ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 ตุลาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน |
เผยแพร่ |
“แม่น้ำบิน” หรือ “แม่น้ำบนฟ้า” คือ “แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ” หรือ Atmospheric River ซึ่งมีความรุนแรง มีขนาดยาว และกว้าง สร้างผลทำลายล้างให้กับพื้นที่ต่างๆ
NASA ระบุว่า ปรากฏการณ์ “แม่น้ำบิน” กำลังทำให้ผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกต้องเสี่ยงต่อ “มหาอุทกภัย”
“แม่น้ำบิน” คือ “ชั้นไอน้ำ” ที่ยาว และกว้างมาก มักปรากฏตัวบริเวณเขตร้อน และเคลื่อนตัวไปยังขั้วโลก ด้วยการลำเลียงไอน้ำราว 90% ของปริมาณไอน้ำทั้งหมดที่เคลื่อนที่ผ่านละติจูดกลางของโลก
โดยเฉลี่ย “แม่น้ำบิน” จะมีความยาวประมาณ 2,000 กิโลเมตร มีความกว้างราว 500 กิโลเมตร และมีความลึกเกือบ 3 กิโลเมตร
ทว่า ทุกวันนี้ “แม่น้ำบิน” ได้มีความกว้างเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บางสายมีความยาวกว่า 5,000 กิโลเมตรเลยทีเดียว!
สิ่งที่น่ากลัวก็คือ เราไม่สามารถมองเห็น “แม่น้ำบิน” ด้วยสายตาเฉกเช่นที่เราสามารถมองเมฆบนฟ้า เพราะ “แม่น้ำบิน” มองเห็นได้ด้วยคลื่นความถี่อินฟราเรดและไมโครเวฟเท่านั้น
จึงต้องใช้ดาวเทียมในการสังเกตไอน้ำและ “แม่น้ำบิน”
ในช่วงที่ผ่านมา “แม่น้ำบิน” ขนาดใหญ่ สามารถเคลื่อนย้ายความชื้นมากถึง 15 เท่าเมื่อเทียบกับอัตราการปล่อยความชื้นจากแม่น้ำมิสซิสซิปปี ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในอเมริกาเหนือ
และโดยเฉลี่ยแล้ว “แม่น้ำบิน” มีปริมาณน้ำ 2 เท่าของแม่น้ำแอมะซอน ซึ่งเป็นแม่น้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
แม้โดยปกติแล้ว “แม่น้ำบิน” จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ ทว่า บรรดานักวิทยาศาสตร์ได้ชี้ว่า “ภาวะโลกร้อน” กำลังสร้างไอน้ำมากขึ้น และควบแน่นเป็นฝนจำนวนมากในช่วงเวลาสั้น ทำให้เกิดน้ำท่วม และดินถล่มอย่างรุนแรง
ผลการวิจัยของสถาบันธรณีศาสตร์แห่ง Universität Potsdam ในเยอรมนี พบว่า “แม่น้ำบิน” เหนือเขตร้อนของอเมริกาใต้ แอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มขึ้นถึง 20% ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แม่น้ำบิน” เกิดยาวนานมากขึ้น และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น
ผลที่ตามมาก็คือ ปริมาณน้ำฝนจำนวนมากที่ตกลงมา พร้อมกับสร้างความเสียหายในภาคพื้นดิน
Sara M. Vallejo-Bernal นักวิจัยจาก Universität Potsdam บอกว่า ปรากฏการณ์ “แม่น้ำบิน” เกิดขึ้นถี่มากขึ้นในระดับที่น่ากลัว
“ตั้งแต่ทศวรรษ 1940 แม่น้ำบินมีความถี่เพิ่มขึ้นอย่างมากในเอเชียตะวันออก และพวกมันก็มีความรุนแรงมากขึ้นในมาดากัสการ์ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น นับตั้งแต่นั้นมา”
ผลการวิจัยในปี ค.ศ.2021 ตีพิมพ์ใน The Journal of Geophysical Research พบว่า มากกว่า 80% ของเหตุการณ์ฝนตกหนักทางภาคตะวันออกของจีน เกาหลี และทางตะวันตกของญี่ปุ่น ช่วงต้นฤดูมรสุม (มีนาคม-เมษายน)
เกี่ยวข้องอย่างแน่นอนกับ “แม่น้ำบิน”
ดร. Roxy Mathew Koll นักวิทยาศาสตร์ด้านชั้นบรรยากาศจากสถาบันอุตุนิยมวิทยาเขตร้อนของอินเดีย ชี้ว่า ภาวะโลกร้อนของมหาสมุทรอินเดียกำลังสร้าง “แม่น้ำบิน” และส่งอิทธิพลต่อมรสุมในภูมิภาคนี้ ซึ่งจะเห็นได้ในช่วงเดือนมิถุนายนจนถึงกันยายน
“ด้วยเหตุนี้ จึงมีช่วงเวลาสั้นๆ ที่ความชื้นทั้งหมดจากทะเลอุ่น กลายเป็นฝนเทลงมาโดยแม่น้ำบิน ภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง และใช้เวลานานถึง 2-3 วัน” ดร. Roxy Mathew Koll กล่าว และว่า
“สิ่งนี้นำไปสู่ดินถล่ม และน้ำท่วมฉับพลันที่เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ”
อย่างไรก็ตาม น้ำท่วม และดินถล่ม ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในห้วงเวลานี้ หาได้เกิดจาก “แม่น้ำบิน” เท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น พายุไซโคลน พายุจากสภาพอากาศ และพายุอื่นๆ
