ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | อาชญากรรม |
เผยแพร่ |
หลังความพยายามอย่างเต็มที่ของทีมทนายความและครอบครัวผู้เสียชีวิตเกือบ 20 ปี ในที่สุดศาลจังหวัดนราธิวาส ก็ออกหมายจับ 6 จำเลยและออกหมายเรียก 1 รายใน “คดีตากใบ” เหตุการณ์แห่งความเจ็บปวด และโหดร้ายจากการสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้น ณ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส หรือที่เราเรียกเหตุการณ์อันน่าเศร้าครั้งนี้ว่า “ตากใบ 47” เป็นเหตุให้มีชาวบ้านเสียชีวิต 85 ราย
แต่การที่จะนำผู้ที่ตกเป็นจำเลยทั้ง 7 คนมาขึ้นศาลเพื่อต่อสู้ข้อกล่าวหา ยังเป็นเรื่องที่สังคมจับจ้องอยู่ว่าจะสามารถทำได้ก่อนที่อายุความของคดีจะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ที่จะถึงนี้หรือไม่
หรือทั้งหมดจะรอดพ้นไปตาม “วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด”
ย้อนเหตุการณ์สลด “ตากใบ 47”
ช่วงปลายปี 2547 เกิดเหตุกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบปล้นปืนที่รัฐแจกจ่ายให้ไป 6 กระบอก จาก ชรบ.บ้านโคกกูแว ต.พร่อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสรุปว่าทาง ชรบ.เองนี่แหละคือกลุ่มคนที่ขโมยอาวุธไปส่งให้กับผู้ก่อเหตุความไม่สงบ จากข้อสันนิษฐานนี้จึงได้มีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยทั้ง 6 คน ซึ่งเป็น ชรบ.บ้านโคกกูแว ไปสอบสวนในค่ายทหารเป็นเวลากว่า 7 วัน ก่อนถูกตั้งข้อหายักยอกทรัพย์และแจ้งความเท็จ
วันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของเดือนรอมฎอน หรือเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม ชาวบ้านหลายร้อยคนได้รวมตัวชุมนุมอย่างสันติที่สถานีตำรวจตากใบ เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัว ชรบ. ทั้ง 6 คน เพราะเห็นว่าไม่มีความผิด
ตำรวจบอกให้ผู้ชุมนุมสลายตัวเนื่องจากในพื้นที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่ แต่ทว่าไม่เกิดผล ยิ่งเวลาผ่านไป ประชาชนยิ่งเข้ามาสมทบการชุมนุมเพิ่มขึ้นจนจำนวนราว 2,000 คน จนกระทั่งช่วง 15.00 น. มีรายงานว่าผู้ชุมนุมเริ่มปาข้าวของใส่เจ้าหน้าที่ และมีความพยายามที่จะเข้าไปในสถานีตำรวจเพื่อจะขอเจรจา
หลังจากนั้นไม่นานแม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งให้มีการสลายการชุมนุมก่อนจะจบลงที่มีผู้เสียชีวิตทันที 7 ราย ซึ่ง 5 รายถูกกระสุนยิงเข้าโดยตรงที่ศีรษะ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บกว่าพันคนทั้งผู้ที่มาชุมนุมรวมไปถึงชาวบ้านในละแวกนั้นด้วย
ประชาชนกว่า 1,370 คนถูกควบคุมตัวโดยทหารบังคับให้ผู้ชุมนุมทุกคนหมอบลง แยกผู้หญิงออกจากพื้นที่ ส่วนผู้ชุมนุมชายถูกสั่งให้ถอดเสื้อมัดมือไพล่หลังและจับขึ้นรถบรรทุกทหารจำนวน 25 คัน โดยให้นอนคว่ำซ้อนกันเป็นชั้นๆ เฉลี่ยคันละ 4-5 ชั้น จากนั้นผู้ชุมนุมต้องเดินทางไปไกลถึง 150 กิโลเมตร ซึ่งใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง กว่าจะไปถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร ใน จ.ปัตตานี พอถึงที่หมายทหารก็ได้สั่งให้ผู้ชุมนุมลงจากรถ แต่พบว่าผู้ชุมนุมบางส่วนเสียชีวิตแล้ว
เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 85 คน เสียชีวิตขณะเดินทาง 78 คน เสียชีวิตจากการชุมนุม 7 คน ส่วนผู้ชุมนุมที่รอดชีวิตจำนวนหนึ่งต้องกลายเป็นคนพิการ เช่น กล้ามเนื้อเปื่อยจากการถูกกดทับเป็นเวลานาน และไตวายเฉียบพลัน
ผู้ชุมนุม 59 คน (ต่อมาเสียชีวิต 1 คน เหลือ 58 คน) ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นแกนนำและถูกศาลสั่งฟ้องถึง 6 ข้อหา คือ ข่มขืนใจเจ้าพนักงาน, ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป, ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ, ครอบครองปืนเถื่อน, และไม่ยอมสลายการชุมนุม สุดท้ายแล้วชาวบ้านทั้ง 58 คน จำเป็นต้องเดินทางไปศาลทุกๆ 2 เดือนเพื่อไปสู้คดี ก่อนที่ในปี 2549 รัฐบาลมีมติให้อัยการถอนฟ้องข้อกล่าวหาดังกล่าว
ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งไต่สวนการตาย ก่อนมีข้อสรุปว่า ผู้เสียชีวิต 78 รายนั้น เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ และยังไม่พบหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าถูกผู้อื่นกระทำการให้เสียชีวิต
คดีจบลงด้วยการประนีประนอมโดยกระทรวงกลาโหมจ่ายค่าเยียวยาผู้เสียชีวิตรายละ 7.5 ล้านบาท และผู้บาดเจ็บรายละ 5 แสนบาท แลกกับการถอนฟ้องผู้มีอำนาจทั้งหมดที่สั่งสลายการชุมนุมครั้งนั้น ทำให้เหตุการณ์ “ตากใบ 47” จึงไม่มีผู้รับผิดชอบ
ฝ่ายทหารอ้างว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้เสียชีวิตเยอะนั้นเพราะว่าการชุมนุมเกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน หรือถือศีลอดของชาวมุสลิม ทำให้ผู้ชุมนุมมีร่างกายที่อ่อนแอกว่าปกติ รวมไปถึงการขาดประสบการณ์จัดการฝูงชนของทหารชั้นผู้น้อย
ศาลออกหมายจับ 6 จำเลย
เหตุการณ์ผ่านมาเกือบ 20 ปี แต่สำหรับชาวตากใบและผู้ที่สูญเสีย บาดแผลครั้งนี้ไม่เคยจางหายไปจากใจ ความพยายามเรียกร้องหาตัวคนผิดมาลงโทษไม่เคยได้รับการตอบสนอง แม้จะได้รับเงินเยียวยาแต่ไม่เคยได้รับความยุติธรรม
ก่อนอายุความจะหมดลง ครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ 48 ราย ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 9 ราย ในข้อหา “ฆ่าผู้อื่น, พยายามฆ่าผู้อื่นและร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว”
ต่อมาวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งรับฟ้องคดีอาญาตากใบ จำเลย 7 ใน 9 คน โดยศาลนัดสอบคำให้การในวันที่ 12 กันยายน 2567
สำหรับจำเลย 7 คน ที่ศาลรับฟ้อง ประกอบด้วย พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันอายุ 74 ปี เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย, พล.ท.สินชัย นุตสถิตย์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันอายุ 76 ปี, พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า ปัจจุบันอายุ 73 ปี, พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 ปัจจุบันอายุ 77 ปี, พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ปัจจุบันอายุ 70 ปี, นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันอายุ 78 ปี และนายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันอายุ 78 ปี (ทั้งหมดเป็นตำแหน่งขณะนั้น)
เมื่อถึงเวลานัดหมาย ปรากฏว่าจำเลยทั้ง 7 ไม่มาปรากฏตัวที่ศาลและไม่สามารถติดต่อได้
ศาลจังหวัดนราธิวาสจึงมีคำสั่งออกหมายจับ 6 จำเลย และมีหนังสือด่วนที่สุดไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขออนุญาตจับกุมจำเลยที่ 1 รวมทั้งมีหมายเรียก และมีหนังสือด่วนที่สุดให้จำเลยที่ 1 แจ้งว่าศาลได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ขอให้จำเลยที่ 1 แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสละความคุ้มกันและมาศาลในนัดหน้า ซึ่งศาลนัดในวันที่ 15 ตุลาคม
ส่วนจำเลยที่ถูกออกหมายจับ ให้ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และตำรวจศาล มีอำนาจจับกุมทันทีที่พบตัวภายในอายุความ 25 ตุลาคมนี้
ขณะที่วันที่ 12 กันยายน 2567 ที่อาคารรัฐสภา มีการแถลงนโยบายรัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ช่วงหนึ่ง นายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ลุกขึ้นอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการพิจารณาคดีตากใบ ด้วยอารมณ์ดุเดือด เรียกร้องให้ พล.อ.พิศาล ซึ่งมีรายงานว่าไปรักษาตัวอยู่ต่างประเทศ กลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ด้านนายอับดุลเลาะห์ หะยีอาบู มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ทนายความในคดีตากใบ เปิดเผยว่า ฝ่ายโจทก์จะติดตามหมายจับจำเลยต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
อัยการสูงสุดสั่งฟ้องอีก 8 ผู้ต้องหา
