สถาปัตย์ไทยศิลปากร : 70 ปีของการหาความเป็นไทย ในโลกสมัยใหม่ (4)

ชาตรี ประกิตนนทการ

กระแสการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยขนานใหญ่ของรัฐบาลเผด็จการทหารนำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ช่วงหลัง พ.ศ.2500 ภายใต้บริบทสังคมไทยยุคสงครามเย็นที่นำมาซึ่งอิทธิพลทางสังคมวัฒนธรรมตาม “วิถีอเมริกัน” และการสนับสนุนงบประมาณมหาศาลจากสหรัฐอเมริกา ได้ทำให้สังคมไทยโดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ที่มีฐานทัพอเมริกันตั้งอยู่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลสู่การเป็นเมืองสมัยใหม่ในโลกเสรีที่มีอเมริกาเป็นผู้นำ

ทั้งหมดส่งผลให้เกิดการขยายเมืองอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ถนนหนทางถูกตัดขึ้นมากมาย เกิดรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างใหม่ กิจกรรมบันเทิงทันสมัย ย่านเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งนำมาสู่ความต้องการในการออกแบบก่อสร้างสถาปัตยกรรมสมัยใหม่มากมาย เช่น โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคาร โรงภาพยนตร์ สถานบันเทิงยามราตรี ฯลฯ

สภาวการณ์ดังกล่าว แนวทางการผลิตบัณฑิตทางสถาปัตยกรรมตามทิศทางแบบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เน้นความเป็นสากลนิยม ดูจะตอบสนองกับสภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองได้ดีกว่า

ในขณะที่แนวทางการเรียนการสอนสถาปัตยกรรมไทยแบบศิลปากรที่เน้นงานช่างแบบดั้งเดิม ดูจะไม่สอดคล้องกับการเคลื่อนตัวไปของสังคมไทยในช่วงนั้นมากนัก

สุดท้าย คณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร ต้องปรับโครงสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศไปสู่สังคมอุตสาหกรรมมากขึ้น

โดยเน้นการสอนไปในทางสากลนิยมแบบสถาบันการศึกษาอื่นๆ และเปลี่ยนชื่อคณะเป็น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ.2509

สมุดตำราลายไทย โดย พระเทวาภินิมมิต

ผลของการเปลี่ยนแปลงนี้คือการลดรายวิชาช่างแบบโบราณลง แม้โดยภาพรวมยังคงมีรายวิชาช่างแบบโบราณมากกว่าหลักสูตรของสถาปัตย์จุฬาฯ แต่ก็ถือว่าลดลงจากหลักสูตรแรกเริ่มพอสมควร

แนวทางใหม่มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตทางด้านสถาปัตยกรรมไปในทิศทางที่ไม่แตกต่างกันมากนักกับ สถาปัตย์จุฬาฯ และนับแต่นั้นมาหลักสูตรทางด้านสถาปัตยกรรมทั้งที่มีอยู่เดิมและเปิดขึ้นใหม่ในแทบทุกสถาบันการศึกษาก็ดูจะมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน แม้จะมีความต่างในรายละเอียด รายวิชา หรืออาจารย์ผู้สอน แต่ก็อาจกล่าวได้ว่าไม่แตกต่างกันในเชิงโครงสร้างหลัก

อย่างไรก็ตาม การตัดคำว่า “ไทย” ออกจากชื่อคณะ ก็มิได้ทำให้ภารกิจการสร้างความรู้แบบไทยของสถาปัตย์ศิลปากรสูญหายไป

หากย้อนดูงานวิชาการที่ผลิตขึ้นจากสถาบันแห่งนี้ในยุคหลัง พ.ศ.2509 จนถึงราวทศวรรษ 2530 เราจะพบว่า จุดแข็งเรื่องสถาปัตยกรรมไทยยังคงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างคำอธิบายขององค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมไทยภายใต้ระบบวิธีคิดทางการออกแบบทางสถาปัตยกรรมในโลกตะวันตก

แนวทางนี้เป็นเสมือนแนวทางในการค้นคว้าความรู้ทางสถาปัตยกรรมไทยกระแสหลักของโรงเรียนสถาปัตย์ที่ศิลปากร ที่ต่อมาจะกลายเป็นวิธีการที่ใช้อย่างแพร่หลาย

วิธีนี้ในด้านหนึ่งคือการรื้อฟื้นความรู้แบบงานช่างโบราณให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งในโลกสมัยใหม่

ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เป็นการสร้างคำอธิบายที่ชี้ให้เห็นว่างานช่างโบราณของไทยนั้นมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมหรือเป็นไปตามแนวทางเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตก มิได้ด้อยกว่าเลยแม้แต่น้อย