นอกจากนี้ “แม่น้ำบิน” ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในสถานที่ใหม่ด้วยเช่นกัน โดยหนึ่งในสาเหตุก็คือ รูปแบบกระแสลมที่เปลี่ยนแปลง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Jet stream ซึ่งหมายถึง กระแสอากาศที่ล้อมรอบโลก ไหลเร็ว และแคบมาก จากตะวันตกไปตะวันออก
คลื่นที่เพิ่มขึ้นในกระแสลม และ Jet stream อันคดเคี้ยว ที่ใหญ่ขึ้น และเบี่ยงเบนไปจากเส้นทางปกติ ทำให้ “แม่น้ำบิน” มีเส้นทางที่ซับซ้อนมากขึ้น
เมื่อ “แม่น้ำบิน” มาเจอกับ “ระเบิดฝน” หรือ Rain Bomb ซึ่งเป็นชื่อเรียกลักษณะฝนที่ตกหนักในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ทำให้เกิด “มหาอุทกภัย” ขึ้นได้
แน่นอนว่า “แม่น้ำบิน” กับ “ระเบิดฝน” ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ระบุว่า ในช่วงหน้ามรสุมของอินเดีย และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ กำลังประสบกับปัญหาปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น
แต่จำนวนวันที่ฝนตกกลับลดลง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อดูแนวโน้มจากแหล่งข้อมูลต่างๆ จะพบว่า ปริมาณฝนตกหนักมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ปริมาณน้ำฝนปานกลาง 5-100 มิลลิเมตรต่อวัน ลดลงมากขึ้นเช่นกัน
นับจากนี้ โลกจะต้องเผชิญหน้ากับ “ระเบิดฝน” ที่จะตกแบบสั้นๆ แต่ตกหนักในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งถี่มากขึ้นด้วย อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change
“ระเบิดฝน” คือกระแสลมที่เคลื่อนที่จากด้านบนลงมาด้านลาง เรียกว่า Downdraft หรือ Microburst ที่หมายถึง กระแสอากาศไหลลงสู่พื้น แล้วแผ่ออกจากศูนย์กลาง จากนั้นตกกระทบอย่างรุนแรงในแนวราบ
ต่างจากกระแสลมที่เรารู้จักกันมาตั้งแต่เกิด นั่นคือ ปกติลมจะพัดเป็นแนวราบจากซ้ายไปขวา และจากขวาไปซ้าย ไม่มีการพัดขึ้นหรือพัดลงในแนวดิ่ง
“ระเบิดฝน” ก็คือลมที่พัดจากข้างบนลงมาข้างล่างชนิดหนึ่ง โดยส่วนใหญ่มันจะมาพร้อมกับพายุ หรือเมฆที่มีหยดน้ำในปริมาณมาก
อย่างไรก็ดี แม้ “ระเบิดฝน” จะเป็นลมที่มีขนาดเล็กกว่าปกติ ทว่า มีความรุนแรงมากกว่า ฝนที่ตกจึงรุนแรงลงมาแบบโครมใหญ่โครมเดียว
อ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านบางท่านอาจคิดว่า “ฝนระเบิด” คือ “ฝนไล่ช้าง” หรือ Convective Rain แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่
เพราะ “ฝนไล่ช้าง” มีลักษณะเป็นฝนที่เกิดจากกลุ่มอากาศร้อนลอยตัวสูงขึ้นจนถึงจุดไอน้ำกลั่นตัวลงมาเป็นฝน และ “ฝนไล่ช้าง” จะมีปริมาณน้ำไม่มากเท่า “ระเบิดฝน” อีกทั้งความรุนแรงก็เทียบไม่ได้
โดยทั่วไป ฝนแบบปกติ รวมถึง “ฝนไล่ช้าง” จะตกลงมาตามแรงโน้มถ่วงของโลก แต่ “ระเบิดฝน” นอกจากจะถูกแรงดึงดูดของโลกดึงลงมาแล้ว มันยังตกลงมาพร้อมกับกระแสลมที่พัดลง
ทำให้ฝนตกลงมาโครมใหญ่โครมเดียวแล้วหยุด
นอกจาก “ระเบิดฝน” จะก่อปัญหาทำให้เกิด “มหาอุทกภัย” ดังที่เคยเกิด “ระเบิดฝน” ที่จังหวัดตราด และจังหวัดภูเก็ต ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำท่วมหนัก สร้างความเสียหายอย่างมากแล้ว
“ระเบิดฝน” ยังก่อให้เกิดผลกระทบ สร้างความเสียหายในด้านการบินอีกด้วย ซึ่งกำลังเป็นประเด็นใหญ่ในแวดวงการบินโลกขณะนี้เลยทีเดียว
เนื่องจากหากเกิดกระแสลมพัดลง หรือ “ระเบิดฝน” ขณะที่เครื่องบินกำลังจะ Takeoff จะทำให้หัวเครื่องบินถูกลมกดลง ทำให้ไม่สามารถขึ้นบินได้
นี่คือเรื่องอันตรายมาก เนื่องจากไม่สามารถสังเกตด้วยตาเปล่า ว่าเป็น “ระเบิดฝน” หรือไม่ เพราะเมฆของ “ระเบิดฝน” ไม่ต่างจากเมฆทั่วไป
แวดวงอุตุนิยมวิทยาการบิน จึงค่อนข้างจะมีความกังวลเกี่ยวกับ “ระเบิดฝน” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่กับเครื่องบิน เนื่องจากมันส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยในการบิน
ในปัจจุบัน องค์ความรู้เกี่ยวกับ “แม่น้ำบิน” และ “ระเบิดฝน” ในระดับภูมิภาคยังมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ต้องรีบแสวงหาข้อมูลอย่างเร่งด่วน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022