ตอมาวันที่ 18 กันยายน นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงผลการพิจารณาของอัยการสูงสุด ที่สั่งฟ้องคดีตากใบในส่วนของสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรม มี 1.พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5 2.ร.ต.ณัฐวุฒิ เลื่อมใส 3.นายวิษณุ เลิศสงคราม 4.ร.ท.วิสนุกรณ์ ชัยสาร 5.นายปิติ ญาณแก้ว 6.พ.จ.ต.รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ 7.พ.ท.ประเสริฐ มัทมิฬ และ 8.ร.ท.ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์
โดย 7 คน เป็นผู้ควบคุมและพลขับที่นำตัวผู้ชุมนุมไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จนมีผู้เสียชีวิตทั้ง 78 คน
อสส.มีคำวินิจฉัยว่า แม้จำเลยทั้ง 8 คน จะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การจัดหารถเพียง 25 คัน ในการบรรทุกผู้ชุมนุมกว่าพันคน เป็นการแออัดเกินกว่าวิธีการบรรทุกคนที่เหมาะสม เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจ ระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้ง 8 คน จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
โฆษก อสส.ระบุว่า คดีนี้ในปี 2548 ศาลจังหวัดสงขลาได้ไต่สวนเสร็จสิ้นและมีคำสั่งว่าผู้ตายทั้ง 78 คน ตายที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หลังจากศาลมีคำสั่งได้ส่งคืนคำสั่งพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับพนักงานอัยการ และในปี 2548 พนักงานอัยการได้ส่งเอกสารพร้อมถ้อยคำสำนวนทั้งหมดคืนให้กับพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก เพื่อให้ดำเนินการส่งเอกสารทั้งหมดพร้อมสำนวนวิสามัญฆาตกรรมให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณามีความเห็นและคำสั่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 วรรคท้าย
คดีนี้อัยการสูงสุดได้รับสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรมและสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลา จาก พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผช.ผบ.ตร.รักษาการแทน ผบ.ตร. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ต้องหาไม่ใช่ชุดเดียวกัน มีเพียง พล.อ.เฉลิมชัย ผู้ต้องหาคนเดียวที่มีชื่อตรงกันกับสำนวนคดีที่ประชาชนยื่นฟ้องคดีต่อศาลเอง (ศาลไม่รับฟ้อง) ทั้งนี้ อยู่ในระหว่างอัยการสูงสุดส่งสำนวนกลับไปให้ทางอัยการจังหวัดปัตตานีเพื่อให้อัยการจังหวัดปัตตานีแจ้งพนักงานสอบสวนไปติดตามแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาทั้ง 8 มาส่งอัยการเพื่อทำสำนวนฟ้อง ก่อนคดีหมดอายุความ วันที่ 25 ตุลาคม 2567
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณี พล.อ.พิศาล ที่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ว่า ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มีข้อแตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา โดยระบุว่าอำนาจของศาลหากจะจับกุมใครเพื่อไปดำเนินคดี ไม่ต้องขออนุญาตรัฐสภา แต่มีเขียนไว้อยู่ช่วงหนึ่งในเรื่องของการประสานงาน ว่าต้องไม่เป็นการขัดขวางการประชุมสภา
ดังนั้น คดีตากใบ ถ้าศาลออกหมายจับมา ตำรวจมีอำนาจเต็ม ดังนั้น อาจมีการเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุชัดว่าไม่จำเป็นต้องขออนุญาตสภา แต่ศาลจะมีการประสานงานว่าตรงกับสมัยประชุมหรือไม่ เพราะมีเงื่อนไขว่าต้องไม่ขัดขวางการวาระประชุม
หากพูดทำนองนี้ก็คือการ ให้ประกันตัว และเมื่อไปถึงศาลอายุความจะนับหนึ่งใหม่ ทั้งนี้ ในขณะเกิดเหตุถึงแม้จะไม่ได้เป็น ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย แต่ตอนนี้หากมีหมายศาลให้จับกุม ไม่ว่าเป็นใครตำรวจก็ต้องจับกุม ซึ่งรัฐต้องปฏิบัติตามและบังคับใช้ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็ต้องติดตาม
ยิ่งใกล้วันที่คดีจะหมดอายุความ แรงกดดันจากสังคมที่ต้องการให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น
สุดท้ายแล้วบทสรุปของเหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบ จะลงเอยเช่นที่ผ่านๆ มา หรือจะกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการต่อสู้ของประชาชน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022