ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 กันยายน - 3 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
ในช่วงสองสามปีหลังมานี้ กระแสการนับถือบูชา “พระคเณศ” กลายเป็นที่นิยมขึ้นเป็นอย่างมาก โดยมีการไปทำพิธีสักการบูชารูปพระคเณศ ทั้งที่เป็นรูปประติมากรรมสร้างใหม่ และที่เป็นของเก่าแก่โบราณหลายรูปเลยทีเดียว
ประติมากรรมรูปพระคเณศเก่าแก่องค์หนึ่ง ที่กลายมาเป็นที่สักการบูชาในกระแสบูชาพระคเณศใหม่นี้ ก็คือ พระคเณศองค์ใหญ่ ที่จัดแสดงอยู่ในห้องศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ข้างท้องสนามหลวง) ซึ่งมีคำอธิบายจากเว็บไซต์ของกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ของกรมศิลปากร ระบุว่า
“พระคเณศ 4 กร จากจันทิสิงหส่าหรี เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ศิลปะชวาตะวันออก อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-16 ความสูง 172 เซนติเมตร ลักษณะเป็นประติมากรรมจำหลักศิลานูนสูง ประทับบนบัลลังก์กะโหลกมนุษย์ หัตถ์ขวาบนถือขวาน หัตถ์ซ้ายบนซื้อพวงลูกปะคำ หัตถ์ขวาและหัตถ์ซ้ายล่างถือถ้วยขนม ทรงศิราภรณ์ด้วยกะโหลกมนุษย์ แม้แต่กุณฑล พาหุรัด เข็มขัด รัดองค์ ทองพระกร ทองพระบาท และภูษาทรงล้วนประดับด้วยลวดลายกะโหลกมนุษย์ และสวมสายยัชโญปวีตรูปงู ตามประวัติกล่าวว่า ผู้สำเร็จราชการเกาะชวาซึ่งเป็นชาวฮอลันดาน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในคราวเสด็จประพาสชวาเมื่อ พ.ศ.2439”
จันทิสิงหส่าหรี (ชนชาวชวาเรียกศาสนสถาน ไม่ว่าจะเป็นในศาสนาพุทธ หรือพราหมณ์-ฮินดู และสิ่งปลูกสร้างประธานในนั้นว่า จันทิ คล้ายกันกับที่เขมรใช้คำว่า ปราสาท) อันเป็นสถานที่ซึ่งกรมศิลปากรอ้างว่าเป็นที่ประดิษฐานพระคเณศองค์ดังกล่าวนี้ มีชื่ออยู่ในหนังสือโบราณเล่มสำคัญของชวาตะวันออกที่ชื่อว่า นาครเกียรตาคม และศิลาจารึกคชมาท (Gajah Mada inscription) โดยระบุว่า จันทิแห่งนี้เป็นมฤตกาลัย (ศาสนสถานที่สร้างอุทิศถวายแด่ผู้วายชนม์) ของพระเจ้าเกียรตินคร แห่งราชวงศ์สิงหส่าหรี (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1811-1835)
โดยเฉพาะจารึกคชมาท ซึ่งค้นพบที่บริเวณลานภายในจันทิสิงหส่าหรีเองนั้น มีศักราชระบุอายุปีที่สร้างจารึกหลักตรงกับเรือน พ.ศ.1894 ซึ่งควรจะเป็นปีที่สร้างจันทิแห่งนี้จนแล้วเสร็จลงด้วย
ดังนั้น ถ้าหากประติมากรรมรูปพระคเณศองค์นี้ จะไม่ใช่ของเก่าแก่ที่มีมาก่อน (ดังเช่นที่กรมศิลปากรกำหนดอายุไว้ราว พ.ศ.1400-1600) แล้วจึงค่อยถูกนำมาประดิษฐานไว้ที่จันทิสิงหส่าหรีในภายหลัง ก็เป็นไปได้ว่าที่จะมีอายุอยู่ในช่วงที่ใกล้เคียงกับการสถาปนาจันทิแห่งนี้ ซึ่งก็คือในช่วงใกล้เคียงกับการสถาปนากรุงศรีอยุธยา โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 นั่นเอง
ในส่วนของการประดับลวดลายหัวกะโหลกให้พราวไปทั้งองค์พระคเณศนั้น นักวิชาการชาวตะวันตกเคยได้อธิบายถึงรูปหัวกะโหลก ที่มักจะพบประดับอยู่บนรูปพระคเณศ ที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมชวาตะวันออก (เช่นเดียวกับพระคเณศจากจันทิสิงหส่าหรีองค์นี้) ว่าเป็นเพราะตามปรัมปราคติในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้น พระคเณศ เป็นผู้บุตรของพระอิศวร (องค์เดียวกันกับพระศิวะ) ซึ่งเป็นเจ้าแห่งภูตผีปีศาจ
ดังนั้น รูปพระอิศวรที่ถูกสร้างขึ้นในวัฒนธรรมชวาตะวันออก (ราวระหว่าง พ.ศ.1500-2000) จึงปรากฏการประดับด้วยรูปหัวกะโหลกมนุษย์ ไปพร้อมๆ กับที่แสดงรูปพระอิศวรปางดุร้ายอยู่บ่อยครั้ง
และด้วยโทษฐานที่เป็นบุตรชายของเจ้าแห่งภูตผีที่ดุร้ายอย่างพระอิศวร ในวัฒนธรรมชวาตะวันออกจึงถือว่า พระคเณศเป็นเจ้าแห่งปีศาจผีภูตเหล่านั้นไปด้วย จึงได้ประดับรูปหัวกะโหลกมนุษย์ไว้ที่รูปของพระคเณศ ไม่ต่างอะไรกับรูปของพระอิศวรนั่นแหละครับ
แต่ข้อเสนอนี้ก็ยังอธิบายไม่ได้ว่า ทำไมในวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ยอมรับนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งก็ย่อมจะรู้จักปรัมปราคติที่ว่า พระอิศวรเป็นเจ้าแห่งภูตผีทั้งปวง จึงไม่ได้โอนถ่ายคุณลักษณะดังกล่าวของพระองค์ ไปให้กับผู้บุตรอย่างพระคเณศ เช่นเดียวกับที่ปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมชวาตะวันออก?
