ตั๋วช้าง นายกฯ ม้าและนายโรม

คำ ผกา

มีเรื่องที่เหมือนจะไม่สลักสำคัญนัก แต่ฉันคิดว่าน่าสนใจที่พูดถึง

นั่นคือประโยคของ รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคประชาชน ว่า นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร เป็นเพียง “นายกฯ ม้า”

โดยอ้างอิงกับเรื่องของ “บัญชีม้า” ที่อาจแปลเป็นภาษาไทยปกติว่า ในสายตาของของรังสิมันต์ โรม นายกฯ แพทองธาร เป็นนายกฯ ที่เป็น “หุ่นเชิด” ของบิดาคือทักษิณ ชินวัตร

ไม่เพียงแต่รังสิมันต์ โรม ส.ส.รักชนก ศรีนอก ก็กล่าวถึงนายกฯ แพทองธารว่าเป็นนายกฯ ที่พ่อต้องจูงมือมาส่งราวกับนักเรียนโรงเรียนอนุบาลไปโรงเรียนวันแรก

หรือกรณีที่ “เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ว่าที่ผู้นำฝ่ายค้าน ผู้นำแถวสามที่เพิ่งขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ก็อภิปรายเรียกร้องให้นายกฯ แพทองธาร แสดงภาวะผู้นำด้วยการตอบคำถามหรือแสดงวิสัยทัศน์ที่อยู่นอกสคริปต์ที่ทีมงานเตรียมให้

ทั้งหมดนี้ทำให้เราอ่านระหว่างบรรทัดได้ว่า ในสายตาของพรรคประชาชนที่เป็นฝ่ายค้านมองว่า นายกฯ แพทองธาร เป็นเพียง “ตุ๊กตา” น่ารักปราศจากความรู้ ความสามารถใดๆ

 

ถ้าหากความมีทัศนคติเช่นนี้ มาจากพรรคการเมืองฝ่ายขวาตกขอบ อนุรักษนิยม และเหยียดเพศหญิงว่าเป็นได้แค่ลูกสาว เมีย และแม่ ฉันจะไม่แปลกใจเลย

แต่การณ์กลับเป็นว่าทัศนคติที่เต็มไปด้วย gender bias นี้มาจากพรรคการเมืองที่อวดอ้างเสมอว่าเป็นพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ หัวก้าวหน้า ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ความแตกต่างหลากหลาย สิทธิของคนชายขอบ ความเสมอภาคทางเพศ และทุกสิ่งทุกอย่างที่ว่ากันว่าเป็นความ “ก้าวหน้า” ทางการเมือง

แต่ทัศนคติที่พวกเขามีต่อแพทองธารกลับสะท้อนให้เห็นว่า คนที่อ้างว่าหัวก้าวหน้ากลับล้าหลัง และใช้กลยุทธ์ทางการเมืองในการโจมตีคู่แข่งจากเรื่องเพศ เรื่องความสัมพันธ์ และเรื่องครอบครัว

นักการเมืองของพรรคประชาชน และสมาชิกคณะก้าวหน้าบางคนมองเห็นแพทองธาร แทนที่จะมองเห็นนักการเมืองหญิงคนหนึ่งที่ลงสู่สนามการเมือง

ด้วยต้นทุนที่เป็นทั้งข้อได้เปรียบและข้อเสียเปรียบ นั่นคือการเป็นลูกสาวของทักษิณ ชินวัตร ถ้าเราไม่มีอคติ เราจะเห็นว่าการเป็นลูกของทักษิณ สามารถเป็นประเด็นที่ทำให้คนเกลียดแพทองธารได้เลยเพียงเพราะแพทองธารเป็นลูกทักษิณ โดยที่แพทองธารยังไม่ต้องทำอะไร แค่มีพ่อชื่อทักษิณก็ทำให้คนเกลียด หรือแพทองธารยังไม่ต้องทำอะไร แค่การเป็นลูกทักษิณก็ทำให้คนรักได้เลย

และหากเราจะมีปัญหากับการที่ลูกนักการเมืองเล่นการเมือง ทำไมเราไม่มีปัญหากับวราวุธ ศิลปอาชา ทำไมเราไม่มีปัญหาของพริษฐ์ วัชรสินธุ ที่ก็เป็นหลานของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำไมเราไม่มีปัญหากับอนุทิน ชาญวีรกุล ที่บิดาก็เป็นอดีตรัฐมนตรี

