ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 กันยายน - 3 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
สุวรรณภูมิเป็นชื่อที่ถูกเรียกโดยนักเดินทางเสี่ยงโชคจากอินเดีย และเป็นที่รู้กันว่าเป็นชุมทางการค้าระยะไกลทางทะเลจากอินเดีย ตั้งแต่สมัยเริ่มแรก ราว 2,500 ปีมาแล้ว เรือน พ.ศ.1
มีความเป็นมารวมๆ กว้างๆ อย่างง่ายๆ ดังนี้
ดินแดนทองแดง
สุวรรณภูมิในเอกสารอินเดีย, กรีก และจีน ระบุไว้ทำนองเดียวกันแปลว่าดินแดนทอง หมายถึงดินแดนมีทองแดง (ไม่ใช่ทองคำ) และมีเทคโนโลยีก้าวหน้าในการถลุงและหล่อแร่ธาตุเรียกทองสำริด ส่งผลให้นักเดินทางเสี่ยงโชคมีความมั่งคั่งจากการค้าทองแดงและทองสำริดเหล่านั้น
จึงไม่ใช่ชื่อพื้นเมืองหรือท้องถิ่น เพราะเป็นชื่อถูกเรียกจากคนภายนอก (คือชาวอินเดีย) ส่วนคนพื้นเมืองไม่เรียกพื้นที่ตนเองด้วยชื่อสุวรรณภูมิ ถ้าเรียกสุวรรณภูมิ ก็เรียกตามชาวอินเดีย
แผ่นดินใหญ่ภาคพื้นทวีปของอุษาคเนย์
สุวรรณภูมิเป็นชื่อดินแดนแผ่นดินใหญ่ภาคพื้นทวีปของอุษาคเนย์เมื่อหลายพันปีมาแล้ว โดยไม่ระบุจำเพาะเจาะจงที่ใดที่หนึ่ง แต่เป็นชื่อรวมๆ กว้างๆ ทั้งหมดของบริเวณที่ปัจจุบันเป็นประเทศต่างๆ ได้แก่ มาเลเซีย, ไทย, พม่า, กัมพูชา, เวียดนาม, ลาว
ซึ่งมีคาบสมุทรยื่นยาวลงทางทิศใต้ สมัยโบราณเรียก “แหลมทอง” อยู่กึ่งทางระหว่างอินเดียกับจีน ที่ขนาบด้วยทะเลอันดามันทางฝั่งตะวันตกและทะเลจีนใต้ทางฝั่งตะวันออก
ในทางวัฒนธรรมโบราณหลายพันปีมาแล้ว สุวรรณภูมิเป็นดินแดนกว้างไกลขึ้นไปทางเหนือถึงทางใต้ของจีน คือ มณฑลยูนนาน, กวางสี, กวางตุ้ง บางทีรวมอัสสัมของอินเดีย (พื้นที่ต่อเนื่องเหล่านี้นักวิชาการนานาชาติปัจจุบันสมมุติเรียกบริเวณ “โซเมีย” หรือที่สูงแห่งเอเชีย)
ไม่รวมหมู่เกาะ
ทั้งหมดนี้ไม่รวมหมู่เกาะซึ่งมีชื่อเรียกจำเพาะ ได้แก่ หมู่เกาะสุมาตรา เรียกสุวรรณทวีป (เกาะทอง), หมู่เกาะชวา เรียกยวทวีป (หรือ ยะวาทวีป), หมู่เกาะมลายู เรียกมาลัยทวีป เป็นต้น (จากหนังสือสุวัณณภูมิ ของ ธนิต อยู่โพธิ์ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510)
ไม่มีพรมแดน ไม่เป็นอาณาจักร
สุวรรณภูมิไม่มีพรมแดน และไม่มีเส้นกั้นอาณาเขต จึงไม่มีขอบเขตแน่นอนในภูมิภาคอุษาคเนย์ เพราะในเอกสารและหลักฐานแวดล้อมมิได้ระบุตำแหน่งที่ตั้งอย่างจำเพาะเจาะจงตรงไปตรงมาแห่งใดแห่งหนึ่ง
ดังนั้น สุวรรณภูมิไม่เป็นอาณาจักร, ไม่เป็นรัฐ เหมือนรัฐชาติสมัยหลัง
ไม่อาณานิคมอินเดีย
นักปราชญ์ฝรั่งเศสอธิบายว่าอุษาคเนย์ดั้งเดิม เป็นถิ่นฐานของคนป่าเถื่อน ไม่มีบ้านเมือง ต่อมาเมื่อเป็นอาณานิคมอินเดียแล้วรับอารยธรรมอินเดียจึงมีบ้านมีเมือง
หลักฐานเกี่ยวกับโลหะในสุวรรณภูมิกลับแสดงตรงข้าม ว่าก่อนรับอารยธรรมอินเดีย อุษาคเนย์เติบโตเป็นบ้านเมืองใหญ่โต และมีเทคโนโลยีสูง ต่อมาพ่อค้านักเสี่ยงโชคไปขอซื้อทองแดงจากสุวรรณภูมิ กระทั่งมีการแผ่อารยธรรมอินเดีย ทำให้หัวหน้าชุมชนพื้นเมืองเลือกรับอารยธรรมอินเดียที่แผ่เข้ามาโดยมิได้รับทั้งหมด

กำเนิดสุวรรณภูมิ “ไม่ศาสนาพุทธ”
