จัตวา กลิ่นสุนทร : อดีตนายกรัฐมนตรี “ฐาปนันดรศิลปิน” ห่วงกังวล “ศิลปินแห่งชาติ”

ไม่เขียนถึงท่านไม่ได้เสียแล้ว เพราะท่านเป็นผู้ก่อตั้ง “โครงการศิลปินแห่งชาติ” (National Artists) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2527

ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (2526-2529) โดยมอบหมายให้สำนักคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้ง “โครงการศิลปินแห่งชาติ” (National Artists) ขึ้น ปัจจุบันคือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

ถึงตรงนี้คนที่สนใจติดตามความเป็นไปเรื่อง “ศิลปวัฒนธรรม” ของชาติย่อมต้องทราบดีแล้วว่า ท่านซึ่งกำลังกล่าวถึงนี้ เป็น (อดีต) “นายกรัฐมนตรี” และประธานที่ปรึกษาพรรค” ประชาธิปัตย์”

คือ (ท่านพี่) “ชวน หลีกภัย”

 

สําหรับสื่อมวลชนอาวุโสทั้งหลายทั้งปวงค่อนข้างสนิทสนมคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เนื่องจากท่านไม่ค่อยจะถือตัว ทั้งๆ ที่เป็นถึง (อดีต) นายกรัฐมนตรี เป็น (อดีต) หัวหน้าพรรค “ประชาธิปัตย์” และ (อดีต) “รัฐมนตรี” อีกหลายกระทรวง รวมทั้ง “กระทรวงกลาโหม” ในชีวิตการเมืองที่ผ่านมาของท่าน

(ท่านพี่) ชวน หลีกภัย เป็นผู้แทนราษฎร ซึ่งต้องเรียกว่า “ผูกขาด” ของจังหวัดตรังมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 โดยไม่เคยสอบตก จะเว้นวรรคอยู่บ้างเป็นช่วงๆ เมื่อบ้านเมืองอยู่ในยุคของ “เผด็จการ” หรือรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรัฐบาลทหารซึ่งทำการ “ปฏิวัติ-ยึดอำนาจ” ของประชาชนไปอย่างเช่นปัจจุบันนี้

แต่ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใด รัฐบาล “ทหาร” รัฐบาลจากพรรคการเมืองอื่นๆ โดยประชาธิปัตย์ เป็น “ฝ่ายค้าน” ท่านก็ยังยืนหยัดแนวทางประชาธิปไตย และทำงานการเมืองด้วยอุดมการณ์อันแน่วแน่ โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเจ้าของประเทศเป็นเป้าหมายหลัก

(ท่านพี่) ชวน หลีกภัย ทำงานหน้าที่ผู้แทนประชาชนอย่างไม่มีวันหยุดทั้งงานการเมือง งานสังคม งานของเพื่อนสนิทมิตรสหาย ฯลฯ ซึ่งวิ่งเข้าหาอย่างต่อเนื่องไม่เว้นแต่ละวันจนแทบไม่มีเวลาเป็นตัวของตัวเอง เรียกได้ว่าจะต้องเดินทางอยู่ตลอดเวลาไม่เฉพาะในประเทศเท่านั้น

และแทบไม่มีใครเชื่อว่ามุมหนึ่งของ (ท่านพี่) ชวน นั้นได้รับเชิญให้นำผลงาน “ดรอว์อิ้ง” ไปแสดงงานศิลปะร่วมกับ “ศิลปินแห่งชาติ” ที่นคร “ลอสแองเจลิส” สหรัฐอเมริกา

 

ความจริงเคารพนับถือคุ้นเคยกับ (ท่านพี่) ชวนพอสมควรถึงขนาดบังอาจถือวิสาสะโทรศัพท์เข้ามือถือของท่านเวลามีเรื่องสำคัญๆ ขอความช่วยเหลือบ่อยครั้ง ซึ่งไม่เคยได้รับปฏิเสธถ้าหากเรื่องเหล่านั้นพอช่วยได้ และไม่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ย้อนกลับไปในยุคสมัยเมื่อกว่า 40 ปีก่อนช่วงเวลาเกิด “เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519” เมื่อท่านพี่ถูกใส่ร้ายป้ายสีด้วยข้อหาอันไม่เป็นมงคล และไม่เป็นความจริงจนกระทั่งต้องหลีกหลบพายุอันแรงกล้าไปสักระยะหนึ่ง

