ประชานิยมปีกขวา (5) สหายสายแข็งของทรัมป์

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

ประชานิยมปีกขวา (5)

สหายสายแข็งของทรัมป์

 

“ประเทศฝรั่งเศสกำลังอยู่ในกระบวนการของการเปลี่ยนแปลง จากการมีลูกสาวคนโตเป็นคาทอลิก ไปสู่การมีหลานคนเล็กเป็นอิสลาม”

Marion Marechal

ผู้นำประชานิยมของฝรั่งเศส (คนรุ่นที่ 3 ของสกุล Le Pen)

 

อุดมการณ์แบบประชานิยมปีกขวาเติบโตบนเสาหลัก 3 เสาทั้งในทางความคิดและการปฏิบัติ คือ

1) การประกอบสร้างความเป็นตัวแทนของ “สามัญชนคนทั่วไป” (the common people)

2) สร้างภาพของความเป็น “ชนชั้นนำฉ้อฉล” (the corrupt elite)

และ 3) การให้ความสำคัญกับ “เจตจำนงร่วม” (the general will)

ซึ่งแน่นอนว่าชุดความคิดเช่นนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มการเมืองปีกขวา (right-wing politics) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเนื้อหาที่ถูกสร้างสำหรับบรรจุใน 3 ส่วนนั้น มีทิศทางในแบบ “ขวาจัด” อย่างเห็นได้ชัด (ดังที่กล่าวมาแล้วในบทก่อนถึงสาระสำคัญของแกนความคิดทั้ง 3)

ขณะเดียวกันชุดความคิดนี้ก็รับเอาแก่น (themes) ของการเมืองแบบขวาจัดร่วมสมัยเข้ามาเป็นองค์ประกอบในตัวเองอีกด้วย ซึ่งก็ยิ่งทำให้ความเป็นประชานิยมปีกขวา มีความเป็นขวาจัดอย่างชัดเจน

ดังนั้น บทนี้จะลองสำรวจของชุดความคิดแบบขวาจัด รวมถึงขวาสุดโต่ง ที่ได้กลายไปเป็นส่วนหนึ่งของแก่นแกนของกระแสประชานิยมปีกขวาที่กำลังเปิดการขับเคลื่อนในหลายประเทศ

 

กระแสต่อต้าน

หากสำรวจแนวคิดทางการเมืองที่สำคัญที่เป็นในแบบ “ต่อต้าน” ซึ่งถูกนำมาเชื่อมโยงเข้ากับชุดความคิดประชานิยมปีกขวา ได้แก่

1) ต่อต้านโลกาภิวัตน์ (Anti-Globalization) : ขบวนการประชานิยมมีความคิดที่ชัดเจนในเรื่องของการต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ และมีข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากกับเรื่องของเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ และขบวนในลักษณะนี้อาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น ขบวนการต่อต้านกระแสโลก (the anti-globalist movement) ขบวนการเปลี่ยนแปลงโลกาภิวัตน์ (the alter-globalization movement) ขบวนการโลกายุติธรรม (the global justice movement) ขบวนการต่อต้านบรรษัทโลกาภิวัตน์ (the anti-corporate globalization movement) ชาวประชานิยมมองว่าโลกาภิวัตน์เป็นเรื่องของ “ชนชั้นนำผู้ปกครอง” (ruling elites) ฉะนั้น พวกเขาจึงเรียกปรากฎการณ์ชุดนี้ว่า “โลกาภิวัตน์จากข้างบน” (globalization from above) ดังนั้น ขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ในมุมมองของพวกประชานิยมจึงเป็นการขับเคลื่อน “โลกาภิวัตน์จากข้างล่าง” (globalization from below)

ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของสามัญชนคนทั่วไป โดยเฉพาะของคนงานที่เป็นแรงงานในการผลิตสินค้าให้แก่บรรดาบริษัทข้ามชาติทั้งหลาย

 

