วรศักดิ์ มหัทธโนบล / จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ (6)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล
ที่มา: en.wikipedia.org

ช.อวสานราชวงศ์ฉิน (ต่อ)

การสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันของฉินสื่อในขณะที่ยังไม่เคยประกาศตั้งรัชทายาทเลยนั้น ย่อมมีความอ่อนไหวทางการเมืองอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อฉินสื่อทรงมีโอรสกว่า 20 องค์ ซึ่งต่างก็พร้อมที่จะก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิทั้งสิ้น

ทั้งนี้ ยังมินับบรรดาขุนนางและขุนศึกบางคนที่ย่อมมีความทะเยอทะยานทางการเมืองซ่อนอยู่ และต่างก็พร้อมที่จะก้าวขึ้นมามีอำนาจเช่นกัน

จากเหตุนี้ สิ่งที่เกิดในเบื้องต้นจึงมีอยู่สองเหตุการณ์ คือ

เหตุการณ์แรก หลี่ซือโดยการสมรู้ร่วมคิดกับจ้าวเกาเห็นร่วมกันว่าให้ปิดการสิ้นพระชนม์ของฉินสื่อเป็นความลับ พระศพที่เน่าเหม็นและส่งกลิ่นทั่วขบวนเสด็จในขณะที่ยังห่างไกลจากเสียนหยางราว 2,000 ไมล์นั้น ถูกกลบด้วยกลิ่นปลาเน่าที่ถูกสั่งซื้อมาโดยอ้างว่าเป็นพระประสงค์ของฉินสื่อ

เหตุการณ์ที่สอง จ้าวเกาโดยความเห็นชอบของหลี่ซือจงใจแก้ราชโองการเดิมให้กลายเป็นว่า ฉินสื่อมีพระประสงค์ให้ฝูซูทรงกระทำอัตวินิบาตกรรมพร้อมกับเหมิงเถียน โดยอ้างว่าทั้งสองเฝ้าชายแดนนานนับสิบปีแต่กลับไร้ผลงาน

และเฉพาะฝูซูยังถูกกล่าวหาด้วยว่ามีความแค้นที่มิได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นรัชทายาท

เหตุที่หลี่ซือเห็นด้วยกับแผนนี้ก็เพราะว่า หากฝูซูได้ก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดิแล้วตัวเขาก็จะไม่ปลอดภัย ด้วยว่าเขาคือผู้มีส่วนสำคัญในกรณี “เผาตำรา ฝังบัณฑิต” ซึ่งฝูซูทรงค้านจนถูกเนรเทศ

อย่างไรก็ตาม แผนจากเหตุการณ์ทั้งสองนี้ต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือ ให้หูไฮ่ก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิ

 

เหตุการณ์แรกดำเนินไปด้วยดี ส่วนเหตุการณ์ที่สองสำเร็จเฉพาะการทำอัตวินิบาตกรรมของฝูซู ในขณะที่เหมิงเถียนตั้งข้อสงสัยต่อราชโองการจึงไม่ยอมปฏิบัติตาม แต่ยอมให้ถูกจับกุมคุมขัง

สรุปคือ แผนของหลี่ซือกับจ้าวเกาสำเร็จผล หูไฮ่ก้าวขึ้นเป็นทุติยจักรพรรดิแห่งฉิน (ฉินเอ้อร์สื่อฮว๋างตี้, ก.ค.ศ.210-207) ขณะทรงมีอายุ 21 พรรษา

จากนั้น ทั้งความทะเยอทะยานและความอ่อนด้อยทางการเมืองของบุคคล และการขาดคุณสมบัติในการเป็นจักรพรรดิที่ดีของหูไฮ่ก็นำพาให้สถานการณ์เลวร้ายลง

โดยหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว จ้าวเกาผู้ซึ่งบันทึกในชั้นหลังได้อธิบายตัวตนของเขาว่า เป็นคนพาลสันดานหยาบที่มากด้วยเล่ห์เหลี่ยม “ที่แม้นมีหัวเป็นมนุษย์ แต่กลับมีเสียงดุจปีศาจ” นั้น ก็ได้แสดงธาตุแท้ของตนออกมาด้วยการเสนอฉินเอ้อร์สื่อตรากฎหมายให้มีบทลงโทษที่รุนแรงยิ่งขึ้น