เราเคยได้พบพูดคุยเรื่องของบ้านเมืองกันที่ร้านอาหารริมถนนราชดำเนิน ข้างสำนักงานหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช อันมีชื่อเสียงโด่งดังทรงอิทธิพลในยุคสมัยนั้น

คนที่ได้เคยศึกษาเล่าเรียนจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เรียนศิลปะ ส่วนมากล้วนมีความรู้สึกเหมือนว่า (ท่านพี่) ชวน มีอะไรๆ ที่ไม่แตกต่างจากพวกเขา ภาคภูมิใจในความเป็นตัวท่านเป็นอย่างยิ่งเหมือนกับว่าเป็นอาจารย์ เป็นรุ่นพี่ ซึ่งผ่านมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งนี้เช่นเดียวกัน

วันที่ 15 กันยายนของทุกปี ซึ่งถือว่าเป็นวันสำคัญของชาวศิลปากร เพราะเป็นวันคล้ายวันเกิดของ “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” (Prof. Corrado Feroci) ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านจะได้รับเชิญไปเป็นประธานในพิธีเปิดงานวัน “ศิลป์ พีระศรี” ติดต่อกันมาทุกปี

กระทั่งเรียกได้ว่าผูกขาดมาเป็นระยะเวลายาวนานหลายปี

 

ในแวดวงคนเรียนศิลปะ ทำงานศิลปะรุ่นใหญ่ๆ ต่างทราบกันว่าท่านเคยเข้าเรียนที่โรงเรียนศิลปศึกษา หรือโรงเรียนช่างศิลป์เดิม ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าเหมือนโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมๆ การเรียนกฎหมายในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งไม่ห่างไกลกัน แทบว่ารั้วใกล้ๆ กัน มีเพียงแค่อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกั้นอยู่แค่นั้น

นักเรียนจากโรงเรียนศิลปศึกษาซึ่งต้องใส่กางเกงขาสั้นไปเรียนหนังสือจึงต้องแอบพกกางเกงขายาวมาเปลี่ยนใส่ตอนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ครั้งหนึ่งเมื่อกว่า 25 ปีได้เคยแอบไปสัมภาษณ์เดี่ยวท่านยังพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพวกเรายังมีความคิดค้างคาอยู่ว่า “นายกรัฐมนตรี” จะต้องเป็นทหาร เมื่อถามว่าพรรคประชาธิปัตย์มีแนวโน้มว่าจะชนะการเลือกตั้งได้เตรียมมองทหารคนไหนไว้บ้างที่จะเอามาเป็นนายกรัฐมนตรี (ท่านพี่) ชวนตอบเรียบๆ สั้นๆ ว่า “ผมจะเป็นเอง–”

และในเวลาต่อมามันก็เป็นไปตามนั้น

 

มีความทุกข์เป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่ทำงานก่อร่างสร้างตัวมาจนกระทั่งเก็บเงินปลูกบ้านอยู่อาศัยได้ อยู่มาวันหนึ่งแว่วข่าวว่าบริเวณซอยบ้านจะถูกเวนคืนเพื่อตัดถนน โดยกินลึกเข้ามาในบริเวณบ้านถึง 4 เมตร แต่ว่าโครงการนี้มันมีอะไรไม่ชอบมาพากลแอบแฝงอยู่ เนื่องจากมีที่ดินตาบอดซึ่งเป็นของผู้มีอิทธิพลซื้อเอาไว้ข้างใน

พยายามสืบเสาะจนได้ข้อมูลการออกกฎหมายเวนคืนมันผิดปกติ ไม่มีเหตุผลเพียงพอ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร

คิดอะไรไม่ออกนึกถึงแต่ (ท่านพี่) ชวนคนเดียวทั้งๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งจะว่าไปก็พอรู้จักมักคุ้นนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ขณะนั้นคนของประชาธิปัตย์เป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร เป้าหมายจึงมุ่งไปยัง (ท่านพี่) ชวน

สุดท้ายก็ไม่ทำให้ผิดหวังแต่อย่างใด?

