ขุดผีเขื่อน ‘แก่งเสือเต้น’ (2)

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

เห็นอิทธิฤทธิ์ของซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิพัดถล่มเวียดนามแล้วต้องบอกว่าน่าสะพรึง แรงลมที่มีความเร็วสูงถึง 203 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เกินกว่ามนุษย์จะต้านทานได้ กระชากรถเก๋ง มอเตอร์ไซค์ไหลลงแม่น้ำ ดึงโคนรากต้นไม้ล้มระเนระนาด หลังคา กระจกบ้านเรือนปลิวว่อน ตามด้วยฝนตกกระหน่ำน้ำท่วม ดินโคลนถล่มบ้านเรือนพังพินาศ

“ยางิ” สร้างรอยซ้ำอย่างหนักให้ชาวเวียดนามในรอบ 30 ปีซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้วถึง 127 คน และสูญหายอีกครึ่งร้อย

ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศชี้ว่า ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นมีส่วนสำคัญยิ่งทำให้พายุไต้ฝุ่น “ยางิ” เพิ่มอิทธิฤทธิ์ทั้งความเร็วกระแสลมและปริมาณน้ำฝน

ส่วนบ้านเราเจอหางเลขของ “ยางิ” เกิดฝนตกหนักทางตอนเหนือของจังหวัดเชียงรายติดต่อกันหลายวัน น้ำไหลทะลักจากภูเขาสูงลงสู่ลำน้ำเอ่อท่วมตัวเมืองแม่สายสร้างความเสียหายไม่น้อย

มองที่ตั้งของประเทศไทย ต้องบอกว่าเป็นจุดที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเพราะมีเวียดนาม ลาวขวางทางพายุที่มาจากทางเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก

ส่วนฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ก็มีแนวภูเขากั้นระหว่างเมียนมากับไทยเอาไว้ พายุพุ่งใส่ตรงจึงแทบไม่มี

ถ้าการเมืองนิ่งมีเสถียรภาพ เลิกเล่นเกมเตะสกัด ปล่อยให้เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย ให้รัฐบาลมีเวลาทำงานจบวาระแล้วค่อยมาเลือกตั้งกันใหม่ ทำเลประเทศไทยที่ดีอยู่แล้ว เมื่อบวกกับการเมืองดีจะพัฒนาก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่แน่นอน

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วมทางภาคเหนือในขณะนี้ฝ่ายรัฐบาลฉวยโอกาสหยิบประเด็นการสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่ยม จังหวัดแพร่ มาสร้างกระแสอีกหนด้วยความเชื่อว่าการสร้างเขื่อนจะแก้ปัญหาน้ำท่วมจังหวัดต่างๆ ที่แม่น้ำยมไหลผ่าน

แต่มีคำถามที่สวนกลับมาว่า ถ้าสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นแล้วแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดแพร่ พะเยา และสุโขทัยได้จริงหรือ?

เมื่อเปรียบเทียบกับทำลายสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเพื่อสร้างเขื่อน คุ้มค่าแค่ไหน?

ช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมามีผลการศึกษาจากหน่วยงานต่างๆ ชี้ว่า การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นช่วยป้องกันน้ำท่วมน้อยมากไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลกระทบต่อระบบนิเวศของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเกิดขึ้นอย่างรุนแรง

จึงควรมีทางเลือกอื่นๆ ในการจัดการน้ำโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนใหญ่ เช่น สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กดึงน้ำมาเก็บไว้ใช้หน้าแล้งและรับน้ำในหน้าฝนเหมือนโครงการสะเอียบโมเดล

 

ปัจจุบัน แนวคิดการสร้างเขื่อนขวางแม่น้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและป้องกันน้ำท่วมกลายเป็นประเด็นล้าหลัง เพราะทั่วโลกได้ข้อสรุปว่าแม่น้ำคือหัวใจสำคัญของระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ

กองทุนคุ้มครองสัตว์ป่าโลก ศึกษาพบว่า การสร้างเขื่อนมีส่วนทำให้สัตว์น้ำในแหล่งน้ำลดลงมากกว่า 84 เปอร์เซ็นต์ และชุมชนท้องถิ่นพังทลายสูญหายเช่นกัน

การทุบทิ้งเขื่อนเพื่อขจัดสิ่งกีดขวางแม่น้ำ จึงกลายเป็นเทรนด์โลกใหม่เพราะเป็นหนทางช่วยฟื้นฟูธรรมชาติที่เสียหายคืนกลับมา

เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ สื่อในสหรัฐรายงานว่าการทุบเขื่อน “ไอรอนเกต” (Iron Gate) และคอปโค หมายเลข 1 (Copco No.1) ที่ก่อสร้างขวางแม่น้ำคลามัธ (Klamath) รัฐแคลิฟอร์เนีย ใกล้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว

เมื่อไม่มีวัสดุใดๆ ขวางกระแสน้ำคลามัธไหลลื่นตามธรรมชาติ ปลาแซลมอนว่ายกลับมาวางไข่เป็นครั้งแรกในรอบ 100 ปี และสัตว์น้ำจืดอื่นๆ รวมถึงสัตว์ป่ากลับคืนสู่ระบบนิเวศเดิมๆ

แม่น้ำคลามัธ ไหลจากรัฐโอเรกอนมายังรัฐแคลิฟอร์เนียลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกความยาว 414 กิโลเมตร มีเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า 4 แห่ง ยังเหลืออีก 2 แห่งคือเขื่อนเจ.ซี.บอยล์ (JC Boyle) และคอปโค 2 จะทุบทิ้งภายในสิ้นปีนี้

สำหรับเขื่อนคอปโค หมายเลข 1 สร้างตั้งแต่ปี 2465 เป็นช่วงที่ชาวผิวขาวรุกเข้ามาฝั่งตะวันตกของสหรัฐในยุคตื่นทอง อีก 42 ปีต่อมา เขื่อนไอรอนเกต คอปโค 2 และเจ.ซี.บอยล์ ก่อสร้างตามลำดับ

เขื่อนสร้างเสร็จปรากฏว่าเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ปลาแซลมอนสายพันธุ์ชินุค (chinook salmon) ที่เคยมีชุกชุมในแม่น้ำแห่งนี้หายไปเกือบ 98 เปอร์เซ็นต์

เส้นทางของปลาแซลมอนที่ว่ายกลับไปวางไข่ทางเหนือของแม่น้ำคลามัธ หยุดชะงักลงตั้งแต่มีเขื่อนขวางกั้น

ปลาแซลมอนเป็นปลาที่ธรรมชาติสรรค์สร้างอย่างโดดเด่น ป็นปลาที่ผสมพันธุ์ในน้ำจืด แต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในมหาสมุทร

ลูกปลาออกจากไข่ในน้ำจืด จากนั้นจะว่ายออกไปหากินในมหาสมุทรราว 4 ปี บางตัวอยู่ในมหาสมุทร 7 ปีตัวโตใหญ่เกือบเท่าคน จากนั้นก็ว่ายกลับมาที่จุดเกิดเดิมในแม่น้ำ เมื่อวางไข่เสร็จจะสิ้นใจตาย

ปริศนาที่ไม่มีใครเฉลยได้ก็คือ ปลาแซลมอนออกจากถิ่นกำเนิดไป 4-7 ปี กลับคืนถิ่นเดิมได้อย่างไร?

เปลวฝุ่นพุ่งโขมงจากจุดระเบิดเขื่อนคอปโค หมายเลข 1 ที่สร้างขวางกั้นแม่น้ำคลามัธ ไหลเชื่อมระหว่างรัฐโอเรกอนและรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ เมื่อต้นปี 2567 (ภาพ : เชน แอนเดอร์สัน)

ปลาแซลมอนชินุคซึ่งตั้งตามชื่อชนเผ่า “ชินุค” ก็เช่นเดียวกัน เมื่อหากินในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือจนโตเต็มที่แล้ว จะว่ายกลับมาวางไข่ในแม่น้ำคลามัธ

ก่อนมีเขื่อน ปลาแซลมอนราว 1 ล้านตัวว่ายไปที่จุดวางไข่ในแม่น้ำคลามัธ แต่หลังเขื่อนขวาง ปลาได้แต่ว่ายวนอยู่หน้าปากอ่าวซึ่งมีจำนวนลดลงอย่างน่าใจหาย

เป็นเวลากว่า 7,000 ปี ชาวยูรุคเป็น 1 ในชนพื้นเมืองอเมริกันจัดประเพณีเฉลิมฉลองกินปลาแซลมอนตัวแรกที่กลับมาวางไข่ในแม่น้ำคลามัธในฤดูใบไม้ร่วง แต่เมื่อปลาแซลมอนหายไป ชาวยูรุคต้องไปซื้อปลาแซลมอนจากรัฐอลาสก้าเพื่อเฉลิมฉลองแทน

ปลาแซลมอนมีความสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศ ไม่เพียงเพราะมีคุณค่าทางอาหารสูงเท่านั้น หากบรรดาสัตว์ป่าอย่างเช่นหมีก็จับแซลมอนกินเป็นหลัก เมื่อไม่มีแซลมอน หมีก็ย้ายถิ่นฐานไปหากินที่อื่น

