ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ก่อสร้างและที่ดิน |
เผยแพร่ |
การแถลงนโนบายของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12กันยายน 2567 ที่ผ่านมานั้น ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ความท้าทายของประเทศ, นโยบายเร่งด่วน และนโยบายระยะปานกลางและระยะยาว
นายกฯ แพทองธาร ได้แถลงถึงปัญหาที่เป็น “ความท้าทาย” ประเทศไทย 9 เรื่อง ได้แก่ ประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอค่าใช้จ่าย, การเข้าสู่สังคมสูงวัย, ยาเสพติด, ธุรกิจ sme มีปัญหาสภาพคล่องการเงิน, ความสามารถในการปรับตัว, การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกกระทบเกษตร-ท่องเที่ยว, ความไร้เสถียรภาพการเมืองกระทบการลงทุน, ระบบรัฐราชการรวมศูนย์, สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ทำให้มีการกีดกันการค้า
รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนที่จะรีบดำเนินการทันที 10 นโยบาย ได้แก่ ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ, ส่งเสริมและปกป้องธุรกิจ sme, ลดค่าพลังงานและค่าสาธารณูปโภค, นำเศรษฐกิจนอกระบบและใต้ดินสู่ระบบภาษี, กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการดิจิทัลวอลเล็ต, ทำเกษตรให้ทันสมัย, ส่งเสริมการท่องเที่ยว, แก้ปัญหายาเสพติด, แก้ปัญหาอาชญากรรม, ส่งเสริมจัดสวัสดิการสังคม
สำหรับนโยบายระยะปานกลางและระยะยาวระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลจะปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจ (Industry Transformaton) และพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ (New Growth Engine) ที่จะปูพื้นฐานให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง
ที่จะมีผลต่อธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยตรง น่าจะมีนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันที 2 เรื่อง
เรื่องแรก รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ โดยไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) โดยจะดำเนินนโยบายผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและบริษัทบริหารทรัพย์สิน
ปัญหาหนี้ในกลุ่มสินเชื่อบ้านปัจจุบัน มีทั้งกลุ่มผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยแล้ว อยู่ระหว่างการผ่อนชำระหนี้กับสถาบันการเงินมีปัญหาขาดงวดการผ่อนชำระไม่เกิน 90 วัน (SM) และกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย (NPL) มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งผู้ที่กำลังยื่นกู้ซื้อบ้านใหม่ถูกปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อแทบทุกระดับ โดยเฉพาะระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท สูง 70%
ที่ผ่านมามีแนวคิดการแก้ปัญหาหนี้สินเหล่านี้จากพรรคเพื่อไทย มีอาทิ การลดอัตราค่าธรรมเนียมที่สถาบันการเงินนำส่งธนาคารแห่งประเทศไทย แล้วนำส่วนที่ลดดังกล่าวมาแก้ปัญหาหนี้ของประชาชน หรือแนวคิดการออกพันธบัตรรัฐบาลในตลาดต่างประเทศ เพื่อนำเงินที่ได้มาซื้อหนี้ของประชาชนออกจากสถาบันการเงิน เหมือนกับที่รัฐเคยซื้อหนี้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะสถาบันการเงินตอนวิกฤตปี 2540
ต้องคอยติดตามว่ารัฐบาลแพทองธารจะผลักดันนโยบายการปรับโครงสร้างหนี้ไปได้มากน้อยเพียงใด
เรื่องที่สอง รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเพื่อลดค่าพลังงานและสาธารณูปโภค จะผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) และการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพฯเพื่อรองรับนโยบาย “ค่าโดยสารราคาเดียว” ตลอดสาย
นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาเดียวตลอดสาย 20 บาท เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้รณรงค์ตั้งแต่ตอนหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งในทางการเมืองการเลือกตั้ง ถ้าพรรคเพื่อไทยทำสำเร็จจะเป็นการสร้างฐานคะแนนเสียงให้กับพรรคในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลครั้งใหญ่ เหมือนกับสวัสดิการหลักประกันสุขภาพ “30 บาทรักษาทุกโรค” ที่สร้างคะแนนนิยมให้พรรคมายาวนาน
การเจรจาต่อรองกับเอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิทธิผลประโยชน์อื่นก็มีความเป็นไปได้ หากค่าโดยสาร “20 บาทตลอดสาย” เกิดขึ้นจริง จะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทำเลการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยครั้งใหญ่
จะทำให้เกิดโครงการที่อยู่อาศัยชานกรุงเทพฯ และปริมณฑลรองรับเป็นที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อยจำนวนมหาศาลที่เดินทางมาทำงานในเมืองได้ โดยมีค่าเดินทางไปกลับเพียงวันละ 40 บาท
เหมือนกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ทำให้เกิดโครงการบ้านจัดสรร ย่านถนนบางนา-ตราด ย่านถนนแจ้งวัฒนะ ย่านถนนพระราม 2 เมื่อ 30 ปีก่อน
เหมือนกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว, รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ทำให้เกิดโครงการคอนโดมิเนียมใกล้สถานีรถไฟฟ้าแทบทุกแห่งนับร้อยโครงการช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา •
ก่อสร้างและที่ดิน | นาย ต.
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022