ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | จ๋าจ๊ะ วรรณคดี |
ผู้เขียน | ญาดา อารัมภีร |
เผยแพร่ |
‘ศึกชิงนางในวรรณคดี’ ขอแค่เป็นหญิงสาวอายุพอเหมาะ รูปร่างหน้าตาเปี่ยมเสน่ห์ทางเพศ กระตุ้นกิเลส เร้าอารมณ์ให้วาบหวามหวั่นไหว เด็ดขนาดนี้ชายหรือจะเมินเฉย มีแต่จะสู้ตายกันไปข้าง ใครดีใครได้
‘วิชาธร วิทยาธร พิทยาธร’ เป็นอมนุษย์พวกหนึ่ง ฐานะต่ำกว่าเทวดา สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้
บทบาทของพิทยาธรในวรรณคดีมักเกี่ยวกับสตรี เริ่มจากแย่งเมียพวกเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากวรรณคดีเรื่อง “สมุทรโฆษคำฉันท์” เล่าถึงพิทยาธรจอมอันธพาลชื่อ ‘รณบุตร’ ขัดหูขัดตาเมื่อเห็น ‘รณาภิมุข’ อุ้มเมียคลอเคลียกันอย่างมีความสุข รูปลักษณ์ของนาง ‘กวนกามกลางใจ’ รณบุตรให้รุ่มร้อนกระวนกระวายด้วยอารมณ์ปรารถนา จึงออกอาการ ‘กร่างคับฟ้า’ ทั้งวาจาและท่าที
“จึงร้องว่าเหวยมึงใคร อุ้มเมียมาใน
หนทางกูทักบมิหยุด
มึงรู้จักกูผู้อุด – ดมเรียกรณบุต –
รฦาทั้งหล้าหลากหลาย
ผิมึงรักตัวกลัวตาย ให้เมียแล้วผาย
ไปอื่นอย่าอยู่อางขนาง
ผิบให้ก็บให้รอดปาง กูจะชิงเอานาง
จะได้ด้วยเดโชพล”
พิทยาธรรณบุตร คืออันธพาลตัวพ่อ อยากได้เมียเขาก็วางโตข่มขู่บังคับผัวเอาดื้อๆ ทำนองว่า ‘ให้เมียแค่เสียใจ ไม่ให้เมีย เสียชีวิต’ ใครเล่าเขาจะยอม รณาภิมุขเหาะทะยานสู่ท้องฟ้าสู้กับรณบุตร ต่างฝ่ายต่างใช้เวทมนตร์เนรมิตกองทัพมหึมาเข้าห้ำหั่นกันจนแผ่นดินแทบจะถล่มทลาย
“สรรพสรรพาวุธถ้วนตน โพรงพรายภพดล
จะปริประลัยเหิรหาย
เห็จเข้าต่อตาววัดวาย แคว้งแคว้งพรายพราย (ตาว = ดาบ, มีดยาว)
ในพายุมารคจำรัส
ต่างแทงต่างเทิดต่างทัด ต่างแทงแสงศัส –
ดรรัศมีเวียนเวหาส”
สองทัพที่ไพร่พลมีอาวุธพร้อมสรรพ ดาหน้าปะทะกัน พลันบังเกิดเสียงดังสนั่นกึกก้องฟ้าดิน สู้กันจนไพร่พลและอาคมสูญสิ้น เหลือเพียงคู่กรณี คือ รณาภิมุขและรณบุตรยังสู้กันไม่ยอมเลิก
“ฉาดฉาดฉานฉานเสียงฟัน สิ้นสุดพลอัน
จะรบจะพุ่งทบทน
สิ้นศัสตราคมแรงมนต์ ยังแต่สองตน
ก็เข้าประทะสหัสสา
ต่อตาวรุกรันไปมา ในกลางเวหา
คครื้นคเครงรบกัน”
ถ้าสู้กันอย่างลูกผู้ชาย ผลแพ้ชนะยากคาดเดา เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็เป็น ‘พิทยาธรทรงฤท ธิฤทธิเรืองมหิมา’ แต่รณาภิมุขใช้งานได้เพียงมือเดียว ตกที่นั่งเสียเปรียบเห็นๆ ต้องสู้ไปอุ้มไปอย่างทุลักทุเล
“อุ้มเมียรักพลางพลางแฝง รบพลางกินแหนง
ทำงลทันทึงกลางสนาม
แพ้ฤทธิ์รณบุตรติดตาม อุ้มเอานางงาม
ก็เยียวง่าอ่าองค์”
รณาภิมุขถูกรณบุตรฉกเมียไปจากอกซึ่งๆ หน้าและพาเหาะทะยานลับหายไป เมื่อแพ้พ่ายไร้ทางสู้ พิทยาธรผู้ชอกช้ำถึงกับคร่ำครวญด้วยไฟแค้นแผดเผาใจ
“เจ็บเหนือเจ็บเพราะพิโยคยากหทยเทียม
ไฟดงในแดเกรียม กระอุ
ทุเหนือทุเพราะว่าแพ้แก่ทรชนริปุ
อาจมันมาเบียนลุ ละอาย”
รณาภิมุขประจักษ์เมื่อสายเกินไปว่าการต่อสู้กับศัตรูที่ฉวยโอกาสจู่โจมขณะตนเองไม่อยู่ในสภาพจะรับมือได้เต็มที่เท่ากับปิดตายชัยชนะ
“ด้วยกูอุ้มอนุชฤๅจักมีพิรกำลัง
จึงมันมาออกยัง ประยุทธ”
แม้พิทยาธรรณาภิมุขจะพร่ำรำพันอย่างทุกข์ระทมแทบขาดใจ คนที่เคยครองคู่ก็ไม่อาจหวนคืนมา เป็นการจากลาชั่วชีวิต
“เจ็บอายหลายทุกข์เพิ่มพูน เจ็บอาตมใครปูน
แลเจ็บอุระประปราณ
เจ็บจากพรากนุชนงคราญ เจ็บพ่ายภัยพาล
พินาศอนาถเน่งนอน”
สภาพยับเยินด้วยบาดแผลทั่วร่างกายตอกย้ำความพ่ายแพ้ครั้งนี้ โลหิตหลั่งไหลราวสายธาร ร่างโชกเลือดแดงฉานดุจชโลมด้วย ‘ชลครั่ง’ หรือ ‘น้ำครั่ง’
“ต้องศัสตราวุธฟอนฟัน กายายับยัน
แลเลือดก็ไหลเล่ห์ธาร
บาดแผลแหล่หลายเหลือประมาณ สบศาสตร์กายวิการ
วิกลยลพึงสยบ
เฉกโชลมชลครั่งหลั่งลบ ทั่วศริราพยพ
ประดักประดาษอาดูร”
(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)
เจ็บทั้งตัวและหัวใจเพื่อหญิงที่รักเข้าใจได้ไม่ยาก แต่เจ็บหรือตายเพื่อ ‘ผลไม้’ นี่สิแปลก กลายเป็นศึกชิงนางได้อย่างไร ฉบับหน้ามีคำตอบ •
จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022