สุวรรณภูมิ [1] เริ่มแรกการค้าระยะไกลทางทะเล

วัฒนธรรม (หรืออารยธรรม) อินเดียแผ่ถึงไทย มีต้นทางตั้งแต่เริ่มแรกการค้าระยะไกลทางทะเล เมื่อหลายพันปีมาแล้ว

การค้าระยะไกลทางทะเล เป็นพลังกระตุ้นชุมชนขนาดเล็ก ให้เติบโตเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ส่วนชุมชนขนาดใหญ่ขยับขยายไปเป็นชุมชนเมืองน้อยเมืองใหญ่ตามลำดับ

ก่อนหน้าการค้าระยะไกลทางทะเล บริเวณอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป (ดินแดนแผ่นดินใหญ่) มีลักษณะทั่วไปดังนี้

1. เป็นชุมชนเกษตรกรรมเริ่มแรก มีอายุหลายพันปี หรือมากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว รู้จักทำนาข้าว, เลี้ยงสัตว์, ปลูกเรือนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ กระจายห่างไกลกัน

2. “คนน้อย พื้นที่มาก” หมายถึงพื้นที่ธรรมชาติที่กว้างขวาง รองรับการตั้งบ้านเรือนและทำนาทำไร่เลี้ยงสัตว์ แต่ประชากรตั้งหลักแหล่งถิ่นฐานมีไม่มาก

3. เครื่องมือเครื่องใช้ทำจากไม้และหิน (สมัยนั้นยังไม่พบโลหะ)

นับแต่นี้ไปมีความเปลี่ยนแปลง ได้แก่

(1.) รู้จักโลหะ เช่น ทองแดง, เหล็ก, ดีบุก, ตะกั่ว ฯลฯ

(2.) คนจำนวนไม่น้อยจากหลายทิศทาง โยกย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้นบริเวณแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ แต่ยังมีลักษณะ “คนน้อย พื้นที่มาก”

(3.) เครื่องมือเครื่องใช้ทำจากโลหะ แต่ยังใช้ไม้และหินควบคู่ไปด้วย

แผนที่อุษาคเนย์แสดงบริเวณภาคพื้นทวีป (ผืนแผ่นดินใหญ่ รวมมณฑลยูนนานในจีน) ที่เชื่อว่าเป็นสุวรรณภูมิ โดยมีคาบสมุทรอยู่เกือบกึ่งกลางยื่นยาวลงทางใต้ (ไม่รวมหมู่เกาะ) ขนาบด้วยทะเลจีนใต้ทางตะวันออก กับทะเลอันดามันทางตะวันตก (ซ้าย) เส้นทางการค้าจากอินเดีย (ขวา) เส้นทางการค้าจากจีน

สุวรรณภูมิ ดินแดนทองแดง

สุวรรณภูมิเป็นภาษาอินเดียที่พ่อค้านักเสี่ยงโชคจากอินเดียใช้เรียกดินแดนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ภาคพื้นทวีปโดยรวมๆ ไม่จำเพาะเจาะจงที่ใดที่หนึ่งเพียงที่เดียว ตั้งแต่ 2,500 ปีมาแล้ว ราว พ.ศ.1

ดังนั้น สุวรรณภูมิไม่ใช่ชื่อท้องถิ่น ส่วนคนท้องถิ่นเรียกดินแดนนี้ว่าอะไร? ขณะนี้ไม่พบหลักฐาน

สุวรรณภูมิเป็นชื่อดินแดน มีความหมายดังนี้ (1.) แผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ภาคพื้นทวีปโดยรวม (2.) ไม่ระบุจำเพาะเจาะจงที่ใดที่หนึ่งเพียงที่เดียว (3.) ไม่หมู่เกาะ (แม้มีนักวิชาการบางคนพยายามโยงขยายพื้นที่ถึงหมู่เกาะ แต่ไม่พบหลักฐานหนักแน่น ส่วนหลักฐานที่นักวิชาการบางคนอ้างยังไม่น่าเชื่อถือ) (4.) ไม่เป็นชื่อรัฐ (5.) ไม่เป็นชื่ออาณาจักร (6.) ไม่เป็นอาณานิคมอินเดีย