และทำไมเราจึงไม่พบรูปของผู้บุตรองค์สำคัญของพระอิศวรอีกองค์หนึ่งอย่าง พระขันธกุมาร ประดับตกแต่งพระองค์ด้วยรูปหัวกะโหลก หรือประทับนั่งหรือยืนอยู่บนหัวกะโหลกมนุษย์เลย?
คําอธิบายในแนวทางที่แตกต่างออกไป ซึ่งเพิ่มทางเลือกในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับพระคเณศองค์ดังกล่าว หล่นออกมาจากปากของนักประวัติศาสตร์-โบราณคดีนอกเครื่องแบบอย่าง คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่เคยอธิบายเอาไว้ใน “ทอดน่องท่องเที่ยว” รายการดังในเครือมติชนทีวีว่า
“เมื่อพระพิฆเนศมาถึงชวา มาถึงเซาธ์อีสต์เอเชีย ก็คือต้องปราบผีพื้นเมือง การนั่งทับกะโหลกเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจเหนือผีพื้นเมือง”
ผมคิดว่าคำอธิบายของคุณสุจิตต์ข้างต้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเลยทีเดียว เพราะลักษณะที่พิเศษอีกอย่างหนึ่งของพระคเณศองค์นี้ก็คือ พระองค์กำลัง “ตกมัน” อยู่นั่นเอง
อาการตกมันที่ว่าสังเกตได้จากการที่ศิลปินผู้แกะสลักประติมากรรมรูปพระคเณศ จากจันทิสิงหส่าหรีนั้น ได้บรรจงแกะรูปน้ำมันไหลออกจากต่อมที่พระกรรเจียก (ขมับ) ทั้งสองข้างของพระองค์ เพื่อแสดงอาการของ “ช้าง” ที่กำลังตกมันอยู่
ถึงแม้ว่า “พระคเณศ” จะเป็นเทพเจ้าที่สำคัญองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่เศียรของพระองค์ก็ยังเป็นช้าง ดังนั้น ถ้าผู้คนในวัฒนธรรมชวาตะวันออกจะเห็นว่าพระคเณศนั้น ตกมันได้ก็ไม่แปลกหรอกนะครับ
โดยเฉพาะเมื่อธรรมชาติของ “ช้าง” เวลา “ตกมัน” นั้นจะดุร้าย การสลักรูปพระคเณศปราบผีพื้นเมือง ด้วยอาการของช้างที่กำลังตกมันนั้นจึงเหมาะสมเป็นอย่างที่สุด
ในวัฒนธรรมชวาตะวันออก ซึ่งคาบเกี่ยวอยู่กับกลุ่มวัฒนธรรมบนเกาะบาหลีนั้นมีความเชื่อเรื่อง “ผีบรรพชน” ซึ่งก็คือ “ผีพื้นเมือง” ของชวา ที่คุณสุจิตต์หมายถึงอยู่อย่างเข้มข้น
ในหนังสือที่ชื่อ “Indian Influence in Old Balinese Art” (อิทธิพลอินเดียในศิลปะบาหลีโบราณ) ของสตุตเตอร์เฮม ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่เมื่อเรือน พ.ศ.2478 ได้อ้างเอาไว้ว่า ก่อนที่จะนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้น ชาวบาหลีเชื่อในผีบรรพชน ที่คาดกันว่าจะอาศัยอยู่ในที่ซ่อนตามแม่น้ำ หรือบนภูเขา พวกเขาเป็นเจ้าของแหล่งน้ำ เป็นผู้ดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น หากปราศจากพวกเขาแล้ว ข้าวและผลิตผลทางการเกษตรต่างๆ ก็จะไม่งอกเงยขึ้นมา
ชาวบาหลียังเชื่ออีกด้วยว่า ผีบรรพชนนั้น “เป็นผู้ก่อตั้งชุมชนหมู่บ้าน พวกเขาเป็นผู้กำหนดสร้างประเพณี และปกปักรักษาความเติบโตของชุมชน”
สตุตเตอร์เฮมยังบอกเอาไว้ด้วยว่า ความเชื่อในทำนองอย่างนี้ก็พบทั้งในเกาะใหญ่อย่าง ชวา และเกาะอื่นๆ ด้วย ดังจะเห็นได้จากการที่ มีการนำกระดูกบางส่วนของบรรพชนบรรจุไว้ในโกศหิน แล้วเก็บรักษาไว้ในเรือนผี (spirit house) ขนาดเล็ก ที่มีอยู่ในบ้านทุกหลัง ลักษณะอย่างนี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคติการบูชาผีบรรพชน กับพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ (fertility rites) ต่างๆ นั้น จะจัดขึ้นรอบยุ้งฉางข้าวอยู่เสมอ