สุวรรณภูมิมีกำเนิดจากการค้าระยะไกลทางทะเล เพื่อซื้อทองแดงจากภาคพื้นทวีปอุษาคเนย์ ไปขายต่อถึงกรีก-โรมัน ทำให้ชุมชนบนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์เติบโตเป็นบ้านเมืองมั่งคั่งจากการค้าทองแดงและทรัพยากรอื่นๆ
หลังจากนั้นอีกนาน ความมั่งคั่งของบ้านเมืองในอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป เป็นที่รับรู้แพร่หลายทั่วอินเดียจากพ่อค้านักเสี่ยงโชค ทำให้ผู้นำทางศาสนาในอินเดียทั้งฝ่ายศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และฝ่ายศาสนาพุทธ ร่วมกันส่งนักบวชของตนไปกับเรือของพ่อค้านักเสี่ยงโชคเพื่อเผยแผ่ศาสนาที่สุวรรณภูมิ เรือน พ.ศ.1000 (ปัจจุบันนักโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลปะในไทย พากันเรียกช่วงเวลานี้ว่า “ทวารวดี”)
เรือและการเดินเรือ
สมัยเมื่อหลายพันปีมาแล้ว เทคโนโลยีเกี่ยวกับเรือและการเดินเรือทะเลสมุทรมีข้อจำกัดมาก จึงแล่นตัดมหาสมุทรไม่สะดวก และมีอันตรายมากในการแล่นอ้อมช่องแคบมะละกา
นักเดินเรือจึงเลือกเดินทางเลียบชายฝั่งผ่านดินแดนคาบสมุทรแล้วขนถ่ายสิ่งของสินค้าข้ามคาบสมุทรไปแลกเปลี่ยนซื้อขายซึ่งกันและกัน ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีต่างๆ ก้าวหน้ามากขึ้น จึงมีการเดินเรือแล่นตัดข้ามมหาสมุทร
สถานีการค้า
ดังนั้น จึงมีสถานีการค้าหรือเมืองท่าชายฝั่ง ซึ่งพบหลักฐานเป็นโบราณวัตถุหลากหลาย จากบ้านเมืองทางตะวันตก-ตะวันออก อายุราว 2,500 ปีมาแล้ว พบตามชายฝั่งทะเลบริเวณคาบสมุทรทั้งฟากอ่าวเมาะตะมะ หรืออ่าวเบงกอล ทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะเขาสามแก้ว (ต.นาชะอัง อ.เมือง) จ.ชุมพร ซึ่งเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเรื่องราวทางการค้าของสุวรรณภูมิ [จากบทความเรื่อง “อู่ทองถึงเขาสามแก้ว : เมืองท่าสุวรรณภูมิฟากฝั่งทะเลจีน” ของ ศรีศักร วัลลิโภดม ในวารสาร เมืองโบราณ (ปีที่ 46 ฉบับที่ 1) มกราคม-มีนาคม 2563 หน้า 28-33]
ลมมรสุม
มีลมมรสุม 2 ทิศทาง ซึ่งเอื้อต่อการเดินเรือทะเลสมุทร ได้แก่
(1.) ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดจากมหาสมุทรอินเดีย ขึ้นฝั่งภาคพื้นทวีป เอื้ออำนวยต่อการเดินทางจากอินเดีย, ลังกา เข้าถึงคาบสมุทร และ
(2.) ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดจากทะเลจีน มหาสมุทรแปซิฟิก ขึ้นฝั่งภาคพื้นทวีป เอื้ออำนวยต่อการเดินทางจากจีนลงไปคาบสมุทรมลายู
คนหลายชาติพันธุ์
ชาวสุวรรณภูมิเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” นับไม่ถ้วน (มีบอกในเอกสารจีนชื่อ “หมานซู” แต่งเมื่อราว พ.ศ.1400)
นับถือศาสนาผี (คำว่า ผี หมายถึงอำนาจเหนือธรรมชาติ) เชื่อเรื่องขวัญ คนตาย ขวัญไม่ตาย มีพิธีศพครั้งที่ 2 (ไม่มีเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีโลกหน้า ไม่มีนรกสวรรค์) ยกย่องหญิงมีสถานภาพสูงกว่าชาย [เช่น เป็นใหญ่ในพิธีกรรมและเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์, พิธีแต่งงานหญิงเป็นนาย ชายเป็นบ่าว (ขี้ข้า) ของหญิง เป็นต้น] •
| สุจิตต์ วงษ์เทศ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022