MatiTalk จักรภพ เพ็ญแข สิ่งที่เพื่อไทยทำ ผลลัพธ์สุดท้ายจะอธิบายทุกอย่าง

“ทุกอย่างที่ทำจะเข้าข่ายที่เรียกว่า End justified mean ก็คือว่า ผลลัพธ์สุดท้ายมันจะต้องอธิบายว่าวิธีการที่ทำมาถึงแม้จะไม่ถูกใจแต่มันได้ผล ผมคิดว่ารัฐบาลจะถูกตัดสินที่ผลนะครับ ถึงแม้วิธีการจะไม่ถูกใจแล้วมันก็เป็นการสวนทางกับสิ่งที่ตั้งใจหรือแม้แต่ได้พูดเอาไว้ จนรัฐบาลถูกกล่าวหาอย่างรุนแรงว่า ตระบัดสัตย์ มันเป็นเรื่องที่ต้องเอาผลเป็นตัวพิสูจน์ ผมไม่คิดว่าเราจะกลับไปสู่ยุคของ populist government คือรัฐบาลประชานิยมได้อีก”

“คือไม่ใช่มีคนรัก 80-90 เปอร์เซ็นต์ แต่จะออกไปในรูปของความนิยม เช่น อาจจะมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง 5-10% จำนวนที่นั่งอาจจะไม่ต่างกันมากเกินกว่า 20 ที่นั่ง แต่มันก็จะมีผู้ชนะและผู้แพ้ในการเลือกตั้ง”

“เพราะฉะนั้น ถ้าเราย้อนกลับมาหาการทำงานแล้วทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีถึงแม้จะมีอดีตที่ไม่พึงใจอยู่บ้าง ผมเชื่อว่าเราจะได้คะแนนเสียงที่เราจะพอใจได้ แต่อย่าไปคาดหวังถึงขั้นก่อนปี 2550” คือความเห็นของจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์ “มติชนสุดสัปดาห์”

 

จักรภพกล่าวอีกว่าสิ่งแรกสุดที่รัฐบาลคุณแพทองธาร ชินวัตร ต้องทำคือ เรื่องการสื่อสารทางการเมือง ทุกรัฐบาลต้องมีเข็มทิศว่าเราจะมุ่งหน้าไปทางด้านไหน เนื่องจากมีหลายเรื่องที่ต้องทำ และต้องมีลำดับเรื่องเช่นกัน ผมคิดว่าเรื่องการลำดับและชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบว่ารัฐบาลจะไปทางไหนก่อนเป็นเรื่องที่สำคัญอันดับหนึ่ง

ส่วนที่ 2 คือ ต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลเข้าใจในทุกข์ร้อนที่เขาเป็นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและยังมีทุกข์อื่นๆ เช่น น้ำท่วม ความขัดแย้งทางการเมือง เรื่อง AI ที่เข้ามาแย่งงานคน สิ่งเหล่านี้รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องมีความเห็นใจประชาชนด้วย empathy แล้วต้องแสดงออกมาให้เห็น ซึ่งจะได้เรียกว่าเป็นการสื่อสารทางการเมืองส่วนหนึ่งก็ได้

แต่สิ่งที่เป็นรูปธรรม คือ เรื่องของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า โดยเฉพาะเรื่องหนี้สินที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้พูดในดินเนอร์ทอล์ก ท่านใช้คำว่า หนี้สินครัวเรือน ซึ่งเรียกว่าเป็นข้อจำกัดในชีวิตของคนทุกคน เป็นสิ่งลำดับความเร่งด่วนต้นๆ

ดังนั้น ความท้าทายของนายกฯ อุ๊งอิ๊ง น่าจะเป็นความคาดหวังที่เร็วขึ้นว่าจะต้องได้ผล เมื่อก่อนการประเมินผลอาจให้เวลารัฐบาล 1-2 ปี ตอนนี้ไม่ได้ 3 เดือนก็อาจจะเริ่มบ่น คนจะมีปฏิกิริยาในการเมืองเร็วขึ้นต่อสิ่งที่สำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตาม

รัฐบาลจึงไม่มีช่วงฮันนีมูนพีเรียด ทุกคนในประเทศไทยต้องการจะรู้ทิศทาง รัฐบาลต้องพูดชัดเจนเลยว่าเราจะเดินไปทิศทางไหน และไม่มีทิศทางไหนที่ทุกคนจะได้หรือเสียหมด แต่ถ้าไม่มีทิศทางเลยจะไม่มีใครพอใจเลย ที่สำคัญ เมื่อคนไม่มีความหวัง ไม่มีอนาคต คือสิ่งที่อันตรายที่สุด

 

: การสื่อสารของรัฐบาล ณ ตอนนี้ ถือว่าเข้าขั้นวิกฤตไหม?

สมมุติ “เมื่อไหร่ก็ตามที่ประชาชนบอกว่ามันทำอะไรของมันกันวะ” รัฐบาลซวยแล้วนะ วิกฤตเกิดขึ้นแล้วคือไม่ได้ออกมาบวกหรือลบ แต่ว่าเขาไม่รู้จะมองตรงไหนแล้ว แสดงว่ารัฐบาลมีปัญหาเรื่องการนำแล้ว เพราะคำว่า “รัฐบาล” มาจากคำว่า ผู้นำ (leadership) หรือภาวะการนำ ผมคิดว่ามันสำคัญ ถามว่าเข้าขั้นวิกฤตไหม ก็น่าจะต้องถือว่าฉุกเฉิน เอาเป็นว่าสำคัญก็แล้วกัน ถ้าไม่ทำก็ตาย

นายกฯ ก็คงรับรู้ปัญหานี้ดี ซึ่งนายกฯ ก็เป็นคนที่ตอบโต้ได้ฉับไวมีปฏิภาณไหวพริบ น้ำเสียง แววตาเห็นได้ชัด ซึ่งจะทำให้คนรู้สึกว่า responsive แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านต้องระวังนิดหนึ่งก็คือท่านอายุ 37 ติดตามกันมาตั้งแต่อายุ 17 เพราะฉะนั้น ท่านอาจจะสะสมความโกรธมาเยอะ สิ่งที่เกิดกับพ่อ-แม่ อากับครอบครัว ผมไม่ได้เจอท่านเร็วๆ นี้ก็เลยพูดไม่ได้ว่าท่านยังมีความโกรธอยู่ในใจไหม มีความแค้นเหมือนกัน ชีวิตโดนมาหนัก

อยากจะบอกว่าท่านต้องต้องพยายามลดและเคลียร์ตรงนั้น อย่าเอาความโกรธมาบริหารประเทศ หรือเอามาใช้เป็นเชื้อเพลิงใดๆ ไม่มีประโยชน์ แต่เชื่อว่าท่านนายกฯ จะก้าวข้ามได้เพราะท่านเป็นคนเข้มแข็ง

คุณอุ๊งอิ๊งต้องพยายามรู้ทุกข์ของทุกคนเพื่อที่จะเป็นนายกฯ ของทุกคน ผู้นำจำเป็นจะต้องเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของคนก่อนที่เขาจะอนุญาตให้บริหารชีวิตเขาได้ ต้องรู้สึกว่าเข้าใจ ไม่ชอบกันแต่เข้าใจ คุณอุ๊งอิ๊งเป็นนายกฯ ของเสื้อเหลือง เสื้อส้มด้วย ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตามโดยกฎหมาย เพราะฉะนั้น ในพฤติกรรมทางการเมืองก็คือว่าต้องใจกว้างมากเป็นพิเศษ ต้องเกือบจะเรียกว่ารัก โลภ โกรธ หลง นายกฯ ต้องไม่มี ต้องไม่แสดง แล้วทุกอย่างต้องอยู่ในระดับที่เท่าเทียมกัน

ซึ่งอันนี้อาจจะเป็นการยากสำหรับคนอายุ 30 เพราะคนอายุเท่านี้ยังมีอารมณ์ เลือดเนื้อ

แล้วประการที่ 2 ก็คือเอาความโกรธมาใช้เป็นพลังงานในการเผาผลาญ ยังมีปัญหาของประเทศที่มันต้องใช้พลังสูงในการทำ แล้วหมกมุ่นไปกับเรื่องงานดีกว่าที่จะมาเสียเวลากับอารมณ์ในการเมือง ไม่ต้องสนใจโพสต์มาก ดูแค่ภาพรวม ทำโพลที่ไม่โกหกตัวเอง มีลูกน้องที่ไม่ใช่ Yes, ma’am. อันนี้คือคำแนะนำ ซึ่งเป็นคำแนะนำทั่วไปสำหรับทุกคน

วันนี้สังคมไม่ได้อยู่ที่เดิม มีคนรุ่นใหม่ๆ Gen ใหม่เกิดขึ้น ความคาดหวังของแต่ละ Gen ก็ไม่เหมือนเดิม เครื่องมือของแต่ละ Gen ก็ไม่เหมือนเดิม บรรยากาศของโลกที่ล้อมประเทศไทยก็ไม่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ปัจจัย 3 อย่างนี้ ทำให้คำว่ารัฐบาลดีหรือไม่ดีมันเปลี่ยนแปลงไปหมด เพราะคนที่ติดตามรัฐบาลอยู่ก็ย่อมจะต้องดูประเด็นต่างๆ เหล่านี้ควบคู่ประกอบไปด้วย

ผมคิดว่ารัฐบาลยังคงต้องมีหน้าที่เป็นที่พึ่งให้กับประชาชน แต่ไม่ใช่ในรูปของระบบอุปถัมภ์ แต่เป็นรูปของระบบประสิทธิภาพและการให้โอกาส โดยเฉพาะคนที่ไม่มี ความรู้สึกส่วนตัวผมคนที่ไม่มีควรจะได้ก่อน ซึ่งต้องสะท้อนในระบบต่างๆ เช่น ภาษี เป็นต้น และรัฐบาลต้องมีหน้าที่เป็นที่พึ่งให้คน แล้วประชาชนก็มีสิทธิที่จะพึ่งรัฐบาล

แต่คำว่าพึ่งไม่ใช่การกระโดดขึ้นเอว แต่เป็นทวงถาม เมื่อคุณเอาทรัพยากรธรรมชาติไปบริหารและกลุ่มนี้กลุ่มนั้นเป็นยังไง หรือจะใช้หลักการที่รัฐบาลไทยรักไทย ที่นายกฯ ทักษิณใช้ก็ไม่ผิด คือเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส มันอยู่ในสามกรอบนี้

อย่างคนอยากจะมีรายได้เพิ่มเพราะเงินเฟ้อ สินค้าและบริการเพิ่มราคา แต่รายได้เพิ่มไม่ได้ดั่งใจก็ต้องใช้วิธีลดรายจ่าย พร้อมกับการขยายโอกาสที่จะไปสร้างอนาคต

ตรงนี้เป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องค้นคว้าหาวิธีการใดๆ ภายใต้ 3 กรอบนี้ เพื่อทำเป็นนโยบาย

: Digital Footprint จะเป็นอุปสรรคในอนาคต?

ผมมองว่าเป็นตัวช่วยนะ เพราะว่า Digital Footprint มันทำให้ความจำคนมันยาวขึ้น

แล้วเมื่อความจำมันยาวขึ้น คนที่จะซวยก็คือคนที่ทำอะไรไม่ดี โดยเฉพาะในระยะยาวในเรื่องพฤติกรรมนักการเมือง แต่หลังจากนี้ไปทุกคนต้องระวังตัวแล้ว ไม่ว่าจะอะไรก็ตามมันผ่านโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ทั้งนั้น แล้วมันก็เกิด Footprint ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม

เพราะฉะนั้น มันจะเป็นตัวที่ช่วยทำให้คนระวังตัว ไม่ทำความไม่ดีหรือทำสิ่งที่เป็นเรื่องอื้อฉาวมากขึ้น

