สหพัฒน์ ไปทางไหน (1)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

จับตา “ขาใหญ่” อีกราย อีกกรณี – เครือสหพัฒน์ ในกระแสคลื่นลูกใหม่ๆ

ด้วยมีดีลและเหตุการณ์สำคัญๆ หลายกรณีที่น่าสังเกตุและสนใจ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในระยะใกล้ๆ มานี้

ขออ้างถึงบางกรณี ตั้งแต่ปีที่แล้ว มีการปรับเปลี่ยนธุรกิจ จากบริษัทหนึ่งซึ่งผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้า มาสู่ธุรกิจการเงิน

ต้นๆ ปีที่เพิ่งผ่านมา ประกาศร่วมทุนครั้งใหญ่กับไต้หวัน ไปตามกระแสผลิตแผงวงจรพิมพ์ไฟฟ้า (Printed Circuit Board : PCB)

มาจนถึงกรณีแต่งตั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นักการเมืองมีชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายกรัฐมนตรี เข้ามาเป็นรองประธานกรรมการบริษัทหลักในเครือสหพัฒน์-บริษัท สหพัฒนาพิบูลย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SPC

 

เครือข่ายธุรกิจนี้ เกิดขึ้นและเติบโตหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีพัฒนาการและเปลี่ยนผ่านหลายช่วงสำคัญ จาก 3 ทศวรรษแรก เป็นไปอย่างก้าวกระโดด จากนั้นมาเป็นช่วงการสร้างแบบแผน และขยายตัวตามโมเมนตัมทางธุรกิจ

บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา (2480-ปัจจุบัน) คงบทบาทผู้นำเครือสหพัฒน์ไว้อย่างต่อเนื่องยาวนาน อายุและประสบการณ์ของเขาเทียบเคียงได้กับ ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี ด้วยวัยใกล้เคียงกัน และมีบทบาทในการบริหารและสร้างอาณาจักรธุรกิจในระยะเดียวกัน โดยอยู่ในวงจรการพัฒนา และความยุ่งยาก อย่างยาวนานเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าบุณยสิทธิ์ มีบิดา (เทียม โชควัฒนา 2459-2534) เป็นพี่เลี้ยงในช่วงแรกๆ

เทียมกับบุณยสิทธิ์ สามารถสร้างความต่อเนื่องอย่างมหัศจรรย์ เป็นภาพสะท้อนหนึ่งแห่งพัฒนาการธุรกิจคอนซูเมอร์ในประเทศไทย หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นบทบาทสำคัญคนสองรุ่น ในบริบทช่วงคาบเกี่ยวกับยุคสงครามเวียดนาม ภายใต้อิทธิพลสหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยขบวนธุรกิจญี่ปุ่นเข้ามาเป็นระลอกคลื่น โดยเฉพาะเกี่ยวกับธุรกิจคอนซูเมอร์มีพลวัตสูงในสังคมไทย

ว่าไปแล้วถือเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสังคมธุรกิจไทย นำพาเข้าสู่พรมแดนใหม่ที่ไม่คุ้นเคย นั่นคือวางรากฐานการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ที่มีวงจรและกระบวนการต่อเนื่องของตนเอง ในการผลิตสินค้าคอนซูเมอร์ตอบสนอง วิถีชีวิตสมัยใหม่ของคนไทย

ท้าทายกับเครือข่ายธุรกิจระดับโลกจากโลกตะวันตก ซึ่งปักหลักวางรากฐานในสังคมไทยมาช้านานก่อนหน้านั้น

“เครือสหพัฒน์ เริ่มต้นมาจากการนำสินค้าต่างประเทศมาจำหน่าย ต่อมาได้พัฒนาเป็นผู้ผลิตสินค้าและเป็นตัวแทนจำหน่าย อีกทั้งยังได้ร่วมทุนกับต่างประเทศในการผลิตสินค้าและบริการ ปัจจุบันเครือสหพัฒน์เติบใหญ่จนเป็นเครือบริษัทของคนไทย ที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่ง มีบริษัทในเครือกว่า 200 บริษัท มีสินค้าและบริการเป็นที่รู้จัก หลากหลายกว่า 30,000 รายการ จากกว่า 1,000 แบรนด์ที่จำหน่ายในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก สินค้าส่วนใหญ่ผลิตโดยตรงจากโรงงานในสวนอุตสาหกรรมของเครือทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ สวนอุตสาหกรรม ศรีราชา (ชลบุรี) กบินทร์บุรี (ปราจีนบุรี) และลำพูน รวมพื้นที่ถึง 6,000 ไร่ โดยมีพนักงานทั่วประเทศรวมกันกว่า 100,000 คน”

นี่คือภาพกว้าง เครือสหพัฒน์เคยนำเสนอไว้เอง เมื่อกว่าทศวรรษที่แล้ว

เวลานั้น เครือสหพัฒน์มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงเกือบ 20 บริษัท โดยมีบริษัทสำคัญ 2 แห่งที่น่าสนใจ ซึ่งสะท้อนภาพใหญ่เครือข่ายธุรกิจ

บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ถือเป็นชื่อบริษัทแม่ ทำหน้าที่จัดจำหน่าย และถือหุ้นบริษัทในเครือ ในช่วง 2530-2550 ยอดขายส่วนใหญ่มาจากการจัดหน่ายสินค้าในเครือ เติบโตมาตลอด ประมาณ 5 เท่า จนเกือบถึงสองหมื่นล้านบาท (2552) หากรวมทุกบริษัทในเครือในตลาดหุ้น ยอดขายรวมกับเกือบหนึ่งแสนล้านบาท ที่น่าสังเกตต่อจากช่วงนั้นมา การเติบโตเริ่มช้าลง

อีกแห่ง บริษัท สหพัฒนา อินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI มีรายได้จากเงินปันผลในการถือหุ้นในเครือ และให้เช่าสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรม มีรายได้หลักในช่วงเดียวกันนั้น (ปี 2552) ส่วนใหญ่มาจากค่าสาธารณูปโภค ประมาณสองพันล้านบาท ส่วนรายได้จากเงินปันผล เช่นเดียวกับบริษัทแรกถือว่าน้อยมาก ระดับร้อยล้านบาทเท่านั้น

ความเคลื่อนไหวสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อประกาศการปรับตัวทางยุทธศาสตร์ธุรกิจครั้งสำคัญปี 2556 ภาพซึ่งพยายามวาดในเวลานั้นเกี่ยวข้องกับความสำคัญนิคมอุตสาหกรรม เป็นฐานการสร้างเครือข่ายในบทบาทใหม่ที่เรียกในเวลานั้นว่า Distribution Company

ในช่วงเวลานั้น (อ้างอิงตัวเลขงบการเงินปี 2554) SPC มีรายได้ระดับ 25,000 ล้านบาท และ SPI ขยับจากช่วง 5 ปี ก่อนหน้าจากระดับ 2,500 ล้านบาท เป็นประมาณ 3,300 ล้านบาท เมื่อเทียบเคียงกับธุรกิจที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน อย่างกรณี บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC เวลานั้นอยู่ในเครือทีซีซีแล้ว แต่ยังไม่ได้ควบรวมกับเครือข่ายค้าปลีก Big C ถือว่า SPC มีรายได้น้อยกว่าพอสมควร ช่วงเดียวกันนั้น BJC มีรายได้ทะลุ 30,000 ล้านบาทแล้ว

บทอรรถาธิบายภาพธุรกิจใหญ่ เครือสหพัฒน์ในปัจจุบัน แตกต่างจากเมื่อกว่าทศวรรษที่แล้ว มีนิยามหนึ่งว่าด้วย “การจัดจำหน่ายสินค้าแบบครบวงจร” (อ้างอิงจาก https://www.sahapat.co.th/about) เน้นว่า “ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า 80 ปี” กับ “เป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย” โดยขยายความไว้ดังข้างล่างนี้

“สหพัฒน์มีเครือข่ายการจัดจำหน่ายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ กระจายสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลายประเภทจากศูนย์กระจายสินค้าใหญ่ที่จังหวัดชลบุรี ไปยังช่องทางการขายกว่า 90,000 ช่องทางทั่วประเทศ แบ่งเป็นร้านค้าปลีก ค้าส่ง แบบดั้งเดิม (Traditional Trade) กว่า 84,000 ร้านค้า และร้านค้าปลีก ค้าส่งสมัยใหม่ (Modern Trade) ซึ่งรวมไปถึงร้านซูเปอร์สโตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางพิเศษอีกกว่า 6,000 ร้านค้า” ทั้งนี้ มีตอนหนึ่งว่าด้วยธุรกิจข้างเคียง

“นอกจากนี้ ยังรับผลิตสินค้า OEM และให้บริการเกี่ยวกับการส่งออก นำเข้าสินค้า จัดจำหน่ายสินค้าไปยังนานาประเทศทั่วโลก”

ในช่วงทศรรษมานี้ ดูเหมือนธุรกิจเครือสหพัฒน์ดำเนินไปอย่างที่เคยเป็นมา ไม่หวือหวา ไม่ตื่นเต้น เติบโตขึ้นอย่างช้าๆ โดยเปรียบเทียบกับที่ผ่านๆ มา ถือได้ว่ามีความสามารถรักษาโมเมนตัม ความเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างมั่นคงพอสมควร ทั้งนี้ พิจารณาดัชนี จากผลประกอบการ 2 บริษัทสำคัญ อย่างที่อ้างอิงไว้ก่อนหน้า

จะว่าไป ในธุรกิจหลักข้างต้น อาจถือได้ว่าไม่ได้ปรับตัวอย่างพลิกโฉม เมื่อเทียบเคียงกับเครือข่ายธุรกิจใหญ่ซึ่งมุ่งสู่เครือข่ายธุรกิจค้าปลีกอย่างเต็มตัว ทั้งกรณีซีพี หรือทีซีซี

บางทีกลุ่มผู้นำในรุ่นที่ 2 เครือสหพัฒน์ อาจพอใจสิ่งที่เห็นที่เป็นมาก็ได้ •

 

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com