผลก็อาจจะเป็นเพราะเราสามารถเอาเงินล้านมาเสวยสุขได้เลยในช่วงห้าปีที่เสียไป หรือไม่แน่ใจว่าเงินจำนวนนั้นจะยังมีประโยชน์หรือไม่ในอีกห้าปีข้างหน้า

อีกตัวอย่างของกรณี delay discounting ก็อาจเป็นเรื่องข้างบน

หากให้ผมเลือกระหว่าง (1) ความสุขจากการตั้งวงเหล้าหรือเตะบอล เที่ยวเล่นกับเพื่อนตอนเย็นวันนี้หลังทำงานเช้าชามเย็นชาม พรุ่งนี้ และทุกวัน

กับ (2) ใช้ชีวิตประหยัดสุดโต่งแล้วไปมีบ้านของตัวเองในอายุหกสิบ ผมมองทางเลือกหลังแล้วอาจจะอุทานในใจว่าโอ้โห ไม่แน่ใจว่าจะเลือกดีมั้ย บ้านน่ะอยากได้ แต่สามสิบปีมันก็ไกลเกินไป เอาเข้าจริงผมอาจคิดด้วยว่าทางเลือกแรกนั้นสมเหตุสมผล ด้วยเหตุผลเดียวกับตัวอย่างก่อนหน้า คือผมได้ความสุขวันนี้เดี๋ยวนี้ไปอีกสามสิบปีเลย ส่วนหลังจากนั้นก็เดี๋ยวค่อยคิด ผมอาจจะเป็นมะเร็งตับตายไปแล้ว ไม่ต้องมีบ้านก็ได้

แน่นอน บางคนอาจบอกว่าถ้าผมมีหัวการค้าหรือเก่งหน่อย พอเก็บเงินไปสักระยะหนึ่งก็อาจเอาไปลงทุนหรือเปิดกิจการของตัวเองรวยเร็วขึ้น อาจจะภายในห้าปี สิบปี

แต่สมมุติว่าถ้าผมไม่มีหัวด้านนี้ ไม่มีต้นทุน ไม่ได้รับการศึกษาที่ดี แล้วต้องมาลอยคอภายใต้ตลาดที่ต้องแข่งกับทุนใหญ่ รายเล็กเจ๊งระเนระนาด

ผมคำนวณในหัวแล้วคงรู้สึกไม่แน่ใจว่าผมควรเสี่ยงเอาเงินเก็บไปลงทุน

สมมุติผมมีความรู้พอแค่เปิดร้านขายของ ผมคงไม่กล้าทำเพราะอย่างไรก็สู้ร้านสะดวกซื้อแบรนด์ใหญ่ไม่ได้ จะให้เปิดร้านอาหารเล็กๆ ก็ไม่ไหว เพราะเป็นอาชีพที่คนไทยทุกคนที่มีทุนต่ำเข้ามาแข่งขันกันมหาศาล (เจ๊งปีละเป็นหมื่นเป็นแสนร้าน)

 

ทั้งหมดนี้ไม่ได้จะบอกว่าการเลือกเป็นคนขยันในระบบเศรษฐกิจที่ไม่มีอนาคตเป็นเรื่องไม่ดี

แน่นอนว่าผมสรรเสริญอย่างยิ่งต่อบุคคลเหล่านี้

ประเด็นของเรื่องคือโอกาสและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจส่งผลต่อการตัดสินใจและจิตสำนึกความเป็นคนขยันหรือไม่ขยัน ในสังคมที่ค่าแรงเพียงพอต่อชีวิตที่ดี

คนลืมตาอ้าปากได้ มีระบบภาษีเป็นธรรม สวัสดิการรัฐคุ้มค่า คนก็อยากสร้างตัว

ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็มีเหตุผลให้ขยันน้อยลง

ยังไม่ต้องเอ่ยว่าคนอยากวางแผนลงทุนมากน้อยแค่ไหนก็อาจต้องปรายตาดูสถานการณ์ในตลาด

ถ้าทั้งหมดนี้จริง ความขยันอาจเป็นเรื่องของการบริหารจัดการผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ คนไทยและคนทุกเชื้อชาติบนโลกสามารถมีแนวโน้มขยันมากขึ้นหรือน้อยลงได้เหมือนกันทั้งหมด

ขึ้นกับว่าสังคมจัดสรรรางวัลให้ความขยันมากน้อยแค่ไหน