พันธกิจ ‘ดับไฟใต้’ ผบ.ตร.ใหม่ รับไม้ ‘บิ๊กต่อ’ ลุยปลดชนวน สานยุทธศาสตร์ ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’

บทความโล่เงิน

 

พันธกิจ ‘ดับไฟใต้’ ผบ.ตร.ใหม่

รับไม้ ‘บิ๊กต่อ’ ลุยปลดชนวน

สานยุทธศาสตร์ ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’

 

เหตุคนร้ายชุดดำ 20 คนบุกจับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จ.นราธิวาส 13 นาย เมื่อค่ำวันที่ 21 กันยายน แล้วปล้นปืนไป 12 กระบอก จากนั้นวางระเบิด และเผาอาคารที่ทำการ พร้อมบ้านพัก โรงรถ และรถหลวง เสียหายทั้งหมด

หวนนึกถึงเหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 20กว่าปีที่แล้ว คนร้ายได้ปืนไป 413 กระบอก

ลักษณะการก่อเหตุเหมือนวนลูปซ้ำรอยเดิมอีก แม้เทียบจำนวนปืนกันไม่ได้ แต่อุกอาจไม่แพ้กัน

ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลให้ความสำคัญการแก้ปัญหาไฟใต้ ได้ทุ่มเททรัพยากรทุกอย่างลงไป แต่ปัญหาหยั่งรากลึกมานาน มีความสลับซับซ้อน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือบูรณาการทำงาน

โดยเฉพาะคำนึงถึงความรับรู้ อารมณ์ ความรู้สึกและความร่วมมือของคนในพื้นที่

แต่เมื่อถึง “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” สถานการณ์กลับปะทุเหมือนรับน้อง เพราะ “เชื้อไฟ” ที่มีอยู่เดิม

แนวโน้มรัฐบาลจะยกเครื่องโครงสร้างที่เป็นกลไกดับไฟใต้ใหม่

ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมาภายใต้ยุค ผบ.ตร.คนที่ 14 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล หรือบิ๊กต่อ ได้น้อมนำยุทธศาสตร์ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาเป็นหลักปฏิบัติ เพื่อยุติเหตุความรุนแรงด้วยมาตรการเชิงรุก ให้ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่นและผู้นำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม

“บิ๊กต่อ” ลงพื้นที่ 5 ครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่ง ลงไปเยี่ยมที่ฐานปฏิบัติการบ้านบาโด เมืองยะลา ร่วมล้อมวงกินข้าวกับผู้ใต้บังคับบัญชา เมนูง่ายๆ อาทิ ไข่เจียว น้ำพลิกปลาทู ผักลวก ปีกไก่ทอด แกงจืด และนอนค้างคืนภายในฐานปฏิบัติการ เพื่อทราบความเป็นอยู่ ความพร้อมวัสดุอุปกรณ์ และยุทธวิธีของกำลังพล

รวมทั้งได้ร่วมกับผู้นำศาสนาทำโครงการบ้านปันสุข มอบบ้านให้กลุ่มเปราะบาง โดยให้แต่ละพื้นที่เลือกบุคคลที่สมควรจะได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนการเงิน ค่าวัสดุก่อสร้าง แล้วให้ตำรวจกับชุมชนร่วมใจกันสร้างบ้าน มีแผนจะมอบบ้านทั้งหมด 24 หลัง

พร้อมทั้งปัดฝุ่นศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) ขึ้นเป็นศูนย์บัญชาการและติดตามการแก้ปัญหา โดยมอบหมายให้ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็น ผบ.ศปก.ตร.สน. รับผิดชอบในการบริหารและสั่งการ มี พล.ต.ต.รุ่งโรจน์ ฐากูรปุณยสิริ รอง ผบช.ตชด. และ พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม รอง ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. เป็นรอง ผบ.ศปก.ตร.สน. ร่วมกับทีมงาน ผบช.ภ.9 และรอง ผบช.ภ.9 ที่รับผิดชอบพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เดินหน้าควบคู่กันใน 5 มิติ ดังนึ้

 

1.มิติด้านการข่าว นำหลักการ IPB หรือ การจัดเตรียมสนามรบด้านการข่าวมาประยุกต์ใช้กับงานตำรวจ วิเคราะห์สภาพแวดล้อมและภัยคุกคามในแต่ละพื้นที่อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยอาศัยฐานข้อมูลข่าวกรองที่แม่นยำ

2. มิติด้านการป้องกันปราบปราม ให้ความสำคัญหัวหน้าหน่วยในพื้นที่ ต้องวิเคราะห์ข้อมูล สถานการณ์ ทั้งเหตุการณ์ที่เคยเกิด ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต นำมาวางแผนประชุมร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง เพื่อวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น หรือทำลายจังหวะการก่อเหตุ รวมถึงสกัดกั้นผู้ก่อการร้ายที่เตรียมจะก่อเหตุ โดยเฉพาะการวิเคราะห์เส้นทางที่กลุ่มผู้ก่อเหตุใช้ในการเดินทาง ต้องประเมินสถานการณ์ และวางจุดตรวจ จุดสกัด ในห้วงเวลาที่เหมาะสม

