คำ ผกา : ความรู้บนหิ้ง

คำ ผกา

ไม่รู้ว่าฉันรู้สึกไปเองหรือเปล่าว่าตอนนี้สังคมไทยสนใจเรื่องปฏิรูปการศึกษามากขึ้นและในทางที่ “ก้าวหน้า”

เช่น สนใจเรื่องการศึกษาของฟินแลนด์ ว่าเขาจัดการศึกษาอย่างไร จึงได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก

ข่าวโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นโรงเรียนที่นักเรียนไม่ต้องใส่เครื่องแบบก็เป็นที่สรรเสริญเยินยอกันอึงอล (แต่ไม่ยักจะนำไปสู่การเรียกร้องให้โรงเรียนอื่นๆ ในประเทศไทยทำตามอย่างโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ – ทำไม?)

หรือเรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียนทางเลือก โรงเรียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพของเด็กนักเรียน ก็เป็นเรื่องราวที่เสนอออกไปทีไร คนไทยก็ชื่นชมยกย่อง

แต่ที่น่าแปลกใจมากๆ คือ ในขณะที่เราอยากมีการศึกษาดีแบบฟินแลนด์

เราก็อยากให้เด็กไทยมีระเบียบวินัย

ยืนแถวตรง เคารพผู้ใหญ่ ใส่เครื่องแบบ ตัดผมถูกระเบียบ ไม่เกรียน ไม่นอกกรอบ ไม่ตั้งคำถาม

อยู่เป็นเด็กเรียบร้อย ขยัน ประหยัด อดทนอ่อนน้อมลงไปกับจารีตประเพณีให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ปฏิบัติการในชีวิตประจำวันของนักเรียน และโรงเรียนไทยก็ยังเต็มไปด้วยพิธีกรรมที่หล่อเลี้ยงความอ่อนน้อมต่อระเบียบประเพณีที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นอุปสรรคต่อการคิดนอกกรอบ คิดแบบวิพากษ์ตั้งคำถาม หรือแม้กระทั่งความคิดสร้างสรรค์

และด้วยประเพณีการศึกษาไทยที่มีแกนกลางอยู่ที่การเชื่อฟัง การเคารพครู และผู้ใหญ่อย่างไม่มีเงื่อนไข การปิดกั้นเสรีภาพและจินตนาการของเด็กผ่านกฎระเบียบของเครื่องแบบนักเรียน การเรียนการสอนในหมวดวิชาภาษา วรรณคดี และประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ระดับประถม มัธยมที่ให้ความสำคัญกับการจดจำความจริงความงามเพียงหนึ่งเดียวกว่าจะกระตุ้นให้เด็กคิดและตั้งคำถาม

เหล่านี้น่าจะเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของการอยู่รอดของอุตสาหกรรมการศึกษาในกลุ่มมนุษยศาสตร์ และศิลปศาสตร์ในสังคมไทยด้วย

นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาเมื่อมีข่าวว่าอาจมีการลดเงินอุดหนุนสาขาวิชาที่เรียนจบมาแล้วไม่มีงานทำหรือไม่ตรงกับความต้องการของตลาด

ซึ่งคิดเร็วๆ ก็ดูสมเหตุสมผลดี

ยิ่งตอนนี้ ดูเหมือนการศึกษาไทยจะกำลังเห่อเรื่องอาชีวะ – จากที่การเรียนอาชีวศึกษาถูกทอดทิ้งมานาน – เพราะดูว่าจะตอบโจทย์ตลาดแรงงาน และคิดกันเร็วๆ ได้อีกว่า ไทยแลนด์ 4.0 เราต้องการนวัตกรรม ดังนั้น เราต้องเร่งผลิต “ช่าง” ในแขนงต่างๆ ต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยี และเรายังเชื่อทุนมนุษย์ของเรานั้นมีความขาดแคลนในสายงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี

ตัวฉันเองก็พูดและเขียนมาโดยตลอดว่า ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับอาชีวศึกษามากกว่านี้ และยกระดับอาชีวศึกษาให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เท่าๆ กับคนที่เรียนสายสามัญและเรียนมหาวิทยาลัย

ไม่ใช่ปล่อยให้อาชีวศึกษาเป็นทางเลือกของเด็กที่ “เหลือ” จากการคัดเข้าเรียนสายสามัญ จนกลายเป็นภาพเหมารวมว่าคนที่ไปเรียนอาชีวะ ไปเรียนสายอาชีพคือคนเรียนไม่เก่งบ้าง เป็นเด็กเหลือขอ ไปสอบเข้าที่ไหนก็ไม่มีใครรับบ้าง

ผสานกับภาพเด็กช่างกลตีกัน ก็ยิ่งไปกันใหญ่

ถ้าเมื่อไหร่เรายกระดับอาชีวศึกษาให้มีมาตรฐานสูงขึ้นเรื่อยๆ เรียนจบมาแล้ว มีงานดีๆ ทำ มีรายได้สูงลิ่ววว เมื่อนั้น อาชีวศึกษาก็จะไม่ใช่การศึกษาเพื่อรองรับของเหลือที่ถูกคัดออกอีกต่อไป และการเข้าเรียนอาชีวะ จะกลายเป็นหมุดหมายของนักเรียนจำนวนมาก ที่วางแผนไว้ตั้งแต่แรกจะไปทางอาชีวะ

ไม่ใช่เพราะเรียนสายสามัญไม่ได้ แต่เพราะมีแผนในอนาคตชัดเจนว่า จบไปแล้วอยากทำงานอะไร ชอบอะไร

แต่คำถามที่สำคัญมากคือ การเรียนการสอนอาชีวะนั้น สามารถตัดขาดจากวิชาปรัชญา ประวัติศาสตร์ วรรณคดี สุนทรียศาสตร์ในแขนงต่างๆ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา หรือวิชาพื้นฐานทั้งหมดของสิ่งที่เป็น Liberal Arts ได้หรือไม่?

นี่อาจเป็นความผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดของระบบการศึกษาไทย ที่คิดว่า คนเรียนสายวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเรียนวิชาของ Liberal Arts

คนเรียนอาชีวะ ยิ่งไม่จำเป็นต้องมีความรู้เหล่านี้

และเราก็ต้องมานั่งถามตัวเองว่า จริงหรือ?

ทำไมช่างประปาจะเรียนหรืออ่านเช็กสเปียร์ไม่ได้?

ทำไมช่างไฟช่างเหล็กจะรู้จักแวนโกะห์ไม่ได้

ทำไมคนเรียนคหกรรมจะทำอาหารเป็นอย่างเดียวโดยไม่ต้องเรียนประวัติศาสตร์และสังคมวิทยาว่าด้วยอาหาร

ทำไมคนเรียนก่อสร้างจะฟังและเรียนประวัติศาสตร์ของดนตรีคลาสสิคอย่างจริงจังไม่ได้?

ลองจินตนาการว่า หากอาชีวศึกษาของเราสามารถเปิดสอนวิชาทางด้าน Liberal Arts แก่นักศึกษาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในอัตราส่วนที่เท่าหรือเกือบเท่าวิชาชีพที่เขาเรียน นักศึกษาที่จบอาชีวศึกษาออกไป เขาจะไม่ได้เป็นแค่ “แรงงานมีทักษะฝีมือ”

แต่พวกเขาจะเป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญในสาขาวิชาชีพและเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาอย่างรอบด้านในฐานะมนุษย์ที่พึงเชื่อมั่นในเสรีภาพแห่งการคิด การตั้งคำถาม การวิพากษ์ ไปพร้อมๆ กับความสามารถในการประดับประดาชีวิตด้วย ศิลปะ วรรณคดี ดนตรี อันถูกกำกับด้วยวิธีการเข้าหาความรู้แบบ “มนุษยศาสตร์”

