จะแจกเงินแบบถาวร แบบไหนดี? Negative Income Tax (NIT) หรือ Universal Basic Income (UBI)

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

จะแจกเงินแบบถาวร แบบไหนดี?

Negative Income Tax (NIT)

หรือ Universal Basic Income (UBI)

 

 

รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร บอกว่ากำลังศึกษา “ความเป็นไปได้” ของการปฏิรูประบบภาษีไปสู่แบบ Negative Income Tax ที่ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับ “เงินภาษีคืนเป็นขั้นบันได” ตามเกณฑ์ที่กำหนด

แม้ว่าคำนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ แต่ NIT เป็นระบบที่มีการกล่าวถึงเป็นระยะๆ มาแล้ว

นัยว่าเพื่อจะให้คนรายได้น้อยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาล โดยเป็นส่วนหนึ่งของแรงจูงใจในการเข้าสู่ระบบภาษี

การระบุในนโยบายของรัฐบาลใหม่ว่ากำลัง “ศึกษาความเป็นไปได้” แสดงว่ายังไม่ได้ทำการบ้านมามากพอที่จะนำเข้าสู่การ “ปฏิรูป” ระบบภาษีของรัฐบาลใหม่

และ NIT ก็ไม่ใช่เพียงมาตรการช่วยเหลือประชาชนให้มีรายได้ระดับที่ “พอประทังชีวิตขั้นพื้นฐาน” ได้

เพราะยังมีระบบ Universal Basic Income (UBI) หรือ “เบี้ยยังชีพถ้วนหน้า” ที่เป็นที่กล่าวขวัญกันในหลายๆ ประเทศ

รัฐบาลไทยอาจจะยังต้องศึกษาวิเคราะห์สองแนวทางนี้ให้รอบด้านเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจน

และลด “ความเหลื่อมล้ำ” ระหว่างคนรวยกับคนจนที่ยิ่งวันจะยิ่งมีอาการหนักขึ้นทุกที

พูดภาษาชาวบ้าน ทั้งสองแนวคิดก็คือการเติมเงินเข้ากระเป๋าผู้มีรายได้น้อย

แต่ด้วยหลักคิด, แนวทางปฏิบัติและข้อดีข้อด้อยที่แตกต่างกันในหลายๆ มิติ

 

Negative Income Tax หรือ NIT ที่รัฐบาลนี้อ้างถึงมาจากนักเศรษฐศาสตร์คนดัง มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) ในทศวรรษ 1960

ภายใต้ระบบนี้ ใครมีรายได้ต่ำกว่าระดับที่กำหนด นอกจากจะไม่ต้องเสียภาษีแล้ว ก็ยังจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลด้วย

โดยจะกำหนดเงินที่รัฐจ่ายให้นั้นจะค่อยๆ ลดลงเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น

เป้าหมายคือเพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้คนจะไม่ขี้เกียจ คอยแบมือขอเงินช่วยเหลือจากรัฐ

ซึ่งก็มาจากภาษีประชาชนนั่นเอง

ภายใต้ระบบ NIT ทุกคน ไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไหร่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามปกติ

โดยระบุว่าใครมีรายได้น้อยกว่าระดับที่กำหนดจะได้รับเงินช่วยเหลือเพื่อเติมให้เข้าใกล้ระดับนั้น

ตัวอย่างเช่น หากกำหนดระดับไว้ที่ 10,000 บาทต่อเดือน คนที่มีรายได้ 7,000 บาทก็จะได้รับชดเชย 3,000 บาท

ส่วน Universal Basic Income หรือ UBI

กำหนดเงินแจกให้ราษฎรทุกคนเป็นจำนวนเท่ากันโดยไม่มีเงื่อนไข

ไม่ว่าจะมีรายได้ สถานะการจ้างงาน หรือทรัพย์สินส่วนบุคคลอย่างไร

ทุกคนจะได้รับ “รายได้พื้นฐานทั่วหน้า” เท่ากัน

UBI ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในมาตรการที่จะเป็น “ตาข่ายความมั่นคงของสังคม” (social safety net) ทางการเงินในโลกที่กำลังถูกคุกคามโดยเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