ทำไมเราไม่มีปัญหากับนักการเมืองอีกนับคนไม่ถ้วนที่พ่อเป็นนักการเมือง ลูกก็เป็นนักการเมือง พ่อเป็นรัฐมนตรี ลูกก็เป็นรัฐนตรี อย่างมากก็บ่นกันเรื่อง “บ้านใหญ่”

แต่การดูถูกเหยียดหยามว่า “เป็นเด็กอนุบาลให้พ่อจูงมือมาเข้าทำเนียบเหมือนเป็นเด็กอนุบาล” มักเกิดกับที่เป็นนักการเมืองผู้หญิงอย่างมีนัยสำคัญ

 

หากจำกันได้ ในสมัยที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้ง และทุกคนก็เห็นว่าคุณยิ่งลักษณ์เดินทางไปหาเสียง พบปะประชาชนทั่วประเทศไทยตลอด 49 วัน

ทว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง สื่อต่างประเทศหลายสำนัก นักวิชาการชาวไทยกลับไม่พูดถึง “การทำงานอย่างหนัก” ของยิ่งลักษณ์ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ รวมถึงนักสตรีนิยมแถวหน้าของประเทศไทย

กลับพากันออกมาวิเคราะห์ว่า นี่ไม่ใช่การยกระดับสถานะของสตรีไทยในพื้นที่ทางการเมือง

ยิ่งลักษณ์ก็เหมือนกับนักการเมืองหญิงในหลายๆ ประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองเพราะเป็น “หุ่นเชิด” ของครอบครัว ของพ่อ ของสามี หรือของพี่ชาย การขึ้นมาเป็นนายกฯ ของยิ่งลักษณ์ยิ่งตอกย้ำความล้าหลังทางการเมืองของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ในบทสัมภาษณ์นี้ที่ยิ่งลักษณ์ต้องออกมาย้ำว่าเธอไม่ใช่หุ่นเชิดของใคร https://www.nationthailand.com/in-focus/30201858

หลังจากนั้นชนชั้นกลาง “หัวก้าวหน้า” ของไทยและสื่อต่างประเทศอีกหลายสำนักที่มักมีแหล่งข่าวเป็น “นักวิชาการสลิ่ม” ต่างก็พากันลืมความก้าวหน้า ลืมเรื่องการ empower ผู้หญิง และพากันกระโจนลงไปในภาพจำและภาพเหมารวมของผู้หญิงในการเมือง

เช่น พวกเขามีภาพสำเร็จรูปของนักการเมืองหญิงที่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ เช่น ออง ซาน ซูจี นั่นคือเป็นลูกสาวของผู้เรียกร้องเอกราช ได้รับการศึกษาจากออกซ์ฟอร์ด ทิ้งครอบครัว (อันมีความหมายว่ายอมสละความสุขส่วนตัว) มาต่อสู้เพื่อชาติและประชาชนอย่างแน่วแน่

พร้อมๆ กับที่คนเหล่านี้มีภาพสำเร็จรูปเกี่ยวกับผู้หญิงในครอบครัวนักการเมืองเป็น อีเมลดา มาร์กอส เมกาวตี ซูการ์โน ว่าเป็นเพียงผู้หญิงที่ลงสู่สนามการเมืองเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของครอบครัว หาได้มีอุดมการณ์ใดๆ ไม่

ดังนั้น เมื่อนักการเมืองอย่างยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงเลือกตั้ง ชนะการเลือกตั้ง และได้เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยอคติและภาพจำเกี่ยวกับนักการเมืองหญิงเช่นนี้ จึงทำให้เกิดการเหมารวมเอายิ่งลักษณ์ เอาเมกาวตี เอาอีเมลดา มาร์กอส ไปยำรวมในเข่งเดียวกันหมด

สื่อปัญญาชน และสื่อต่างประเทศในหลายครั้งโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัวว่า ด้วยความตื้นเขิน พวกเขาก็มองการเมืองในประเทศโลกที่สามจากสายตาของ “นักบุญประเทศโลกที่หนึ่ง”

นั่นคือ เห็นนักการเมืองเป็นปีศาจไปพร้อมๆ กับ romanticized แอ็กติวิสต์ ผู้นำแรงงาน นักเคลื่อนไหวที่มาจาก “รากหญ้า” เชิดชูดอกไม้ในป่าปูน ตามพล็อตวรรณกรรมนักปฏิวัติที่พวกเขาคุ้นชิน

