13 เลขอาถรรพ์ หรือใจเราอ่อนแอเอง

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

นอกจากเลข 13 ฝรั่งมีความเชื่อเกี่ยวกับเลขอาถรรพ์อีกหลายตัว อาทิ 17 ที่ชาวอิตาลีถือว่าเป็นเลขแห่งความโชคร้าย

โดยมีที่มาจากการ 17 ในรูปแบบเลขโรมัน นั่นคือ XVII ที่พ้องเสียงกับภาษาละตินซึ่งส่งนัยถึงความตาย ส่วน 666 ก็เป็นเลขแห่งความชั่วร้าย เพราะชาวคริสต์เชื่อว่า 666 คือเลขของซาตาน

และที่ไม่ต้องพูดถึงเลยก็คือ เลข 13

แน่นอนว่า ลิฟต์เกือบทุกแห่งไม่มีชั้น 13 บางเมืองถึงขั้นประกาศห้ามไม่ให้โครงการบ้านใหม่ใช้เลข 13 ส่วนบ้านเก่าๆ นั้น บ้านเลขที่ 13 จะมีราคาถูกมาก ทั้งเช่า ทั้งซื้อ

คนจีนก็มีเลขอาถรรพ์ แน่นอน อันดับ 1 คือ 4 (Si) พ้องเสียงกับ “ซี้” ที่แปลว่า “ตาย” อีกเลขคือ 5 อ่านว่า Wu ซึ่งพ้องเสียงกับคำที่มีความหมายว่า “ไม่มี” อีกเลขคือ 14 อ่าน ที่อีกอย่างว่า Yao Si ซึ่งพ้องเสียงกับความหมายว่าตายตั้งแต่อายุยังน้อย

พี่ไทยก็มีเลขอาถรรพ์ และก็มีเป็นชุดเสียด้วย (ฮา)

ไล่ตั้งแต่ 0 เสียงพ้องกับคำว่า “สูญ” แน่นอนว่า ความหมายเป็นเรื่องลบแท้ๆ เลย

1 มีลักษณะคล้าย “ธูปดอกเดียว” หรือธูปไหว้ศพ

6 มีความเชื่อเหมือน 0 เพราะ “หก” ส่วนใหญ่ไม่ดีอยู่แล้ว เช่น “น้ำหก” ยิ่ง “หกล้ม” “หกคะเมน” นี่ยิ่งไปกันใหญ่

คนไทยหลายสมัย จึงไม่นิยมให้เลข 0 และ 6 มาอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นทะเบียนรถ บ้านเลขที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เบอร์โทรศัพท์

8 “เลขแห่งราหู” นำมาซึ่งความเดือดร้อน ขัดแย้ง และทะเลาะวิวาท

10 ถือเป็นเลขที่ไม่มงคลเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการรวมตัวกันของ 1 กับ 0 นั่นคือ “ธูปดอกเดียว” และ “สูญเสีย”

แต่ที่ดูเหมือนจะหนักข้อที่สุด ก็เห็นจะเป็นเลข 13 ของชาวตะวันตก

โดย “อาการกลัวเลข 13” หรือ Triskaidekaphobia จะทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อมาคู่กับ “วันศุกร์” ที่เชื่อมโยงอย่างหลวมๆ กับเรื่องโชคร้าย เพราะเป็นวันที่ “พระเยซู” สิ้นพระชนม์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเชื่อเกี่ยวกับ The Last Supper คือ 13 สมาชิกบนโต๊ะอาหาร “มื้อสุดท้าย” ของ “พระเยซู” ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะถูก “ยูดาส” ผู้ที่นั่งลำดับ 13 ทรยศ

 

ข้ามมาถึงยุคใหม่ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าชิงช้าสวรรค์ London Eye ที่เปิดใช้งานในปี ค.ศ.2000 จะยังคงความเชื่อโบราณเรื่องอาถรรพ์เลข 13

เพราะหมายเลขกระเช้าบน London Eye ใช้เลข 33 แทน 13 ทั้งๆ ที่มีทั้งหมดแค่ 32 กระเช้า

ดังนั้น “อาการกลัวเลข 13” ที่ปรากฏอยู่ในชื่อหนังเรื่อง Friday the 13th หรือ “ศุกร์ 13 ฝันหวาน” เมื่อมารวมความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ The Last Supper จึงกลายเป็นน่ากลัวมาก

มีอีกความเชื่อหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “ตำนานแห่งนอร์ส โลกิ”

“นอร์ส โลกิ” ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งความปั่นป่วนและหลอกลวง เป็นแขกคนที่ 13 ในงานเลี้ยงของเทพเจ้า ซึ่งเขาได้หลอกลูกชายคนหนึ่งของ “โอดิน” ให้ฆ่าลูกชายอีกคน

แน่นอนว่า แนวคิดเกี่ยวกับ “ตำนานแห่งนอร์ส โลกิ” ในโครงสร้างระดับวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ แม้ว่าในศตวรรษที่ 19 สหราชอาณาจักรมีความสนใจในมรดกเยอรมัน และนักวิชาการชาวอังกฤษหลายคนก็พากันแปล “ตำนานนอร์ส” ออกมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โลกิ” ใน “จักรวาล Marvel” ที่มีภาพลักษณ์แบบฮีโร่ ความสนใจเลข 13 ที่เกี่ยวกับ “โลกิ” จึงค่อนข้างจะย้อนแย้งอยู่พอสมควร

สอดคล้องกับผลการสำรวจประชาชนในสหราชอาณาจักร ที่ปรากฏว่า 14% เชื่อว่าเลข 13 เป็นเลขแห่งความโชคร้ายโดยเนื้อแท้ ขณะที่อีก 9% ไม่แน่ใจ