จะว่าไป สิ่งนี้คือผลสะท้อนของอุดมการณ์ชาตินิยมไทยที่ทำงานอย่างแนบเนียนผ่านการสร้างความรู้ทางสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งเป็นเสมือนพันธสัญญาอันสำคัญยิ่งตั้งแต่แรกตั้งสถาปัตย์ศิลปากรที่ได้รับมอบหมายมาจาก (ชนชั้นนำ) สังคมไทย

หนังสือ พุทธศิลปะสถาปัตยกรรม ภาคต้น โดย พระพรหมพิจิตร

ตัวอย่างการสร้างความรู้ตามแนวทางดังกล่าวชิ้นสำคัญในยุคแรกๆ คือ “สมุดตำราลายไทย” ของ พระเทวาภินิมมิตร (ฉาย เทวาภินิมมิตร) และ “พุทธศิลปสถาปัตยกรรม ภาคต้น” ของพระพรหมพิจิตร

สมุดตำราลายไทย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2486 เป็นตำราที่เขียนขึ้นจากความคิดของพระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากรขณะนั้น โดยมีที่มาน่าสนใจ ดังปรากฏในจดหมายที่เขียนถึง สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ว่า

“…เมื่อข้าพระพุทธเจ้ามาหยู่กรมสิลปากรได้ไหม่ๆ พระเทวาภินิมมิตมาเยี่ยม ข้าพระพุทธเจ้าจึงชักชวนเพระเทวาฯ ไห้มาช่วยทำตำราช่างเขียนไทย พระเทวาฯ ก็ยินดีและได้มาทำงานหยู่กับข้าพระพุทธเจ้าแล้ว ความประสงค์ของข้าพระพุทเจ้า ต้องการจะฟื้นฟูวิชาช่างสิลปของไทยไห้เข้ากันได้กับสิลปของต่างประเทส…” (อ้างถึงในหนังสือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงบันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ ประทานพระยาอนุมานราชธน เล่ม 5 หน้า 204)

เนื้อหาตำราเป็นการรวบรวมลวดลายไทยต่างๆ เข้ามาไว้ด้วยกันโดยอธิบายชื่อเรียกองค์ประกอบต่างๆ อย่างละเอียดรวมถึงสัดส่วนที่สำคัญบางอย่าง แจกแจงออกเป็นประเภทและจัดหมวดหมู่อย่างเป็นระบบ ไล่เรียงตั้งแต่ง่ายไปหายาก พร้อมทั้งแปลชื่อเรียกต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษตลอดทั้งเล่ม

ซึ่งเป็นความพยายามที่จะเทียบเคียงองค์ประกอบลายไทยในรูปแบบวิธีการเดียวกันกับตำราองค์ประกอบลวดลายของสถาปัตยกรรมตะวันตก

หรือกล่าวตามคำของพระยาอนุมานราชธนคือ ฟื้นฟูวิชาช่างศิลปะไทยให้เข้ากันได้กับศิลปะของต่างประเทศนั่นเอง

ตำรานี้ถูกใช้เป็นตำราหลักในการเรียนการสอนทางสถาปัตยกรรมไทยที่ศิลปากรนับตั้งแต่แรกตั้งคณะ เรื่อยมาจนปัจจุบัน

ภาพการวิเคราะห์สัดส่วนเรือนไทยด้วยหลักการทางเรขาคณิต จากหนังสือ เรือนไทยเดิม โดย ฤทัย ใจจงรัก

ในส่วนพุทธศิลปสถาปัตยกรรม ภาคต้น เป็นหนังสือที่รวบรวมองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณีที่สำคัญเอาไว้ ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2495 มีโครงสร้างหนังสือเช่นเดียวกับ สมุดตำราลายไทย คือแบ่งองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมไทยออกเป็นส่วนๆ ตั้งแต่ฐาน หัวเสา หลังคา องค์ประกอบตกแต่งสถาปัตยกรรม โดยระบุชื่อเรียกอย่างละเอียดพร้อมทั้งแปลเป็นภาษาอังกฤษตลอดเล่ม

ที่สำคัญมากของตำราเล่มนี้คือ องค์ประกอบทั้งหมดจะมีการกำหนดสัดส่วนอย่างละเอียดตามวิธีการเขียนแบบสมัยใหม่ ใช้หน่วยวัดสากล มิใช่หน่วยวัดแบบไทยโบราณ หนังสือเล่มนี้มีลักษณะไม่ต่างจากตำราเรียนองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมตะวันตกที่ทำการแบ่งชนิดประเภทชัดเจน พร้อมทั้งมีสัดส่วนระยะบอกเอาไว้ทุกองค์ประกอบ