ซึ่งอาจลดโอกาสในการทำงานแบบดั้งเดิม หรือไม่ก็ตกงาน เพราะธุรกิจเก่าล้ม ธุรกิจใหม่ก็ไม่สามารถมาแทนที่ได้

ผู้สนับสนุน UBI เชื่อว่าการแจกเงินสวัสดิการให้ทุกคนเช่นนี้จะช่วยให้ผู้คนกระตือรือร้นที่จะแสวงหาความรู้ ทักษะและความคิดสร้างสรรค์ หรือประกอบธุรกิจได้

โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความไม่มั่นคงทางการเงิน

แต่ก็ต้องระวังไม่แจกเป็นเงินก้อนใหญ่จนทำให้ไม่ต้องคิดทำมาหากินอีก

เพราะมันก็คือเงินภาษีประชาชนอีกเหมือนกัน

 

ถามว่า NIT กับ UBI มีเปรียบเทียบกันอย่างไรข้อดีข้อเสียอย่างไร?

ในแง่การลดความยากจน

NIT น่าจะสามารถมุ่งเป้าไปที่การลดความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

เพราะระบบนี้เป็นการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าระดับที่กำหนดเท่านั้น

ไม่ใช่การเหวี่ยงแหเหมือน UBI

นั่นแปลว่าเงินภาษีประชาชนถูกจัดสรรไปยังผู้ที่มีความต้องการตรงเป้ากว่า

และการที่รัฐสามารถค่อยๆ ลดการจ่ายเงินตามอัตราของรายได้เพิ่มขึ้นทำให้ไม่เกิดกรณีที่ใครจะสูญเสียสวัสดิการทันทีเมื่อรายได้สูงขึ้น

เป็นมาตรการประคับประคองทั้งในแง่ของรัฐและผู้มีรายได้น้อยกว่าเกณฑ์

คนเชียร์ UBI อ้างว่าระบบนี้สามารถลดความยากจนได้แบบฉับพลันทันทีเพราะทุกคนได้รับเงินก้อนหนึ่งโดยไม่มีเงื่อนไข

เป็นการรับประกันว่าทุกคนจะมีรายได้ขั้นต่ำที่มั่นคงไม่ว่าจะมีสถานะทางการเงินอย่างไร

ว่ากันว่าวิธีนี้จะได้ผลในกรณีที่มีประเทศใดประชาชนจำนวนมากอยู่ใกล้กับเส้นความยากจน

 

สําหรับรัฐบาล มีประเด็นเรื่องความง่ายและยากของการบริหารสองระบบ

หากใช้ NIT อย่างที่รัฐบาลแพทองธารสนใจ ก็ต้องมีระบบติดตามรายได้ของพลเมืองเพื่อกำหนดว่าใครมีสิทธิ์ได้เงินชดเชยเท่าไหร่

เป้าหมายของรัฐในการใช้วิธีนี้คือการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามาในระบบภาษี

ดังนั้น จึงอยู่ที่การสื่อสารกับประชาชนโดยเฉพาะภาคส่วนที่ยังไม่แน่ใจว่าการเข้าระบบภาษีจะทำให้ตนมีภาระมากขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่จะติดตามได้ง่ายขึ้นหรือไม่

อยู่ที่รัฐจะเสนอให้เงินชดเชยส่วนที่ขาดมากพอที่จะชักจูงให้คนในกลุ่มยากจนให้ความสนใจเพียงพอหรือไม่เพียงใด