รัฐหลายแห่งนิยามดินแดนของตนเป็นสุวรรณภูมิดินแดนศักดิ์สิทธิ์ หลัง พ.ศ.1800 [คือ ทุกประเทศบนแผ่นดินใหญ่ทุกวันนี้ (สมัยแรกๆ รวมมณฑลยูนนานของจีน) ได้แก่ พม่า, ลาว, เวียดนาม, กัมพูชา, มาเลเซีย และไทย]

วัฒนธรรมสุวรรณภูมิ คือ วัฒนธรรมของชุมชนเกษตรกรรมเริ่มแรก ราว 3,000 ปีมาแล้ว (เป็นอย่างน้อย)

สุวรรณภูมิเป็นภาษาสันสกฤต แปลว่าดินแดนทอง หรือแผ่นดินทอง หมายถึงทองแดง (ไม่ทองคำ) ตามหลักฐาน ดังนี้

(1.) พบแหล่งทองแดงขนาดใหญ่หลายแห่งที่มีการถลุงและหลอมใช้งาน ราว 2,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1 บนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป (ไม่หมู่เกาะ) โดยเฉพาะบริเวณสองฝั่งโขง ตั้งแต่มณฑลยูนนานในจีน ลงไปถึงลาวและไทยทางภาคอีสาน รวมทั้ง จ.ลพบุรี

(2.) การค้าระยะไกลทางทะเล ราว 2,500 ปีมาแล้ว เรือน พ.ศ.1 คือการค้าทองแดงเป็นหลัก (อาจมีอย่างอื่นด้วย เช่น “ของป่า”) ที่พ่อค้านักเสี่ยงโชคจากอินเดียซื้อจากชุมชนคนพื้นเมืองแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป ไปขายต่อในอินเดียถึงกรีก-โรมัน

(3.) ไม่เคยพบแหล่งทองคำขนาดใหญ่ที่มีการถลุง-หลอม ใช้งานเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว

เหล็ก พบมากในอีสาน บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้, ภาคเหนือพบทางลำพูน, ภาคกลางพบมากที่ลพบุรี ฯลฯ

การเมืองการปกครอง เป็นแบบศาสนา-การเมือง

ศาสนา ประชาชนสุวรรณภูมินับถือศาสนาผี มีความเชื่อเรื่องขวัญ (ไม่รู้จักวิญญาณ ไม่มีเวียนว่ายตายเกิด) ว่าคนตาย ขวัญไม่ตาย (กลายเป็นผี)

ผีใหญ่สุดเรียกผีฟ้า (ผีแถน) มีพิธีเข้าทรง ผ่านร่างทรงเป็นหญิง (ไม่ลงทรงผู้ชาย) มีคำทำนายข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์มากน้อยอย่างไร? เพื่อเตรียมรับสถานการณ์

หญิง เป็นหัวหน้าพิธีกรรม (ทางศาสนาผี) ทำหน้าที่หัวหน้าเผ่าพันธุ์ (Chiefdom) มีอำนาจเหนือชาย ชาย โดยทั่วไปอยู่ใต้อำนาจของหญิง แต่บางชาติพันธุ์อาจมีอำนาจเหนือหญิงก็ได้

ชนชั้น มีความแตกต่างทางชนชั้น โดยคนกลุ่มหนึ่งเป็นตระกูลหัวหน้าเผ่าพันธุ์ มีเครื่องประดับมากกว่าคนอื่น และบางส่วนเป็นของจากที่ห่างไกล ส่วนพิธีกรรมหลังความตายมีมากกว่าคนทั่วไป

หลังความตาย พิธีกรรมมีดังนี้ (1.) ฝัง (ไม่เผา) (2.) ศพใส่ภาชนะดินเผา (ต้นตอโกศใส่ศพนั่ง) (3.) เรียกขวัญ (คืนร่างให้คนตายฟื้น) และส่งขวัญ (ขึ้นฟ้ารวมพลังเป็นผีฟ้า) ตามความเชื่อเรื่องขวัญด้วยการร้องรำทำเพลงอึกทึกครึกโครม (ทั้งหมดเป็นต้นตอมหรสพงานศพทุกวันนี้)

ประชาชน หลายชาติพันธุ์ ตั้งหลักแหล่งปะปนกัน แต่จำนวนคนไม่มาก เพราะพื้นที่กว้างขวางมาก จึงมีพื้นที่รกร้างว่างเปล่า (เป็นต้นเหตุสมัยหลังมีสงครามกวาดต้อนผู้คนเป็นเชลยไปเป็นแรงงาน แต่ไม่ยึดดินแดนบ้านเมือง)

