ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 กันยายน - 3 ตุลาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน |
เผยแพร่ |
นานแล้วที่เราได้ยินคำว่า Shopaholic
และก็นานแล้วเช่นกันที่เราไม่ได้ยินคำว่า Shopaholic
เพราะช่วงหลังๆ คำว่า Shopaholic หมดความน่าตื่นเต้น และมีคนพูดถึงจนเฝือ
แต่วันนี้ ในโอกาสที่มีศัพท์ใหม่อย่าง Dreamscrolling ทำให้ผู้เขียนนึกถึง Shopaholic ขอหยิบยกเอามาเพื่อต่อเรื่องกัน
ในวันที่ Shopaholic ถูกตีตราว่าเป็นโรคทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งหมายถึง การเสพติดการช้อปปิ้ง ไม่ใช่แค่ผู้หญิง แต่ผู้ชายก็ด้วย
เหล่าจิตแพทย์พากันฟันธงมานานแล้วว่า Shopaholic เป็นโรคทางจิตอย่างแน่นอน เพราะผู้ที่เป็นโรคนี้ จะมีความต้องการช้อป หรือความอยากซื้อของตลอดเวลา
แม้หลายคนจะรู้สึกดีได้แค่ช่วงเวลาเดียว คือช่วงเวลาที่ได้ช้อป และจะรู้สึกผิดหลังจากที่ซื้อมาแล้ว เพราะ Shopaholic มักจับจ่ายใช้สอยเกินความจำเป็น
หลายครั้งซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ บางอย่างมีแล้วยังซื้อซ้ำ แบบซ้ำแล้วซ้ำอีก จนมีของเดิมๆ เต็มไปหมด ส่งผลถึงปัญหาอื่นๆ ตามมา
ไม่ว่าจะเป็นภาระหนี้สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีปากมีเสียงกับคนในครอบครัว หลายคนช้อปปิ้งกลับมา ต้องหลบๆ ซ่อนๆ และต้องโกหกคนในครอบครัว ว่ามีคนให้มา หรือมักบอกราคาที่ถูกกว่าราคาจริง
ถ้าหากทะเลาะกับคนในครอบครัว อาจส่งผลให้เกิดการแยกตัวออกจากสังคม เกิดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวลตามมา
วิธีรักษา Shopaholic ต้องอาศัยการพูดคุยปรึกษาหารือเพื่อปรับพฤติกรรม ในต่างประเทศมีการจัดกลุ่มบำบัดเพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนทัศนคติ กระตุ้นให้เกิดการตระหนัก และรู้เท่าทันภาวะอารมณ์ตนเอง ว่า Shopaholic เกิดจากอะไร
เช่น ซื้อของเพื่อบำบัดความเหงา บำบัดความเครียด บำบัดความเศร้า เป็นต้น
หาก Shopaholic ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และทันท่วงที จะทำให้เกิดความรู้เท่าทันสภาวะอารมณ์ รู้ถึงเหตุผลของการจับจ่าย นำไปสู่การจัดการตัวเองที่ดีขึ้น
อาการของโรค Shopaholic ก็จะดีขึ้นตามลำดับ และสามารถหายขาดได้ในที่สุด สำหรับยารักษา ถ้าหากว่ามีโรคอื่นร่วมด้วย จึงจะมีการใช้ยา เช่น ภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล เป็นต้น
โดยทั่วไป Shopaholic มีตั้งแต่วัยรุ่นวัยเรียน ไปจนถึงวัยทำงาน ส่วนมากเพศหญิงจะเป็น Shopaholic มากกว่าเพศชาย
สาเหตุที่ทำให้เป็นโรค Shopaholic อาจมาจากบุคลิกส่วนตัว ส่วนใหญ่มักไร้ความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง มีภาวะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เป็นคนสมาธิสั้น
นอกจากนี้ ปัจจัยทางสังคมก็ส่งผลให้เป็น Shopaholic เช่น การกระตุ้นเร้าจากพ่อค้าแม่ขายของออนไลน์ ที่เอื้ออำนวยให้ซื้อง่ายขายคล่อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อโฆษณาที่เคยเป็นปัจจัยหลัก ที่มักส่งภาพสิ่งของที่น่าสนใจมาบ่อยๆ จนทำให้ Shopaholic ตัดสินใจซื้อในที่สุด
ส่วน Dreamscrolling คือภาวะเสพติดการเดินชมสินค้าที่ราคาเกินเอื้อม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคทองของการขายสินค้าออนไลน์ ที่ของหรูดูแพง เช่น รถยนต์หลัก 10 ล้าน หรือบ้านหลัก 100 ล้าน ที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีปัญญาซื้อ แต่เพียงได้เห็นก็มีความสุข
ถ้ามีอาการเช่นนี้ รับรองว่า คุณไม่ใช่คนเดียวในโลกปัจจุบัน เพราะนี่คือปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Dreamscrolling เรียกง่ายๆ ว่าเป็นภาวะเสพติดการเดินชมสินค้าที่ราคาเกินเอื้อม
Beth Martin ดีไซเนอร์แถวหน้าของโลก เคยตกอยู่ในสภาพ Dreamscrolling มาก่อน ปัจจุบันเธออาศัยอยู่ที่ South Carolina แต่หมายตาคฤหาสน์ฝรั่งเศสอายุเก่าแก่ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1700 ผ่านเว็บไซต์ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ Zillow
