ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ตุลยวิภาคพจนกิจ |
ผู้เขียน | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ |
เผยแพร่ |
หนังสือใหม่รวม “บทกวีที่ตีพิมพ์บนสรวงสวรรค์ในปีต่อมา” ของกวีซีไรต์ ซะการีย์ยา อมตยา เป็นกวีมลายูมุสลิมคนแรกที่ได้รับการยอมรับจากวงการวรรณกรรมไทยอย่างเป็นทางการ
เชเล่าว่า “ผมเรียนตาดีกาเหมือนเด็กทั่วไปคือ (แต่สมัยผมเราเรียนตาดีกาทุกวัน เสาร์อาทิตย์เต็มวัน ส่วนจันทร์ถึงพฤหัสฯ เราจะเรียนโรงเรียนตาดีกาก่อน 1 วิชา แล้วถึงจะไปโรงเรียนประถมศึกษา) ผมเรียนประถมจบ ก็ไปเรียนมัธยมต้น ในตัวเมืองนราธิวาส มัธยมปลายไปเรียนที่อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (สถานะตอนที่ผมเรียนคือโรงมัธยมต้นและปลายของรัฐ) สรุปคือผมเรียนโรงเรียนไทยมาตลอด (มัธยมต้นเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา) ไปเรียนอินเดียถึงได้เรียนศาสนาและภาษาอาหรับอย่างจริงจัง”
มองอย่างเผินๆ ความสำเร็จของกวีมยายูมุสลิมกล่าวได้ว่าเป็นความสำเร็จของระบบการเรียนภาษาไทยในโรงเรียนของรัฐไทยที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน
ซึ่งผ่านการปฏิบัติที่ยอกย้อนยากลำบากกว่าในภาคอื่นๆ
มีการประดิษฐ์นโยบายการศึกษาเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น
ผ่านการต่อต้านกระทั่งการใช้กำลังทำร้ายครูไทยพุทธและกระทั่งการเผาโรงเรียน
ทำให้ปัญหาการศึกษาไทยในพื้นที่ไม่ใช่เรื่องการศึกษาอย่างเดียว แต่เป็นความต่อเนื่องของการเปลี่ยนผ่านและสร้างรัฐชาติที่เป็นไทยของทางการ
ด้วยเหตุผลหลักแรกเริ่มว่าภาษาไทยคือเครื่องมือในการต่อต้านลัทธิอาณานิคมฝรั่ง และในการสร้างโครงสร้างรัฐที่รวมศูนย์การปกครอง การเรียนและสอนภาษาไทยจึงดำเนินไปในแนวตั้งมากกว่าในแนวนอน
และนโยบายที่สนองต่อความต้องการในแนวตั้งอย่างดีไม่มีอะไรจะทำได้ดีกว่าระบบการศึกษาภาคบังคับในโรงเรียน
ในระยะยาวการเกิดนโยบายการศึกษาภาคบังคับเป็นอุบายอันดีของยุทธศาสตร์การจัดการควบคุมคนชายขอบไม่ให้ก้าวขึ้นมามีบทบาททางการเมืองได้ เช่นเดียวกันการสร้างคนมีคุณภาพก็เป็นไปอย่างแนวตั้งเช่นเดียวกัน
(เราจึงมีทั้งนักเรียนระดับสูงในโอลิมปิกวิชาการและต่ำในระบบประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) รวมถึงระบบสืบสันดานก็เป็นแนวตั้งเช่นกัน)
หลายปีมานี้เมื่อผมเริ่มการวิจัยค้นคว้าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้
ผมให้ความสนใจไปที่ปัญหาขัดแย้งเรื่องการศึกษาโรงเรียนไทยเป็นพิเศษ เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่าการเรียนหนังสือเป็นเรื่องดีทั้งนั้น จึงเกิดความสงสัยว่าทำไมคนมลายูมุสลิมถึงต่อต้านการเรียนภาษาไทย
แสดงว่าเรื่องนี้ต้องมีอะไรมากกว่าที่เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์
ผมมารู้ตอนหลังว่าตอนที่ฮัจญีสุหรงยังมีชีวิต ได้ส่งลูกทุกคนไปเรียนในโรงเรียนไทยทั้งสิ้น (โรงเรียนวรคามินอนุสรณ์) ไม่ได้ส่งไปเรียนในปอเนาะแต่ประการใด
ผมแปลกใจเพราะคิดว่าเขาและผู้นำมลายูมุสลิมทั้งหลายคงต้องต่อต้านการเข้าโรงเรียนไทยทั้งนั้น
คุณจตุรนต์ (บอย) เอี่ยมโสภา หลานของฮัจญีสุหรงเล่าให้ฟังว่าตรงกันข้ามเลย ฮัจญีสุหรงมองการศึกษาในโรงเรียนไทยว่าเป็นส่วนประกอบของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในภาคใต้
เขาตระหนักถึงบทบาทของภาษาเหมือนดังที่อาจารย์เบ็น แอนเดอร์สัน ได้อรรถาธิบายก่อนนี้ว่าเครื่องมือจำเป็นของการจินตนาการถึงชาติที่เป็นชุมชนของแต่ละคนต้องอาศัยภาษาที่เป็นผลรวมของการเปลี่ยนแปลงในรัฐชาติสมัยใหม่
กรณีของปัตตานีแตกต่างไปจากภูมิภาคอื่นในประเทศ เพราะชุมชนมลายูมีภาษายาวีอักษรอาหรับซึ่งพัฒนาไปในประเทศอาหรับ ในขณะที่ภาษาไทยกลางก็พัฒนาขึ้นเป็นภาษาแห่งรัฐ กลายเป็นภาษาของอำนาจและด้วยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ทำให้อำนาจรัฐบาลไม่เสถียร
การใช้ภาษามลายูถูกจินตนาการโดยฝ่ายความมั่นคงว่าเป็นปัจจัยด้านลบต่อความเป็นเอกภาพของรัฐ นโยบายการใช้การศึกษาภาคบังคับก็ถูกนำมาใช้อีกวาระหนึ่งในชุมชนมลายูมุสลิมภาคใต้
ฮัจญีสุหรงและคณะจึงไม่ได้คัดค้านต่อต้านการเรียนโรงเรียนไทย โดยเฉพาะต่อการทำความเข้าใจและต่อรองกับหน่วยงานของรัฐไทยและช่วยเหลือคนมลายูที่มีปัญหากับทางการ
การยึดกุมภาษาไทยเป็นเครื่องมือจำเป็นที่ขาดไม่ได้ ระยะยาวอนาคตของความเจริญก้าวหน้าทางสังคมต้องอาศัยการศึกษาแบบใหม่
เขาเริ่มสร้างโรงเรียนแบบใหม่ในปัตตานีและร่วมกับคนปาตานีที่ไม่ใช่มุสลิมเช่นพ่อค้าจีนในการตั้งสมาคมสะมางัต (จิตวิญญาณ) ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาปัตตานี หนุนสร้างธุรกิจเอกชนทำอาคารให้เช่าและขาย
ที่น่าสนใจยิ่งคือสมาคมสะมางัตจะส่งคนปัตตานีไปเรียนต่อในต่างประเทศ เมื่อกลับมาให้ทำการพัฒนาสังคมต่อไป
ทุนการศึกษานี้เป็นทุนให้เปล่า หนึ่งในสมาชิกคือขุนเจริญวรวิชช์ (เจริญ สืบแสง) ซึ่งมักนำปัญหาในปัตตานีไปอภิปรายในรัฐสภา
แปลกที่ด้านที่ไม่ใช่กิจกรรมการเมืองของฮัจญีสุหรงไม่เคยถูกพูดถึงเลย มีแต่การเป็นผู้นำในการต่อต้านเรียกร้องจากรัฐบาลไทยเท่านั้นที่ถูกเผยแพร่จนเป็นบาดแผล (ที่ไม่เป็นจริง) ในประวัติศาสตร์ไป
แต่อีกด้านที่ใหญ่และมีบทบาทเชิงบวกคือการร่วมผลักดันชุมชนของคนปาตานีทั้งหมดให้พัฒนาไปอย่างมีสำนึก ไม่ใช่ทำตามคำสั่งของรัฐแต่ถ่ายเดียว
