สืบ สันดาน แค้น พิฆาตนารี

หลังมีความชัดเจนเรื่องรัฐบาลใหม่ ช่วงนี้วงการหุ้นไทยได้ใจชื้นกันขึ้นมาบ้างจากที่หลุดหลัก 1,300 จุดมาเป็นเวลานาน

มีการประกาศ 10 นโยบายหลัก ส่วนเรื่องดิจิทัลวอลเว็ต ก็เปลี่ยนรูปแบบใหม่ ยอมลดผลกระทบและความเสี่ยงทางการคลังลง ทั้งยังเตรียมเดินหน้าโปรเจ็กต์ทางเศรษฐกิจต่างๆ แบบพอจะมองเห็นผล คนในตลาดหุ้นเลยอุ่นใจ

บวกกับเงินบาทไทยพลิกมาแข็งค่า พร้อมๆ กับค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่ถูกกดดันจากโอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟด

ปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอกผสมกัน จึงเป็นโอกาสให้ตลาดหุ้นไทย “ผงกหัวขึ้นมาบ้าง”

ปัญหาคือกองเชียร์รัฐบาลยังไม่อาจดีใจ หรือกระทั่งอย่าเคลมว่าเป็นผลงานของรัฐบาล เสี่ยงจะทำให้คนหมั่นไส้เกินเหตุ ไปตบอกดีใจเยาะเย้ยคนสะกิดเตือน

จะพากันหลงทาง จนไม่ได้มองว่ามันคือทิศทางระยะสั้น สัปดาห์ไหนหุ้นตก ตัวแดงขึ้นมา จะโดนแซวเอา

เพราะตลาดหุ้นที่ดี ต้องสะท้อนภาพรวมประเทศ ต้องมาจากการสร้างปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี การพัฒนาโครงการทางเศรษฐกิจ “ระยะยาว” จึงสำคัญกว่า

 

ปัญหาเศรษฐกิจไทยเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งก็สะสมหมักหมม ส่งต่อกันมาราวกับเป็นมรดก ยาวนานพอๆ กับปัญหา “การเมือง”

วันนี้เห็นชัดแล้วว่าปฏิบัติการ “ฝ่ายแค้น” ล้มระบอบทักษิณภาค 2 สตาร์ตเครื่องแล้วอย่างเป็นทางการ เริ่มดำเนินการ ทั้งการเมือง “นอกระบบ” และ “ในระบบ”

ใน “การเมืองนอกระบบ” รัฐบาลเพื่อไทยเจอ “ลองของ” ตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าทำงาน เพราะล่าสุด เครือข่ายต้านระบอบทักษิณ นัดรวมตัวคนกลุ่มเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นแกนนำ คปท. – กลุ่มประชาชนปกป้องสถาบัน กลุ่มกองทัพธรรม สันติอโศก ก็เตรียมเคลื่อนม็อบลงถนน

มองเผินๆ ดูไม่น่ามีอะไรสลักสำคัญ ไม่มีพิษภัย ยิ่งมาในบริบทที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำงาน เพิ่งจะออกจากรัฐบาลทหารได้ไม่นาน คนจึง “ไม่อิน” ซึ่งก็จริง

แต่อย่าลืมย้อนกลับไปมองในอดีต

เพราะม็อบที่ลงถนนไม่มีใครล้มรัฐบาลได้ก็จริง แต่เรียกร้องกระแสปฏิรูปการเมือง การเปลี่ยนรัฐบาลด้วยนิติสงคราม กระทั่งเรียกร้องการปฏิวัติรัฐประหารได้

นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ย่อมเข้าใจเรื่องนี้ดี

 

ส่วนพื้นที่ “การเมืองในระบบ” การผลักพลังประชารัฐจากพรรคร่วมรัฐบาล แน่นอนว่าเป็นจุดสิ้นสุดอนาคตการเมืองของ “ลุงในบ้านป่าฯ” เรียบร้อยแล้ว แต่หลังจากนี้รัฐบาลเพื่อไทยจะต้องเจอกับ การเปิดฉาก “นิติสงคราม” เต็มตัว

อย่าลืม “ลุงในบ้านป่าฯ” ซึ่งเป็นคำพูดของนายทักษิณ ทำสำเร็จแล้วจากการล้มรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

ยิ่งเกิดเหตุคลิปหลุด “คนในบ้านป่าฯ” ผ่านรายการดัง ยิ่งสะท้อนชัดว่าใครคือ “แกนนำฝ่ายแค้น”

ยังไม่ทันที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะได้เหยียบบันไดทำเนียบ เดือนที่ผ่านมาเกิดปฏิบัติการยื่นคำร้ององค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็นนักร้องนิรนาม หรือนักร้องขาประจำ มากกว่า 10 เคส

คำร้องสรุปรวมได้ว่า “ร้องตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ”

ไม่ว่าจะเป็นคำร้องนายทักษิณครอบงำรัฐบาล ร้องเรื่องคุณสมบัตินายกฯ ร้องปมวันลาออกจากเอกชน ร้องไปยันเรื่องท่ามินิฮาร์ตขณะสวมเครื่องแบบชุดขาว

ที่ไร้สาระสุดสุดเห็นจะเป็นการร้องว่า รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เคยเข้าป่าฯ หลังเหตุการณ์เดือนตุลาฯ เมื่อกว่า 50 ปีก่อน ใครเห็นก็คงหัวเราะเยาะเย้ยนำร้องเหล่านี้

แต่ปัญหาที่ขำไม่ออกก็คือ ใครจะการันตีว่าองค์กรอิสระจะตัดสินออกมาในทิศทางใด หลุดไปได้สักคดีก็เป็น “กำไร” ฝ่ายสืบสันดานแค้นแล้ว

อย่าลืมว่าหลายๆ คำร้องที่เคยเป็นที่หัวเราะของนักเรียนรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ท้ายที่สุดขำไม่ออกกันมาเยอะแล้ว

 

นอกจากทีมบ้านป่าฯ รัฐบาลแพทองธาร และองคาพยพพรรคเพื่อไทยยังต้องเจอกับการร้องเรียนของนักร้องอิสระ แต่มาร้องแบบอิงอุดมการณ์การเมือง

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม คือตัวอย่างล่าสุด เพราะยืนอยู่ตรงข้ามกับนายทักษิณและพรรคเพื่อไทยมานาน จึงไม่แปลกใจหากวันนี้ นพ.วรงค์จะซุ่มเก็บหลักฐาน ลำดับเหตุการณ์เพื่อยื่นคำร้องว่านายทักษิณครอบงำพรรคเพื่อไทย เข้าข่ายผิดกฎหมาย นำไปสู่การยุบพรรค

แน่นอนว่าหลังจากนี้ รัฐบาลเพื่อไทยจะต้องเจอกับสารพัดคำร้อง จากสารพัดกลุ่มมากมาย จนกองเชียร์รัฐบาลทำมีมแซวนายกฯ แพทองธารได้หลายมีม

เรื่องนี้เหมือนจะตลก แต่จริงๆ ตลกไม่ได้

เพราะปฏิบัติการวันนี้คือการสืบสานภารกิจ “สืบสันดานความแค้น” ผ่านนิติสงครามอยู่

ยิ่งทำให้ดูเป็นเรื่องตลก หรือพยายามนำเสนอในมุม ถูกเล่นงานทั้งที่ยังไม่ทำอะไร ยิ่งเป็นการจงใจไม่เห็นต้นตอปัญหา

สุดท้าย มองต้นเหตุของปัญหาว่าเป็นเพราะ “บรรดานักร้องขาประจำ” หรือ “เพราะบัญชาของคนในบ้านป่าฯ” แก้ปัญหาที่คนเหล่านี้ เรื่องก็จบ

ทั้งที่จริงแล้วปัญหาคือ “กระบวนการนิติสงครามทั้งหมด” ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นท่าทีของรัฐบาลเพื่อไทยว่าจะ “ดีล” กับปัญหานี้อย่างไร จะร่วมพาประเทศออกจาก “กับดักระเบิดนี้อย่างไร”

 

การเมืองวันนี้จึงเป็นผลของ “การสืบสันดานความแค้น” ซีกพลังการเมืองขั้วอนุรักษ์ที่วางโครงสร้างกฎหมายและการเมืองกีดกันการเปลี่ยนแปลง กีดกันความก้าวหน้าไว้

แม้จะสามารถ “ดีล” กับบางกลุ่มในขั้วอนุรักษ์ได้ แต่ในความเป็นจริงต้องเข้าใจว่าพลังทางการเมืองก้อนนี้ มีความหลากหลาย มีหลายชุดความเชื่อและวิธีปฏิบัติทางการเมือง

เมื่อมีโครงสร้างการเมือง กฎหมายรองรับ ย่อมต้องมีอิสระบ้างเพื่อเล่นไปตามบท สุดท้ายก็ก่อปัญหาทางการเมือง สกัดขัดขวางการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ถ้าไม่รื้อหรือไม่พยายามเข้าไปแก้ไข ก็อย่าหวังว่าใครจะมาเป็นผู้ชนะตัวจริงได้

รัฐธรรมนูญปี 2550 อาจถูกเขียนขึ้นมาใต้โจทย์เพื่อสกัดการเมืองจากตระกูลชินวัตร ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อสกัดพวกใดพวกหนึ่งเท่านั้น แต่เป็น “ฉบับสืบสันดานแค้นของ คสช.” วางโครงสร้างการเมืองเพื่อให้คนฝ่ายหนึ่งได้เปรียบตลอดไป

แม้จะมีคำร้องแล้วมากมาย และต่อให้ 3 ปีจากนี้รัฐบาลจะรอบคอบมาก จนมั่นใจว่านิติสงครามเอาชนะไม่ได้ รัฐบาลนี้ก็จะเป็นรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายแบบเต็มไปด้วยความหวาดกลัว จนแทบจะขยับอะไรสำคัญๆ ในทางการเมือง-สังคมมิได้

 

การแถลง 10 นโยบายรัฐบาลน่าสนใจทุกข้อ

ที่จริงแม้ทำได้จริงเพียงข้อเดียวเช่นเรื่อง “แก้หนี้” ก็จะได้เครดิตมหาศาล

เอาว่าถ้าทำได้ดีจนคนสัมผัสได้ อาจส่งผลได้เป็นรัฐบาลต่อด้วยซ้ำ

แต่คำถามคือ 3 ปีจากนี้ที่รัฐบาลเพื่อไทยต้องทำงานภายใต้คำร้องมากมายแบบนี้ คิดว่าจะรอดจนทำนโยบายสำเร็จหรือ?

และหากเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงปัญหาในวันนี้ วันหนึ่งข้างหน้า หากรัฐบาลเพื่อไทยต้องถูกกระทำอีก คนจำนวนไม่น้อยก็จะไม่ยืนอยู่เคียงข้างเช่นที่รัฐบาลพลังประชาชน รัฐบาลเพื่อไทยยุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับ ที่สำคัญคือจะไม่มีเครดิตในการพูดเรื่องนี้อีก

3 ปีจากนี้ จึงเป็นการเดินทางที่เต็มไปด้วยกับดักระเบิด มีแต่เพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้นที่จะร่วมถอดสลักนี้ได้

แน่นอนว่าประเด็นนี้ ที่สุดแล้วไม่เกี่ยวว่าเป็นเรื่องว่า “อยาก” หรือ “ไม่อยาก” ให้เพื่อไทยเป็นรัฐบาลต่อ แต่ปัญหาคือ ไม่ว่าใครมาอยู่ในระบบนี้ก็โดนเล่นงานง่ายๆ เพื่อไทยเองก็โดนมาหนักสุด จึงเป็นเรื่องว่า “ถึงเวลาที่จะแก้ปัญหานิติสงครามนี้”

เปลี่ยนโครงสร้าง ทำกติกาใหม่ ให้เป็นเกมที่ “แฟร์” ล้างบาง “มรดกการเมือง คสช.” ให้กลุ่ม “สืบสันดานความแค้น” หมดพลัง

ในข่าวคลิปหลุด ก็เห็นอยู่ว่าเขาเหลิงอำนาจเพียงใด