ประชาชนพูดตระกูลภาษาต่างๆ ได้แก่ มลายู, มอญ-เขมร, ม้ง-เมี่ยน, จีน-ทิเบต, พม่า-ทิเบต, ไท-ไต หรือ ไท-กะได ฯลฯ

อาหาร กินข้าวเป็นอาหารหลัก มีข้าว 2 ชนิด ข้าวเมล็ดป้อม (ข้าวเหนียว) และข้าวเมล็ดเรียว (ข้าวเจ้า) คนสุวรรณภูมิส่วนมาก (รวมภาคกลาง, ภาคใต้ปัจจุบัน) กินข้าวเมล็ดป้อม หรือข้าวเหนียว, ข้าวนึ่ง

กับข้าว มีไม่มาก ส่วนมาก คือปลา จึงมีคำพูดติดปากเป็นภาษาไทยว่า “กินข้าว กินปลา” ส่วนกับข้าวหลักของสุวรรณภูมิคือ “เน่าแล้วอร่อย” ได้แก่ ปลาแดก, ปลาร้า, น้ำพริก, กะปิ, น้ำปลา ฯลฯ

เคี้ยวหมาก ฟันดำ ประชาชนหญิง-ชาย เคี้ยวหมาก ทำให้ฟันดำ

ยารักษาโรค สมุนไพรในป่า เกลือ ปรุงอาหารและเป็นยารักษาโรค เกลือสินเธาว์พบทั่วไป แต่มีมากบริเวณทุ่งกุลาในอีสาน (นอกจากใช้ปรุงอาหารแล้วยังใช้ร่วมถลุงเหล็ก) ส่วนเกลือสมุทรมีเฉพาะใกล้ทะเลเป็นบางแห่ง

เครื่องนุ่งห่ม “ผ้าผืนเดียว เตี่ยวพันกาย” หมายถึง ชาวสุวรรณภูมิมีผ้าผืนเดียวขนาดเล็ก เรียกเตี่ยว หรือผ้าเตี่ยว ใช้ปิดอวัยวะเพศเท่านั้น ส่วนบนเปลือยเปล่า-เปลือยอกทั้งหญิงชายทุกระดับ

เครื่องราง ประดับตามตัวด้วยลูกปัดชนิดต่างๆ, ลูกกระพรวน, เขี้ยวสัตว์ ฯลฯ เสียงที่กระทบกันของเครื่องรางหรือเครื่องประดับเชื่อว่าป้องกันผีร้าย โทเท็ม (Totem) เลือดจากสัตว์เซ่นผี เช่น ควาย, วัว ป้ายเป็นแถบบนใบหน้าเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์หรือพืชประจำตระกูล

สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ กบ, จระเข้, งู, ตะกวด ฯลฯ เชื่อว่าเป็นผู้บันดาลให้มีน้ำฝน และเป็นผู้พิทักษ์แหล่งน้ำ ดังนั้น ใช้หนามและกระดูกสัตว์แหลมขีดข่วนผิวหนังตนเองเป็นรอยแบบสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น (เป็นต้นตอลายสักรูปต่างๆ ทุกวันนี้)

บ้าน หมายถึงชุมชนหรือหมู่บ้าน ประกอบด้วยพื้นที่ตั้งหมู่บ้าน มีเรือนหลายหลังอยู่รวมกัน และทุ่งนาป่าเขา (ถ้ามี)

เรือน หมายถึงที่อยู่อาศัย เป็นเรือนเสาสูงทำด้วยไม้ไผ่ มุงด้วยใบไม้ เช่น ใบคาหรือตับจาก และใบอื่นๆ

ร้องรำทำเพลง สุวรรณภูมิมีดังนี้ นาฏศิลป์ ฟ้อน-เต้น เป็นแบบแผนมั่นคงแล้ว ฟ้อนเนิบช้า (ต้นแบบท่าพระ-นางในโขนละคร) เต้น กางแขนถ่างขาเลียนแบบกบ (เพื่อขอฝน) เพราะเชื่อว่ากบทำให้ฝนตก (ต้นแบบท่าโขน ยักษ์-ลิง และท่าละครโนรา) ดนตรี ปี่ (จากไม้อ้อ, ไม้ไผ่), แคน, กระบอกไผ่, กลองไม้, พานฆ้อง, กลองทองสำริด (ไทยเรียกมโหระทึก) •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