 

อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์จึงไม่ได้เจอแค่ภาวะ misogynist หรือการเกลียดผู้หญิง

แต่เจอภาวะการเกลียดผู้หญิงที่มาจากครอบครัวนักการเมืองไม่ใช่นักการเมืองธรรมดา แต่ดันเป็นนักการเมืองที่เป็น “นายทุน” และไม่ใช่นายทุนธรรมดา แต่เป็นนายทุนที่ร่ำรวยมหาศาล

ไม่ได้ร่ำรวยมหาศาลธรรมดา แต่ดันเป็นนักการเมืองนายทุนที่ร่ำรวยและดันเป็นขวัญใจของชาวรากหญ้าตลอดกาล

เหนือสิ่งอื่นใด เป็นนักการเมือง เป็นนายทุน เป็นมหาเศรษฐี เป็นขวัญใจคนรากหญ้า และไม่สมาทานความดัดจริตแบบปัญญาชนนักวิชาการ ไม่เสแสร้งทำเป็นรักษ์โลกรักษ์ป่าออร์แกนิกส์ ไม่สมาทานการใช้ภาษาชุดคำศัพท์เพ้อเจ้อเวิ่นเว้อวรรณกรรม

พูดให้กระชับคือ นักการเมืองแบบยิ่งลักษณ์ไม่มีคุณสมบัติตรงตาม “นักการเมืองหญิงในอุดมคติ” ตามที่ชนชั้นกลวงทั้งหลายถูกหล่อหลอมความคิดมาจากการอ่านนิยายโรแมนติกว่าด้วยนักปฏิวัติทั้งหลาย และด้วยการดูถูกสติปัญญาตัวเอง

คนเหล่านี้จึงพร้อมใจกันพิพากษาว่ายิ่งลักษณ์เป็นเพียงหุ่นเชิดและรุนแรงที่สุดคือการพร้อมใจกันแปะป้ายเธอด้วยคำว่า “โง่” สมบูรณ์แบบตามแพตเทิร์นการเหยียดผู้หญิง เพราะคำว่าผู้หญิงย่อมมาพร้อมกับภาวะไร้สมอง ไร้ความสามารถ ไร้เจตจำนงของตนเอง

เว้นแต่ผู้หญิงคนนั้นต้องทำลาย “ความเป็นหญิง” ของตนเองเสียก่อน

เช่น แพตเทิร์นของผู้หญิงปัญญาชน หรือ ngos ในยุคหนึ่ง จะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้หญิงที่มีสมอง ต้องเริ่มจาก ถ้ามาจากครอบครัวนายทุน เธอผู้นั้นต้องหันหลังให้ครอบครัว ต้องประณามครอบครัว ต้องขบถต่อพ่อแม่

จะยิ่งได้รับการยกย่องเมื่อผู้หญิงเหล่านั้นเลิกให้ความสำคัญกับ “ความสวย”

แพตเทิร์นของผู้หญิงนักกิจกรรม ngos ในยุคหนึ่งจึงต้องโทรมๆ ไม่แต่งหน้า ผมยุ่งๆ แต่งตัวน่าเกลียด ใส่ผ้าฝ้าย สะพายย่าม หรือแต่งตัวด้วยผ้าชนเผ่าให้ดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้ถูกดขี่ ทำตัวจนๆ ลำบากๆ

หรือละทิ้งทรัพย์ศฤงคารทางบ้านไปอยู่ชนบท ทำงานอาสาสมัคร ไปช่วยชาวบ้าน ทำอะไรทำนองนี้ได้ถึงจะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้หญิงที่มีสมองเป็นผู้หญิงเก่ง

 

อคติต่อผู้หญิงเช่นนี้ในหมู่ฝ่ายซ้ายไทย ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าเป็นปัญญาชนหัวก้าวหน้าไทย ไม่ค่อยถูกตั้งคำถาม เพราะเรา take it for granted ไปโดยปริยายว่า ถ้าเจอผู้หญิงสวยมาก รวยมาก มาจากตระกูลนายทุน ให้เราเชื่อไว้ก่อนว่าผู้หญิงเหล่านี้ต้องโง่

และหากผู้หญิงที่สวยมาก รวยมากเหล่านี้ประสบความสำเร็จในชีวิต เราจะอธิบายทันทีว่าเป็นเพราะบารมีพ่อ แม่ ผัว ชัวร์