2) ต่อต้านเศรษฐกิจตลาดเสรี (Anti-Free Market Economy) : ขบวนประชานิยมจะไม่ตอบรับกับเรื่องของตลาดเสรี หรือมีนัยทางความคิดในการต่อต้านเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ เพราะมองว่าเศรษฐกิจเสรีนิยมเอื้อต่อชนชั้นนำ และบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่

หรือในอีกด้านคือการต่อต้านชุดแนวคิดแบบ “เสรีนิยมใหม่” (neo-liberalism) ที่ผูกโยงเข้ากับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ของ “ทุนนิยมตลาดเสรี” (free-market capitalism) ซึ่งคาดหวังว่าสังคมจะดำเนินไปบน “หลักการการตลาด” market principles) ของระบบทุนนิยม หรือสำหรับพวกประชานิยมในละตินอเมริกาแล้ว พวกเขาต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจและการพัฒนาที่เป็นไปตาม “ฉันทานุมัติแห่งวอชิงตัน” (Washington Consensus) ซึ่งนโยบายนี้เป็นแบบแผนที่นำเข้าจากชนชั้นนำอเมริกัน และประสานผลประโยชน์เข้ากับชนชั้นนำในประเทศ

3) ต่อต้านกิจการระหว่างประเทศพหุนิยม (Anti-Multilateralism) : พวกประชานิยมไม่ให้ความสำคัญในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในแบบเดิม ที่อยู่ในรูปของการจัดความสัมพันธ์แบบพหุภาคี ผ่านองค์กรสำคัญที่มีบทบาทในเวทีโลก

โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 เราจะเห็นถึงบทบาทของสหประชาชาติ (UN) ธนาคารโลก (WB) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) องค์การการค้าโลก (WTO) องค์การอนามัยโลก (WHO) หรือองค์กรทางทหาร เช่น นาโต (NATO) ซึ่งองค์กรเหล่านี้ถูกท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะผลสืบเนื่องจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ 2008 สงครามการค้าสหรัฐ-จีน การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามยูเครน

ปัญหาเหล่านี้ทำให้พวกประชานิยมกันไปหากระแสต่อต้านความคิดแบบพหุภาคี และสนับสนุนลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจและการกีดกันทางการค้า อีกทั้งเชื่อในทางอุดมการณ์ว่าความเป็นพหุนิยมนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “ลัทธิสากลนิยม” ของปีกเสรีนิยม (liberal internationalism)

ปัจจัยเช่นนี้ทำให้ฝ่ายประชานิยมมองว่า พหุนิยมและสากลนิยมเป็นเรื่องของชนชั้นนำเท่านั้น และคนทั่วไปที่เป็นประชาชนไม่ได้รับผลประโยชน์จากเรื่องเช่นนี้ ตัวอย่างเช่น มองการประชุมทางเศรษฐกิจที่ดาวอส (Davos, Switzerland) ว่าเป็นที่รวมกลุ่มของชนชั้นนำ เป็นต้น

 

4) ต่อต้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Anti-Environmentalism) : กลุ่มการเมืองประชานิยมมีทิศทางที่ชัดเจนในการต่อต้านความคิด “อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนิยม” (environmentalism) และความคิดริเริ่มในเรื่องเหล่านี้ โดยมองว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของชนชั้นนำ และทำลายผลประโยชน์ของบรรดาคนงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ถูกต่อต้านโดยขบวนการเช่นนี้ ในขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมจะมีทิศทางในแบบที่สนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (หรือเป็นนโยบายในลักษณะ Pro-Environmentalism) อย่างไรก็ตาม ฝ่ายขวาประชานิยมและฝ่ายซ้ายของลัทธิมาร์กซ์มีความคิดตรงกันว่า ความคิดของพวกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของชนชั้นนำ และเป็นเสียงสอดแทรกของพวกจักรวรรดินิยม