ที่มีเป้าหมายสูงสุดคือการปลดปล่อยมนุษย์ไปจากการถูกครอบงำ กักขัง จากอวิชชา อำนาจ และอคติ

ดังนั้น การลงทุนในการศึกษาแขนงที่มีมูลค่าทางการตลาด ไม่ว่าจะเป็นอาชีวศึกษา หรือบางสาขาวิชาในระดับอุดมศึกษาที่มูลค่าในตลาดแรงงานสูงลิบ เช่น แพทย์ วิศวะ คอมพิวเตอร์ นิติศาสตร์ นอกจากจะทุ่มเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาความเป็นเลิศให้แก่สาขาวิชาเหล่านี้ ซึ่งไม่ผิด และเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่งด้วย

แต่ย่อมไม่ใช่การพ่วงมาด้วยการไปลดเงินอุดหนุนสาขาวิชาที่ (คิดกันเอาเองว่า) ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและตลาด เช่น ปรัชญา ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์

เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เรามุ่งผลิตวิศวกร หรือแพทย์ หรือช่างแขนงต่างๆ ที่ไม่รู้ว่าประวัติศาสตร์คืออะไร ปรัชญาคืออะไร ศิลปะคืออะไร สุนทรียศาสตร์คืออะไร วรรณกรรมคืออะไร จะทำความเข้าใจพัฒนาการของอารยธรรมต่างๆ ในโลกได้อย่างไร ฯลฯ

ผลผลิตจากการศึกษาของเราก็ไม่ต่างอะไรจากหุ่นยนต์ หนักกว่านั้น หุ่นยนต์ และ AI สมัยนี้อาจมีความรู้เรื่องปรัชญา ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วรรณคดีมากกว่า มนุษย์ที่ผ่านการเรียน การฝึกฝนมาให้เป็นส่วนหนึ่งของสายพานการผลิต จนในที่สุดพวกเขาเหล่านี้ก็จะไม่ต่างอะไรจากเครื่องจักรกลที่ทำงานไปตามโปรแกรมที่ถูกวางเอาไว้ หมดความสามารถในการคิด การสงสัย และท้ายที่สุดอาจหมดแม้กระทั่งความสามารถที่จะรู้จักความรัก ความปรารถนาที่เป็นของตัวเองจริงๆ แต่ไปเข้าใจ ทึกทัก เอาความรัก ความปรารถนาปลอมๆ ที่ทั้ง “การตลาด” และ “อำนาจนำทางการเมืองวัฒนธรรม” ผลิตมาให้ โดยสูญเสียความสามารถในการฉุกใจถามว่า เอ๊ะ เราชอบสิ่งนี้เพราะเราชอบจริงๆ

หรือเราถูก “กล่อม” ให้ชอบ

และการกล่อมที่เหนือชั้นมากๆ คือการกล่อมในระดับที่เราคิดว่าการชอบนั้นเป็นของเราเองล้วนๆ

เช่น เราชอบกระเป๋าเบอร์กินส์เพราะเราชอบของเราจริงๆ ไม่ใช่เพราะดาราคนนั้นคนนี้ใครๆ เขาก็ชอบกัน

เป้าหมายของการเรียน Liberal Arts คือ Liberty หรือเสรีภาพ และยังเป็นกุญแจสำคัญที่สุดของการสร้างพลเมืองที่จะยืนหยัดความสามารถในการปกครองตนเอง

เพราะเขาตระหนักอยู่เสมอว่าเขาคือสิ่งมีชีวิตที่คิดเป็นและคิดเองได้ ไม่ต้องมีใครมาจูงจมูก

ไม่ต้องมีใครมานั่งจิ้มบอกทีละอย่างว่า ดื่มเหล้าไม่ดีนะ สูบบุหรี่ไม่ดีนะ มหรสพชนิดนั้นอย่าดูนะ มันทำให้ศีลธรรมเสื่อมเสีย หนังโป๊คือความชั่วช้าทางศีลธรรมนะ