เราจะยกย่องผู้หญิงที่สวยและรวย เฉพาะในกรณีที่ผู้หญิงเหล่านั้นมาเป็นพวกเดียวกับเรา คือมาพูดจาภาษาซ้ายๆ มาใส่เสื้อผ้าฝ้าย มาใช้ชีวิตแบบ ngos

หรือจะให้ดีต้องมามีผัวเป็นนักเขียน เป็น ngos เป็นนักกิจกรรม ทำได้ดังนี้จะกลายเป็นผู้หญิงดี เก่ง เสียสละ น่ายกย่อง

หรือเราจะยกย่องผู้หญิงที่สวยและร่ำรวยได้ก็ต่อเมื่อผู้หญิงเหล่านั้นผันตัวไปทำงานการกุศล ไปเป็นผู้อุปถัมภ์วงการกีฬา ไปทำมูลนิธิช่วยเหลือเด็กกำพร้า ไปเป็นนักบวช ไปทำอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่การครอบครอง “อำนาจรัฐ”

พูดง่ายๆ ว่า ภาวะ misoginist นี้มาโดยไม่รู้ตัว เพราะทุกคนคิดว่า “ฉันไม่ได้เกลียดหญิง ฉันยกย่องผู้หญิง”

แต่พวกเขาไม่รู้ตัวว่า เขาเลือกยกย่องเฉพาะผู้หญิงที่ยอมทำตัวเป็นแม่ชีเทเรซาเท่านั้น หากผู้หญิงพยายามเป็นมากกว่านั้น เช่น อยากเป็นนายกรัฐมนตรี พวกเธอจะถูกเกลียดชังทันทีโดยไม่มีเหตุผล

 

สิ่งที่แพทองธารเจอเมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็เช่นกัน

ถ้าโรมเชื่อว่า การเป็นนายกฯ ของแพทองธาร ไม่ได้มาจากตัวแพทองธาร แต่มาจากพ่อที่ชื่อทักษิณ คำถามของฉันคือ ถ้ามันง่ายเช่นนั้น ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ลูกของชาติชาย ชุณหะวัณ ทำไมไม่ได้เป็นนายกฯ ตามพ่อ หรือ ธิษณา ชุณหะวัณ หลานของชาติชายก็น่าจะได้เป็นนายกฯ โดยไม่ยากสิ?

ทำไมโรมจึงเรียกว่าแพทองธารว่าเป็น “นายกฯ ม้า”

ทั้งๆ ที่แพทองธารเริ่มต้นชีวิตทางการเมืองของเธอจากการเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในช่วงเวลาที่พรรคเพื่อไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตศรัทธาเสียด้วยซ้ำ

ในห้วงเวลาที่พรรคเพื่อไทยอยู่ในสภาพที่อาจเรียกได้ว่า บอบช้ำจากการถูกรัฐประหาร 2 ครั้ง ถูกยุบพรรคนับครั้งไม่ถ้วน บุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญของพรรคถูกตัดสิทธิ บิดาและอาของแพทองธาร ลี้ภัย และชะตากรรมยังแขวนอยู่บนเส้นด้าย

แพทองธารไม่ได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคในยามที่พรรครุ่งเรือง และท่ามกลางการทำงานหนักของคนอื่นๆ ในพรรค อยู่ๆ แพทองธารก็ลอยลงมาหยิบชิ้นปลามันนั่งเป็นหัวพรรค เด็ดยอดความสำเร็จของคนอื่นมาเป็นของตนเอง

ตรงกันข้าม แพทองธารต้องเข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าพรรคในวันที่พรรคอยู่ในสถานะที่ค่อนข้างตกต่ำด้วยซ้ำ อันเนื่องจากกระแส “ข้ามขั้ว ตระบัดสัตย์” และคำปรามาสว่าพรรคเพื่อไทยจะสูญพันธุ์แน่นอน

และถ้าโรมจะบอกว่า แพทองธารเป็น “นายกฯ ม้า” ฉันคิดว่า โรมกำลังดูถูก 10.9 ล้านเสียงที่เลือกพรรคเพื่อไทย เพราะ 10.9 ล้านเสียงที่ตัดสินใจโหวตให้พรรคเพื่อไทยโดยรู้ว่ามีชื่อแพทองธารเป็นแคนดิเดตนายกฯ แพทองธารจะเป็นลูกใครหรือไม่เป็นลูกใคร มันไม่สำคัญเท่ากับว่าแพทองธารไม่ได้ปิดบังข้อเท็จจริงนั้น

คำว่า “นายกฯ ม้า” มันจะ make sense ก็ต่อเมื่อ ไม่มีใครรู้มาก่อนว่า พ่อของแพทองธารชื่อทักษิณ เรื่องนี้เป็นความลับ พวกเรานึกว่าแพทองธารเป็นผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง พอเธอเป็นนายกฯ เราจึงรู้ว่าโดนหลอก จริงๆ แล้วนี่คือลูกสาวที่ทักษิณส่งมา

แต่นี่ทุกคนก็รู้ว่าแพทองธารคือลูกสาวของทักษิณ ทุกคนรู้ตั้งแต่แรกว่า แพทองธารเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และสมมุติว่ามีโหวตเตอร์พรรคเพื่อไทยที่ไม่ชอบแพทองธาร โหวตเตอร์คนนั้นก็สามารถเปลี่ยนไปสนับสนุนพรรคการเมืองพรรคอื่น เลิกสนับสนุนพรรคเพื่อไทยก็ได้

ประชาชนคนไทยทุกคนรู้ว่าแพทองธารเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ดังนั้น ทั้งคนที่เลือกพรรคเพื่อไทย และคนที่ไม่เลือกพรรคเพื่อไทยก็เลือกและไม่เลือกโดยมีข้อมูลทุกอย่างอยู่ในมือ ไม่มีอะไรปิดบัง

คนที่เลือกพรรคเพื่อไทยก็เลือกเพราะรู้ คนที่ไม่เลือกก็อาจจะไม่เลือกเพราะรู้เช่นกัน

เมื่อโหวตเตอร์ทุกคนรู้ตั้งแต่แรกว่าแพทองธารเป็นแคนดิเดคตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย แล้วก็ยังเลือก และวันหนึ่ง แพทองธารได้เป็นนายกฯ เราจะเรียกสิ่งนี้ว่านายกฯ ม้า โดยเอาไปเปรียบกับบัญชีม้าได้อย่างไร?

 

นี่คือคำถามที่ฉันขอถามต่อรังสิมันต์ โรม ว่าการป้ายสี ลดทอน นายกฯ ที่มาตามกระบวนการเลือกตั้ง มาตามกระบวนการรัฐสภา ถูกต้องทุกอย่างว่าเป็นเพียงนายกฯ ม้า หรือนายกฯ ตัวปลอม เป็นการดูถูกประชาชนที่เลือกพรรคเพื่อไทยว่าโง่งมใช่หรือไม่?

ฉันไม่ได้บอกว่า นายกฯ แพทองธารต้องเป็นไข่ในหินห้ามวิพากษ์วิจารณ์

ฉันยืนยันว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่ต้องตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

และฉันก็เชื่อในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มากไปกว่านั้นฉันของยืนยันในหลักการว่า ผู้นำประเทศย่อมถูกด่าทอ ล้อเลียนได้ และผู้นำประเทศต้องมีขันติธรรมต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ล้อเลียน

แต่การกล่าวว่าแพทองธารเป็น “นายกฯ ม้า” ไม่ใช่การวิจารณ์แพทองธาร

แต่เป็นการเหยียดหยามโหวตเตอร์ของพรรคเพื่อไทยว่า เสียงของคนเลือกพรรคเพื่อไทยไม่ถูกนับว่าเป็น “เสียง” โรมจึงไม่ยอมรับว่าแพทองเป็นนายกฯ ตัวจริงที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ไม่นับ gender bias เพราะแพทองธารเพิ่งเป็นนายกฯ ยังไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ยังไม่ทันได้พิสูจน์ฝีมือ ยังไม่ได้พิสูจน์ผลงาน รังสิมันต์ โรม ก็ด่วนปรามาสเขาเสียแล้วว่าเป็นเพียงนอมินีของพ่อ เพียงเพราะสถานะ “ลูกสาว” และ bias

เกิดจากการที่โรมไม่เชื่อว่า “ลูกสาว” มีเจตจำนงของตนเอง

 

ถามต่อไปว่า แล้วเราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่า แพทองธารมีเจตจำนงเป็นของตนเอง

ฉันก็ต้องถามกลับว่า แล้วโรมจะเอาอะไรมาพิสูจน์ว่า แพทองธารไม่มีเจตจำนงเป็นของตนเอง?

ในเมื่อสิ่งนี้พิสูจน์ในเชิงประจักษ์ เอาขึ้นเครื่องชั่งตวงวัดไม่ได้ หลักการของความ “เสมอภาค” จึงกำหนดไงว่า

อย่าตัดสินคนคนหนึ่งเพียงเพราะว่าเขาเป็นผู้หญิง หรือเป็นผู้ชาย

อย่าตัดสินคนคนหนึ่งเพียงเพราะเขาเป็นลูกใครหรือไม่เป็นลูกใคร

อย่าตัดสินคนคนหนึ่งเพียงเพราะเขานับถือศาสนาอะไร หรือไม่นับถือศาสนาอะไร

อย่าตัดสินคนคนหนึ่งเพียงเพราะเขาร่ำรวยหรือยากจน

อย่าตัดสินคนคนหนึ่งจากชาติกำเนิดของเขา เป็นต้น

นี่คือหลักความเสมอภาคของมนุษย์ 101 ที่นักการเมืองผู้อ้างว่าแน่วแน่ในหลักการสิทธิมนุษยชนพึงทราบ

แล้วเราจะตัดสินแพทองธารในฐานะนายกรัฐมนตรีได้จากอะไรบ้าง?

 

หนึ่ง การเข้าสู่อำนาจของเขา แพทองธารเข้าสู่อำนาจรัฐโดยชอบหรือไม่?

คำตอบคือ “ชอบ” แพทองธาร ไม่ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจใครมา

แพทองธารไม่ได้เข้าสู่อำนาจโดยโกงการเลือกตั้ง

แพทองธารไม่ได้เข้าสู่อำนาจโดยไม่แจ้งให้ประชาชนทราบว่าเป็นแคนดิเดตนายกฯ แล้วมาลักไก่เป็นทีหลัง

ดังนั้น จะชอบหรือไม่ชอบ จะนับถือแพทองธารหรือไม่นับถือแพทองธาร เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แพทองธารเข้าสู่อำนาจรัฐโดยชอบธรรม

สอง ตัดสินจากการทำงานของแพทองธารในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารจากวันนี้ไปอีกสามปีข้างหน้า ตรงนี้แหละที่ฝ่ายค้านสามารถบริหาร “เสน่ห์” ของตัวเองได้อย่างเต็มที่

ประชาชนจะรักฝ่ายค้านมากหากฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลโดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ตรวจสอบรัฐบาลโดยเอา “ชื่อเสียงของตนเอง” เป็นที่ตั้ง

ถ้าฝ่ายค้านตรวจสอบการทำงานโดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งจริงๆ อย่างจริงใจ ประชาชนจะสัมผัสได้ และฝ่ายค้านจะได้ชื่อเสียง จะได้คะแนนนิยมโดยอัตโนมัติ

แต่ที่ผ่านมา ดูเหมือนพรรคก้าวไกล และพรรคประชาชนจะหลงทาง เพลิดเพลินกับการทำงานโดยมี “แสง” และ “แอร์ไทม์” จากพื้นที่สื่อเป็นที่ตั้งมากเกินไป

ทำงานบนแรงกดดันหรือแรงเชียร์จากกระแสในโลกโซเชียลมากเกินไป

ผลก็คือ กลายเป็นพรรคที่เน้นไวรัล หรือการได้ออกหน้าจอ เป็นขวัญใจสื่อ ทำให้ต้องไปคิดคำพูด ท่องฮุก ภาษาอุปมาอุปไมยที่เตะตา

แต่หลายครั้งบิดเบือนจากหลักการและข้อเท็จจริง เช่น กรณีคำว่า “นายกฯ ม้า”

ทำไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่า พรรคก้าวไกล หรือพรรคประชาชน มีภาพจำจากพรรคของนักการเมืองคนรุ่นใหม่เป็น “พรรคปากแจ๋ว” สุดท้ายได้ภาพจำ (ที่ฉันคิดว่าไม่แฟร์นักต่อพรรคก้าวไกล) คือ เป็นพรรคที่ไม่มีใครคบ ไม่มีเพื่อน