5) ต่อต้านผู้อพยพ (Anti-Migration) : พวกฝ่ายขวาในโลกตะวันตกมีทัศนคติและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่อต้านผู้อพยพ และสนับสนุนนโยบายการกีดกันการเข้าเมืองของผู้อพยพ ซึ่งบรรดาประชานิยมในทุกประเทศมีทัศนะคล้ายคลึงกันที่เห็นว่าการอพยพจากภายนอกเข้ามาเป็นภัยคุกคามที่สำคัญทั้งทางสังคมและความมั่นคง โดยเฉพาะทัศนะที่มองว่าผู้อพยพเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรมในสังคม ดังนั้น การต่อต้านที่เบาที่สุดคือ การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปนโยบายรับผู้อพยพ ลำดับถัดมาคือการควบคุมการเข้าเมืองหรือจำกัดจำนวนการรับเข้าประเทศ

และที่สุดโต่งคือ การเรียกร้องให้ขับไล่ผู้อพยพออกจากประเทศ และมีนัยถึงการต่อต้านมุสลิม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการต่อต้านผู้อพยพที่เป็นชาวมุสลิมจากตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือที่ทะลักเข้ายุโรป จนทำให้เกิดความกลัวมุสลิมในหมู่ชนผิวขาว (Islamophobia)

 

6) ต่อต้านความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Anti-Multiculturalism) : กลุ่มประชานิยมต่อต้านความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ เพราะมีทัศนคติพื้นฐานของการเกลียดชัง “คนนอก” (หรือกลัวคนต่างชาติ ในความหมายของ “xenophobia”) และมองว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่เกิดจากการรับคนต่างชาติเข้ามาในสังคม จะเป็นการทำลาย “เอกภาพแห่งชาติ” และยังมีผลอย่างมากกับอัตลักษณ์ ประเพณี และวัฒนธรรมของสังคมเดิม เพราะการนำเอาวัฒนธรรมใหม่เข้ามาพร้อมกับผู้อพยพนั้น จะมีผลอย่างมากกับการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมเดิมในสังคม และเชื่อว่าความตึงเครียดในสังคมเกิดจากการปะทะระหว่าง “คนใน vs. คนนอก”

7) ต่อต้านสหภาพยุโรป (Anti-European Unionism) : เป็นแนวคิดที่ต่อต้านการรวมกลุ่มของสหภาพยุโรป ชุดความคิดในการต่อต้านเช่นนี้มีตั้งแต่การไม่เห็นด้วยกับนโยบายของสหภาพยุโรป ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปตัวองค์กรสหภาพยุโรป จนถึงการต่อต้านการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และต่อต้านสหภาพยุโรปอย่างสุดโต่ง สำหรับฝ่ายเสรีนิยมมีท่าทีตรงข้าม หรือเป็นพวก “โปรสหภาพยุโรป” (Pro-Europeanism)

สำหรับฝ่ายประชานิยมนั้น พวกเขามองว่าการเป็นสมาชิกดังกล่าว เป็นการทำลายอธิปไตยแห่งชาติ และทำลายความเป็นรัฐประชาชาติ และสหภาพยุโรปเป็นเรื่องของชนชั้นนำ และชนชั้นนำกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่

 

8) ต่อต้านยิว (Anti-Semitism) : กลุ่มขวาจัดในโลกตะวันตกมักมีทัศนะของการต่อต้านยิว หรือโดยนัยคือ การมีความรู้สึกในทางลบต่อชาวยิว อย่างไรก็ตาม แม้ในทางวิชาการจะไม่มีนิยามสากลของการต่อต้านยิว แต่ดูเหมือนจะสามารถเข้าใจได้ว่า การกระทำใดเป็นการต่อต้านยิว และการต่อต้านบางส่วนเป็นมรดกทางความคิดจากยุคนาซี เช่น ในกลุ่มปีกขวาจัดอย่างพวก “นาซีใหม่” (The Neo-Nazi) ซึ่งการต่อต้านอย่างสุดโต่งเช่นนี้ มีนัยถึงการยอมรับว่า การทำร้ายชาวยิวว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรม ตลอดรวมถึงการไม่เชื่อในเรื่องของการสังหารหมู่ชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2 (The Holocaust)

