‘ภัยคุกคามของชาติ’? | ปราปต์ บุนปาน

ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา อารมณ์ความรู้สึกชาตินิยมที่มี “แรงงานเมียนมาอพยพ” เป็นเป้าหมายหลัก อันก่อให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจในหมู่สามัญชนคนไทยจำนวนไม่น้อย ได้ทวีพลังขึ้นอย่างน่าจับตา

เริ่มจากความขัดแย้ง-วิวาทะเรื่อง “ศูนย์การเรียนรู้ภาษาพม่า” ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาถึงความไม่พอใจต่อคำอภิปรายในสภาของ “ส.ส.ธิษะณา ชุณหะวัณ” ซึ่งว่ากันว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้ อันส่งผลต่อความพ่ายแพ้ของพรรคประชาชนในสนามเลือกตั้งซ่อมพิษณุโลก เขต 1 ที่เป็น “เมืองพระนเรศวร”

ในสถานการณ์ที่พาเรา “เอียงขวา” เช่นนี้ อยากชวนทุกท่านไปอ่านคำสัมภาษณ์ของ “ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมียนมา จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ให้ไว้ในรายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง” ทางช่องยูทูบมติชนทีวีเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ซึ่งมีเนื้อหาชวนฉุกคิดบางส่วน ดังนี้

“ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมียนมา ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“เราต้องเริ่มถามตัวเองก่อนนะคะว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยเราอยู่โดยไม่มีแรงงานจากต่างประเทศจากเพื่อนบ้านเข้ามาได้ไหม?

“อย่างที่บอกไป แรงงานเมียนมามี 6-7 ล้านคน ตัวเลขไม่แน่ชัดหรอก แต่ละสำนักก็แตกต่างกัน ตีเสียว่าหลายล้านคน ตีเสียว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนคนไทย เยอะมากนะคะ

“เราไม่สามารถทำอะไรก็ตาม ถ้าเกิดแรงงานเหล่านี้นัดหยุดงานประท้วงขึ้นมาสักแค่หนึ่งชั่วโมงทั่วประเทศ มันเป็นเรื่องความมั่นคงล้วนๆ

“คุณลองนึกว่าแรงงานเมียนมาที่มหาชัย แรงงานเมียนมาที่ระนอง เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประมงของไทย ทั้งที่อยู่บนเรือ ทั้งที่อยู่ในโรงงานปลากระป๋อง ทั้งที่แล่ปลา ควักไส้ปลา หรืออะไร

“อยู่มาวันหนึ่ง เอาแค่มหาชัย ไม่ต้องเอาทั่วประเทศ เกิดมีอะไรที่เขาไม่พอใจขึ้น มีการจลาจลสักอย่างเกิดขึ้น แล้วมันนำไปสู่การชุมนุมประท้วง การสไตรก์นัดหยุดงาน หนึ่งชั่วโมง หนึ่งวัน มหาชัยเป็นอัมพาตทันที เรายอมไหม? ที่จะให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น

“คนไทยเราอยู่ในคีย์บอร์ด เราถ่ายติ๊กต็อก เราถ่ายอะไรไป เราอาจจะมีความรู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมประเทศนี้เรามีแรงงานต่างด้าวเยอะจัง? ทำไมถึงจะต้องมีศูนย์การเรียนรู้?

“แต่ถ้าในมุมของผู้ประกอบการ ไม่ต้องไปถึงมหาชัยหรอก ร้านก๋วยเตี๋ยวตรงทองหล่อเนี่ย ร้านดังๆ น่ะคุณไปดูสิ แรงงานเมียนมาหมด ถ้ามันเกิดอะไรขึ้นสักอย่างหนึ่ง ไม่ต้องเรื่องการจลาจล เอาเรื่องกฎหมาย

“สมมุติว่าอยู่มาวันหนึ่ง รัฐบาลออกกฎหมายว่าจะปราบปรามคนที่ไม่มีบัตร หรือแรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมายทุกประเภท แรงงานเมียนมาจะหายออกจากระบบของเราปริมาณมาก

“อันนี้ไม่ได้หมายความว่าเราส่งเสริมให้ทำผิด ไม่ได้หมายความว่าเราส่งเสริมให้มีแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย แต่ในเมื่อเรารู้ว่านี่คือปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรม ทำไมเราไม่เอามันขึ้นมา? แล้วทำไมเราไม่บริหารจัดการให้มันถูกต้อง? ให้มันจบ

“แล้วเราก็จะมีแรงงานที่มีศักดิ์มีศรี พร้อมที่จะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย”