เขื่อนยังเกิดผลกระทบต่ออุณหภูมิและคุณภาพน้ำในแม่น้ำคลามัธ เมื่อปี 2546 ปลาแซลมอนและสัตว์น้ำอื่นๆ เจออุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้นและคุณภาพน้ำเสื่อมมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนทำให้ตายลอยฟ่องเกือบ 4 หมื่นตัว

ผู้เชี่ยวชาญวัดค่าความเป็นพิษปนเปื้อนในแม่น้ำคลามัธสูงกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกถึง 4,000 เท่า

ชนเผ่าพื้นเมืองที่ต่อต้านการสร้างเขื่อนมานานแล้ว รับรู้ความเป็นไปของฝูงปลาแซลมอนก็รุกฮือครั้งใหญ่เรียกร้องให้ทางการทุบเขื่อนทิ้ง คืนชีวิตให้ปลาแซลมอน

“บรูค ธอมป์สัน” ชาวเผ่ายูรูคที่ร่วมต่อสู้เรียกร้องให้ทุบเขื่อนทิ้งบอกกับนักข่าวบีบีซีว่า “แม่น้ำคือสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของเรา แซลมอนคือครอบครัวของเรา”

เมื่อฝูงปลาแซลมอนตายเป็นเบือ นั่นหมายถึงเผ่าพันธุ์ของเราได้รับผลกระทบไปด้วยเพราะทุกชีวิตเชื่อมต่อสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

 

จนกระทั่งในปี 2551 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งรัฐโอเรกอนและรัฐแคลิฟอร์เนียพิจารณาเห็นว่า ควรทุบทิ้งเขื่อนทั้ง 4 แห่งที่ขวางกั้นแม่น้ำคลามัธด้วยเหตุผลเขื่อนไม่ได้ป้องกันน้ำท่วมและปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ได้นั้นมีน้อยนิดเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ ส่งป้อนให้บ้านเรือนแค่ 70,000 หลังเท่านั้น

ไม่คุ้มค่ากับการบำรุงรักษาเขื่อนเฉลี่ยตกปีละ 700 ล้านบาท

คณะกรรมการชุดดังกล่าวยังพิจารณาด้วยว่า เมื่อทุบเขื่อนทิ้งจะต้องจัดหาพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพกว่ามาทดแทน พร้อมกับให้เงินสนับสนุนปรับปรุงคุณภาพน้ำ กำจัดสาหร่ายพิษปนเปื้อนในน้ำเพื่อคุ้มครองสุขภาพของชาวอเมริกันและระบบนิเวศ

การทุบเขื่อนทั้ง 4 ที่ขวางแม่น้ำคลามัธเป็นข่าวใหญ่ สร้างความยินดีปรีดาไม่เพียงเฉพาะชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันเท่านั้น เป็นแต่ข่าวน่ายินดีของคนทั่วโลก เพราะเท่ากับบอกว่า การสร้างเขื่อนเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อทุบเขื่อนเสร็จสิ้นแล้ว ชาวอเมริกันต่างจับจ้องว่า ฝูงปลาแซลมอนสายพันธุ์ชินุคจะว่ายทวนน้ำจากมหาสมุทรแปซิฟิกขึ้นไปวางไข่ในต้นน้ำของแม่น้ำคลามัธซึ่งมีระยะทาง 414 กิโลเมตร เป็นจำนวนมากเหมือนอดีตหรือไม่

ชาวอเมริกันที่สนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยังมีแผนร่วมมือเพื่อจัดหาเมล็ดพันธุ์ต้นไม้กว่า 17,000 ล้านเมล็ดนำไปหว่านในพื้นที่ที่เคยเป็นเขื่อน การเพาะพันธุ์และการหว่านเมล็ดพันธุ์ต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆ 10 ปี แต่พวกเขาเชื่อว่า เมื่อพืชพันธุ์ที่หว่านไปเติบโตแล้ว ธรรมชาติกลับคืนมาเหมือนเดิมก่อนมีเขื่อนขวางแม่น้ำ

ในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา สหรัฐทุบทิ้งเขื่อนไปแล้ว 2,000 แห่งเพื่อให้สายน้ำได้ฟื้นคืนสู่วิถีธรรมชาติ

ส่วนเขื่อนในยุโรป เฉพาะปี 2565 ปีเดียว ทุบทิ้งไปแล้ว 325 แห่ง ด้วยแนวคิด “เขื่อนคือตัวการทำลายระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ” •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]