ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 กันยายน 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/
ในระบอบฮ่วย
ยังไม่ทันที่รัฐบาลชุดนี้จะเริ่มต้นทำงานอย่างเป็นทางการ คณะรัฐมนตรีชุด “แพทองธาร 1” ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ราวกับอยู่ในตำแหน่งนานเป็นปีแล้ว ไม่ต้องพูดถึงคดีความที่นักร้องทั้งที่ลึกลับและเปิดเผยยื่นเอาผิดจากคุณแพทองธาร ชินวัตร ยันพรรคเพื่อไทยจนไม่มีใครนับแล้วว่ามีกี่คดี
ล่าสุด คุณแพทองธารถึงกับโอดครวญว่าไม่อยากโดนคดีเพราะลูกยังเล็ก แต่คำร้องที่นักร้องยื่นเล่นงานรัฐบาลก็ยกระดับความเลอะเหมือนที่คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกลเคยเจอมาแล้ว นั่นคือยื่นเอาผิดจริยธรรมกรณีทำมือเป็นรูปมินิฮาร์ตขณะใส่ชุดขาวถ่ายรูปหมู่ ครม.หน้าทำเนียบรัฐบาล
เห็นได้ชัดว่าคำร้องแบบนี้เลอะเทอะจนกวนประสาทชัดๆ
แต่ก็เห็นชัดเช่นกันรัฐบาลคุณแพทองธารมีคนรักน้อยกว่าคนชังหรือคนที่เฉยๆ จนคนร้องครื้นเครงกับการทำนิติสงครามเลอะๆ โดยไม่มีใครปกป้องรัฐบาลเลย นอกจากคนในรัฐบาล, ลูกน้องรัฐบาล และคนที่ได้ประโยชน์จากรัฐบาล
เมื่อเทียบกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, พรรคก้าวไกล หรือคุณพิธาที่เผชิญนิติสงครามมาก่อนคุณแพทองธาร รัฐบาลนี้เข้าสู่อำนาจโดยมี “พันธมิตร” หรือฐานความสนับสนุนในสังคมน้อยมาก ต่อให้จะแบ่งตำแหน่งรัฐมนตรีและผลประโยชน์ให้พรรคการเมืองต่างๆ จนมีเสียง ส.ส.ในสภาถึงเกือบ 340 คน
รัฐมนตรีควรเป็นจุดแข็งในการสร้างความนิยมของประชาชนต่อรัฐบาล แต่โฉมหน้ารัฐมนตรียุคคุณแพทองธารก็ทำให้สังคมพะอืดพะอมจนชื่นชมได้ยาก เพราะรัฐมนตรีแทบทั้งหมดมาจากรัฐบาลคุณเศรษฐา ทวีสิน ที่ไม่มีผลงานเลย และแกนนำเกือบครึ่งคือรัฐมนตรีจากยุคคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประชาชนชัง
ไม่ใช่ความลับว่าคุณแพทองธารตั้งรัฐมนตรีตามจำนวน ส.ส.ในคอก, เงินลงทุนในพรรค และความใกล้ชิด “นายใหญ่” ซุ้มการเมือง รัฐมนตรีจึงมีคนที่เป็นรัฐมนตรีแทนพ่อหรือพี่, หากระทรวงลงไม่ได้, ไม่มีความรู้เรื่องที่ตัวเองทำงาน, นายดีลไว้ก่อนกลับ หรือเพราะนายเห็นว่าได้เวลาต้องเป็น เพื่อให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลคุณแพทองธาร
ควรระบุด้วยว่ารัฐมนตรีแบบนี้มีในยุครัฐบาลคุณเศรษฐา เช่นเดียวกับรัฐบาลคุณประยุทธ์ ประเทศไทยจากปี 2557-2567 จึงเป็นประเทศที่ประชาชนถูกปกครองด้วยรัฐมนตรีที่ไม่มีความสามารถที่หลายคนไม่ควรเป็นแม้เลขาฯ รัฐมนตรี