 

ศาสตราจารย์ ดร. Juliette Wood จาก Cardiff University ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านตำนาน และคติชนวิทยา บอกว่า “อาการกลัวเลข 13” ค่อนข้างจะเป็นความเชื่อสมัยใหม่

“อาการกลัวเลข 13 ไม่ใช่ความเชื่อที่มีมานานหลายศตวรรษอย่างที่เราคิด” ศาสตราจารย์ ดร. Juliette Wood กล่าว

“มันไม่ใช่คติชน ในแง่ของประเพณีเก่าแก่แต่เก่าก่อนอะไรทั้งนั้น และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า มีสมาชิก 13 คนในอาหารมื้อสุดท้าย หรือ The Last Supper ของพระเยซูเลย”

อาการกลัวเลข 13 เกิดจากการสร้างขึ้นของสื่อมวลชนช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่กลายมาเป็นที่นิยมในกระแสหลัก และต่อมาก็กลายมาเป็นคติชนสมัยใหม่ในตัวของมันเอง ศาสตราจารย์ ดร. Juliette Wood กล่าว และว่า

“อาการกลัวเลข 13 ถูกเสริมความเชื่ออย่างสุดฤทธิ์ผ่านสื่อต่างๆ รวมถึงภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่อง Friday the 13th หรือศุกร์ 13 ฝันหวาน”

เพราะหากสืบค้นย้อนกลับไปก่อนหน้าศตวรรษที่ 20 เราจะไม่พบการอ้างอิงใดๆ ถึง “เลข 13” ว่าเป็น “เลขแห่งความโชคร้าย” เลย ศาสตราจารย์ ดร. Juliette Wood กล่าว และว่า

“มันเป็นธรรมชาติที่ตลกมากของผู้คน ที่มักมองย้อนกลับไปหาเรื่องราวที่สอดคล้องกับการสร้างตำนาน และยึดติดตัวเอง หรือผูกโยงกับเรื่องราวที่มีชื่อเสียงที่สุด”

อย่างเรื่องสมาชิก 13 คนบนโต๊ะอาหาร The Last Supper ของ “พระเยซู” ที่ดูเหมือนว่ามันฟังดูสมเหตุสมผลมาก

“เพราะเป็นเรื่องของศาสนาที่มีผู้นับถือเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเรื่องใดเชื่อมโยงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรื่องนั้นก็ยิ่งดูสมเหตุสมผล” ศาสตราจารย์ ดร. Juliette Wood กล่าว

 

แม้จะเป็นเพียงความเชื่อทางไสยศาสตร์ แต่ “อาการกลัวเลข 13” ได้แพร่กระจาย และฝังแน่นอยู่ในวัฒนธรรมของหลายชาติ

“แม้แต่วิชาชีพที่มีความเป็นเหตุเป็นผลอย่างสถาปนิก หรือวิศวกรโยธา ก็ยังได้รับผลกระทบจากความเชื่อเรื่องการออกแบบ และก่อสร้างอาคาร ว่าไม่ควรมีชั้น 13”

แม้ตัวศาสตราจารย์ ดร. Juliette Wood เองก็ยังบอกว่า หากเป็นไปได้เธอไม่ค่อยอยากเดินลอดใต้บันได เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการบาดเจ็บ

“บางครั้ง เบื้องหลังความเชื่อทางไสยศาสตร์ก็บอกเราอีกแบบ แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เรามีความเข้าใจว่า ผู้คนได้เชื่อมโยงสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ กับกิจกรรมในชีวิตประจำวันกันอย่างไร” ศาสตราจารย์ ดร. Juliette Wood กล่าว และว่า

อันที่จริงแล้ว เลขอาถรรพ์มันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ถ้าในปัจจุบัน เรารับรู้ถึงวันอัปมงคลว่าคือวันศุกร์ที่ 13 หรือไม่ควรมีลิฟต์ชั้น 13 หรือบ้านเลขที่ 13

“แต่วันแห่งความอับโชคนั้นมีมานานแล้ว เพราะแนวคิดเรื่องวันโชคร้ายนั้น มีธรรมเนียมที่เก่าแก่มาก เช่นวันที่หลายคนไม่ทราบมาก่อน หรือเคยรู้แต่ลืมไปแล้ว ก็คือวันที่ 15 มีนาคม หรือที่รู้จักกันในชื่อ Ides of March” ศาสตราจารย์ ดร. Juliette Wood กล่าว และว่า

Ides of March เป็นวันซึ่งถูกผนึกแน่นอยู่ในความเชื่อของชาวโรมัน เพราะเป็นวันลอบสังหาร “จูเลียส ซีซาร์” ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางผ่านวรรณกรรมของเช็กสเปียร์

“หลายๆ ครั้ง แม้หลายเรื่องดูเหมือนจะขัดๆ กับเหตุและผลหลายๆ อย่าง แต่การที่เราสามารถหยิบยกประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ขึ้นมาสาธยายสาเหตุของบางเรื่องบางราว ว่าเกิดจากสิ่งลี้ลับทั้งหลาย ที่แม้จะไม่ใช่พลังชั่วร้ายอะไร แต่บางหนก็อาจเป็นอันตรายถึงตายได้” ศาสตราจารย์ ดร. Juliette Wood กล่าว

“แต่ก็นั่นแหละ บางครั้ง เรื่องอะไรทำนองนี้ กลับทำให้เรารู้สึกสบายใจ และปลอดภัยอย่างบอกไม่ถูก คุณว่าไหมคะ” ศาสตราจารย์ ดร. Juliette Wood ทิ้งท้าย