ดังนั้น เมื่ออิทธิพลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูได้ย่างกรายเข้ามาในชวาภาคตะวันออก และเกาะบาหลี จึงจำเป็นที่จะต้อง “ปราบ” ผีบรรพชนเหล่านี้ให้ได้ ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่ในวัฒนธรรมชวาตะวันออกจะมีการสลักรูปพระอิศวรปางดุร้าย ประดับด้วยรูปหัวกะโหลกอยู่บ่อยครั้ง เพราะพระองค์เป็นเจ้าแห่งภูตผีปีศาจอยู่แล้วนั่นเอง
แต่นี่ก็ยังไม่ได้เป็นการตอบคำถามที่ว่า ทำไมจึงต้องให้พระคเณศมาปราบภูตผีพื้นเมืองเหล่านี้ตามพระอิศวรไปด้วยหรอกนะครับ
แน่นอนว่า พระคเณศ ถือว่าเป็นเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่ป๊อบปูลาร์มากที่สุดในโลกองค์หนึ่ง เพราะลักษณะที่ต่างไปจากเทพเจ้าทั่วไปของพ่อพราหมณ์ทั้งหลาย ด้วยมีเศียรเป็นรูปช้าง แต่มีพระวรกายส่วนอื่นๆ เป็นอย่างมนุษย์ทั้งหมด
หลายครั้งเราอาจรู้จักพระองค์ในชื่ออื่นๆ เช่น พระพิฆเนศวร และพระคณปติ อันเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่นอกจากนี้บรรดาพ่อพราหมณ์เขาก็ยังมีชื่อเรียกพระคเณศอื่นๆ อีกให้เพียบนับพันชื่อเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม แต่ดั้งเดิมนั้นพวกพราหมณ์ชมพูทวีปบูชา “พระคเณศ” ในฐานะของ “เทพเจ้าแห่งอุปสรรค” หรือ “เทพเจ้าผู้ขจัดอุปสรรค” ตรงตามความหมายของชื่อ “พิฆเนศ” หรือ “เทพเจ้าผู้เป็นใหญ่แห่งหมู่คณะ” “คณปติ” (ตรงกับคำว่า คณบดี ที่ภาษาไทยยืมมาใช้) ซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่า “คเณศ” หรือ “พิฆเณศวร์” ที่มักจะได้ยินกันอยู่บ่อยๆ
โดยเฉพาะความหมายหลังสุดนี่เอง ที่ผู้เชี่ยวชาญในวิชาอินเดียศึกษา โดยเฉพาะเรื่องพราหมณ์ๆ อย่าง อ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง แห่งภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเจ้าของคอลัมน์ “ผี-พราหมณ์-พุทธ” ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์เล่มนี้เอง ได้อธิบายเอาไว้ในหลายวาระโอกาสแล้วว่า เป็นชื่อที่เก่าที่สุดของพระคเณศ โดยปรากฏมาตั้งแต่ในคัมภัร์พระเวท ซึ่งพวกพราหมณ์นับถือว่าเป็นคัมภีร์ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด และยังเป็นชุดคัมภีร์ (พระเวทประกอบไปด้วย ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และอาถรรพเวท) ที่เก่าแก่ที่สุดของพราหมณ์อีกต่างหาก
โดยเฉพาะส่วนที่เก่าที่สุดของพระเวทคือ คัมภีร์ที่มีชื่อว่า “ฤคเวท” นั้น มีอายุเก่าแก่ไปถึง 4,000-3,500 ปีเลยทีเดียว
ดังนั้น อะไรที่เรียกว่า “พระคเณศ” ในฐานะของ “ผู้เป็นใหญ่แห่งหมู่ชน” จึงเป็นความหมายที่เก่าแก่ดึกดำบรรพ์ระดับบรมปฐมกัปป์เลยก็ว่าได้
และก็คงเป็นเพราะเหตุผลเดียวกันนี้แหละครับ ที่ทำให้วัฒนธรรมชวาตะวันออก เลือกใช้พระคเณศเป็นเทพเจ้าผู้ปราบผีพื้นเมือง คือผีบรรพชนของชนกลุ่มต่างๆ ในเกาะชวา และบาหลี เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้เป็นใหญ่เหนือหมู่ชนต่างๆ ไม่ต่างอะไรกับการที่พระอิศวรเป็นเจ้าแห่งภูตผีปีศาจนั่นเอง •
On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022