เงินคืนภาษีกลุ่มคนมีรายได้น้อย Negative Income Tax ของรัฐบาล สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้มากน้อยเพียงใด?

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
(Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP)

หนึ่งในนโยบายที่ถูกพูดถึงในการแถลงของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ได้ทำการแถลงนโยบายคือนโยบายที่เรียกว่า “ภาษีเงินได้ติดลบ” หรือ Negative Income Tax

เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของรัฐบาล

ย้อนกลับไปราว 2 ปีก่อน กลุ่ม CARE ซึ่งรวมกลุ่มนักนโยบายที่สัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยได้มีการพูดถึงนโยบายลักษณะนี้

โดยเริ่มต้นที่นโยบาย “เงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า” หรือ Universal Basic Income-UBI เป็นเงินเดือนพื้นฐานสำหรับประชาชนทุกคนที่มีความพยายามผลักดันทั่วโลก

แต่เท่าที่ผู้เขียนได้ติดตาม นโยบาย UBI ใช้งบประมาณผูกพันสูง และต้องมีการลดงบประมาณอื่นที่ซ้ำซ้อนอย่างมีนัยสำคัญ

ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณการบริหารจัดการสวัสดิการ รวมถึงบำนาญข้าราชการ

UBI จึงไม่เคยถูกนำเสนอในนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองใด ในช่วงปีที่แล้ว หรือถูกพูดถึงในระดับนโยบายสาธารณะอีกเลย

จนกระทั่งครั้งนี้ นโยบาย Negative Income Tax ได้ถูกยกนำมาแถลงนโยบาย

คำถามคือหากจัดลำดับขั้นของสวัสดิการ Negative Income Tax-NIT อยู่ในระดับใดของนโยบายสวัสดิการ

 

หากเราพูดถึงสวัสดิการแนวทางหลักในโลกที่เกิดขึ้นจริง ก็คือ แนวนโยบายรัฐสวัสดิการ ซึ่งคือรูปแบบรัฐที่ให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการให้ประชาชนอย่างถ้วนหน้า ผ่านการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ซึ่งผมมีโอกาสพูดถึงในคอลัมน์นี้หลายครั้ง

ที่พวกเราคุ้นเคยกันก็ประเทศอย่างสวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ รวมถึงไอซ์แลนด์

ซึ่งก็เป็นหลักการง่ายๆ คือ คนรวยในสังคมก็รวยจากหยาดเหงื่อแรงงานของคนอื่น ใช้ทรัพยากรของประเทศได้มากกว่าคนอื่น พวกเขาก็พึงเสียภาษีกลับคืนมาสู่สังคมมากกว่าคนกลุ่มอื่น เพื่อเป็นเงินเลี้ยงดูเด็ก เงินบำนาญ การศึกษาฟรี ขนส่งสาธารณะมีคุณภาพ สวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย ตลอดจนความช่วยเหลือทางสังคมในมิติต่างๆ

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง “รัฐสวัสดิการ” ถือเป็นฉันทามติในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ก่อนที่จะถูกท้าทายด้วยแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ในช่วงทศวรรษ 1980 ก่อนที่ในช่วงปัจจุบันแนวคิดเสรีนิยมใหม่ที่เพิ่มอำนาจของกลุ่มทุนข้ามชาติ และทำลายขบวนการภาคประชาชน จนสร้างความเหลื่อมล้ำมหาศาลเหลือประเทศรัฐสวัสดิการเต็มขั้นอยู่ไม่กี่ประเทศ

อันเป็นจุดกำเนิดของแนวคิด UBI หรือ NIT ว่าเราสามารถมีทางลัดในการลดความเหลื่อมล้ำได้หรือไม่ หากไม่ต้องปฏิรูประบบราชการในการจัดสวัสดิการ

หากเปรียบเทียบแล้ว UBI ก็จะเป็นส่วนที่มีความก้าวหน้าที่สุดเพราะทุกคนมีหลักประกันรายได้ โดยไม่ต้องผ่านระบบราชการที่มีความซับซ้อน

รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าแม้จะมีความเป็นมิตรต่อผู้คนในระดับที่สูงแต่ต้องอาศัยการปฏิรูประบบราชการและความสัมพันธ์เชิงอำนาจอันจำเป็นต้องอาศัยความมุ่งมั่นทางการเมืองสูง

ส่วน NIT ก็คืออยู่ตรงกลางระหว่าง บัตรสวัดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) คำถามสำคัญคือมันสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้มากน้อยเพียงใด

 

Negative Income Tax (NIT) เป็นแนวคิดเชิงนโยบายที่มุ่งสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

โดยการที่รัฐจะมอบเงินสนับสนุนให้กับผู้มีรายได้น้อยแทนการเก็บภาษี

กรณีของประเทศไทย NIT มีหนึ่งในข้อดีหลักของ NIT คือการเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มที่มีรายได้น้อยโดยตรง

ทำให้พวกเขามีศักยภาพในการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น

ลดภาระความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจในกลุ่มคนทำงานที่มีรายได้น้อยหรือคนที่อยู่ในภาคนอกระบบเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน การกระจายทรัพยากรจากกลุ่มรายได้สูงไปสู่กลุ่มรายได้น้อย

จะช่วยแก้ไขโครงสร้างการกระจายความมั่งคั่งที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการลดช่องว่างระหว่างกลุ่มคนรวยและคนจนในสังคม

โดยหลักการสำคัญคือเมื่อคนยื่นภาษี แล้วมีรายได้ต่ำกว่าค่ากำหนด ก็จะเป็นรัฐที่จ่ายเงินได้ย้อนกลับเพื่อให้ประชาชนที่มีรายได้ต่ำได้รับการชดเชยที่เพียงพอ เป็นขั้นบันได คนจนมากได้มาก คนจนน้อยได้น้อย

อย่างไรก็ตาม การนำ NIT มาใช้ในประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ

เช่น ภาระงบประมาณที่รัฐต้องแบกรับ ซึ่งอาจกลายเป็นข้อจำกัดหลักในการดำเนินนโยบายนี้

นอกจากนี้ การจัดการข้อมูลรายได้ของประชาชนอย่างแม่นยำและเป็นระบบ เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาให้มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตและการใช้ประโยชน์จากนโยบายในทางที่ผิด

การกำหนดเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำที่เหมาะสมเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ หากเกณฑ์ต่ำเกินไปก็จะไม่สามารถแก้ไขความเหลื่อมล้ำได้อย่างเพียงพอ แต่หากตั้งไว้สูงเกินไปก็อาจทำให้รัฐต้องแบกรับภาระที่เกินกำลัง

ดังนั้น การวางแผนนโยบาย NIT ในประเทศไทยจึงต้องมาจากการประเมินที่ครอบคลุมและรอบคอบ โดยคำนึงถึงทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจและการคลัง รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรของรัฐให้มีประสิทธิภาพที่สุดในการลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง

 

อย่างไรก็ตาม การมุ่งหน้าไปที่ NIT เลยก็เหมือนเป็นการบอกว่า “ความพยายามในการสร้างรัฐสวัสดิการ” เป็นสิ่งที่เกินกำลังเลยต้องลดเพดาน

ซึ่งผู้เขียนตั้งคำถามอยู่เสมอว่า การทำให้เด็กทุกคนมีค่าเลี้ยงดู เรียนมหาวิทยาลัยฟรี หรือคนแก่มีบำนาญ ไม่ได้เป็นเรื่องซับซ้อนขนาดนั้น

ผมลองยกตัวอย่างประเทศสวีเดนไม่มีการใช้ Negative Income Tax (NIT) โดยตรง แต่สิ่งที่สวีเดนทำ คือการสร้างรัฐสวัสดิการที่มีความเสมอภาคและเป็นธรรม ผ่านระบบภาษีก้าวหน้าและสวัสดิการถ้วนหน้า ที่ซึ่งภาษีไม่ได้เป็นเพียงกลไกในการสะสมรายได้ของรัฐ แต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการกระจายทรัพยากรให้แก่ประชาชนทุกคนในสังคมระบบภาษีของสวีเดนเป็นแบบก้าวหน้า

กล่าวคือ ผู้มีรายได้สูงต้องจ่ายภาษีมากขึ้น ในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยแทบไม่ต้องจ่าย ซึ่งนี่คือการสร้างความยุติธรรมทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

รัฐสวัสดิการของสวีเดนให้การสนับสนุนทั้งในเรื่องการรักษาพยาบาล การศึกษา การดูแลเด็ก และการช่วยเหลือคนว่างงาน

โดยทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะไม่มี NIT แต่สวีเดนได้แสดงให้เห็นว่านโยบายที่เน้นการกระจายรายได้ผ่านการเก็บภาษีและการสนับสนุนด้านสวัสดิการถ้วนหน้าสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รัฐไม่ได้มองคนจนหรือคนรายได้น้อยว่าเป็นภาระ แต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและสิทธิพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน

ในมุมมองของผู้เขียน NIT จึงควรเป็นเพียงนโยบายเสริมทางสวัสดิการ

แต่การจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้ายังคงมีความสำคัญและจำเป็น เพราะผลลัพธ์มีความต่างกัน ที่มากไปกว่าแค่ลดความยากจน

รัฐสวัสดิการยังมีหลักการสำคัญคือการสร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันผ่านระบบสวัสดิการระบบเดียวกัน ไม่ว่าร่ำรวย ยากจน ก็สามารถใช้ระบบการศึกษา การรักษา ขนส่งสาธารณะระบบเดียวกันได้ อันสามารถนำสู่การวางแผนชีวิตได้ดีกว่า

ระบบการคืนภาษีกลุ่มคนมีรายได้น้อยที่รัฐบาลกำลังผลักดันอยู่ ซึ่งอาจใช้งบประมาณสูง แต่ไม่ได้สร้างตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจได้เท่าที่คาดหวัง