ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ภายหลังองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากผิดมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง จากกรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ต้องยอมรับว่า ชนวนดังกล่าวนับเป็นจุดเริ่มต้นของการแตกหักความสัมพันธ์ระหว่างพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรค และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มีบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาทิ้งบอมบ์ด้วยการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ระหว่างไปร่วมงานเลี้ยงฉลองบวชนายสมิทธิพัฒน์ หลีนวรัตน์ ลูกชายนายกฤษฎา หลีนวรัตน์ (นายกเบี้ยว) นายกเทศมนตรีตำบลธัญบุรี เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ว่า “ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นมาจากคนในบ้านป่า”
แม้ว่าคำสัมภาษณ์จะไม่ได้เอ่ยหรือระบุชื่อชัดเจนว่าเป็นบุคคลใด แต่ในทางการเมืองต่างพุ่งเป้า ตีความกันไปแล้วว่า คนบ้านป่าฯ ที่หมายถึงนั้น คือ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือไม่
เหตุการณ์เริ่มมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะช่วงการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล เมื่อมีรายงานข่าวออกมส่งสัญญาณว่ารัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะต้องไม่มีคนนามสกุล “วงษ์สุวรรณ” มาร่วม ครม.อย่างเด็ดขาด
ประกอบกับพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้มีมติเขี่ยพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พ้นออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และดึงพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มาร่วมรัฐบาลแทน
โดยยกเหตุผลว่า ส.ส.เกิดความไม่สบายใจ เนื่องจาก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. ไม่เคยได้มาร่วมลงมติโหวตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย (พท.) ทั้ง 2 ครั้ง
และยังถูกมองว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังล้มกระดานเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงที่รัฐบาลยังไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างเต็มที่ กลับพบว่ามีบรรดานักการเมือง กลุ่มการเมือง นักร้องเรียน ยื่นเรื่องต่อองค์กรอิสระทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมถึงคณะรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย
อาทิ ยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบว่า น.ส.แพทองธาร ลาออกจากกรรมการ 21 บริษัทในเครือชินวัตร ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2567 จริงหรือไม่
ขอให้ กกต.ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีเสนอชื่อนายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(4) หรือไม่
รวมทั้งยื่น ป.ป.ช.เพื่อขอให้ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม กรณีชักชวนให้คณะรัฐมนตรีถ่ายรูปในท่ามินิฮาร์ต ขณะกำลังสวมเครื่องแบบชุดปกติขาว บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
นอกจากนี้ ยังมีคำร้องนิรนาม ที่ไม่ระบุชื่อผู้ร้อง ยื่น กกต.ให้สั่งให้กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เนื่องจากยินยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร เข้าครอบงำพรรค
อีกทั้งขณะนี้ยังทยอยไล่เช็กบิลยื่นตรวจสอบรัฐมนตรีรายบุคคล อาทิ ยื่นตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของนายนภินทร ศรีสรรพางค์ และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ว่าเป็นไปโดยถูกต้องตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 หรือไม่
ล่าสุดถึงคิวรัฐมนตรีป้ายแดง นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ถูกยื่น ป.ป.ช.ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน เกี่ยวกับรายได้-เสียภาษี ยื่นโดยถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่
คดีทั้งหมดข้างต้น หากท้ายที่สุดเมื่อตรวจสอบแล้วมีมูลและเข้าข่ายความผิดจริง ย่อมส่งผลกระทบต่อรัฐบาลอย่างแน่นอน โดยเฉพาะคดีที่หวังผลให้ น.ส.แพทองธาร ถูกสอยหลุดเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
ฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย (พท.) หลังจากเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่สักระยะ ขอไม่ทนอีกต่อไป เล็งให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย พิจารณาฟ้องกลับเช่นกัน โดยเฉพาะพวกที่ยื่นร้องแบบจุกจิก ไม่มีสาระสำคัญ สร้างความเสียหายจนส่งผลกระทบกับรัฐบาล
กระทั่งมีการเผยแพร่คลิปเสียงบทสนทนาที่มีเสียงคล้าย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร.หลุดออกมา ด้วยเหตุนี้ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) จึงหอบหลักฐานยื่นหน่วยงานตรวจสอบเพื่อเอาผิดกับบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
โดยหน่วยงานแรก ยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ) เพื่อเอาผิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นเจ้าพนักงานรัฐ กระทำผิดรัฐธรรมนูญ การขัดกันแห่งผลประโยชน์ ผิดกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 172, 173 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 รวมทั้งประพฤติผิดจริยธรรมร้ายแรง
จากกรณีคลิปเสียงหลุดเรียกรับเงิน ซึ่งถูกนำมาเผยแพร่ทางรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ช่อง 9 MCOT เมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา โดยขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาไต่สวน ส่งเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดำเนินคดีฐานเรียกรับเงิน
หน่วยงานที่สอง ยื่นคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ตรวจสอบกรณีแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการกระทรวงมหาดไทย เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงที่เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160(4) (5) จึงขอให้เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 เพื่อถอดถอนและเพิกถอนสิทธิทางการเมือง รวมถึงสั่งยุบพรรคพลังประชารัฐ
หน่วยงานที่สาม ยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ไต่สวน ดำเนินคดี เป็นเจ้าพนักงานรัฐเรียกรับเงิน เข้าข่ายการกระทำผิดฐานฟอกเงิน และตรวจสอบเส้นทางการเงิน
หน่วยงานที่สี่ สภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่าได้ทำหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของ ส.ส.หรือไม่ เนื่องจากขาดประชุมโหวตวาระสำคัญ รวมทั้งการเลือกนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง
แน่นอนว่า การเดินหน้าตรวจสอบ โดยส่งนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมาเป็นด่านหน้าเช่นนี้ เท่ากับว่าเป็นการเปิดศึก ทำให้ พล.อ.ประวิตร และเลขาธิการ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ต้องฟ้องกลับอุตลุด โดยเฉพาะเรื่องคลิปลับ ทำให้อุณหภูมิระหว่าง 2 พรรค 2 บ้าน ร้อนระอุ
ซึ่งท้ายที่สุดต้องรอดูว่า ระหว่างพลพรรคบ้านป่าฯ กับขุนพลบ้านจันทร์ส่องหล้า ใครจะมีอาวุธเด็ดสามารถเชือดเฉือนอีกฝ่ายได้มากกว่ากัน
โดยมีอนาคตทางการเมืองของผู้นำทั้งสองบ้าน เป็นเดิมพัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022