ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 กันยายน - 3 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
ถ้าเอาแผนที่โลกมากางจะเห็นได้ว่า ในห้วงเวลานี้นานาประเทศกำลังเผชิญวิกฤตภัยทั้งพายุฝน น้ำท่วมหนัก อากาศร้อนสุดขีด เกิดภาวะแห้งแล้ง ไฟป่า บางประเทศเจอครบชุดภัยแล้ง-ไฟป่า-น้ำท่วม ปรากฏการณ์เหล่านี้กลายความเป็นปกติ ความถี่ ความรุนแรงที่สร้างความปั่นป่วนอลหม่านให้ชาวโลกซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เฉพาะฝั่งเอเชีย เจอฤทธิ์ไต้ฝุ่น 3 ลูกในช่วงเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ลูกแรกเป็นไต้ฝุ่น “ชานชาน” ลูก 2 ซูเปอร์ไต้ฝุ่น “ยางิ” และลูกที่ 3 พายุไต้ฝุ่น “เบบินคา”
“ชานชาน” สร้างความเสียหายให้กับชาวญี่ปุ่นบนเกาะคิวชู มีผู้เสียชีวิต 6 คน และบาดเจ็บอีกนับร้อยคน
ซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ ซึ่งถูกจัดวางให้มีความแรงสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลกในปีนี้รองจากเฮอร์ริเคน “เบริล” พลังแรงของยางิสร้างความเสียหายให้กับประเทศต่างๆ ที่พายุลูกนี้พัดผ่าน
ตั้งแต่ฟิลิปปินส์ จีน เวียดนาม ลาว เมียนมา และตอนเหนือของไทย
“ยางิ” เริ่มก่อตัวเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ในมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากหมู่เกาะปาเลาราว 540 กิโลเมตร ถัดมาวันที่ 2 กันยายน เพิ่มพลังแรงเป็นพายุโซนร้อน พัดใส่เมืองออโรร่า ประเทศฟิลิปปินส์ แล้วก็อ่อนกำลังลง
เมื่อพายุลูกนี้พุ่งลงสู่อ่าวลิงกาเยน ทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์ ทวีกำลังแรงอีกครั้งเนื่องจากพัดผ่านผิวน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูง เป็นการเติมพลังงานและดึงความชื้นขึ้นไปด้วยทำให้พายุมีมวลน้ำมากขึ้น
นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า อุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะให้ความชื้นบนชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้นอีก 7 เปอร์เซ็นต์
วันที่ 5 กันยายน สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งญี่ปุ่นรายงาน “ยางิ” มีความเร็วลมสูงสุด 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วเพิ่มพลังสูงขึ้นเป็น 260 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากนั้นพุ่งเข้าใส่เกาะไหหลำหรือมณฑลไห่หนาน ทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ
เมื่อถึงเกาะไหหลำ ในวันที่ 6 กันยายน เวลา 11.00 น. ความเร็วลดลงเหลือ 223 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เทียบเท่าพายุเฮอร์ริเคน ระดับ 5 “ยางิ” สร้างความเสียหายให้กับเกาะไหหลำอย่างหนักหน่วง ประชาชนกว่า 8 แสนครัวเรือนได้รับผลกระทบ บ้าน 260,000 หลังต้องซ่อมแซมปรับปรุงใหม่
ปกติแล้ว ซูเปอร์ไต้ฝุ่นพัดเข้าใส่เกาะไหหลำน้อยมาก ตั้งแต่ปี 2492 มีไต้ฝุ่นพัดผ่านเกาะนี้ 106 ลูก แต่มีเพียง 9 ลูกที่จัดให้เป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น
เมื่อ “ยางิ” พัดถึงมณฑลกวางตุ้ง หอบมวลน้ำขนาดใหญ่ เทใส่พื้นที่ที่พัดผ่าน ปริมาณฝนวัดได้มากถึง 500 มิลลิเมตร
ซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิใช้เวลาเดินทางเพียง 1 วันก็ถึงฝั่งเวียดนาม พายุลูกนี้สร้างความเสียหายให้กับชาวเวียดนามอย่างหนักหน่วง มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วไม่น้อยกว่า 226 คน กระแสน้ำที่เชี่ยวกราก กระชากสะพานเหล็กพังยวบลงมา ดินโคลนถล่มบ้านเรือน
เมื่อพัดมาถึงลาวและตอนเหนือของไทยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ซูเปอร์ไต้ฝุ่นอ่อนกำลังลงแต่หอบมวลน้ำฝนสาดใส่อย่างไม่ลืมหูลืม ปริมาณน้ำฝนวันละ 200 ม.ม. ส่วนฝั่งเมียนมาติดกับเชียงราย ฝนตกหนักมาก วัดปริมาณน้ำฝนได้ 400 ม.ม.ต่อวัน
