ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เทศมองไทย |
เผยแพร่ |
รายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ เมื่อ 11 กันยายนที่ผ่านมา ว่าด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี ในไทย ตามแผนการ “อีวี 3.0” ที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้ไทยกลายเป็น “ฮับ” ของรถยนต์อีวีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่าสนใจไม่น้อย
เพราะสิ่งที่สะท้อนออกมา ไม่เพียงแต่เป็นปัญหาจำเพาะที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงสภาพความเป็นอยู่ของคนไทยในยามนี้ได้อย่างเอกอุ
ตามโครงการ “อีวี 3.0” บริษัทผู้ผลิตรถยนต์อีวี ที่เข้ามาปักหลักผลิตรถอีวีขึ้นในประเทศไทย จะด้วยการลงทุนเอง หรือร่วมลงทุนกับบริษัทในท้องถิ่นก็ตาม สามารถได้รับการสนับสนุนทางภาษีและอื่นๆ เพื่อผลิตรถอีวีภายในประเทศให้ได้ในปีนี้ เท่ากับจำนวนรถที่บริษัทนำเข้ามาจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในไทยในช่วงระหว่างปี 2022 และ 2023
ถ้าทำไม่ได้ตามเป้า ในปีหน้า บริษัทนั้นๆ มีพันธะผูกพันจำเป็นต้องเพิ่มการผลิตอีวีภายในประเทศขึ้นเป็น 1.5 คันต่อรถอีวีนำเข้า 1 คัน
ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อยอดขายรถอีวีในไทย ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์กันเอาไว้ แต่กลับขายได้น้อยมาก บรรดาผู้ผลิตรถอีวีทั้งสัญชาติจีนและญี่ปุ่น ที่รวมตัวกันอยู่ภายใต้สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งประเทศไทย ที่มี สุโรจน์ แสงสนิท เป็นนายกสมาคม เล็งเห็นตรงกันว่า ผลิตออกมาก็เท่ากับสร้างปัญหาให้กับผู้ผลิตเท่านั้น
ดังนั้น ทางสมาคมจึงออกมาร้องขอให้รัฐบาลไทย ขยายเวลาบังคับผลิตที่ว่านี้ออกไปอีกปี นี่คือเรื่องที่เป็นปัญหาของผู้ผลิตอีวี โดยสังเขป
คำร้องขอที่ว่านี้ ยังไม่ได้รับคำตอบจากทางบีโอไอ เพราะ “ยังไม่ได้รับแนวทาง” จากรัฐบาล “มินิฮาร์ท” แต่อย่างใด
ไทยได้ชื่อว่าเป็นฮับของการผลิตรถยนต์ทั้งสำหรับจำหน่ายภายในประเทศและเพื่อการส่งออกมาช้านาน เมื่อถึงยุคของยานยนต์ไฟฟ้า ทางรัฐบาลก็หวังจะก่อให้เกิดแรงจูงใจเพื่อให้ประชาชนในประเทศเปลี่ยนรถยนต์น้ำมันที่ใช้มาเป็นรถไฟฟ้า หรืออีวีกัน
ที่ทางการไทยตั้งเป้าหมายเอาไว้ก็คือ จะทำให้ 30 เปอร์เซ็นต์ของรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในปี 2030 เป็นรถยนต์ใช้ไฟฟ้า
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ยอดขายอีวีในไทยร่วงลงมากน้อยแค่ไหน แล้วตลาดรถยนต์โดยรวมลดลงเหมือนกันหรือเปล่า
ถ้าใช่ ปัญหาอยู่ตรงไหนกัน?
รอยเตอร์ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า ยอดขายรถอีวีในปี 2024 นี้ ที่ทางสมาคมคาดการณ์ไว้ว่าน่าจะถึง 100,000 คัน กลับขายได้เพียง 43,000 คันเท่านั้น
ยอดขายต่ำเตี้ยเรี่ยดินดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่แค่รถอีวีเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงรถยนต์ทุกชนิด
ผลผลิตโดยรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยทั้งอุตสาหกรรมในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ติดลบถึง 17.28 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ยอดรวมกันมีอยู่แค่ 886,069 คันเท่านั้นเอง
มองอย่างผิวเผิน ปัญหาอาจอยู่ที่ธนาคารไม่อยากปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ที่จะซื้อรถอีวี เพราะจู่ๆ บรรดารถอีวีก็พากันแข่งลดราคา จนหวั่นๆ กันว่า ถ้าหากจะมีการยึดรถกันก็จะไม่คุ้มค่าสำหรับธนาคาร
แต่ถ้ามองกันอย่างลึกซึ้ง ภาพที่สะท้อนออกมาให้เห็นก็คือ สภาพหนี้สินครัวเรือนในไทยที่ทำให้ไม่ว่าจะเป็นอะไร ก็ขายยากทั้งนั้นในเวลานี้
ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระดับหนี้ครัวเรือนสูงที่สุดของเอเชีย อัตราเฉลี่ยหนี้สินครัวเรือนของไทยในยามนี้เพิ่งพุ่งขึ้นสู่ระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เฉลี่ยแล้วครัวเรือนละ 606,378 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ถึง 8.4 เปอร์เซ็นต์
นั่นเป็นผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อต้นเดือนกันยายนนี้ และถือเป็นระดับเฉลี่ยหนี้ครัวเรือนที่สูงที่สุด นับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจมาในปี 2009
สาเหตุเป็นเพราะเศรษฐกิจโดยรวมไม่โต ส่งผลให้รายได้ในกระเป๋าชาวบ้านลด สวนทางกับค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นทุกวี่ทุกวัน
ภายใต้สภาพความเป็นจริงเช่นนี้ อย่าว่าแต่จะให้เปลี่ยนไปใช้รถอีวีกันเลย แม้แต่รถน้ำมันคันเก่า ที่ใช้ทำมาหากินกันมานานก็ทำทีทำท่าว่าจะเอาไว้ไม่อยู่กันแล้ว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022