ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
รศ.ดร.ทศพล ทรรศนพรรณ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอบคำถามว่า “ถ้ากระบวนการยุติธรรมทั้งระบบมีปัญหาและคนไม่เชื่อถือไม่เชื่อมั่นจะเกิดอะไรขึ้น? ว่า
“สิ่งที่เราเห็นทุกวันนี้ คนเคารพกฎหมายถูกมองว่าเป็นเด็กดี ใครอยู่เหนือกฎหมายถูกมองว่าเท่ วัฒนธรรมนักเลงแพร่หลาย เราจะเห็นนักการเมืองภาพลักษณ์นักเลงกลายเป็นเซเลบ”
และเมื่อคนเรามีคดีความสิ่งแรกที่จะเกิดขึ้น คือ ทุกคนคิดว่าจะหนีกฎหมายอย่างไร หาเส้นสายอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นคนจะไม่เคารพกฎหมาย แล้วทำให้เราเผชิญหน้ากันด้วยอำนาจที่ดิบมากขึ้น คุณจะต้องพกปืน คบเพื่อนรวยหรือไม่ คุณทำมาหากินไม่ใช่เพื่อครอบครัว แต่คุณทำงานเพื่อจ่ายให้คนที่สามารถแก้ไขปัญหาในชีวิตได้
สังคมจะกลายเป็นสังคมแบบมาเฟียที่ต้องติดอาวุธ สะสมเงิน สร้างเครือข่าย
เราจะไม่มีที่สำหรับคนธรรมดาที่ตั้งใจทำงานเสียภาษี เคารพกฎหมาย เวลากำหนดอนาคตสังคมร่วมกันก็มีกติกา
เมื่อเราอยากแก้กติกาเราสามารถมาเปลี่ยนได้โดยการเลือกผู้แทน แต่ตอนนี้อยู่กับภาวะที่ว่าไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้นทั้งในระดับการเมืองและชีวิตประจำวัน
ผมมั่นใจเลยว่าคนจำนวนมากเริ่มรู้สึกไม่มั่นใจว่าชีวิตจะเกิดอะไรขึ้น กฎหมายยังแก้ปัญหาให้เราได้หรือไม่ เราต้องแสวงหาวิธีการใช้ความรุนแรงกับคนอื่นเพื่อเอาชนะปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันหรือเปล่า
นิติสงคราม
ผมมองว่าตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา เริ่มฉายให้เห็นว่าหลายๆ เรื่องเมื่อเกิดการต่อรองที่ไม่ลงตัวระหว่างสถาบันหรือกลุ่มต่างๆ ทางการเมือง วิธีการเดิมๆ ที่เคยใช้กันไม่ว่าจะเป็นการคุยหลังฉาก ไกล่เกลี่ยหรือการกระจายอำนาจ เมื่อไม่สำเร็จและทุกคนดึงมวลชนเข้ามาใช้เป็นตัวประกัน
และพอดึงมวลชนมาใช้หมายความว่าแต่ละฝ่ายก็ไม่สามารถผิดสัญญากับมวลชนตัวเองได้ก็ต้องยื้อกันไปอย่างนั้น การประนีประนอมจึงเกิดขึ้นยาก
สิ่งที่ผู้เล่นในทางการเมืองพยายามแสวงหา คือหาอำนาจที่เหนือกว่ากลุ่มอื่นๆ มาสยบกลุ่มอื่น
ถ้าเป็นแต่เดิมก็ใช้การรัฐประหาร จะเห็นว่ากลุ่มที่เชื่อมโยงกับกองทัพก็จะได้เปรียบ
แต่ช่วงหลังมานี้จะเห็นว่าใช้หมากนี้ไม่สะดวก เนื่องจากต้องเผชิญแรงกดดันและการต่อต้านจากประชาคมโลก
เมื่อการทำรัฐประหารไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม และไม่สามารถชนะได้ด้วยเสียงประชาชน เขาก็ต้องหาเครื่องมือใหม่ที่ทำให้ดูเหมือนสอดคล้องกับหลักสากล ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เปิดช่องให้คนจำนวนมากเห็นว่าถ้าตุลาการที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญสามารถวินิจฉัยแล้วมีผลทางการเมือง เราก็เปลี่ยนสัดส่วนตุลาการหรือขอบเขตอำนาจแทน
ถ้าอธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุดคือ เขาเจออาวุธใหม่ที่ซ่อนรูปอยู่ในฝัก ไม่ใช่การรัฐประหารเอารถถังมาวิ่งตรงๆ แล้วประชาคมโลกหรือชาวโลกแตกตื่น กลายเป็นว่ามันซับซ้อนเวลาคนมองเข้ามา
