พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ | วิกฤตประชาธิปไตย : บทเรียนจากบรัสเซลส์ บางกอก บอสตัน และบังกลาเทศ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

“จาก 62% เหลือเพียง 55%” นี่คืออัตราการมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั่วโลกในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

ตัวเลขที่น่าตกใจนี้ทำให้ผมสะดุ้งตื่นจากอาการง่วงงุนเพราะเจ็ตแลค

ตาที่เคยปรืออยู่ก็พลันเปิดกว้าง ความง่วงที่เกาะติดก่อนหน้านี้หายไปในพริบตา

เมื่อมองไปรอบๆ ผมสังเกตว่าฝรั่งที่นั่งในห้องประชุมรอบตัวที่เคยก้มหน้าเล่นมือถือหรือใจลอย ต่างเงยหน้าขึ้นจากสิ่งที่กำลังทำกันอยู่ ราวกับว่าทุกคนในห้องก็รู้สึกถึงความสำคัญของตัวเลขนี้เช่นเดียวกับผม

ผมเงยหน้ามาถามคนข้างๆ เพื่อความมั่นใจอีกครั้งว่าหูไม่ฝาด

ปีที่ผ่านมาตอนที่เราชนะเลือกตั้ง อัตราการมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งในประเทศไทยที่สูงถึง 76% น่าจะสูงสุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งถือเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่น่าพอใจ

ถ้าตัวเลขตัวนี้ต่ำ น่าจะแปลได้หลายอย่าง

อาจจะแสดงถึงการที่ผู้คนเริ่มหมดความเชื่อมั่นในกระบวนการเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ลดน้อยลง หรือกลเม็ดต่างๆ ที่ทำให้คนไม่มาเลือกตั้ง การแจ้งสถานที่ช้า การทำให้ต่อแถวเวลาโหวตนาน ระยะทางจากชุมชนถึงคูหาไกลเกินไป

ตัวเลขพวกนี้มีหน่วยงานเก็บข้อมูลจากหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยบ้านเรา

ปีนี้เรียกว่าปี “The Ultimate Election Year” ประชาชนมากกว่า 3 พันล้านคนคาดว่าจะเข้าร่วมการเลือกตั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่นมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก

รวมถึงในประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย สหรัฐอเมริกา บังกลาเทศ บราซิล ปากีสถาน เม็กซิโก ตุรกี แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร ศรีลังกา และมองโกเลีย

ทำให้ผู้คน นักการเมือง นักเลือกตั้ง นักวิชาการ สื่อมวลชนติดตามดูกันรายประเทศ และเป็นเหมือน litmus test ของประชาธิปไตย

ซึ่งแน่นอน ไทยเราก็โดนจับตาเมื่อปีที่แล้ว

และปีนี้ ช่วงนี้ ทุกสายตาก็จับจ้องไปที่การเลือกตั้งสหรัฐในอีกไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้ (ซึ่งผมน่าจะอยู่ที่ DC พอดิบพอดีช่วงนั้น)

นี่จึงเป็นการรวบรวมสิ่งที่ผมได้ยินมาจาก / เกี่ยวกับ บรัสเซลส์, บางกอก, บอสตัน และบังกลาเทศ โดยสังเขปครับ

หน้ารัฐสภาสหภาพยุโรป

บรัสเซลส์
: มุมมองระดับโลก
ต่อการเสื่อมถอยของประชาธิปไตย

การประชุมวันประชาธิปไตยสากล (International Democracy Day – IDD) ปี 2024 ที่จัดขึ้นในกรุงบรัสเซลส์ครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ แต่มันเป็นเวทีที่นักวิชาการ ผู้นำระดับโลก และนักเคลื่อนไหว มารวมตัวกันเพื่อตั้งคำถามต่อสถานการณ์ประชาธิปไตยทั่วโลก

ผมได้เข้าร่วมการสนทนากับ ดร.เควิน คาซาส-ซาโมรา เลขาธิการองค์กร IDEA และนายลีโอโปลโด โลเปซ ผู้นำฝ่ายค้านจากเวเนซุเอลา

