จุดเปลี่ยน “ทีมเศรษฐกิจ” “สมคิด” คืนอำนาจ “ฉัตรชัย” ปมร้าวเขย่าครม. “ตู่4”

ที่มาของคำสั่งพิเศษ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องสับเปลี่ยนกำลัง การคุม “ทีมเศรษฐกิจ” รัฐบาลใหม่ มีนัยสำคัญยิ่งทางการเมือง

แม้ว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จะชิงลงมือ “คืนอำนาจ” การคุมกำลังในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ยืนตระหง่าน ให้กับนายกรัฐมนตรี ไปก่อนหน้านั้นด้วยเหตุผล “ล้วงไม่ถึง-แตะไม่ได้”

กระนั้น มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 สิงหาคม 2559 ที่ยืนยัน “คำสั่ง” เปลี่ยนให้ทีม “เพื่อนนายกรัฐมนตรี” ขยับคุมทีมเศรษฐกิจเพิ่ม อย่างน้อย 2 กระทรวง ไหวกระเพื่อมไปถึงการปรับคณะรัฐมนตรี “ประยุทธ์ 3”

เพราะคำสั่งนายกรัฐมนตรี คล้ายกับการปรับคณะรัฐมนตรี ขึ้นสู่ “ประยุทธ์ 4” ไปส่วนหนึ่งแล้ว

จังหวะเดียวกับการยื่นใบลาออกจากตำแหน่งของ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และการได้คุมกำลัง-ควบเก้าอี้เพิ่ม ของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ล้วนกระแทกตรงไปที่ “ทีมสมคิด”

ไม่ควรลืมว่า รัฐบาลทหาร ให้คำจำกัดความของกระทรวงไอซีที เป็น 1 ในกระทรวงด้านความมั่นคง กระทรวงนี้จึง “ขึ้นตรง” กับ พล.อ.อ.ประจิน มาตั้งแต่การปรับคณะรัฐมนตรี “ประยุทธ์ 3” แล้ว

จริงอยู่ ในช่วงที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ให้บทบาท “สมคิด” จัดแถวทีมเศรษฐกิจ-ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สำคัญ แต่ทั้งกระทรวงพลังงงาน ก็ไม่ได้ขึ้นตรงกับ “สมคิด” เช่นเดียวกับกระทรวงคมนาคม ที่ “ทีมนายกรัฐมนตรี” ติดตาม-กึ่งกำกับ “โดยตรง” เสมอ

ความลักลั่นเรื่องการ “ขึ้นตรง” สั่งสมมานับปี กระทั่งฝีแตก “สมคิด” ต้องยอมปล่อยมือจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ที่เป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานราก เป็นแขน-ขาในการแก้ปัญหาปากท้องให้แก่เกษตรกร โดยต้องทำงานสอดประสานกับกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ที่ “สมคิด” กำกับดูแล

แต่กระทรวงเกษตรฯ มีรัฐมนตรีว่าการระดับขุนศึกคนสำคัญของคณะรัฐประหาร อย่าง “พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ” อยู่ภายใต้การกำกับของรองนายกฯ “พลเรือน” การขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจระดับมหภาค จึงติด “กับดัก”

บรรยากาศ “มอร์นิ่งบรีฟ” ในวง “โจ๊ก” ทีมเศรษฐกิจ ที่ทำเนียบรัฐบาล จึงไม่มี “พล.อ.ฉัตรชัย” ร่วมโต๊ะ

“ทีมสมคิด” เร่งเข็นนโยบายและมาตรการด้านเศรษฐกิจต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการเดินสายตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกระทรวงด้านเศรษฐกิจแทบทุกสัปดาห์

สไตล์ของ “สมคิด” ก็มักจะใช้การ “ตั้งเป้าสูง” สั่งรัฐมนตรี-ข้าราชการ แบบท้าทาย เพื่อเร่งเข็นผลงาน จึงเพิ่มแรงกดดัน-เบียดขบ กระทบกระทั่งกันมากขึ้น

ปมความขัดแย้ง เริ่มปรากฏชัดเจนมากขึ้น หลังจากกระทรวงการคลังได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 มีมติเห็นชอบ “มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2559/2560” ซึ่งมีด้วยกัน 4 มาตรการ โดย 1 ในมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ ครม. เห็นชอบ ก็คือ การจ่ายเงินให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 10 ไร่ ตั้งวงเงินไว้สำหรับโครงการนี้ทั้งสิ้น 37,860 ล้านบาท