อย่างการยุบพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชน เขาก็สามารถให้คำอธิบายได้ เช่น มีความประพฤติที่ทุจริตประพฤติมิชอบ มีผลประโยชน์ขัดกัน หรือเซาะกร่อนบ่อนทําลายระบอบการปกครอง หรือเป็นคนที่ไม่มีจริยธรรม
ซึ่งสิ่งที่เมื่อเทียบกันแล้วเป็นปัญหาจริงๆ คือ คุณยังเชื่ออยู่ไหมว่าประชาชนมีความคิดเป็นของตัวเอง กำหนดเจตนารมณ์ผ่านการเลือกตั้ง หรือยังคิดว่าประชาชนยังไม่โต ไม่มีวิจารณญาณ หรือคุณธรรมจริยธรรมไม่ดีเลือกคนเลว
เพราะฉะนั้นต้องหาคนมาช่วยคิด และเริ่มสร้างคำที่คลุมเครือ เมื่อเกิดความคลุมเครืออำนาจดำมืดที่มีในการควบคุมการเมืองเดิมก็พบช่องในการกลับมาปรากฏ โดยที่ให้เหตุผลแบบไม่ต้องสอดคล้องกับหลักสากล เช่น บอกว่าไม่มีจริยธรรม แต่คำว่าจริยธรรมคืออะไร ทุกวันนี้เรายังไม่สามารถให้นิยามและองค์ประกอบได้ชัดเจน
เป็นการเปลี่ยนจากใช้อำนาจดิบมาใช้อำนาจที่แนบเนียนมากขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นที่เรียกว่า นิติสงคราม แพร่หลายทั้งในประเทศและดูนุ่มนวลกว่าในสายตาประชาคมโลก แต่ถึงจะดูนุ่มนวลแนบเนียนอย่างไร ท้ายที่สุดก็เริ่มถูกตั้งคำถาม
แม้แต่กรณีศาลรัฐธรรมนูญ เวลาตัดสินคดีคุณก็ตัดสินไป แต่คุณดันไปพูดว่าประเทศอื่นไม่ควรมายุ่งกับการตัดสินของตนเอง อันนี้ไม่ใช่หน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ แค่อยากพูดแสดงจุดยืนหรือร้อนตัว
ทำไม “คนมีความรู้สึก”
“คดีทางการเมือง” มักมีธง?
ปรากฏการณ์นี้เกิดจากหลักพื้นฐานที่สุดของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ ถ้าเราตั้งมั่นอยู่ในหลักการมีส่วนร่วม ตั้งแต่ตอนสร้างกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ต้องให้คนสร้างรู้ก่อนว่ากำลังจะเขียนอะไร มุ่งประสงค์อะไร แล้วถึงจะออกแบบและเขียนมาเป็นตัวอักษร
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมีการครองอำนาจในการเขียน คือเจตนารมณ์เป็นของคนที่มีอำนาจ ณ ตอนนั้นให้คนที่เป็นนักกฎหมายมารับกับเจตนารมณ์ของผู้ที่มีอำนาจในตอนนั้น
ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ นักกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เคยร่างรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ช่วงรัฐประหาร 2557 ได้โอกาสในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ฉบับนั้นถูกทำแท้ง เพราะไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้มีอำนาจ
เนื้อหาหลักการไม่ถูกยอมรับ เขาก็เลือกคนใหม่ที่เขียนได้ตามความต้องการของเขา แล้วใช้วิธีการต่างๆ เพื่อทำให้เกิดการทำประชามติและประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่ารับไปก่อนดีกว่าอยู่กับสภาวะที่มีคณะรัฐประหาร ขอเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง
ตรงนี้แหละคือปัญหาเกิดจากความไม่เข้าใจว่าตัวเองไม่ได้มีส่วนร่วมในการเขียนมาตั้งแต่ต้น เนื้อหามีผลในการจำกัดสิทธิตัวเองควรจะยอมรับจริงหรือเปล่า
แล้วเมื่อออกมาบังคับใช้ก็สะท้อนว่าจะนำไปสู่การตอบคำถามต่างๆ ที่มีในสังคมตามธงที่เขาได้ออกแบบไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ตอนเขียนแล้ว ทำให้เกิดความรู้สึกที่ว่าไม่เห็นหัวประชาชน เลยตัดสินอย่างนี้ เหมือนประชาชนออกเสียงมาหลายล้านเสียง
แต่เขาไม่สนใจ เพราะว่ามีเสียงที่กระซิบอยู่ในรัฐธรรมนูญบอกว่าให้ต้องตอบแบบนี้เขาก็ตอบไปอย่างนี้ แล้วเขาก็อ้างได้ว่าเขาตอบตามที่รัฐธรรมนูญเขียน
แต่ผมไม่ได้บอกว่าต้องยอมรับ เพราะจุดนี้ถกกันได้ว่าคุณตีความยังไง ตีความบนเจตนารมณ์หรืออุดมการณ์ความคิดอย่างไรอะไร เพราะฉะนั้นเลยต้องให้ความสำคัญกันตั้งแต่ตอนสร้างรัฐธรรมนูญขึ้น
การออกแบบวิธีการได้มาซึ่งคนที่ไปนั่งในกลไกในการตีความรัฐธรรมนูญอันนี้ก็สำคัญมาก
อาจารย์ทศพลเสนอว่า ประเทศไทยถึงเวลาต้องผ่าตัดกระบวนการยุติธรรม ต้องมีทั้งการผ่าตัดใหญ่ ทั้งการผ่าตัดเล็ก ถ้าเรายังคิดว่ามีความจำเป็นและมีประโยชน์ที่ต้องมีอยู่ เช่น ประโยชน์ดั้งเดิมตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 หรือหลักสากลที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลยุติธรรม ทำไมต้องมีศาลลักษณะนี้ ถ้าเห็นว่ายังมีจำเป็นต้องมีเพื่อควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติที่ใช้อำนาจผ่านการออกกฎหมายแล้วไปกระทบสิทธิประชาชนก็ควบคุมไม่ให้ละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นบทบาทแบบนี้ยังต้องการก็ต้องออกแบบใหม่ ต้องมีขอบเขตอำนาจให้ชัดขึ้นว่าตัดสินได้เฉพาะคดีอะไร ไม่เหมือนปัจจุบันที่ขยายขอบเขตอำนาจไปเรื่อยๆ
ประการที่สอง การปฏิรูปที่มาและโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญ เช่น แบบที่ 1 ถ้าดู 9 คนมีที่มาจากศาลยุติธรรม 3 คน ศาลปกครอง 2 คน นักวิชาการนิติศาสตร์ 1 คน นักวิชาการรัฐศาสตร์ 1 คน จะเห็นว่าเป็นข้าราชการประจำอย่างน้อย 7 จาก 9
แต่ประชาชนทั้งประเทศเขาเป็นใคร เขาอยากให้ใครเข้ามานั่งและตัดสินแล้วมีผลกับชีวิตเขามากกว่าศาลเป็นตัวแทนของใคร
แบบที่ 2 คือเรามองแบบ merit หมายถึงว่าความเชี่ยวชาญประสบการณ์ตัดสิน แม้ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนโดยตรง แต่ตัดสินและเป็นที่ยอมรับได้ทั้งจากประชาชนในประเทศหรือสากล ฟังแล้วรู้สึกถึงความยุติธรรมหรือความเชี่ยวชาญในกฎหมายรัฐธรรมนูญ
อย่างผู้เชี่ยวชาญศาสตร์นิติศาสตร์ เชี่ยวชาญเรื่องรัฐธรรมนูญไหม หรือด้านรัฐศาสตร์มีความเกี่ยวข้องการเมืองการปกครองหรือรัฐธรรมนูญหรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชนไหม ถัดมาข้าราชการประจำชินชาการใช้อำนาจเหนือประชาชนหรือเปล่า หรือเป็นข้าราชการที่ปกป้องสิทธิของประชาชน
อันนี้พูดในลักษณะที่ว่าเราไม่ล้มเราแค่ปรับปรุงและทำให้ถูกที่ถูกทางมากขึ้นก็ประมาณนี้
ชมคลิป
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022