ส่วนฉินเอ้อร์สื่อก็ทรงแต่งตั้งให้เขาเป็นขุนนางผู้ดูแลราชโองการ และการรักษาความปลอดภัยแก่องค์จักรพรรดิ

และในปีแรกที่ครองราชย์ของฉินเอ้อร์สื่อ (ก.ค.ศ.209) จ้าวเกาก็ได้เพ็ดทูลให้พระองค์สับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งขุนนางต่างๆ ให้เป็นไปในทางที่มีสมัครพรรคพวกของเขามากขึ้น

พร้อมกันนั้นก็เสนอให้พระองค์ทรงกำจัดพี่น้องร่วมสายโลหิตองค์อื่นๆ เสียให้สิ้น เพื่อมิให้เป็นเสี้ยนหนามต่อราชบัลลังก์ของพระองค์

เมื่อมีผู้ทำงานต่างพระเนตรพระกรรณอย่างจ้าวเกา ฉินเอ้อร์สื่อจึงมุ่งแต่หาความสำราญส่วนพระองค์จนไม่สนใจต่อราชกิจที่พึงมีอีกเลย การสร้างวังเออฝางกงถูกสานต่อพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

เมื่อสูงขึ้นก็ยิ่งเรียกเก็บภาษีจากราษฎรมากขึ้น การกดขี่ขูดรีดราษฎรจึงยิ่งหนักหน่วงลงกว่าเดิม

 

ทั้งด้วยบทลงโทษที่รุนแรงยิ่งขึ้นและการเกณฑ์แรงงานทั้งจากราษฎรและทหาร ในที่สุดก็ได้จุดประกายให้เกิดกบฏขึ้นในรัฐฉู่ เมื่อมีทหารเกณฑ์กลุ่มหนึ่งที่มีพื้นเพเป็นชาวนาในรัฐฉู่ได้ลุกฮือขึ้นภายใต้การนำของบุคคลสองคน

คนหนึ่งคือ เฉินเซิ่ง หรือที่บางที่เรียก เฉินเส้อ อีกคนหนึ่งคือ อู๋กว่าง

ฉู่เป็นรัฐถูกฉินผนวกเอาดินแดนมาขึ้นต่อตั้งแต่สมัยรัฐศึก ความไม่พอใจย่อมมีเป็นพื้นเดิม ครั้นเมื่อทหารกลุ่มนี้ถูกเกณฑ์ให้ไปรักษาชายแดน แต่มิอาจปฏิบัติหน้าที่ได้สำเร็จอันจะทำให้ต้องโทษประหาร อู๋กว่างจึงยุให้ทหารเหล่านี้หนีทัพโดยตนได้ฆ่านายกองที่คุมทหารกลุ่มนี้ตาย

ถึงตอนนี้เฉินเซิ่งจึงประกาศว่า ยามสู้ก็ตาย ยามหนีก็ตาย ไยมิตายเพื่อกอบกู้ฉู่อันเป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่งกว่าเล่า

คำประกาศนี้ได้ปลุกใจเหล่าทหารซึ่งไม่เหลือทางเลือกใดนอกจากความตายได้ลุกฮือขึ้นมา

ตอนที่ลุกฮือนั้นมีทหารสองคนที่อยู่เคียงข้างเฉินเส้อ หนึ่งคือ หลิวปัง อีกหนึ่งคือ เซี่ยงอี่ว์ คนแรกต่อไปคือผู้สถาปนาราชวงศ์ฮั่น ส่วนคนหลังคือคู่แข่งของคนแรก

กบฏนี้ต่อมาถูกถือเป็นกบฏชาวนาขบวนการแรกของจีน

 

อย่างไรก็ตาม กบฏขบวนการนี้แม้จะแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็ว แต่ไม่นานหลังจากนั้นก็เกิดขัดแย้งแตกแยกกันเอง ทั้งอู๋กว่างและเฉินเซิ่งถูกฆ่าโดยพวกเดียวกันเมื่อ ก.ค.ศ.208 และทำให้ขบวนการอ่อนล้าลง

แต่ที่มิได้จางหายไปคือกระแสกบฏที่ลุกฮือขึ้นทั่วทั้งจักรวรรดิ และขณะที่กบฏกำลังแผ่ลามอยู่นั้น จ้าวเกาก็ได้เพ็ดทูลให้ร้ายหลี่ซือว่าคิดอ่านเป็นกบฏ

ฉินเอ้อร์สื่อหลงเชื่อจึงทรงให้จับกุมหลี่ซือ และตั้งให้จ้าวเกาเป็นผู้พิจารณาคดี จ้าวเกาจึงตัดสินให้ประหารชีวิตหลี่ซือด้วยโทษฟันบั้นเอวเป็นสองท่อนเมื่อ ก.ค.ศ.208

โทษครั้งนี้ไม่เว้นแม้แต่เครือญาติทั้งหมดของหลี่ซือด้วยเช่นกัน

 

นับแต่นั้นอำนาจก็เริ่มไหลเข้าหาตัวจ้าวเกามากขึ้น จน ก.ค.ศ.207 จ้าวเกาต้องการทดสอบว่าอำนาจของตนมีมากเพียงใด เขาจึงจูงกวางตัวหนึ่งเข้าไปยังท้องพระโรงพร้อมกับกล่าวว่า นี่คือม้าชั้นดีของตน

ฉินเอ้อร์สื่อตรัสว่า นั่นคือกวาง หาใช่ม้า

จ้าวเกาจึงถามเหล่าขุนนางว่า นี่คือกวางหรือม้า

เหล่าขุนนางที่คิดอยู่ข้างจ้าวเกาหรือรู้รักษาตัวรอดก็จะตอบว่า ม้า มีเพียงขุนนางซื่อสัตย์ไม่กี่คนเท่านั้นที่ตอบว่า กวาง

หลังเหตุการณ์นี้ไปแล้ว ขุนนางที่ซื่อสัตย์ก็ถูกกำจัด ส่วนฉินเอ้อร์สื่อก็ทรงตกอยู่ในที่นั่งลำบาก

ในปีเดียวกันนั้นเอง ความกระหายในอำนาจของจ้าวเกาได้ก้าวไปสู่การสร้างเรื่องว่า มีโจรบุกรุกเข้าไปในวังหลวง แล้วให้ขุนศึกที่สมรู้ร่วมคิดยกกำลังเข้าไปปราบโจรถึงที่บรรทมของฉินเอ้อร์สื่อแล้วปลงพระชนม์พระองค์

หลังการสิ้นพระชนม์แล้วจ้าวเกาก็เรียกประชุมเหล่าเสนามาตย์พร้อมประกาศว่า จะตั้งราชบุตรในพระเชษฐาของฉินเอ้อร์สื่อ (พระนัดดาของฉินสื่อ) ซึ่งก็คือ จื่ออิง ขึ้นมาแทนที่

แต่โดยที่ได้เกิดกบฏขึ้นจนทำให้รัฐฉินมีขนาดเล็กลงจนเหลือเท่ากับครั้งก่อนเป็นจักรวรรดิ จื่ออิงจึงมิควรมีฐานะเป็นจักรพรรดิ (ฮว๋างตี้) เป็นได้ก็แต่กษัตริย์ (หวัง) เท่านั้น เหล่าเสนามาตย์เห็นพ้องกับจ้าวเกาด้วยยำเกรงในอำนาจของเขา

เมื่อแผนตั้งจื่ออิงเป็นกษัตริย์สำเร็จแล้ว จ้าวเกาก็ทูลเชิญกษัตริย์จื่ออิงให้เสด็จไปทำพิธีบวงสรวงเทพยดาฟ้าดินยังวิหารหลวง แต่กษัตริย์จื่ออิงทรงวิตกว่าอาจเป็นแผนกำจัดพระองค์ของจ้าวเกา พระองค์จึงคิดกำจัดจ้าวเกาโดยแจ้งเขาว่าทรงป่วย

จ้าวเกาจึงมาเข้าเฝ้าถึงที่ประทับ เมื่อมาถึงเขาก็ถูกแทงจนเสียชีวิต ไม่ชัดเจนว่าผู้ที่ฆ่าเขาคือผู้ใดระหว่างกษัตริย์จื่ออิงกับขันทีที่ใกล้ชิดพระองค์

ถึงกระนั้น ความตายของจ้าวเกาแม้จะยังความปลอดภัยมายังกษัตริย์จื่ออิงก็จริง แต่หาได้นำความปลอดภัยมาให้แก่จักรวรรดิฉินแม้แต่น้อย

ด้วยว่าการลุกฮือขึ้นของกบฏได้แผ่ลามไปทั่วแล้ว