การบริหาร UBI จะเรียบง่ายกว่า

เพราะไม่มีอะไรซับซ้อน ทุกคนได้รับเงินจำนวนเท่ากันโดยไม่มีเงื่อนไข

จึงไม่จำเป็นต้องติดตามรายได้หรือทำการทดสอบสิทธิ์

อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับระบบสวัสดิการที่มีอยู่

หากสามารถตัดกระบวนการทางราชการที่ซับซ้อนออกไปได้ก็จะทำให้การดำเนินการ UBI มีความสะดวกและประหยัดมากขึ้น

 

คําถามใหญ่ก็คือว่า สองระบบนี้จะสร้างแรงจูงใจให้ทำงานแค่ไหน

หรือจะกลายเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนหยุดทำงาน หันมารอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐแต่เพียงอย่างเดียว

ถามแบบชาวบ้านคือระหว่างสองระบบนี้ อันไหนทำให้คนขี้เกียจและกระตือรือร้นมากกว่ากัน?

หากออกแบบมาดี NIT จะยังคงแรงจูงใจในการทำงานไว้ได้

เพราะระบบนี้จะรับประกันว่าทุกคนจะมีรายได้จากการทำงานมากกว่าไม่ทำงานเสมอ

เพราะระบบนี้จะค่อยๆ ลดการที่รัฐต้องจ่ายเงินให้เมื่อรายได้ของคนๆ นั้นขยับขึ้น

วิธีนี้ย่อมทำให้การปรับเปลี่ยนค่อนข้างราบรื่น

และไม่ทำให้ผู้คนสูญเสียสิทธิ์สวัสดิการอย่างฉับพลันทันที

UBI ก็อาจส่งเสริมให้คนอยากทำงานได้เช่นกัน แต่ด้วยเหตุผลที่ต่างออกไป

เมื่อทุกคนได้เงินแจกจากรัฐในจำนวนเท่ากัน ก็จะมีความมั่นคงในระดับหนึ่ง (แต่ต้องไม่มากจนไม่ต้องทำงานเลย)

เมื่อมีเงินจากรัฐที่พอจะประทังชีวิตไปได้ในระดับหนึ่ง ก็จะทำให้คนคนนั้นเกิดความยืดหยุ่นมากขึ้นในการตัดสินใจทำอะไรที่อาจจะต้องรับความเสี่ยง

เช่น ศึกษาต่อ หาคอร์สเรียนเพื่อเสริมทักษะหรือแสวงหาทักษะใหม่

หรืออาจจะตัดสินใจเป็นผู้ประกอบการเอง หรือไม่ก็เริ่มมีสมาธิและความนิ่งพอที่จะเข้าสู่กิจกรรมสร้างสรรค์นวัตกรรม

ในแง่นี้ UBI อาจกระตุ้นให้เกิดการสร้างผู้ประกอบการมากขึ้น เพราะเมื่อมีรายได้พื้นฐานแล้วก็จะทำให้ลดความกลัวเรื่องความไม่มั่นคงทางการเงิน

แล้วสองระบบนี้ตอบโจทย์เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมากน้อยแค่ไหน?

 

NIT มุ่งเน้นไปที่การลดความยากจน ไม่ได้ตอบคำถามเรื่องการจัดการบริหารว่าด้วยชีวิตของผู้คนในกรณีที่ถูกแทนที่โดยเทคโนโลยี

แม้ว่า NIT จะสร้างความมั่นคงทางการเงินในกรณีที่ตกงาน แต่ไม่ได้ส่งเสริมความยืดหยุ่นในการหางานใหม่เท่ากับ UBI

UBI มีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว

นั่นแปลว่าเทคโนโลยีอาจแทนที่การทำงานแบบดั้งเดิมได้ ด้วยการรับประกันรายได้พื้นฐาน

UBI ช่วยให้บุคคลสามารถเปลี่ยนอาชีพหรือพัฒนาทักษะใหม่ได้ในระหว่างการเปลี่ยนแปลง

แต่ทั้งหมดนี้จะทำได้ต้องมีเงิน…

รัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหน?

สัปดาห์หน้าต้องว่าต่อครับ