มวลน้ำที่ไหลจากภูเขาสูงจากต้นน้ำแม่กก ในพื้นที่ท่าขี้เหล็กของเมียนมา ทะลักลงสู่ลำน้ำแม่สาย มีปริมาณมาก ประกอบชาวบ้านบุกรุกลำน้ำก่อสร้างบ้านเรือนอาคารทั้งฝั่งไทย ฝั่งเมียนมา ทำให้กระแสน้ำถูกบีบจนมวลน้ำไหลแรงเชี่ยวกรากกระชากสิ่งกีดขวาง เอ่อทะลักล้นท่วมเมืองแม่สาย อำเภอเมืองเชียงราย สร้างความเสียหายอย่างหนักหน่วง
สำหรับพายุลูกที่ 3 “เบบินคา” ถล่มใส่มหานครเซี่ยงไฮ้ของจีนอย่างหนักในรอบ 75 ปี แต่ไม่มีผลกระทบกับไทย
ลากสายตาไปดูทวีปยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออก หลังพายุ “บอริส” ซัดใส่ ทำให้ฝนตกอย่างหนักหน่วงและน้ำท่วมแล้วรวม 8 ประเทศ ตั้งแต่โปแลนด์ เยอรมนี สโลวะเกีย มอลโดวา ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก ออสเตรีย ฮังการี และโรมาเนีย มีผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วม 20 คน ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี
ภาพบ้านเรือนจมอยู่ใต้น้ำ เจ้าหน้าที่ต้องเอาเรือท้องแบนเข้าไปช่วยผู้ติดอยู่ในบ้าน การอพยพผู้คนออกจากจุดอันตราย และกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากทะลักใส่เมืองต่างๆ ในยุโรปตอนกลางและตะวันออกนั้น เป็นภาพที่คล้ายคลึงกับเหตุการณ์น้ำท่วมในเชียงราย เวียดนาม และจีน
ทุกประเทศที่ตกเป็นเหยื่อวิกฤตน้ำท่วมต่างออกมาตรการฉุกเฉินเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ประธานาธิบดี “เคลาส์ โยฮันนิส” แห่งโรมาเนีย บอกกับสื่อว่า เรากำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ครั้งแล้วครั้งเล่า
เช่นเดียวกับ “โดนัลด์ ทัสต์” นายกฯโปแลนด์ ที่บอกว่าสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ในขั้นเลวร้ายมาก
ฤทธิ์จากพายุฝน “บอริส” ยังไม่จบ มวลน้ำที่ไหลลงสู่ประเทศโครเอเชียและสโลวะเกียมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างน่าห่วง โอกาสที่ 2 ประเทศนี้เจอน้ำท่วมมีสูงมาก
ส่วนที่ชายหาดแคโรไลนา รัฐนอร์ธแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 17 กันยายน ชาวเมืองที่นั่นเจอพายุฝนถล่มอย่างไม่ยั้ง ปริมาณน้ำฝนในเวลาเพียง 12 ชั่วโมงวัดได้ถึง 508 ม.ม. มากที่สุดในรอบพันปีของรัฐนี้ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและกระแสลมแรงจัดวัดได้ 124 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คลื่นในทะเลสูง 3เมตร
ชาวเมืองพากันสงสัยพายุลูกนี้ทำไมจึงรุนแรงนัก ทั้งๆ ที่ก่อนพัดมาถึงฝั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศที่นั่นยังมองเป็นแค่หย่อมความกดอากาศต่ำ ไม่ได้ตั้งชื่อพายุเสียด้วยซ้ำไป
นักวิชาการของเวิร์ลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม นำประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดพายุรุนแรงมาหารือกัน และตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันพายุที่ดูไม่รุนแรงแค่ระดับ 2 แต่กลับนำมวลน้ำปริมาณมหาศาลมาเทใส่เมืองจนเกิดน้ำท่วมทะลักอย่างหนัก ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาหลายครั้ง
ดังเช่นพายุไซโคลน “แจสเปอร์” ที่พัดกระนั่นทางตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลียเมื่อปลายปีที่แล้ว นักอุตุนิยมวิทยา ตรวจสอบกระแสลมของพายุลูกนี้และจัดให้อยู่ระดับ 2 แต่เมื่อพัดถึงฝั่ง ปรากฏว่าเทมวลน้ำฝนจนเกิดน้ำท่วมอย่างฉับพลัน
ต่างจากพายุเฮอร์ริเคน “แอนดรู” ที่พัดกระหน่ำรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา จัดความรุนแรงที่ระดับ 5 ปรากฏว่าพายุลูกนี้มีกระแสลมแรงจัด เกิดคลื่นซัดใส่ชายฝั่งอย่างรุนแรง ส่วนปริมาณฝนกลับมีเพียงเล็กน้อย