Beth Martin ยอมรับว่า Zillow ช่วยสร้างประสบการณ์ ให้จินตนาการถึงคฤหาสน์ทิพย์หลังนั้นจริงๆ
“ฉันไม่คิดจะซื้อของพวกนั้นจริงๆ หรอก ไม่ว่าจะเป็นคฤหาสน์ 10 ล้านดอลลาร์ หรือกระเป๋า Herm?s ราคา 30,000 ดอลลาร์ แต่ฉันชอบที่ได้เลื่อนดูข้าวของพวกนี้ มันเป็นฝันกลางวันชั้นยอดของฉันเลยล่ะ” Beth Martin กล่าว
อันที่จริงศัพท์คำว่า Dreamscrolling มาจากการที่ Empower บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินชั้นนำของโลก ได้ทำการวิจัยพบว่า ชาวอเมริกันใช้เวลาออนไลน์ 2.5 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อเลื่อนดูสินค้าในฝันที่ไม่มีทางซื้อได้
โดยรองเท้าและเครื่องประดับ เป็นสิ่งที่ Dreamscrolling เลื่อนดูมากที่สุดถึง 49% รองลงมาเป็นอุปกรณ์เทคโนโลยี 30% ของแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ 29% สถานที่พักผ่อน 25% สินค้าด้านความงาม 23% และบ้านหรืออพาร์ตเมนต์ 21%
Rebecca Rickert ผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสารองค์กรของ Empower บอกว่า “Dreamscrolling เป็นทางออกของทุกอย่างที่เราฝันใฝ่ เช่น ชีวิตหลังเกษียณในจินตนาการ บ้านในอุมคติ หรือการเที่ยวรอบโลก”
Rebecca Rickert ชี้ว่า Dreamscrolling อาจส่งผลเชิงบวกก็ได้ หากไม่ทำมากเกินไป โดยเน้นเลือกเฟ้นสิ่งที่เราต้องการในชีวิต และจัดสมดุลระหว่างความคิดกับการกระทำ
“ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า 71% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า Dreamscrolling เป็นแรงผลักดันให้พวกเขาไปถึงเป้าหมายทางการเงินได้อย่างยอดเยี่ยม”
อย่างไรก็ดี Karen Ho นักเขียนอาวุโสของ ART News ได้ออกมาเตือนว่าชาว Dreamscrolling ว่าไม่ควรใช้เวลาทั้งวันเพื่อคิดถึงเกาะบาหลี หรือการติดตั้งอ่างจากุชชี่ในฝันให้มากนัก
“ฉันขอถือโอกาสแนะนำวิธีหลีกเลี่ยง Dreamscrolling ดังนี้”
1. ขีดเส้นให้หนักแน่น : หากคุณมองหาบ้าน หรือสถานที่ตากอากาศ เพื่อหลีกหนีความเครียดในที่ทำงานก็สามารถทำได้ แต่ถ้าต้องใช้เวลาบนโลกออนไลน์เพื่อสิ่งนี้หลายชั่วโมงต่อวัน จนเริ่มกระทบกับประสิทธิภาพการทำงาน ก็ขอให้ยุติ Karen Ho ระบุ
“ฉันพบว่าคนกลุ่ม Gen Z ทำ Dreamscrolling บ่อยที่สุด พวกเขาใช้เวลาไปกับ Dreamscrolling มากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน” Karen Ho กล่าว และว่า
“หากคุณควบคุมเวลาในการใช้ Instagram หรือ TikTok รวมถึง Zillow ได้ มันจะเป็นเรื่องสนุก แต่อย่าลืมว่า คนที่ทำคอนเทนต์ท่องเที่ยว หรืออสังหาริมทรัพย์ มักมีเป้าหมาย และแรงจูงใจบางอย่าง เช่น เรียกยอด Like ยอด Share และยอด Follow อยู่เสมอ”
2. มีแผนการที่แน่ชัด : Dreamscrolling อาจนำไปสู่ความต้องการซื้อ หรือสัมผัสประสบการณ์จริงๆ แต่ก็ต้องมีแผนสำรอง ที่ทั้งเพื่อให้ไปถึงจุดหมาย และเผื่อสำหรับความผิดหวัง Karen Ho กล่าว และว่า
“การใช้ความฝันนำทางเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่การนั่งครุ่นคิด ว่าต้องใช้เงิน และพลังงานมากแค่ไหน เพื่อเดินหน้าไปให้ถึงเป้าหมาย ควรมีกระบวนการเก็บออมควบคู่ไปด้วยเสมอ”
3. ละสายตาจากมือถือบ้าง : พัก Dreamscrolling ทิ้งมันไว้ในตะกร้าสินค้าออนไลน์ หรือทิ้งไว้หน้าเว็บ เพื่อยั่วให้ตัวเองกลับมาดูซ้ำในอนาคต แต่ไม่ซื้อ ก็เป็นเทคนิควัดใจที่ดี Karen Ho กล่าว และว่า
“อย่าไปตื่นเต้นกับปุ่มซื้อ เพราะต้นทุนของการซื้อของกะทันหันแบบไม่ทันชั่งใจ สร้างความเสียหายกับเงินในกระเป๋าของผู้คนโดยเฉลี่ยถึง 86,593.40 ดอลลาร์เลยทีเดียว”
นี่อาจทำให้คุณเจอกับปัญหาทางการเงินของจริง ดังนั้น อย่ากดซื้อจนกว่าจะแน่ใจว่าดีดลูกคิดมาแล้วอย่างถ้วนถี่
Karen Ho ทิ้งท้ายว่า นี่คือยุคแห่งตะกร้าช้อปปิ้งที่ถูกทิ้งร้าง
“เกือบ 1 ใน 3 ของผู้คนบนโลก บอกว่า Dreamscrolling ช่วยพวกเขาหลีกเลี่ยงการซื้อของอย่างไม่มีการวางแผนล่วงหน้าได้”
ท้ายที่สุดแล้ว Dreamscrolling ช่วยค้นหาสิ่งที่ต้องการอย่างแท้จริงได้จริงๆ Karen Ho สรุป
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022