แต่ต้องยอมรับ เราจะบังคับให้ทุกคนมีจริยธรรมเท่ากันหรือมีความซื่อสัตย์เท่ากันไม่ได้ แต่อย่างนั้นเราระวังได้เรื่องการแสดงออก

เมื่อคุณมีจิตใจที่อาจจะมีความวิปลาส ก็อย่าให้มันออกมาจากปาก หรือออกจากการกระทำก็แล้วกันนะ

 

: เพื่อไทยจะมีส่วนในการถอดสลักความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไร

ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคไหนก็ตามนะที่ร่วมรัฐบาลจะต้องตระหนักด้วยว่าที่ผ่านมาเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย เพราะฉะนั้น การที่เราจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของทางออก เราต้องโชว์ประชาชนเหมือนกันว่าคุณทำอะไรที่มันจะกลายเป็นทางออกตรงนั้น

ทุกวันนี้พรรคเพื่อไทยก็พยายามแสดงว่าเรารวมทุกคนที่เคยเป็นศัตรูกัน ยอมกลืนเลือดมาด้วยกัน ซึ่งประชาชนก็ยังมองก้ำกึ่งว่าเป็นความเสียสละหรือเป็นความกระหายที่อยากจะเป็นรัฐบาล

ก็ต้องเอาสิ่งที่ทำตรงนี้พิสูจน์ต่อไปว่าผลลัพธ์มันออกมาดีสำหรับประชาชน

ซึ่งประชาชนต้องไม่ใช่ประชาชนภาคใดภาคหนึ่ง จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ต้องเป็นประชาชนที่ทุกคนได้รับสิ่งนี้ไปแล้วรู้สึกความเป็นคนเติมเต็มขึ้น

ซึ่งสิ่งเหล่านี้พรรคการเมืองที่ไม่ใช่เพื่อไทย เช่น ประชาชนพูดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งความจริงเป็นสิ่งที่ช่วยระบบการเมืองทั้งหมด คือว่าเราต้องตีความให้ได้ว่าคำว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งวันนี้ได้ยินมาหลายครั้งหลายหน มันแปลว่าอะไร รูปธรรมคืออะไร เรามีเงินมากขึ้น หรือว่าเงินไม่มีแต่อยู่ได้แบบภาคภูมิ หรือเงินไม่มีแต่มีสวัสดิการ เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองต้องพยายามทำให้เป็นรูปธรรม ถ้าพรรคเพื่อไทยทำได้ก็อาจจะไปอยู่ในจุดที่ถอดสลักได้

คนไทยในรุ่นผมเก่งในการเข้าพวก ไม่ค่อยเก่งในการเผชิญหน้า แต่พอกลับมาหลัง 15 ปี เท่าที่สังเกตเขาเก่งเผชิญหน้ามากกว่า

พวกเขารู้สึกว่าพร้อมจะทะเลาะกันและพร้อมจะแตกหักมากกว่าพร้อมจะเป็นพวก

ตรงนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องไม่ดีสำหรับนักการเมืองนะ นักการเมืองที่มองแต่อำนาจแล้วก็ชัยชนะอย่างเดียวจะใช้ประโยชน์จากช่องว่างตรงนี้ได้อย่างเต็มที่ เพราะคนไม่รักกัน เราเป็นฝ่ายเสนอด้ายที่จะร้อยลูกประคำเหล่านี้เข้ามาด้วยกัน ด้ายเป็นของเรา อำนาจซึ่งมันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น อำนาจควรจะเป็นของประชาชนและประชาชนก็รู้วิธีที่จะถ่วงดุลของตัวเอง เห็นไม่ตรงกันโอเคถอยมานิดหนึ่ง ทำยังไงออกมาเป็น solution อันนี้จะเป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของประชาชน

แต่ถ้าประชาชนขัดแย้งกันจนกระทั่งมองหน้ากันไม่ได้แล้ว พูดจากันไม่ได้ ก็ต้องเดินหนีกัน

งานใหญ่มันเกิดขึ้นไม่ได้

ชมคลิป