สังคมใดก็ตามที่ไม่พยายามดึงเอา Liberal Arts ไปไว้แต่บนหิ้ง คือสังคมที่พยายามพรากเอาศักดิ์ศรีและเสรีภาพของความมนุษย์ออกไปจากเพื่อนร่วมสังคมนั่นเอง

โดยอธิบายว่า ศาสตร์ของ Liberal Arts นั้น เหมาะสำหรับผู้มีความเหลือเฟือในชีวิตและทรัพย์สินพอจะมานั่งถกกันเรื่องประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ อันสูงค่า ก่อร่างสร้างตัวเป็น “ชนชั้นนำทางวัฒนธรรม” ที่แสนจะ sophisticated พูด อ่าน เขียนได้คนละสี่ห้าภาษา รวมไปถึงแตกฉานในภาษาโบราณอย่างละตินอีกด้วย – เหล่านี้เป็นสมบัติของคนไม่กี่คนก็พอ

ส่วนพลเมืองทั่วไปนั้น ไปเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไปเป็นวิศวะ ไปเป็นหมอ ไปเป็นช่างแขนงต่างๆ ก็พอ เพราะเป็นวิชาชีพที่ใช้หาเลี้ยงชีพได้จริง

หากสังคมไทยไม่อยากเป็นแบบนั้น หรือไม่ได้อยากได้ชื่อว่าเป็นแบบนั้น เราจำต้องกระจาย Liberal Arts สู่การศึกษาทุกแบบ ทุกลำดับชั้น

นั่นแปลว่า มันต้องเป็นภาคบังคับต้องเรียนสำหรับทุกคน ไม่ว่าคุณจะเรียนสายวิทย์ สายเทคโนโลยี สายอาชีวะ และเพื่อในที่สุดแล้ว ทุกคนก็จะเข้าใจว่าประวัติศาสตร์ ปรัชญา ภาษาต่างประเทศ สุนทรียะทางศิลปะ คือพื้นฐานของการเรียนทุกแขนงไม่เว้นแม้แต่วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

จะกระจายการเรียนการสอน Liberal Arts ลงไปในการศึกษาทุกระดับ ทุกสาย ทุกสาขาได้ ก็ต้องมีบุคลากรที่จะสอนวิชาเหล่านี้อย่างเป็นมรรคเป็นผล

ไม่ใช่อาจารย์ปรัชญาที่คร่ำครึน่าเบื่อ ล้าสมัย

หรือครูประวัติศาสตร์ที่เอะอะก็ให้นักเรียนท่องๆๆๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นในปีไหน ในประวัติศาสตร์เวอร์ชั่นกระแสหลักโดยไม่เคยตั้งคำถามว่ามันมีประวัติศาสตร์ชุดอื่นๆ ที่แตกต่างออกไปหรือไม่?

การจะมีบุคลากรในการเรียนการสอน Liberal arts ที่เฟี้ยสๆ เพื่อสร้างพลเมืองที่รักในเสรีภาพแห่งความเป็นมนุษย์ที่มีอำนาจเต็มในตนเอง ก็ย่อมต้องการการลงทุนเพื่อผลิตบุคลากรในสาขาเหล่านี้ออกสู่สังคมอย่างต่อเนื่องและเปี่ยมคุณภาพ และนั่นหมายความ การลดเงินอุดหนุนสาขาวิชาเหล่านี้ไม่ใช่คำตอบเลย

สำคัญกว่านั้น อย่าให้ Liberal Arts กลายเป็นความรู้ขึ้นหิ้ง และเป็นสมบัติของคนไม่กี่คนในสังคมที่สถาปนาตนเองเป็นชนชั้นผู้ลึกซึ้ง มากปัญญา และเปี่ยมรสนิยมเหนือเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคมเดียวกัน