สถาปัตย์ไทยศิลปากร : 70 ปีของการหาความเป็นไทย ในโลกสมัยใหม่ (3)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

สถาปัตย์ไทยศิลปากร

: 70 ปีของการหาความเป็นไทย

ในโลกสมัยใหม่ (3)

 

ความลักลั่นทางความรู้สึกที่ทั้งรักทั้งเกลียดความเป็นตะวันตกของกลุ่มเจ้านายไทยในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 25 สะท้อนผ่านความคิดและการกระทำหลายอย่างของรัชกาลที่ 6 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานสถาปัตยกรรม ซึ่งเต็มไปด้วยสภาวะลูกผสมอันปนเปไปมาระหว่างสถาปัตยกรรมตะวันตกกับการรื้อฟื้นรูปแบบจารีตประเพณีหลายอย่างให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง หลายกรณีเป็นการผสมที่เกิดขึ้นในอาคารชุดเดียวกัน

ในด้านหนึ่งก็นำมาซึ่งรสชาติแปลกใหม่ทางสถาปัตยกรรม แต่ในอีกด้านก็ถูกนิยามว่าเป็นความขัดแย้งในตัวเอง

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยวิจารณ์เอาไว้น่าสนใจตอนหนึ่งว่า

“…แต่ผมเองอยากตั้งข้อสังเกตว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นทรงมีปัญหาในเรื่องเหล่านี้ คือได้ทรงรับการศึกษาอบรมตั้งแต่ทรงพระเยาว์ที่ประเทศอังกฤษ…และจะว่าไปแล้วที่ทรงพยายามอนุรักษ์ขนบประเพณีแบบแผนต่างๆ ของไทยนั้นก็เพราะทรงเป็นอังกฤษ คนไทยเขาไม่ทำกัน…เพราะฉะนั้น ในพระองค์ของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เองก็มีการต่อสู้ว่าจะไปทางไหนแน่ว่าจะทรงเป็นอังกฤษหรือทรงเป็นไทย พูดง่ายๆ ว่าจะทรงเป็นฝรั่งหรือทรงเป็นไทย…ในพระองค์เองที่มีความขัดแย้งนั้นก็น่าคิดเพราะเป็นไทยในบางเวลา เป็นฝรั่งเต็มยศในอีกเวลาหนึ่ง…”

อย่างไรก็ตาม ความลักลั่นมิได้เกิดขึ้นเฉพพาะแต่รัชกาลที่ 6 ชนชั้นนำไทยโดยรวมนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ต่างก็ตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว “ความเป็นไทย” ในอีกแง่หนึ่ง คือเครื่องมือสำคัญในการควบคุมหรือปกครองรัฐสยามให้อยู่ในระเบียบแบบแผนตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ

ดังนั้น แม้ชนชั้นนำไทยจะหลงใหลความเป็นตะวันตกมากเพียงใด ก็ต้องอิงอาศัย “ความเป็นไทย” เพื่อกำหนดควบคุมทิศทางของสังคมเอาไว้ให้อยู่ในกรอบโครงที่ชนชั้นนำต้องการ

พระยาอนุมานราชธน (ซ้าย) ผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เปิดคณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร
พระพรหมพิจิตร (ขวา) คณบดีคณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร

ย้อนกลับมาที่ประเด็นของบทความ การเกิดขึ้นของหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ.2476 ที่เน้นไปทางสากลนิยมมาก (ดังที่ได้อธิบายไปในตอนที่ผ่านๆ มา) โดยเฉพาะในช่วงที่ได้รับการยกสถานะขึ้นจนถึงระดับปริญญาตรี

แม้ในด้านหนึ่ง คือภาพสะท้อนของความเจริญที่ทัดเทียมตะวันตก แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความกังวลต่อความเป็นไทยที่เสมือนว่ากำลังถูกละเลยทอดทิ้งไป

เราต้องยอมรับนะครับว่า ปริญญาตรีในทัศนะสังคมไทย (อย่างน้อยก็ในช่วงเวลานั้น) คือเครื่องมือที่มิใช่มีค่าแค่เพียงยืนยันการมีความรู้ของผู้จบปริญญาตรี แต่ยังเป็นเครื่องมือสร้างอำนาจและสถานะทางสังคม เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่มีพลังมาก