ตัวอย่างเช่น สภ.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส พื้นที่ที่เคยสามารถจับกุมคนร้ายคนสำคัญได้ ด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์ในพื้นที่โดยเฉพาะเส้นทางรองที่คนร้ายใช้หลบด่านตรวจหลัก แต่ได้มีการวางจุดตรวจ จุดสกัดเส้นทางรอง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. มิติด้านบุคลากร การขาดแคลนมดงานระดับ รอง สวป.ในทุก สภ. เป็นจุดอ่อนที่ พล.ต.ท.สำราญเล็งเห็น จึงเสนอขออนุมัติ ตร. เปิดรับตำรวจชั้นประทวนที่เคยปฏิบัติหน้าที่หรือปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง “บิ๊กต่อ” ได้อนุมัติทันที 100 อัตรา ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการสอบคัดเลือก โดยจะเริ่มเข้ารับฝึกอบรม 1 พฤศจิกายน 2567 ส่งผลให้ได้รับกำลังพลทดแทนได้โดยเร็ว

นอกจากนี้ มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การบรรจุทายาทข้าราชการตำรวจที่เสียชีวิตเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ หากเป็นกรณีที่เป็นตำรวจอยู่แล้วมีสิทธิเลื่อนชั้นเป็นสัญญาบัตรหากมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ซึ่งเป็นการตอบแทนคุณงามความดีให้แก่ครอบครัวตำรวจผู้เสียสละ

4. มิติด้านงบประมาณและอุปกรณ์การปฏิบัติหน้าที่ มีการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่โดยจัดหากล้อง CCTV จำนวน 3,500 ตัว, โดรน 33 ตัว, รถยนต์หุ้มเกราะกันกระสุนและรถจักรยานยนต์ยุทธวิธี พร้อมทั้งผลักดันการก่อสร้างสถานียุทธศาสตร์เพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ บ้านดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส

5. มิติด้านกฎหมายและระเบียบการปฏิบัติหน้าที่ เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงในพื้นที่ พบว่ายังเป็นอุปสรรค ได้มีการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามองค์การอาชญากรรมหรือการก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรง โดยหวังว่าจะเป็นอีกช่องทางสร้างความเชื่อมั่นและสันติสุขให้เกิดขึ้นควบคู่กับการปรับปรุงตัวชี้วัด โดยแยกคดีความมั่นคงออกจากตัวชี้วัดภาพรวมคดีอาชญากรรมทั่วไป

 

นอกจากนี้ “บิ๊กต่อ” ยังเล็งเห็นถึงวีรกรรมและความเสียสละของตำรวจกล้า ผู้เสียสละ ทั้งชีวิตและเลือดเนื้อ เพื่อรักษาปลายด้ามขวานเป็นสิ่งสำคัญ ควรแก่การยกย่อง จึงได้อนุมัติงบประมาณกว่า 9 ล้านบาท จัดสร้างหอเกียรติยศตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเชิดชูเกียรติทั้งผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา

โดยนำเกียรติประวัติและเรื่องราวตำรวจที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตั้งแต่เริ่มมีการจัดตั้ง ศปก.ตร.สน. จัดเก็บและแสดงให้คนรุ่นหลังได้ภาคภูมิใจ

นอกจากนี้ มีงานที่ได้พยายามผลักดันเป็นแนวทางให้ ผบ.ตร.คนที่ 15 ต้องสานงานต่อ

1. การพยายามให้มีการแต่งตั้งผู้ช่วยทูตตำรวจประจำมาเลเซีย เพื่อพัฒนาสัมพันธ์ด้านงานการข่าว การสืบสวนติดตามคดีความมั่นคงจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ

2. แนวคิดให้มี ด.ต.เลื่อนไหลเป็นสัญญาบัตร โดยลดอายุจาก 53 ปีเหลือ 50 ปี เฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังพลระดับรอง สว. รวมถึงกำลังพลขอย้ายออกนอกพื้นที่จำนวนมาก และไม่มีกำลังพลย้ายมาสับเปลี่ยนทดแทน

ทั้ง 2 เรื่องนี้ ได้เริ่มนำร่องแล้ว

สิ่งเหล่านี้แม้ไม่อาจจะสำเร็จได้ในสมัย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์เป็น ผบ.ตร.

แต่ก็นับว่าเป็นก้าวย่างสำคัญให้แม่ทัพสีกากีคนต่อไปได้เดินตาม เพื่อสร้างความสันติสุขให้เกิดขึ้นพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้