ข้อมูลจากรายงาน Global State of Democracy 2024 ที่เราได้พูดคุยกันในวันนั้นแสดงถึงความตกต่ำของประชาธิปไตยทั่วโลก

ระหว่างปี 2018 ถึง 2023 มีประเทศมากกว่า 22.5% ที่อัตราความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยรัฐบาลในหลายประเทศได้แทรกแซงและข่มขู่ผู้สมัครฝ่ายค้านใน 38 จาก 39 ประเทศที่ทำการศึกษา

รายงานนี้ทำให้เห็นภาพรวมที่น่าเป็นห่วงของการเสื่อมถอยของประชาธิปไตยในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะในแอฟริกา เอเชียแปซิฟิก และอเมริกา

หลังจากวันประชุมที่เคร่งเครียด ผมเลือกที่จะออกไปเดินเล่นเพื่อคลายความกังวล เดินผ่านถนนที่เต็มไปด้วยร้านค้าของเมืองบรัสเซลส์

ผมเลือกเข้าร้าน “Aux Armes de Bruxelles” ร้าน Michelin guide ที่มีชื่อเสียงในเรื่องหอยแมลงภู่และเฟรนช์ฟราย

จานที่มาเสิร์ฟเรียบง่ายและเต็มไปด้วยความอร่อย

ในขณะที่นั่งอยู่ที่นั่น ผมเริ่มเอารีพอร์ตที่เพิ่งได้เรียนรู้มานั่งวิเคราะห์ อ่าน และเขียนต้นฉบับนี้

โดยเจาะจงลงไปในข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ซึ่งอาจจะไม่ได้เซอร์ไพรส์ผู้อ่านของมติชนสุดสัปดาห์มากนัก

แต่ก็มีอะไรน่าสนใจมากพอสมควร ยิ่งถ้าดูอันดับแล้วก็จะน่ากังวลใจ เพราะประเทศไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก

“เลโอโปลโด โลเปซ” แกนนำต่อสู้ประชาธิปไตย อดีตนักการเมืองเวเนซุเอลา ที่ยังคงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

บางกอก
: ช่องว่างของประชาธิปไตย
ในประเทศไทย

เมื่อย้อนกลับมามองประเทศไทย ผมอดคิดถึงการเลือกตั้งในปี 2023 ที่มีผู้มาใช้สิทธิ์ถึง 76% ไม่ได้

แม้ว่าอัตรานี้จะดูเป็นชัยชนะ แต่ภายใต้ความสำเร็จนี้กลับมีปัญหาที่ซ่อนอยู่

ผลสำรวจ Democracy Perception Index 2023 ชี้ให้เห็นว่า 70% ของคนไทยมีความกังวลเกี่ยวกับความยุติธรรมของการเลือกตั้ง

และ 60% กังวลเกี่ยวกับข้อจำกัดในเสรีภาพการพูด

สิ่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงแนวโน้มทั่วโลกที่อัตราการลงคะแนนเสียงลดลงจาก 62% เหลือ 55%

สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้นคือการที่เยาวชนมีการเข้าร่วมทางการเมืองน้อยลง

รายงานของ UNDP ในปี 2021 ชี้ให้เห็นว่าเยาวชนอายุ 18-29 ปี เป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยมีส่วนร่วมทางการเมืองมากที่สุดในหลายประเทศ

อัตราการออกเสียงของเยาวชนต่ำกว่าประชากรทั่วไปถึง 20%

ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายต่ออนาคตของประชาธิปไตย

นายทะเบียนพรรคการเมืองเคนยา และแกนนำเยาวชนจากโปแลนด์และเอลซัลวาดอร์

บังกลาเทศ
: ตัวอย่างการฟื้นฟูประชาธิปไตย

ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับการลดลงของอัตราผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง บังกลาเทศกลับกลายเป็นตัวอย่างของการฟื้นฟูประชาธิปไตย