ดังนั้น สำหรับชนชั้นนำไทยแล้วปริญญาตรีในแง่หนึ่งจึงเป็นอันตรายหากรัฐไม่สามารถควบคุมคนที่ถือครองได้ และเครื่องมือในการควบคุมย่อมไม่มีอะไรที่จะมีพลังมากไปกว่า “ความเป็นไทย”

หลักสูตรสถาปัตย์จุฬาฯ ถูกอธิบายจากชนชั้นนำทางศิลปวัฒนธรรมไทยบางกลุ่มว่ามีความเป็นตะวันตกมากเกินไป และมีการผลักดันอยู่เสมอให้มีการปรับเพิ่ม “ความรู้แบบไทย” ใส่ลงไปในหลักสูตร ตัวอย่างเช่น จดหมายในปี พ.ศ.2485 ของพระยาอนุมานราชธน ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรที่เขียนปรารภถึงแนวคิดนี้ไปถึง สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ความตอนหนึ่งว่า

“…ความประสงค์ของข้าพระพุทธเจ้า ต้องการจะฟื้นฟูวิชาช่างสิลปของไทยไห้เข้ากันได้กับสิลปของต่างประเทส คิดด้วยเกล้าฯ ว่าวิชาสถาปัตย์ที่สอนกันหยู่ไนจุลาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปนไปไนสิลปของต่างประเทส ถ้าไห้ผู้สึกสาไนมหาวิทยาลัยได้มีความรู้ไนสิลปของไทยบ้าง ก็จะทำไห้สิลปของไทยขยายตัว ถึงหากจะต้องกลายไป ก็กลายไปไนทางคลี่คลายขยายตัวตามยุคสมัย ไม่ไช่กลายไปไนทางเสื่อม ข้าพระพุทธเจ้ากำลังเจรจากับจุลาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไนเรื่องนี้ เปนที่เข้าไจกันแล้ว คือจะต้องปลุกปล้ำวิชาสิลปของไทยจนเข้าถึงชั้นที่ฝรั่งเรียกว่า Academy จึงจะมีรากถานได้มั่นคงและขยายตัวออกไปได้…”

แต่สุดท้าย ความพยายามนี้ไม่ได้รับการตอบสนองจากจุฬาฯ มากเท่าที่ควร (อย่างน้อยก็ในสายตาของชนชั้นนำ) ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาหลักสูตรที่จุฬาฯ ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2490 และต้นทศวรรษที่ 2500 จะเห็นแนวโน้มในการปรับลดวิชาที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมไทยลงไปอีกด้วย

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ความกังวลต่อการสูญเสียความเป็นไทยทางสถาปัตยกรรมจะเพิ่มสูงขึ้น และเริ่มมีการพูดถึงการสร้างทางเลือกใหม่อีกแบบของโรงเรียนสถาปัตยกรรมที่เน้น “สถาปัตยกรรมไทย” โดยตรง

ความตั้งใจดังกล่าวมาประสบความสำเร็จในปี พ.ศ.2498 โดยมีการก่อตั้ง “คณะสถาปัตยกรรมไทย” ขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมอบหมายให้ พระพรหมพิจิตร ดำรงตำแหน่งคณบดี

 

การให้ พระพรหมพิจิตร มาดำรงตำแหน่งนี้มีนัยยะสำคัญมาก แม้ว่าท่านจะเป็นช่างที่มีประสบการณ์ในการทำงานกับช่างฝรั่งสมัยใหม่มาโดยตลอดระยะเวลารับราชการ แต่ท่านเองก็เป็นบุคคลที่อาจเรียกได้ว่าสืบทอดขนบวิชาช่างแบบจารีตเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานรับใช้ใกล้ชิด สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในงานที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมไทยมาอย่างยาวนาน

คุณลักษณะเช่นนี้ทำให้ท่านมีสถานะเชิงสัญลักษณ์ของการเป็นนายช่างสถาปัตยกรรมที่มีทั้ง “ความรู้แบบไทย” และ “ความรู้แบบตะวันตก” ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ส่งให้ท่านกลายมาเป็นคณบดีคนแรกของคณะสถาปัตยกรรมไทย

ในช่วงแรก (พ.ศ.2498-2501) คณะสถาปัตยกรรมไทยทำการผลิตบัณฑิตระดับอนุปริญญา หลักสูตร 3 ปี ต่อมาในปี พ.ศ.2501 ขยายหลักสูตรจนถึงระดับปริญญาตรี หลักสูตร 5 ปี