ที่สำคัญ แพ็กเกจมาตรการดูแลเกษตรกรชุดนี้ เป็นการใช้กลไกของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มี “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” ขุนคลังคู่ใจรองนายกฯ “สมคิด” เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่หลายฝ่ายเริ่มจับตามองว่า มีการ “แย่งซีน” กันเกิดขึ้น

นั่นเพราะว่าก่อนหน้านั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ได้เสนอให้ ครม. วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบแพ็กเกจ “มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/2560 ด้านการผลิต” ที่มี 3 มาตรการย่อยไปแล้ว เพียงแต่อาจจะยังไม่โดนใจหัวหน้าทีมเศรษฐกิจนัก จึงต้องมีแพ็กเกจของกระทรวงการคลังตามออกมา

จากนั้น รมว.เกษตรฯ ทำหนังสือถึง รมว.คลัง เร่งให้จ่ายเงินไร่ละ 1,000 บาท พร้อมกับเสนอให้ใช้รายชื่อเกษตรกร ที่กรมส่งเสริมวิชาการเกษตรได้มีการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวไว้อยู่ ประมาณ 3.7 ล้านครัวเรือน

แต่ทีมกระทรวงการคลัง “ปฏิเสธ” แนวทางของกระทรวงเกษตรฯ โดยเสนอให้ใช้ข้อมูลการขอสินเชื่อของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจาก ธ.ก.ส. เป็นข้อมูลในการพิจารณาการให้สิทธิ์ตามโครงการดังกล่าวแทน เนื่องจากเห็นว่าจะทำให้จ่ายชาวนาที่ควรได้รับสิทธิ์ได้อย่าง “ถูกฝาถูกตัว” มากกว่า

ห้องประชุมร้อนแทบปรอทแตก เมื่อ “พล.อ.ฉัตรชัย” ต้องทุบโต๊ะ ผลักเอกสารเรื่องนี้คืนไปที่กระทรวงการคลัง อีกครั้ง

ข้อขัดแย้งลากยาวมาถึงห้องประชุม ครม. เมื่อกระทรวงการคลังนำแนวทางการจ่ายเงินที่จะใช้ข้อมูลการขอสินเชื่อของ ธ.ก.ส. เสนอให้ ครม. เห็นชอบในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 ทางกระทรวงเกษตรฯ ก็ได้เสนอแนะให้ ครม. เพิ่มเงื่อนไขการจ่ายเงินด้วยว่า ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการผลิตพืชทดแทนตามโครงการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 ที่ ครม. ได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559

รวมถึงให้ยึดถือ Agri-Map ในการคัดกรองผู้ที่ปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมออกไปจากผู้ที่ควรได้รับสิทธิ์ไร่ละ 1,000 บาทด้วย

เงื่อนไขที่ถูกเพิ่มเข้ามานี้ ทำให้ทาง ธ.ก.ส. ไม่กล้าจ่ายเงิน เพราะ “เกณฑ์ไม่ชัด” ทั้งกรณีข้าวนาปรังที่ยังไม่ได้มีการเพาะปลูก เมื่อทำจดหมายไปถามกระทรวงเกษตรฯ ก็ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ และไม่กล้า “จิ้ม” ลงไปว่าใคร/พื้นที่ไหน “ไม่ควร” ได้รับเงินไร่ละ 1,000 บาท

กระทรวงการคลังจึงต้องเสนอขอให้ ครม. มีมติทบทวนหลักเกณฑ์การจ่ายเงินอีกครั้ง มีผลให้ชาวนา จะได้รับเงินตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2559 เป็นต้นไป ล่าช้าไปกว่า 3 เดือน

เกาเหลาทีมเศรษฐกิจ ร้อนแรงยิ่งขึ้นเมื่อมีวาระเรื่อง “สต๊อกยาง” 3.1 แสนตัน ที่ทั้ง 2 กระทรวง 2 ทีม มีความเห็นสวนทางกัน

ไม่นับรวมที่ “ทีมสมคิด” ต้องการจัดแถวระบบสหกรณ์ออมทรัพย์-สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนใหม่ แต่กระทรวงเกษตรฯ เปิดศึกต่อต้าน

ปฏิบัติการล้วงไม่ถึง-แตะไม่ได้ จึงถึงคราวต้อง คืนอำนาจให้หัวหน้า คสช. จัดสรร-สับเปลี่ยนกำลังใหม่ ผ่องถ่ายคืน “พล.อ.ฉัตรชัย”

ทั้งยังเป็นคำอธิบายในตัวเองได้อย่างชัดเจนว่า การปรับคณะรัฐมนตรี “ประยุทธ์ 4” อยู่ไม่ไกลแล้ว