พุทธศิลปสถาปัตยกรรม ภาคต้น ยังมีความพิเศษตรงที่องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมไทยภายในเล่มนั้น หลายองค์ประกอบเป็นการคิดสัดส่วนขึ้นใหม่ภายใต้ข้อจำกัดและคุณสมบัติของวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ นั่นก็คือ “คอนกรีตเสริมเหล็ก” ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายในยุคสมัยนั้น และยังเป็นวัสดุก่อสร้างที่มีนัยยะของความทันสมัยด้วย

ดังนั้น พุทธศิลปสถาปัตยกรรม ภาคต้น จึงเป็นตำราที่แสดงการประยุกต์ปรับแปลงงานสถาปัตยกรรมไทยให้เข้ากับความเป็นสมัยใหม่ชิ้นสำคัญ หรือพูดให้ชัดก็คือเป็นการทำความรู้แบบโบราณของไทยให้มีความศิวิไลซ์ตามมาตรฐานตะวันตกชิ้นแรกๆ

 

อีกประเด็นที่ดูจะได้รับความสนใจมากในการผลิตผลงานวิชาการของสถาปัตย์ศิลปากรคือ ความพยายามที่จะศึกษาและอธิบายความงามของการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยในฐานะที่เป็นความงามที่ทัดเทียมมาตรฐานสากล หรือในหลายกรณีก็อธิบายว่ามีคุณค่าเหนือกว่า ตัวอย่างวัตถุแห่งการศึกษาที่สำคัญในประเด็นนี้ก็คือ “เรือนไทย”

มีงานศึกษาหลายชิ้น (เช่น งานเขียนของ สมภพ ภิรมย์ และ ฤทัย ใจจงรัก) ที่ย้อนกลับไปอธิบายรูปทรงสัดส่วนตลอดจนระบบการก่อสร้างของ “เรือนไทยโบราณ” ว่ามีความสอดคล้องแบบเดียวกันกับวิธีการออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบแผนผังและช่องเปิดที่ทำให้ผังเรือนไทยมี “การไหลเวียนของพื้นที่” (flow of space) แบบเดียวกัน หรือมีระบบวิธีการก่อสร้างแบบ “การผลิตสำเร็จรูป” (prefabrication)

ไปจนถึงความพยายามหา “สัดส่วนทองคำ” (golden section) ของงานสถาปัตยกรรมไทยหลากหลายประเภทในรูปแบบวิธีการที่ไม่ต่างกันมากนักจากสัดส่วนทองคำในงานสถาปัตยกรรมตะวันตก

สถาปัตย์ศิลปากรให้ความสำคัญกับการผลิตความรู้ทางสถาปัตยกรรมไทยมาโดยตลอด จนในปี พ.ศ.2529 ได้มีการเปิดหลักสูตรประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมขึ้น โดยเป็นหลักสูตรระดับปริญญาโท ซึ่งถือว่าเป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวของประเทศไทยที่เน้นเรื่องการค้นคว้าเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมไทยโดยตรง

และเกือบ 40 ปีที่หลักสูตรนี้ก่อตั้งขึ้นก็ได้ผลิตนักวิชาการทางสถาปัตยกรรมไทย ตลอดจนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมไทยออกมาเป็นจำนวนมาก

กล่าวได้ว่า นับตั้งแต่ พ.ศ.2509 เป็นต้นมา แม้ภาพรวมของคณะ จะปรับเปลี่ยนเข้าสู่แนวทางแบบสากลนิยม

แต่ในด้านของการผลิตความรู้ทางสถาปัตยกรรมไทยก็ถือว่ามีความเข้มแข็งมาก องค์ความรู้ที่ผลิตจากโรงเรียนแห่งนี้ได้กลายมาเป็นมาตรฐานคำอธิบายงานสถาปัตยกรรมไทยกระแสหลักของสังคมไทยมาจนปัจจุบัน

จุดเปลี่ยนใหญ่ของสถาปัตย์ศิลปากรจะเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายทศวรรษที่ 2530 ซึ่งเกี่ยวข้องกับความกังวลว่าสังคมไทยกำลังจะขาดสถาปนิกที่มึความเชี่ยวชาญทางด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมไทย

แม้องค์ความรู้สถาปัตยกรรมไทยจะมีการผลิตต่อเนื่องตามที่กล่าวไป แต่ในแง่ของการผลิตสถาปนิกซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทยโดยตรงกลับเริ่มประสบกับวิกฤตการขาดแคลนผู้ที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญ

และนำมาสู่การพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะเปิดหลักสูตรสถาปัตยกรรมไทยให้ฟื้นกลับขึ้นมาใหม่อีกครั้ง