นั่นคือความเป็นมาของประวัติศาสตร์อันยอกย้อนของสัมพันธภาพระหว่างสยามกับปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่านของรัฐไทย คือความไม่สมานฉันท์ระหว่างจินตนาการของความเป็นชาติแบบไทยกับมลายู ที่นำไปสู่การสร้างความเชื่อเชิงอุดมการณ์ว่าฝ่ายหลังเป็นคนหัวแข็งและไม่ทันสมัยหากยังติดยึดอยู่กับค่านิยมศาสนาและวัฒนธรรมที่รัฐชาตินิยมไทยวาดภาพว่าล้าหลัง
ชาติของคนมลายูจึงกลายเป็นคู่ขัดแย้งปฏิปักษ์กับชาติของรัฐไทยมาอย่างยาวนาน
อีกคำถามที่ผมถามซะการีย์ยาคือเขานอนฝันในภาษาอะไร
นี่เป็นคำถามคลาสสิคที่อาจารย์เบ็น แอนเดอร์สัน ชอบถามพวกนักเรียนต่างชาติที่เขารู้จัก
ซะการีย์ยาตอบว่า “ภาษาในฝันแน่นอนเป็นภาษาที่ผมใช้บ่อยที่สุด ภาษาที่ใช้ในการคิดและถนัดที่สุดคือภาษาไทย / ภาษาไทยกลายเป็นเหมือนภาษาแรกของผมไปแล้วโดยไม่รู้ตัว / คราวหนึ่งช่วงที่ผมกลับไปอยู่บ้านใหม่ๆ แม่ผมเรียก ผมหลับอยู่ ผมอุทานหรือตอบกลับแม่ไปด้วยภาษาไทย แต่ผมตระหนักได้ว่า แม่ไม่รู้ภาษาไทย ผมต้องรีบสวิดช์กลับตอบด้วยภาษามลายู”
ปีที่ซะการีย์ยาได้รับรางวัลซีไรต์ ผมพบเขาและแสดงความยินดีอย่างยิ่งพร้อมกับฝากคำถามให้เขาด้วยว่า เมื่อคุณกลับไปทำงานยังบ้านเกิดมาตุภูมิคิดว่าจะพบปัญหาอะไรบ้างไหม เพราะภารกิจของเขาคือการเป็นนักเขียน กวี บรรณาธิการในภาษาไทย เขามีความสามารถในการสื่อสาร 4 ภาษา ทั้งมลายู ไทย อังกฤษ และอาหรับ
ซะการีย์ยา อมตยา ถางเส้นทางเขาด้วยการเขียนบทกวีเป็นกลอนเปล่า เพื่อถักทอความต้านตึงในความคิดไม่ให้ตกอยู่ในห้องขังของภาษา แต่ให้มันโลดแล่นไปบนจินตนาการอิสระและแน่นอนความเป็นมลายูของเขา
เจอกันล่าสุดเมื่อวันเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ “บทกวีที่ตีพิมพ์บนสรวงสวรรค์ในปีต่อมา” เชตอบว่าได้เตรียมคำตอบที่ผมถามมาหลายปีแล้วให้แก่ผม เขาจบคำตอบอันมั่นใจและดวงตามีประกายของความหวัง ด้วยการอ่านบทกวี “เนรเทศ” ให้ฟัง
เนรเทศ…
ฉันเขียนบทกวี
ฉันถูกเนรเทศจากภาษาแม่ของฉัน
ลิ้นที่ฉันออกเสียง
ปากที่ฉันพูด
หูที่ฉันได้ยิน
สมองที่ฉันคิด
ผจญภัยในดินแดนใหม่ทางภูมิศาสตร์ภาษา
กองประวัติศาสตร์ถ้อยคำที่ฉันมิได้เป็นผู้สร้าง
ถมทับในความรู้สึกไร้เดียงสา ไร้สำนึก
ความกล้าที่จะเผชิญชะตากรรมและสำรวจตรวจสอบ
เพียงความท้าทายระหว่างทางดุ่มเดินสู่เป้าหมาย
การถูกเนรเทศที่ไม่มีวันกลับคืนมาตุภูมิ
เป็นความสาหัสเกาะติดจิตวิญญาณฉัน
บาดแผลฉกรรจ์ ไม่มีศัลยแพทย์ใดผ่าตัดได้
จะทิ้งร่องรอยเหมือนรอยสักของชนเผ่า
เพื่อเตือนให้ฉันระลึกเสมอว่า
ฉันถูกเนรเทศจากภาษาแม่ของฉัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022