คุณประยุทธ์รัฐประหารปี 2557 แล้วประเคนเก้าอี้รัฐมนตรีทั้งหมดให้กับนายพลที่รัฐประหาร ส่วนเก้าอี้ที่เหลือก็ประเคนให้ปลัดที่พร้อมเป็นลูกน้องนายพล ประเทศไทยปี 2557-2562
จึงมีทหารเป็นรัฐมนตรีศึกษา, พลังงาน, เกษตร, ต่างประเทศ, พาณิชย์, แรงงาน, ทรัพยากร ฯลฯ โดยไม่มีความรู้เลย
เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่า “ความรู้” หมายถึงการเรียนและการเป็นรัฐมนตรีตามที่ตัวเองเรียนมา
ผมอยากย้ำว่า “ความรู้” ในที่นี้หมายถึงประสบการณ์การทำงานและความเป็นที่ยอมรับในเครือข่ายของคนที่อยู่ในวิชาชีพนั้นๆ ซึ่งอาจตรงบ้างหรือไม่ตรงบ้างกับสาขาที่รัฐมนตรีคนนั้นเรียนมาเลย
ยกตัวอย่างง่ายๆ “อ.โกร่ง” หรือ “วีรพงษ์ รามางกูร” เป็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจที่เปรื่องปราดที่สุดในรอบหลายปี ปริญญาแรกของ อ.โกร่ง คือรัฐศาสตร์ ไม่ใช่เศรษฐศาสตร์ แต่ความยอมรับที่นักเศรษฐศาสตร์มีต่อ อ.โกร่งสูงตั้งแต่ก่อนเป็นรองนายกฯ และเมื่อพ้นตำแหน่งความยอมรับก็มีอยู่ต่อไป
“อ.สุรินทร์” หรือ “สุรินทร์ พิศสุวรรณ” เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยที่โดดเด่นที่สุดในรอบหลายสิบปี
และต่อให้อาจารย์ไม่เคยมีตำแหน่งรัฐมนตรีอีกเลยตั้งแต่ปี 2544 ที่คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ชื่อของอาจารย์ก็เป็นที่นับถือในแวดวงวิชาการ, สื่อ และนักการทูตจนวันที่อาจารย์จากโลกนี้ไป
ประเทศไทยในรอบสิบปีมีรัฐมนตรีนับไม่ถ้วน แต่รัฐมนตรีเกือบทุกคนคุมกระทรวงต่างๆ โดยไม่เคยแสดงวิสัยทัศน์และไม่เคยเป็นที่ยอมรับของคนในแวดวงนั้นๆ
รวมทั้งไม่เคยถูกใครพูดถึงอีกหลังพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี จะมีคนเห็นหัวบ้างก็ตอนสวมหัวโขนรัฐมนตรีเท่านั้นเอง
คุณประยุทธ์กับคุณเศรษฐาเป็นนายกฯ ด้วยเสียงโหวตของ ส.ว.และพรรคการเมืองกลุ่มเดียวกัน สิ่งที่คุณประยุทธ์กับคุณเศรษฐาเหมือนกันคือเมื่อตกเก้าอี้นายกฯ แล้วก็ไม่เคยถูกใครเชิญไปแสดงความเห็นอะไรอีก สังคมฟังเสียงของสองคนนี้เฉพาะเวลาที่มีหัวโขนผู้นำประเทศเท่านั้นเอง
กระทรวงดิจิทัลฯ เป็นกระทรวงสำคัญที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ของไทย แต่รัฐมนตรีทุกคนมาจากระบบโควต้าจนได้คนที่ไม่เคยพูดอะไรเรื่องดิจิทัลมาคุมกระทรวงนี้ตลอด ทุกคนเกิดมาไม่เคยพูดเรื่องนี้ และไม่เคยมีคนในแวดวงดิจิทัลฟังคนเหล่านี้เมื่อพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีไปแล้วเลย
กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพลังงาน หรือกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ก็เป็นตัวอย่างของเรื่องแบบนี้เหมือนกัน รัฐมนตรีแทบทุกคนในกระทรวงนี้เป็นใครก็ไม่รู้ที่โชคดีได้มาคุมกระทรวงเหล่านี้
