ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 กันยายน - 3 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ก่อสร้างและที่ดิน |
เผยแพร่ |
ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์บ้าน คอนโดฯ เดือนกันยายน 2567 รู้สึกดีขึ้นมาหน่อยหนึ่งเมื่อเทียบกับหลายๆ เดือนที่ผ่านมาของปีนี้
เพราะเป็นจังหวะเวลาที่มีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็น แพทองธาร ชินวัตร ที่ทำให้มีความหวังว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ
เป็นจังหวะเวลาที่เริ่มมีการกระตุ้นกำลังซื้อตามนโยบาย “ดิจิทัลวัลเล็ต” ที่พรรคเพื่อไทยรณรงค์หาเสียง ซึ่งคาดว่ากำลังซื้อที่ห่อเหี่ยวมานาน จะมีความคึกคักขึ้นมาบ้าง
แต่รูปธรรมสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ความรู้สึกตลาดดีขึ้น คือ การที่รัฐบาลจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ซึ่งเป็นกองทุนรวมพิเศษเพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐขึ้นมา การจัดตั้งขึ้นมาเที่ยวนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า เพื่อกระตุ้นหรือชุบชีวิตตลาดหุ้นไทยที่ซบเซาเงียบเหงามามานาน
ผลปรากฏว่าตัวกองทุนเองก็ได้รับความสนใจซื้อหน่วยลงทุนทั้งจากสถาบันและจากนักลงทุนล้นหลาม การขยับตัวลงทุนของกองทุนก็ส่งผลต่อตลาดหุ้นทันตาเห็น
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ต่ำเตี้ยไหลลงมาเรื่อยๆ ต่ำกว่า 1,300 จุด ต่ำกว่า 1,200 จุด ก็เด้งกลับมาเหนือ 1,300 ได้
ทำให้เริ่มมีความรู้สึกที่ดีขึ้น เริ่มมีความหวังขึ้นมามาบ้าง
ตามมาต่อเนื่องกันพอดี กลางเดือนกันยายน ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟดก็ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% ซึ่งถือว่าเป็นการลดแรงแบบเซอร์ไพรส์
ผลที่จะติดตามมา คาดว่าจะทำให้กระแสเงินทุนหรือฟันด์โฟลว์ในตลาดโลกไหลเข้ามาในประเทศแถบเอเชียรวมทั้งไทยเรา จะส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยในทางบวก
และที่คนคาดหวังมากกว่านั้น คือ การลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด จะเป็นกระแสกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมายืนยันไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมาตลอด ล่าสุดผู้ว่าการแบงก์ชาติถึงกับแสดงความคิดเห็นทำนองว่าประเป็นเทศไทยไม่ควรไล่ล่าตัวเลขการเติบโตจีดีพี
ถึงคราวที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น ภาระการชำระหนี้เบาลง ที่สำคัญกำลังใจและความเชื่อมั่นของคนจะดีขึ้น
นอกจากนี้ วันเวลาของปีก็กำลังจะเดินเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2567แล้ว บริษัทอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ต้องเร่งทำยอดขาย ต้องเปิดตัวโครงการใหม่ ต้องเร่งรณรงค์แคมเปญต่างๆ
หากโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยเคลื่อนตัวไปตามปัจจัยที่กล่าวมา น่าจะทำให้ธุรกิจและประชาชนคนทำมาหากินหายใจหายคอได้โล่งขึ้นระดับหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ดี ยังมีปัญหาพื้นฐานเรื่องใหญ่ที่เป็นอุปสรรคการเติบโตเศรษฐกิจประเทศที่ต้องการแก้ไข
ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชนสูง ต้องการนโยบายการพักชำระหนี้ การซื้อหนี้ประชาชนออกจากสถาบันการเงิน เหมือนกับที่รัฐเคยช่วยภาคธุรกิจและสถาบันการเงินยุควิกฤตปี 2540
ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจโครงสร้างการผลิตประเทศล้าหลังไม่ทันตลาดโลก ก็ต้องการนโยบายต้องการโรดแม็ปในการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน
กลยุทธ์ปากท้องเวลานี้ ดีใจได้ แต่ไม่ประมาทครับ •
ก่อสร้างและที่ดิน | นาย ต.
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022