ภายหลังการล้มล้างระบอบเผด็จการในเดือนสิงหาคม 2024 บังกลาเทศ ภายใต้การนำของศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนูส กำลังสร้างระบอบประชาธิปไตยใหม่และฟื้นฟูความไว้วางใจของประชาชน

ในช่วงเวลานี้ นักศึกษาในบังกลาเทศได้รวมตัวกันประท้วงต่อต้านรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเชคฮาซินา โดยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมืองและการเลือกตั้งที่โปร่งใส

ผู้ประท้วงได้แสดงออกถึงความไม่พอใจต่อสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยการควบคุมและการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ความเคลื่อนไหวนี้ส่งสัญญาณว่าประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน กำลังมีส่วนร่วมในการผลักดันการเปลี่ยนแปลง

มีผู้เสียชีวิตกว่า 280 คน จนนายกรัฐมนตรี หลังจากอยู่ในอำนาจมา 15 ปี ต้องลาออกและขึ้นเฮลิคอปเตอร์ออกนอกประเทศไปอินเดีย

ผมได้พบกับ ศ.ยูนูส ในบางกอกครั้งแรกช่วงที่ผมดำรงตำแหน่ง ส.ส.สมัยแรก

เขาแบ่งปันความคิดเรื่องธุรกิจเพื่อสังคมและการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในการสร้างความมั่นคงทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ

การต่อสู้ของบังกลาเทศในการฟื้นฟูประชาธิปไตยในขณะนี้เป็นเครื่องเตือนใจว่า อำนาจนิยมสามารถถูกโค่นล้มได้ และพลังประชาชนมีส่วนสำคัญในการผลักดันการเปลี่ยนแปลง

มีคำถามถกเถียงกันในวงกาแฟแบบไม่เป็นทางการกัน 4-5 คน ระหว่างผม อาจารย์ต่างๆ และนักเรียนหลากหลายที่สุด ที่ฮาร์วาร์ดว่า “what makes a good interim government?”

ผมตอบเล่นๆ ว่า “a short one” เป็นกำลังใจให้ ศ.ยูนุส ประคองเปลี่ยนผ่านอย่างรอบคอบและสั้นที่สุด ก่อนที่จะโดนข้อครหา นินทาตามมาว่าจะครองอำนาจเสียเอง

อีกครั้งนะครับ จากบรัสเซลส์ถึงบางกอก จากบอสตันถึงบังกลาเทศ การต่อสู้เพื่อรักษาและฟื้นฟูประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องมีส่วนร่วม

อัตราการออกเสียงเลือกตั้งที่ลดลงจาก 62% เหลือ 55% เป็นเครื่องเตือนภัยที่ชัดเจนว่าประชาธิปไตยทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต

Dr. Nico Jasper นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านดัชนีประชาธิปไตย วิเคราะห์และประเมินระดับประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

บทเรียนจากงาน IDD 2024 ข้อมูลจากรายงาน Global State of Democracy และเรื่องราวการฟื้นฟูประชาธิปไตยในบังกลาเทศ ล้วนชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง และการเมืองคือเรื่องความเป็นไปได้ การเสริมสร้างผู้นำรุ่นใหม่และการรักษาความโปร่งใสในกระบวนการเลือกตั้งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ระบบนี้คงอยู่ได้

ที่สำคัญที่สุด การแก้ไขปัญหาการไม่ออกมาใช้สิทธิ์ของเยาวชนเป็นสิ่งที่เราต้องเร่งดำเนินการ หากเราล้มเหลวในการดึงเยาวชนกลับสู่การมีส่วนร่วม เราอาจจะสูญเสียคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างอนาคตของประชาธิปไตยไปอย่างไม่ทันรู้ตัว

ปี 2024 เป็นปีที่ท้าทายและมีโอกาสสำคัญในการเรียนรู้จากทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จของหลายประเทศ

เราสามารถสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมได้ หากเรานำบทเรียนจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การเลือกตั้ง และการปฏิรูปมาประยุกต์ใช้

การสร้างระบบที่โปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชนถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

และช่วยให้เรารับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