เรื่องเหล่านี้ไม่เคยจางหายไปจากความทรงจำ ขณะเดียวกันยังรบกวนท่านอยู่เสมอๆ อีกหนหนึ่งเมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา ได้ไปขอให้มาเป็นประธานในพิธีเปิด “นิทรรศการศิลปะ” ของ “น้าแพ็ท” (ศิริสวัสดิ์ พันธุมสุต) ซึ่งเป็นรุ่นพี่สนิทสนม และเป็นสามีของ (พี่แต๋ว) อาจารย์สุวรรณี สุคนเที่ยง (สุคนธา) นักเขียนมือรางวัลผู้มีชื่อเสียง โดยร่วมกับสมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรมฯ จัดขึ้น

(ท่านพี่) ชวนมีงานรัดตัวมากทุกวันแบบไม่มีวันหยุดตลอดเดือน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมทั้งต่างประเทศ ดังกล่าว ก็ไม่ปฏิเสธที่จะเดินทางมาเป็นประธานในพิธีให้ด้วยความเต็มใจ

 

ต้องขออนุญาตเฉียดเข้ามายังเรื่องส่วนตัวสักเล็กน้อยเมื่อสาวน้อยที่บ้านถึงเวลาจะทำพิธีวิวาห์เป็นฝั่งเป็นฝา ซึ่งได้ตกลงกันว่าจะจัดงานขนาดเล็กๆ ตามฐานานุรูป

โดยได้ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องไปเรียนเชิญ (ท่านพี่) ชวนมาเป็นเกียรติพร้อมกล่าวอวยพรแก่คู่สมรสครั้งนี้

ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง พ่อแม่ทั้งสองฝ่ายญาติโยมทั้งหลาย และแขกผู้มีเกียรติต่างชื่นชมกันว่าท่านยังแข็งแรง และพูดจานุ่มนวลเป็นที่ประทับใจอย่างยิ่ง

วันวิวาห์ของสาวน้อยตรงกับวันเสาร์ที่ 20 มกราคม 2561 ก่อนหน้า 1 วันคือวันที่ 19 มกราคม 2561 “คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ” (กวช.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศชื่อผู้ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ประจำปี 2560 จำนวน 3 สาขา 17 คน ใครเป็นใครต่างทราบกันแล้ว

หัวข้อสนทนากันในโต๊ะอาหารเมื่อท่าน “ฐาปนันดรศิลปิน” เดินทางมาถึงจึงเป็นเรื่อง “ศิลปินแห่งชาติ” ซึ่งท่านบอกว่าช่วยกันดูหน่อย เพราะโครงการนี้ท่านเป็นผู้ก่อตั้ง อันที่จริง “ปีไหน? ไม่มีศิลปินมีผลงานเหมาะสมจะได้รับการเชิดชูเกียรติสาขาต่างๆ คงไม่จำเป็นต้องมีให้ครบจำนวนก็ได้–”

เรียนไปว่าแนวทางอย่างที่ท่านกล่าวมานี้ได้เคยเสนอแนะท้วงติงไปบ้างเหมือนกัน ยังเคยยกตัวอย่างว่า “การประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ” ซึ่งศาสตราจารย์ “ศิลป์ พีระศรี” (Corrado Feroci) เป็นผู้ริเริ่มขึ้นนั้น ซึ่งมีรางวัลที่ (1-2-3) เป็นเหรียญทอง เงิน และบรอนซ์ แต่ถ้าปีไหนเห็นว่าไม่มีผลงานสมควรได้รับรางวัลสูงสุด ได้ตัดสินให้มีเพียงรางวัลรองๆ ลงมาเท่านั้น

เช่นเดียวกันกับ “ศิลปินแห่งชาติ” ซึ่งเป็นเกียรติยศอย่างมาก มีเงินเดือนและสวัสดิการหลายอย่างมากทีเดียว ค่ารักษาพยาบาล จนถึงเงินต่างๆ ไปจนถึงเสียชีวิต เรียกว่าคุ้มค่ามากๆ จนอาจเป็นไปได้ถ้าจะมีการวิ่งเต้นเส้นสายเกิดขึ้น แต่อย่าลืมว่า “เงินเดือน ผลประโยชน์” ต่างๆ นั้นมาจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีอากรของประชาชน

ที่ผ่านมา เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร? ใช้วิจารณญาณกันเอาเอง?