การถกเถียงของนักวิชาการในเวทีดังกล่าว นำไปสู่ข้อเสนอว่า การจัดระดับความรุนแรงของพายุควรจะเปลี่ยนใหม่หรือไม่
ระดับความรุนแรงสูงสุดของเฮอร์ริเคน ไซโคลน และไต้ฝุ่น ที่มีกระแสลมเกิน 309 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ควรจะเปลี่ยนจากระดับ 5 เป็นระดับ 6 เพื่อส่งสัญญาณเตือนให้ชาวโลกตื่นตัวเตรียมรับมือมากกว่าที่เป็นอยู่
มาที่ฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา เมื่อวันที่ 10 กันยายน มีฝนตกหนัก เทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว หนักเป็น 3 เท่าตัว กระแสน้ำทะลักใส่เขื่อน “อาลู” จนแตกเกิดน้ำท่วมอย่างฉับพลัน เจ้าหน้าที่ต้องอพยพผู้คนและสัตว์ป่าในสวนสัตว์กันจ้าละหวั่น แต่ช่วยชีวิตสัตว์ได้ไม่เท่าไหร่
กระแสน้ำซัดสัตว์ของสวนสัตว์ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นสัตว์เลื้อยคลานตายไปเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์
เหตุการณ์ที่ไนจีเรีย มีผู้เสียชีวิต 30 คน ชาวบ้านไร้ที่อยู่กว่า 1 ล้านคน
ส่วนประเทศซิมบับเว นามิเบีย เกิดภัยแล้ง รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศถึงกับประกาศแผนฆ่าช้างและสัตว์ป่าหลายร้อยตัวเพื่อเอาเนื้อมาแจกให้ชาวบ้านที่อดอยากหิวโซ
มาที่ทวีปอเมริกา เกิดไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนียถึง 3 จุดใหญ่ๆ ต้องใช้นักดับเพลิงกว่า 8 พันคน ลุยสู้ไฟ สาเหตุเพราะอากาศร้อนจัด
ด้านทวีปอเมริกาใต้ ชาวบราซิลกำลังเผชิญกับภาวะภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี พื้นที่เกิดภัยแล้งมีมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ลากยาวตั้งแต่ตอนเหนือมาถึงตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ไม่เฉพาะบราซิลเท่านั้น ภัยแล้งยังลามไปถึงปารากวัย เพื่อนบ้านระดับน้ำในแม่น้ำปารากวัยต่ำสุดในรอบ 100 ปี
ที่เปรู อากาศร้อนจัดทำให้เกิดไฟป่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 15 คน
กลับไปที่ยุโรปตอนใต้ มีภัยแล้งเกิดขึ้นในประเทศโปรตุเกส ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาอากาศร้อนจัด อุณหภูมิวัดได้ 30 องศาเซลเซียส ทำให้ไฟป่าลุกโชน กระแสลมแรง 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พัดโหมให้ไฟลามอย่างรวดเร็วทำลายบ้านเรือน ป่าไม้กินพื้นที่กว้างเกือบค่อนประเทศ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงพยายามเข้าไปสกัดไฟแต่ต้านไม่อยู่ เสียชีวิตไปแล้ว 3 คน
เกาะซิซิลี และเกาะซาดิเนียของประเทศอิตาลี เป็นอีกแห่งที่เผชิญกับวิกฤตภัยแล้งอย่างหนักหน่วงมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ทางการที่นั่นต้องประกาศภัยฉุกเฉิน น้ำกินน้ำใช้แทบไม่มี ต้องสั่งน้ำจากฝั่งแผ่นดินใหญ่ พื้นที่ปลูกข้าวสาลี ต้นมะกอก แห้งแล้ง พืชยืนเฉาตายคาต้น
อุณหภูมิบนเกาะซาดิเนีย วัดได้ถึง 40 องศาเซลเซียส อากาศร้อนจัดเช่นนี้ไม่เพียงทำลายอุตสาหกรรมเกษตร แต่ยังลามไปถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ผู้บริหารทั้งซิซิลีและซาดิเนีย ต่างยอมรับว่า สภาพภูมิอากาศแปรปรวนอย่างหนัก เป็นเพราะฝีมือของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซพิษทำลายชั้นบรรยากาศโลก การปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตภัย การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อประหยัดน้ำในหน้าแล้งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างยิ่งเพื่อการอยู่รอดของชาวเมือง •
สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022