ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 กันยายน - 3 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | จ๋าจ๊ะ วรรณคดี |
ผู้เขียน | ญาดา อารัมภีร |
เผยแพร่ |
‘ศึกชิงนางในวรรณคดี’ มิได้เกิดระหว่าง ‘วิชาธร วิทยาธร พิทยาธร’ ด้วยกันเท่านั้น
แต่ยังครอบคลุมถึงฤษี นักสิทธิ์ วิทยาธร และคนธรรพ์ แย่งชิงผลไม้พิเศษสุดกันอุตลุด ฆ่าฟันกันจนตายเกลื่อนอยู่ใต้ต้นไม้ดังกล่าว
ทั้งๆ ที่ ‘นารีผล’ หรือ ‘มักกะลีผล’ ในป่าหิมพานต์ มีอายุการใช้งานแสนสั้นแค่ 7 วัน แต่แค่นี้ก็คุ้มเกินคุ้มสำหรับผู้อยากใช้บริการเสพสมชนิดสนองตามความต้องการอย่างว่าง่าย ไม่บ่ายเบี่ยงขัดขืนแต่อย่างใด
นิทานคำกลอนเรื่อง “โคบุตร” เล่าถึงพระโคบุตรและอรุณกุมารขณะเที่ยวชมป่า ได้พบต้นนารีผลบนเนินเขา มีคนธรรพ์ นักสิทธิ์ วิทยาธรรายล้อมเฝ้ารักษา
“ครั้นถึงที่เขาใหญ่ในไพรสณฑ์ แลเห็นต้นนารีผลบนเนินผา
ล้วนคนธรรพ์นักสิทธิ์วิทยา เฝ้ารักษาแลล้อมอยู่พร้อมกัน
ทั้งสององค์ทรงแลไม่เคยเห็น มุ่งเขม้นแล้วทรงพระสรวลสันต์
พระโคบุตรนึกอนาถประหลาดครัน ต้นไม้นั้นแต่ล้วนนางสล้างไป
ที่ใต้ต้นคนธรรพ์สะพรั่งอยู่ พระน้องดูให้เห็นเล่นใกล้ใกล้
ว่าพลางทางชวนกันเหาะไป สำราญใจรื่นจิตด้วยฤทธิรณ”
ต้นไม้ที่ออกดอกออกผลเป็นมนุษย์เพศหญิงร่างเปลือยเปล่าห้อยอยู่ตามกิ่ง ดึงดูดใจพระโคบุตรและอรุณกุมารยิ่งนัก ด้วยเป็นสิ่งแปลกประหลาดไม่เคยพบเห็นมาก่อน เมื่อทั้งคู่พากันเหาะเข้าไปดูใกล้ๆ ก็เป็นเรื่อง
“ฝ่ายคนธรรพกับพวกวิชาธร เหาะเร่ร่อนคอยระวังนารีผล
เห็นพี่น้องสองคนในอำพน แต่ละตนเดือดดาลทะยานใจ
ด้วยหวงแหนแค้นเคืองเป็นที่สุด เหม่มนุษย์สองรามาแต่ไหน
แกว่งพระขรรค์หันเหาะระเห็จไป ทะลวงไล่บุกบั่นกระชั้นมา”
(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)
บรรดาคนธรรพ์ นักสิทธิ์ และวิทยาธรปกติก็คุมเชิงแย่งชิงนารีผลกันอยู่แล้ว ทันทีที่เห็นมนุษย์สองคนก็เข้าใจว่าจะมาแย่งด้วย พวกวิทยาธรแค้นใจนัก รีบเหาะไปจัดการทันที พระโคบุตรป้องกันอันตรายให้น้องชาย แล้วต่อสู้กับวิทยาธรเป็นพัลวัน
“พระโคบุตรหยุดถอดเอาแหวนก้อย ให้น้องน้อยใส่นิ้วพระหัตถา
เข้าโจมจับกับพวกวิทยา เสียงศาสตรากริ่งกร่างกลางอัมพร”
ฝีมือพระโคบุตรไม่เป็นรองใคร สามารถชิงอาวุธวิเศษของวิทยาธรมาเล่นงานเจ้าของเสียย่อยยับ ทำให้วิทยาธรที่เหลือร่วมด้วยช่วยกันรุมศัตรู
“ชิงพระขรรค์ฟันฟาดเสียงฉาดฉับ ศีรษะพับตกผางกลางสิงขร
ที่เหลือตายรายรอบเข้าราญรอน วิชาธรล้อมกลุ้มเข้ารุมองค์”
อิทธิฤทธิ์และพละกำลังที่เหนือกว่าทำให้การต่อสู้ระหว่างพระโคบุตรกับวิทยาธรไม่ต่างจากพญานกมีชัยเหนือพญานาค วิทยาธรทั้งหลายที่ตายก็ตายเกลื่อน ที่หนีตายก็รักษาชีวิตไว้ได้
“พระรบรับจับมารแล้วโยนขว้าง เสียงผึงผางถูกเพื่อนเป็นผุยผง
ด้วยกำลังยั่งยืนกลางณรงค์ ดังครุฑยงเหยียบพญาวาสุกรี
วิชาธรอ่อนฤทธิ์ไม่อาจรบ น้อยกำลังหลีกหลบเอาตัวหนี
ที่วอดวายตายกลาดธรณี ที่หลบลี้หลีกลอดก็รอดตาย”
พระโคบุตรมองสภาพน่าอเนจอนาถของวิทยาธร ‘เห็นซากศพวิทยาบรรดาตาย ทั้งกรกายขาดพรัดกระจัดกัน’ รู้สึกสลดใจ จึงกล่าวแก่อรุณกุมารว่าจะชุบชีวิตวิทยาธรเพื่อมิให้เป็นบาปกรรมติดตัวไป