แต่ประเทศไทยโชคร้ายที่ได้คนแบบนี้เป็นรัฐมนตรีจนวันที่หลุดตำแหน่งจึงไม่มีใครเห็นหัวเลย
ผมอยากจะเรียกฝ่ายบริหารปี 2557-2567 ตรงๆ ว่า “ห่วยในระบอบเฮงซวย” แต่เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกนักร้องยื่นลงโทษหรือจับแขวนว่ามีความผิดทางจริยธรรมเรื่องด้อยค่าผู้มีอำนาจ จึงขอเรียกเป็นคำที่อ้อมๆ ขึ้นว่า “ฮ่วย” ซึ่งเพราะกว่าคำว่า “เฮงซวย”
คุณสมบัติของความฮ่วยคือแค่เห็นหน้าก็รู้ว่าบางคนไม่มีความสามารถ และยิ่งฟังหรือเห็นการทำงานก็ยิ่งพบว่าคนเหล่านี้ไม่มีคุณสมบัติและความเหมาะสมในตำแหน่งแม้แต่น้อย เพราะข้อดีอย่างเดียวของคนกลุ่มนี้คือการภักดีต่อนาย หรือ “นายใหญ่” จนนายให้ดำรงตำแหน่ง
กองเชียร์รัฐบาลมักอ้างว่าฮ่วยไม่เป็นไรถ้าอยู่ใต้ผู้นำที่เก่งและมีวิสัยทัศน์ที่ดี
แต่ผู้นำที่เก่งและดีไม่ควรตั้งคนฮ่วยมาคุมประเทศ
คนวิจารณ์เยอะเรื่องการตั้งลูกหรือน้องอดีตรัฐมนตรีที่มีความหมองมัว แต่ที่จริงเรามีนอมินีจากเมีย, พ่อ, ลูก ฯลฯ ของนายใหญ่ก๊วนการเมืองต่างๆ มานาน
ระบอบ “ฮ่วย” จึงกัดกร่อนประเทศไทยมานานนับสิบปี
ระบอบประชาธิปไตยเชื่อว่าคือการปกครองโดยประชาชน รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยจึงต้องทำให้เกิดนโยบายที่ประชาชนมีส่วนกำหนดมากที่สุด แต่เมื่ออำนาจรัฐอยู่ในมือผู้ที่ไม่รู้อะไรเลย หรือรู้น้อยกว่าข้าราชการ การปกครองประเทศก็จะอยู่ภายใต้ข้าราชการโดยปริยาย
ฮ่วยเป็นปัญหาเรื่อง “ระบอบ” ไม่ใช่ปัญหาคุณสมบัติของบุคคล เพราะประชาธิปไตยคือการควบคุม-ตรวจสอบผู้มีอำนาจ และฮ่วยคือระบอบที่ประชาชนตรวจสอบผู้ที่เป็นตัวจริงไม่ได้เลย
หัวใจของ “ระบอบฮ่วย” คือการทำให้ผู้เข้ามาทำงานมาจากโควต้า, สปอนเซอร์พรรค และการเป็นนอมินีของนักการเมืองที่มีมลทิน ประเทศไทยจึงไม่มีทางได้คนที่มีความสามารถจากระบอบฮ่วย มีแต่ได้คนที่คนทั้งกระทรวงฉลาดกว่าและเอกชนรู้เรื่องกว่าตลอดเวลา
ปัญหาของประเทศไทยในรอบหลายสิบปีคืออยู่ภายใต้ระบอบฮ่วย รัฐกลายเป็น Sector ที่ฉุดรั้งประเทศไม่ให้เจริญก้าวหน้าตามศักยภาพที่เป็นจริง ขณะที่ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมมีพลวัตและเดินไปข้างหน้ากว่าภาครัฐบาล
คิดดูง่ายๆ มีกี่คนที่บริษัทเอกชนจ้างไปบริหารหลังตกเก้าอี้ และมีกี่สิบคนที่พอหมดอำนาจแล้วไม่มีใครเห็นหัวเลย
ถ้าประเทศนี้มีอนาคต อนาคตของประเทศอยู่ที่ภาคเอกชนและประชาสังคม ไม่ใช่รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022