จากหลักฐานที่เหลืออยู่ ชี้ให้เห็นว่า ยุคแรกตั้ง นโยบายการเรียนการสอนมุ่งเน้นรายวิชาสถาปัตยกรรมไทยแบบโบราณเป็นด้านหลัก ปลูกฝังความคิดชาตินิยม สอนให้นักศึกษาซาบซึ้งในศิลปะสถาปัตยกรรมไทยโดยเฉพาะสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ศึกษาสถาปัตยกรรมไทยเดิมแบบต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศที่มีชนชาติไทยอาศัยอยู่ เพื่อจะได้นำความรู้เหล่านี้มาสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมใหม่ตามความต้องการของสมัยปัจจุบันที่ยังคงมีความเป็นไทย

หากมองเจาะไปที่รายวิชาที่เปิดสอนยุคแรก มีรายวิชาที่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไทยมากถึง 12 รายวิชา เช่น วิชาแกะสลักไม้, การออกแบบสถาปัตยกรรมแบบจารีต, วิชาลายไทย, วิชาเขียนลายรดน้ำ, และ วิชาปูนปั้น ฯลฯ (ข้อมูลอ้างอิงจากบทความ “สถาปนิก ความรู้ โรงเรียนสถาปัตยกรรม” หน้าจั่ว : ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย. 13 (ม.ค.-ธ.ค. 2559) : 76-113)

ที่สำคัญคือ รายวิชาที่เกี่ยวกับการออกแบบทางสถาปัตยกรรมโดยตรง ซึ่งเป็นวิชาหลักที่นักศึกษาต้องเรียนในทุกภาคการศึกษา จะใช้ชื่อว่า Modern Thai Architectural Design โดยใส่คำว่า “Modern” และ “Thai” มากำกับรายวิชาเอาไว้ทุกครั้ง

เพื่อยืนยันว่า การผลิตสถาปนิกจากศิลปากรจะต้องตั้งอยู่บนฐานความรู้แบบที่ทั้งมีความเป็นไทยในทางจิตวิญญาณและมีความทันสมัยในเชิงเทคนิคไปพร้อมกัน

สิ่งนี้แตกต่างจากหลักสูตรสถาปัตย์จุฬาฯ อย่างชัดเจน เพราะที่จุฬาฯ ไม่มีการระบุคำว่า “ไทย” ใส่ลงไปในรายวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรมเลย และการเรียนก็เน้นความเป็นสากลมากกว่า

ที่น่าสังเกตคือ รายวิชาที่เกี่ยวกับศิลปะไทยนั้นจะเป็นการนำกลุ่มวิชาช่างโบราณ เช่น ลายไทย สลักไม้ รายลายรดน้ำ และ ปูนปั้น รื้อฟื้นขึ้นใหม่ภายใต้รูปแบบการเรียนการสอนในลักษณะวิชาสมัยใหม่ในระดับปริญญาตรี อันเป็นความพยายามที่จะยกระดับวิชาช่างแบบจารีตให้ขึ้นสู่การเป็นรายวิชาในระดับการศึกษาขั้นสูงทัดเทียมกับวิชาความรู้แบบตะวันตก

 

อย่างไรก็ตาม หลักสูตรสถาปัตยกรรมไทยก็ดำรงอยู่ได้ราว 10 ปีเท่านั้น

ภายใต้กระแสการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศขนานใหญ่โดยรัฐบาลเผด็จการทหารจากการสนับสนุนเงินทุนมหาศาลจากสหรัฐอเมริกาในช่วงหลัง พ.ศ.2500 วิชาชีพสถาปัตยกรรมตามทิศทางแบบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดูจะตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจของโลกสมัยใหม่ได้ดีกว่า

คณะสถาปัตยกรรมไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศไปสู่สังคมอุตสาหกรรมมากขึ้น และในที่สุด (พ.ศ.2509) ก็ได้ทำการเปลี่ยนชื่อคณะ โดยตัดคำว่า “ไทย” ออกไป กลายเป็น “คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร”

แต่กระนั้น การหายไปของคำว่า “ไทย” ก็มิได้ทำให้พันธสัญญาว่าด้วยการรักษาและต่อยอดความเป็นไทยสูญหายตามไปด้วย