หลังจากฟื้นคืนชีวิต เหล่าวิทยาธรก็ยินดีเป็นข้ารับใช้และขออภัยที่มุ่งร้ายพระโคบุตรและอรุณกุมารเนื่องจากเข้าใจผิดคิดว่าจะมาแย่งนารีผลที่พวกตนหวงแหน
“วิชาธรกรประนมบังคมคัล กระหม่อมฉันพวกข้าวิชาธร
อันพฤกษาต้นนี้นารีผล ออกเป็นคนได้ชมสมสมร
สำหรับชมชั่วประถมพุทธันดร ไปกอดนอนชมเล่นเหมือนเช่นคน
จึงสามารถอาจหาญเพราะแสนหวง กลัวจะช่วงชิงนางนารีผล
พระยกโทษโปรดไว้ไม่วายชนม์ ทั้งร้อยคนจะเป็นข้าพยาบาล”
เรื่องราวของ ‘นารีผล มักกะลีผล มัคคลีผล’ หรือเรียกรวมกันว่า ‘มักกะลีนารีผล’ นั้นมีอ้างถึงในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง กล่าวเพียงชื่อก็มี เช่น บทละครในเรื่อง “อุณรุท” สำนวนพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2
ตอนที่วิทยาธรวิรุญเมศ ซึ่งยามปกตินั้น
“หยาบคายร้ายกาจอาจหาญ รุกรานเข่นฆ่าไม่ปราศรัย
ยืนยงด้วยทรงพระขรรค์ชัย ไม่มีใครประจญทนทาน”
แต่ยามนี้มีอารมณ์สุนทรีย์ อยากเปลี่ยนสถานที่เปลี่ยนบรรยากาศ
“วันนั้นสำราญบานใจ จะไปชมไม้นารีผล
ก็พาวิทยาพลาพล จรดลไปสรงคงคา”
ยังไม่ทันจะได้ชมสมใจ ระหว่างนั้นเกิดสู้รบกับพระอุณรุทจนบาดเจ็บสาหัสจวนเจียนจะสิ้นลม ก็พร่ำรำพันว่า
“โอ้อนิจจาตัวกู เสียแรงรู้พระเวทเรืองศรี
เสียแรงรุ่งฤทธิราวี เสียแรงมีกายสิทธิ์เป็นสังวาล
ควรฤๅมาแพ้แก่มนุษย์ ต้องพิชัยอาวุธสังหาร
ฤทธิ์ตนมนตราไม่เป็นการ อนิจจาวายปราณเสียครั้งนี้”
วิทยาธรวิรุญเมศอาลัยอาวรณ์ความสุขที่เคยมี นับแต่นี้ไม่มีอีกแล้ว
” โอ้ว่าเสียดายพระเมรุมาศ ไกรลาสสัตภัณฑ์คีรีศรี
เสียดายอโนดัตนัที เสียดายนารีผลดวงมาลย์
ทั้งนี้เป็นที่สำราญชม แสนบรมสุขเกษมศานต์
จะแลลับดับชีพดรธารณ์ บรรลัยลาญวันนี้แล้วอกอา”
เนื่องจาก ‘นารีผล’ เป็นที่หมายปองของวิชาธร วิทยาธร หรือพิทยาธร คำอธิษฐานของสุนทรภู่ใน “นิราศพระประธม” ที่ขอครองคู่กับหญิงผู้เป็นที่รักไปทุกภพทุกชาติจึงสัมพันธ์กับเรื่องนี้
“แม้นเป็นไม้ให้พี่นี้เป็นนก ให้ได้กกกิ่งไม้อยู่ไพรสัณฑ์
แม้นเป็นนารีผลวิมลจันทร์ ขอให้ฉันเป็นพระยาวิชาธร”
ความหมายคือหากน้องเกิดเป็นต้นไม้ พี่ขอเกิดเป็นนกแนบกิ่งไม้นั้นในป่า ถ้าน้องเกิดเป็นนารีผล พี่ขอเกิดเป็นเจ้าแห่งวิทยาธรเคียงคู่กัน
วรรณคดีไทยหลายเรื่องมิได้กล่าวถึงเพียงชื่อของนารีผลเท่านั้น แต่ยังให้รายละเอียดบอกถึงรูปลักษณ์งดงามต้องตา แต่อายุขัยมีจำกัด ดังที่ “กากีคำกลอน” ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่าว่าพระยาครุฑทำหน้าที่เป็นไกด์อุ้มนางกากีเหาะเที่ยวชมป่าหิมพานต์ ตื่นตาตื่นใจกับต้นไม้มหัศจรรย์
“แล้วชี้บอกรุกขชาตินารีผล อันติดต้นเปล่งปลั่งดั่งสาวสวรรค์
แต่ไม่มีวิญญาณ์เจรจากัน วิชาธรคนธรรพ์มาเชยชม
ครั้นเจ็ดวันก็อันตรธานไป แล้วบันดาลเกิดใหม่ได้สู่สม
พลางบอกพลางหยอกสำราญรมย์ แล้วพาบินลอยลมมาสิมพลี”
ยังมีเรื่องราวอีกมากของต้นไม้ที่ออกผลย้อยระย้าเป็นสาวงามอายุสั้น ก่อให้เกิดศึกชิงนางอย่างเอาเป็นเอาตายระหว่างชายกลัดมันทั้งหลาย
ฉบับหน้าอย่าพลาด •
จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022