9) ต่อต้านการทำแท้ง (Anti-Abortion) : ขบวนการต่อต้านการทำแท้ง หรือเป็นแนวคิดสายอนุรักษนิยมในเรื่อง “pro-life” ขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมจะเป็นแนวคิดแบบ “pro-choice” ซึ่งข้อถกเถียงในเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญประการหนึ่งของโลกตะวันตก ขบวนเช่นนี้มีสถานะเป็น “ขบวนปฏิกิริยา” (countermovement) ต่อการออกกฎหมายที่อนุญาตให้มีการทำแท้ง ขบวนเหล่านี้มีการขับเคลื่อนในทุกประเทศในโลกตะวันตก อีกทั้งชุดความคิดนี้ยังเชื่อมกับมิติทางศาสนา ซึ่งเชื่อว่าการทำแท้งเป็นบาป เพราะเป็นการทำลายชีวิตของเด็ก เช่น กฎหมายเก่าของรัฐในยุโรปถือว่าการทำแท้งเป็นอาชญากรรม และเป็นความผิดทางกฎหมาย มีโทษถึงขั้นติดคุก แต่สำหรับฝ่ายเสรีนิยมถือว่า ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ควรมี “สิทธิ” ในการเลือก ที่จะมีบุตร หรือจะทำแท้ง กล่าวคือ เรื่องนี้เป็น “ประเด็นทางเลือก” (คือ “pro-choice”) ไม่ใช่ข้อห้ามที่ไม่อนุญาตให้กระทำการแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ขบวนการต่อต้านบางส่วนก้าวไปสู่การใช้ความรุนแรง เช่น การเผาสถานพยาบาลที่รับทำแท้ง บุกสังหารหมอและพยาบาลที่เกี่ยวข้อง ตลอดรวมถึงการบริจาคทุนทรัพย์เพื่อสนับสนุนการใช้ความรุนแรงต่อสู้กับปัญหานี้ องค์กรต่อต้านการทำแท้งแบบสุดโต่งในสังคมอเมริกัน ได้แก่ “The Army of God” ซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้ความรุนแรง

 

10) ต่อต้านสิทธิสตรี (Anti-Feminism) : ขบวนการสิทธิสตรีเชื่อในเรื่องของความเท่าเทียมของสตรีในมิติสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง และมองว่าสังคมให้ความสำคัญกับความเป็นชาย จึงทำให้สตรีได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในด้านต่างๆ ดังนั้น ขบวนการปฏิกิริยาจึงมีความเห็นแย้งในเรื่องเช่นนี้ โดยเฉพาะไม่เห็นด้วยกับสิทธิและความเท่าเทียมที่บรรดาผู้หญิงควรได้รับ กลุ่มประชานิยมในยุโรปบางส่วนมีจุดยืนสนับสนุนเรื่องผู้หญิง

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นถึงการเป็นพันธมิตรของกลุ่มการเมืองในปีกขวาจัด การเป็นขวาประชานิยมจึงพ่วงเอาชุดความคิดทางการเมืองอื่นๆ ตามมาด้วย มิใช่มีแต่เพียงเรื่องของการต่อต้านโลกาภิวัตน์ หรือต่อต้านผู้อพยพชาวมุสลิมเท่านั้น หากยังมีอุดมการณ์อื่นดังที่ปรากฏในข้างต้น ดังนั้น การขับเคลื่อนการเมืองของประชานิยมปีกขวาจึงมี “แนวร่วม” ทางความคิดอยู่ด้วยเสมอ ขณะเดียวกันก็ทำให้ความเป็นประชานิยมปีกขวาขยายฐานของความเป็นขวาจัดไปสู่กลุ่มการเมืองในสังคมได้หลากหลายรูปแบบ

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่การหาเสียงของทรัมป์จะได้รับความสนับสนุนจากกลุ่มปีกขวาจัดในทุกภาคส่วนของสังคมอเมริกัน อันทำให้เกิดความท้าทายในอีกด้านว่า แล้วปีกการเมืองแบบ “ขวาไม่จัด” จะช่วยลงเสียงให้ทรัมป์หรือไม่!