สาม จิตวิทยาการเมืองที่เราต้องรู้คือ หากพรรคฝ่ายรัฐบาลทำผลงานได้ดี ประชาชนจะมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นหน้าที่อยู่แล้ว อาสาเข้ามาทำงานเอง ทำได้ดีก็เสมอตัว

แต่ถ้าผิดพลาดนิดเดียวประชาชนจะจดจำไปถึงปรโลก

หรือแม้แต่พรรคฝ่ายรัฐบาลทำดีทุกอย่าง บริหารประเทศจนครบเทอม ถึงเวลาเลือกตั้ง ประชาชนก็อยากลองของใหม่อยู่ดี

ตรงนี้ที่พรรคประชาชนควรมองเป็นจุดแข็งของตัวเอง และทำงานแคมเปญในเชิงบวก ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า หากพรรคประชาชนเข้ามาเป็นรัฐบาล จะสามารถมาต่อยอดงานของรัฐบาลเดิมได้ และทำได้ดีกว่า

ตรงกันข้าม หากประชาชนด่วนใช้แต่ “สงครามวาทกรรม” เช่น นายกฯ ม้า แทนที่คะแนนของแพทองธารจะติดลบ มันจะกลายเป็นแรงหวี่ยงกลับ เกิดคะแนนสงสาร

ท้ายที่สุดต่อให้แพทองธารอาจจะทำงานไม่เก่งนัก แต่ประชาชนรู้สึกว่า สงสารนายกฯ ถูกรังแก เลยเทคะแนนให้อีก

 

ผลการเลือกตั้งซ่อมที่เขต 1 พิษณุโลก น่าจะเป็นบทพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า เมื่อสิ้นสุดยุคของ “ลุง” ประเทศเดินไปสู่วิถีของการเมืองประชาธิปไตย แม้จะยังมีประเด็นขององค์กรอิสระ ตุลาภิวัฒน์ แต่ประชาชนเริ่มรู้เท่าทัน “การเมืองคนดี” มากขึ้น และให้ความสำคัญกับการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชนมากกว่า “การเมืองคนดี” ที่เคยมีอำนาจนำในการเมืองไทยมากว่าสี่สิบปีต่อเนื่อง

เมื่อสถานการณ์ของการเมืองบนท้องถนนปิดฉากลงพร้อมๆ กับการเมืองในสภาที่ค่อยฟื้นคืนสู่สภาวะปกติ ประชาชนจะเบื่อหน่าย negative campaign การสร้าง “ความเป็นอื่น” ให้กับคู่แข่งทางการเมือง จะไม่นำไปสู่การได้มาซึ่งคะแนนนิยม พรรคก้าวไกลที่เติบโตมาจากการสร้างคะแนนนิยมผ่าน “ความโกรธ” อาจจะต้องปรับกลยุทธ์ในการทำงานการเมือง

ท่าทีแบบยักไหล่แล้วไปต่อ จะไม่ตอบโจทย์ความคาดหวังของสังคมที่มองหาความสมานฉันท์และกลับสู่โหมด “ทำมาหากิน”

ขณะเดียวกัน ความท้าทายของรัฐบาล คือเมื่อประชาชนกลับสู่โหมดทำมาหากิน ประชาชนคาดหวังที่จะเห็นความมั่งคั่ง สมบูรณ์ เศรษฐกิจดีขึ้น บรรยากาศในบ้านเมืองสว่าง สดใส มีกำลังใจที่จะมีชีวิต มีความหวัง สิ่งนี้เป็นความท้าทายของรัฐบาลภายใต้นายกฯ แพทองธาร

คำว่านายกฯ ม้า ท้ายที่สุดจะไม่ใช่อะไรเลยนอกจากเป็นการประจานวิธีคิดและวิธีการทำงานที่ล้าหลัง คร่ำครึของฝ่ายค้านที่จนตรอกในการโจมตีรัฐบาล จนต้องไปยกเอาวาทกรรมแบบ “สลิ่ม” ดั้งเดิมมาใช้ นั่นคือ การเหยียดในสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เช่น การเป็นเพศอะไร หรือการเป็นลูกใคร แทนการวิจารณ์ที่ “เนื้อหา”

และช่วยไม่ได้เลยที่ฉันคิดถึงคำพังเพยเชยๆ ว่า “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน”

ผ่านไปแค่สองการเลือกตั้งเท่านั้นหลังการรัฐประหารปี 2557 ใครเป็นตัวจริง ใครเป็นตัวปลอม ก็คงจะได้เห็นกัน