“ที่ผ่านมา ก็คุยกับแรงงาน ลงพื้นที่ รู้จักคนนู้นคนนี้มากมาย ไม่มีคนเมียนมาที่ไหนหรอกที่รู้สึกเกลียดชังคนไทย มันมีนะ เจ้าของกิจการ (ไทย) ที่กดขี่แรงงานเมียนมาเยอะ แต่เขา (แรงงานเมียนมา) มีความรู้สึกว่า เขาหนีร้อนมาพึ่งเย็น

“แล้วพื้นที่ตรงนี้ อย่างน้อยที่สุดมันไม่ได้เพอร์เฟ็กต์ แต่มันให้โอกาสเขา มันทำให้ครอบครัวของเขาสามารถอยู่ได้ ในขณะที่เขาไม่สามารถหากินในประเทศของตัวเองได้ เขาหนีสงครามเข้ามา เขาหนีมาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มันดีกว่า

“หลายคนที่เป็นชนชั้นกลางมีโอกาสที่จะไปทำงานในยุโรป ในอเมริกา ในสิงคโปร์ แต่เขาไม่ไปนะ เขาเลือกที่จะทำงานอยู่ในประเทศไทย เพราะมันมีเซนส์ (ความรู้สึก) ที่ว่าอย่างน้อยที่สุด ประเทศไทยอยู่ใกล้กับเมียนมา อย่างน้อยที่สุด มันมีชุมชนของคนเมียนมาอยู่เยอะมากมาย

“คือเขารู้สึกว่า เขาเหมือนได้อยู่บ้าน ถึงแม้ว่าสิงคโปร์จะมี ‘ลิตเติ้ลเมียนมา’ จะมีร้านค้าร้านอาหารเมียนมาเยอะแยะเต็มไปหมด แต่บรรยากาศน่ะ (ไม่ใช่)

“เอาแค่แม่สอดกับเชียงใหม่ก็ได้ มีชนชั้นกลาง (เมียนมา) ระดับสูง อาชีพการงานดีคนหนึ่งเลยนะคะ เขาเล่าให้ฟังว่า เขาเคยไปอยู่เชียงใหม่ เขารู้สึกว่านี่คือชีวิตที่เขาอยากได้เลย บ้านสวยๆ ให้เช่าเยอะแยะเต็มไปหมด ชุมชนคนเมียนมาเป็นคนในระดับที่มีการศึกษาสูงๆ ทั้งนั้น โรงเรียนอินเตอร์เต็มไปหมด

“ท้ายสุด เขาก็กลับมาที่แม่สอด เพราะมีความรู้สึกว่ามันเหมือนบ้าน แล้วพอได้เห็นภูเขาที่แม่สอด ข้ามไปอีกฝั่งก็คือเมียนมาแล้ว มันมีเซนส์แบบนี้อยู่จริงๆ

“ดังนั้น ก็อยากจะชี้ให้สังคมไทยเราได้เห็นว่า ในบางครั้ง เวลาเรามองเรื่องแรงงานเมียนมา จริงๆ ไม่ใช่เมียนมาอย่างเดียว มีทั้งกัมพูชาและลาว หรือเวียดนามด้วย ที่เขาเข้ามาในประเทศไทย เขาคือผู้ที่กำหนดทิศทางของเศรษฐกิจไทยในระดับฐานราก

“โอเค มันมีปัญหาเยอะแยะมากมาย ในแม่สอด เคยมีคนหยิบยกประเด็นขึ้นมาว่า คนเมียนมาจะมาแย่งอาชีพของคนไทยหรือเปล่า? มันมีเรื่องแบบนี้จริงๆ แต่เราสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาได้

“แต่กรุณาอย่ามาเหมารวมว่า แรงงานต่างด้าวคือภัยคุกคามของสังคมไทย อันนี้ไม่ใช่ เราต้องมองในทางกลับกันสิว่า ถ้าเราไม่มีเขา นี่คือภัยคุกคามทางเศรษฐกิจของสังคมไทย

“แต่ถ้ารัฐของเรามีนโยบายที่เป็นภาพกว้าง และมองเรื่องแรงงาน เรื่องความมั่นคง เรื่องการต่างประเทศ เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วมีวิสัยทัศน์กลางว่า เราจะจัดการกับปัญหาอย่างนี้อย่างไร มันมีหน่วยงานที่ทำเรื่องพวกนี้หมดแล้ว เพียงแต่หน่วยงานพวกนี้ไม่ได้มองว่าประเด็นปัญหาทั้งหมดมันเป็นเนื้อเดียวกัน

“ถ้าเรายอมรับว่า แรงงานเมียนมา แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ประเด็นเรื่องอาชญากรรมอะไรต่างๆ หรือเรื่องศูนย์การเรียนรู้ มันเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วคุณควรจะแก้ไขปัญหาไปในเชิงเดียวกัน มีทิศทางในทางเดียวกัน มันแก้ปัญหาได้ และจะทำให้สังคมไทยแฮปปี้ด้วย” •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน