ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ นำโดย “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วางคิวแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา ระหว่างวันที่ 12-13 กันยายน 2567 ก่อนที่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินอย่างเป็นทางการ
โดยนโยบายของรัฐบาลมีการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม หนา 85 หน้า เป็นการแถลงของนายกรัฐมนตรี มุ่งเน้นการเดินหน้าบริหารประเทศท่ามกลางความท้าทาย ภายใต้สโลแกน “ความหวัง โอกาส และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม”
สำหรับนโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำทันทีภายในระยะเวลา 3 ปีก่อนครบเทอม 10 ข้อ ประกอบด้วย
1. การปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบและในระบบที่ไม่ขัดต่อวินัยการเงิน และไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม
2. ส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งต่างชาติ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์
3. ออกมาตรการเพื่อลดราคาพลังงานและสาธารณูปโภค ด้วยการปรับโครงสร้างราคาพลังงานและเร่งปรับปรุงกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ทำสัญญาซื้อขายพลังงานโดยตรง พัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน ด้านขนส่งมวลชนจะกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมใน กทม. เพื่อรองรับนโยบายค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสาย
4. สร้างรายได้ใหม่ด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษีและเศรษฐกิจใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษี เพื่อจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุขและสาธารณูปโภค
5. เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก
6. ยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย และเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร
7. เร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น สถานบันเทิงครบวงจร (เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์)
8. แก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร
9. เร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน
และ 10. ส่งเสริมศักยภาพและจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ หากสแกนนโยบาย พบว่าส่วนใหญ่เป็นนโยบายที่สานต่อเนื่องมาจากรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ตามที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุไว้ว่า เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากแต่ละพรรคการเมือง นำมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ทว่า นโยบายที่น่าสนใจ ย่อมหนีไม่พ้นประเด็นการแก้ปัญหาปากท้อง ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ การลดราคาพลังงาน ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ล้วนเป็นเรื่องที่ประชาชนคาดหวังและต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการและผลักดันให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว
ขณะที่โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย ที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2566 มีแนวโน้มว่าจะเริ่มแจกรอบแรกให้กลุ่มคนเปราะบางที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน ภายในเดือนกันยายนนี้ก่อน โดยปรับรูปแบบแจกเป็นเงินสด 10,000 บาท โอนเข้าบัญชีโดยตรง
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา ที่ถูกหยิบยกมาเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลชุดนี้ ต้องยอมรับว่าเป็นประเด็นที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนมากพอสมควร เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ประเทศเพื่อนบ้าน
ส่วนประเด็นที่ต้องโฟกัสมากเป็นพิเศษ นั่นคือ นโยบายที่พรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคชูเป็นนโยบายเรือธง โดยพรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ส่งสัญญาณเดินหน้าผลักดันสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ให้เกิดขึ้นจริงเพื่อหวังเป็นแหล่งกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ โดยบรรจุไว้เป็นนโยบายเร่งด่วนทำทันที
แม้ว่าก่อนหน้านี้ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล เคยออกมาตั้งโต๊ะแถลงประกาศจุดยืนคัดค้าน 4 ประเด็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์) พ.ศ…. เนื่องจากมองว่าไม่ตอบโจทย์และเป็นประโยชน์กับประชาชน
แต่ทว่า ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกมายืนยันชัดเจนว่า พรรคภูมิใจไทยไม่ได้คัดค้าน พร้อมกับระบุอีกว่า
“การร่วมรัฐบาลที่เป็นพรรคร่วม 5-6 พรรค โดยกติกามารยาท ต้องสนับสนุนซึ่งกันและกันอยู่แล้ว หากเราไม่สนับสนุน และพอถึงนโยบายเรา ฝั่งนู้นไม่สนับสนุน แล้วประชาชนจะได้อะไร ประเทศจะได้อะไร ฉะนั้น ต้องสนับสนุนให้มีการขับเคลื่อน แต่ต้องถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ไม่ผิดศีลธรรม เกิดประโยชน์อย่างชัดเจนต่อส่วนรวม”
ขณะที่นโยบาย “กัญชา” ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของพรรคภูมิใจไทยนั้น ถูกบรรจุอยู่ในนโยบายแผนระยะกลางและระยะยาว ซึ่งเขียนระบุไว้ชัดเจนว่า สนับสนุนการยกระดับสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย โดยใช้นวัตกรรมรวมถึงการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจ และควบคุมผลกระทบทางสังคม โดย “การตรากฎหมาย” เป็นต้น
โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมาการันตีอีกหนึ่งเสียงว่า “พรรคร่วมรัฐบาลไม่มีปัญหา นโยบายกัญชา และเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ พูดคุยกันหมดแล้ว ขอรอฟังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา”
ขณะเดียวกัน “แพทองธาร” นายกฯ และ ครม. ย่อมต้องเตรียมพร้อมรับมือการอภิปรายของพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชน ที่จะอภิปรายในธีม ‘1 ปีที่สูญเปล่า 3 ปี เจ๊าหรือเจ๊ง’ โดยจะใช้เวทีนี้ในการตรวจการบ้านรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ทำงานมา 1 ปีเต็ม ว่าสามารถผลักดันนโยบายตามที่ได้สัญญาไว้กับรัฐสภาเมื่อ 1 ปีที่แล้วได้จริงหรือไม่
และจะใช้โอกาสนี้ในการพยายามซักถาม และเสนอแนะนโยบายที่เห็นว่าสำคัญในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน รวมถึงเปรียบเทียบความแตกต่างหรือความเหมือนระหว่างนโยบายรัฐบาลนายเศรษฐา กับนโยบายรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ทั้งเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ซอฟต์เพาเวอร์ แก้รัฐธรรมนูญ ปัญหาที่ดินทำกิน การศึกษา ครบทุกประเด็นอย่างแน่นอนด้วย
ฉะนั้น จุดความน่าสนใจ หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลจะสามารถร่วมกันจับมือ เดินหน้าผลักดันร่างกฎหมายและขับเคลื่อนให้นโยบายเรือธง สำเร็จได้จริงหรือไม่
คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022