ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

เดือนกันยายนนี้

มีเหตุการณ์ที่ไม่ควรรำลึกถึง

แต่ไม่ควรลืม และสมควรที่คนรุ่นหลังจะเรียนรู้

หนึ่ง คือ ความพยายามรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2528

โดย พ.อ.มนูญ รูปขจร (ปัจจุบัน พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร)

ซึ่งล้มเหลว ด้วยเหตุมีบางฝ่าย “ไม่มาตามนัด”

แต่ที่สุดก็ดำเนินไปตาม “พิมพ์นิยม” คือได้รับการนิรโทษกรรม

อีกหนึ่ง คือ การรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549

โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ

ครั้งนี้สำเร็จ สามารถโค่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลงได้

 

ผ่านมาถึงกาลปัจจุบัน

ประเทศไทยยังไม่อาจพูดได้ว่า “ปลอดการรัฐประหาร”

ทำให้เมื่อ 19 เมษายน 2566 อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สุทิน คลังแสง

ผลักดันนโยบาย 2 ข้อ คือ

1. ปฏิรูปกองทัพ ให้เป็นทหารมืออาชีพ ป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน

2. เสนอกฎหมายป้องกันต่อต้านการรัฐประหาร

ต่อที่ประชุมสภากลาโหม

โดยกฎหมายป้องกันปฏิวัติรัฐประหาร มีสาระสำคัญ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

“มีคำสั่งให้พักราชการทันที เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ข้าราชการทหารผู้ใดใช้กำลังทหารเพื่อยึดหรือควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาลหรือเพื่อก่อการกบฏ”

อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวสิ้นสุดลง หลังจากที่นายสุทินต้องพ้นจากตำแหน่ง

เปิดทางให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน

 

ยังไม่รู้ว่า นายภูมิธรรมจะสานต่อนโยบายของนายสุทิน หรือไม่

แต่ก็คาดหมายว่านายภูมิธรรมคงไม่ชูนโยบายที่ละเอียดอ่อนขึ้นมาทันที

เพราะเพียงแค่ก้าวเข้ามา โดยยังไม่ได้บริหารงานในกระทรวงกลาโหม

นายภูมิธรรมก็ตกเป็นเป้าแห่งการโจมตีจากอดีตนายทหารเก่า อดีต ส.ว. ที่มีแนวคิดอนุรักษ์

ว่า นายภูมิธรรม คือ สหายใหญ่ อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ที่เคยเป็นศัตรูกับกองทัพในห้วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

จึงไม่สมควรที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชากองทัพของประเทศ

มีการพยายามปลุกกระแส “ขวาจัด” ขึ้นมาต่อต้าน

พร้อมกับที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เข้ามาขยายผลทางการเมือง

โดยร้องต่อประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ว่าเข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 หรือไม่

กรณีเสนอชื่อ นายภูมิธรรม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

แม้หลายฝ่ายจะมองว่า “เรื่องไม่เป็นเรื่อง”

แต่กระนั้น การเมืองไทย ขึ้นชื่อว่ามากด้วย “การเมืองพิสดาร”

อะไรที่คิดว่าจะไม่เป็นเรื่อง ก็เป็นเรื่องได้

ดังนั้น จึงไม่อาจวางใจได้

เพราะความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อไทยกับกองทัพ ก็มีประเด็นให้ขยายผลอย่างชวนหวาดเสียวไม่น้อย

โปรดอ่านคอลัมน์หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว โดย มุกดา สุวรรณชาติ ที่หน้า 16

“ต้านสหายใหญ่ ‘ภูมิธรรม’/ ปลุกผี! คอมมิวนิสต์ จนเคยชิน/ฮุบ…อำนาจ ไว้หากินตลอดไป”

 

นอกจากนี้ คอลัมน์โลกทรรศน์ ของ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ หน้า 66 ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้

ชี้ชวนให้พิจารณา

“ข้อสังเกตบางประการ

กองทัพกับพรรคเพื่อไทย”

น่าสนใจ

โดยเฉพาะผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ ที่จะมาใหม่

จะมีท่าที “ต้านปฏิรูปกองทัพ และไม่พอใจพลเรือนคุมกองทัพ” เพียงใด •