ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
เพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ไทยเรื่อง “วิมานหนาม” ผลงานการกำกับการแสดงของ “บอส-นฤเบศ กูโน” (แปลรักฉันด้วยใจเธอ) ซึ่งนำแสดงโดย “เจฟ ซาเตอร์” “อิงฟ้า วราหะ” และ “สีดา พัวพิมล”
ตามความเห็นส่วนตัว นี่ถือเป็นหนังไทยไม่กี่เรื่องในช่วง 2-3 ปีหลัง ที่สนุกมากและมีประเด็นชวนขบคิดซ่อนอยู่เยอะแยะเต็มไปหมด
ต่อไปนี้ คือ 3 ประเด็นที่ทำให้ผมรู้สึกประทับใจภาพยนตร์เรื่องนี้มากเป็นพิเศษ
หนึ่ง
“วิมานหนาม” คือสื่อบันเทิงซึ่งยืนยัน ยืนกราน และกล่าวถึงความจำเป็นที่สังคมไทยจะต้องมี “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” อย่างหนักแน่น จริงจัง ไม่ได้แค่พูดลอยๆ เล่นๆ และไม่ได้มีท่าทีฟูมฟายล้นเกิน โดยที่บรรดาตัวละครในหนังไม่ได้หลุดคำว่า “สมรสเท่าเทียม” ออกมาเลยสักครั้งเดียว!
นี่ถือเป็น “ความเหนือชั้น” ของคนทำหนังอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
สอง
จากข้อแรก “วิมานหนาม” จึงมีสถานภาพเป็น “หนังวาย” หรือ “หนัง LGBTQ+” อย่างไม่ต้องสงสัย
อย่างไรก็ตาม นี่กลับเป็น “หนังวาย” ที่เดินทางไปได้ไกลกว่า “หนัง-ซีรีส์วาย” ส่วนใหญ่ ผ่านการกำหนดบทบาทให้ตัวละครนำ ซึ่งเป็น “คนชนบทกึ่งเมือง” หรือ “คนชั้นกลางระดับล่างในชนบท” มีความข้องเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจของการเพาะปลูกและขาย “ทุเรียน” อันไพศาลและซับซ้อน
ในห้วงเวลาที่อุตสาหกรรมบันเทิงแบบ “วาย” ของไทยคล้ายจะผ่าน “จุดสูงสุด” ของตัวเองมาแล้ว และเริ่มถูกมองเป็นเพียงโลกเฉพาะใบเล็กๆ ของดาราคู่หนึ่งกับ “แฟนด้อม” หลักร้อยหลักพันของพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ
จนมีผู้กล่าวติดตลก (ร้าย) ในทำนองว่า แม้แรกๆ เราอาจตื่นเต้นแปลกใจเมื่อได้เห็นภาพเหล่าด้อมของนักแสดงวายนับพันคนไปรุมกรี๊ดกร๊าดให้กำลังใจดาราคู่โปรดของพวกตนในงานขายสินค้าสักงาน (ซึ่งดาราคู่นั้นได้รับการว่าจ้างไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้บางผลิตภัณฑ์)
แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราจะรู้สึกตื่นเต้นน้อยลง เพราะได้ค้นพบเพิ่มเติมว่าแฟนด้อมหลายพันคนเหล่านั้นอาจไม่ได้ซื้อสินค้าในงานสักชิ้นเดียว และถ้าลองฝ่าวงล้อมของเหล่าด้อมออกมาสู่ “โลกภายนอก” เราก็จะเจอพ่อแม่พี่น้องอีกหลายพันคนที่กำลังเดินจับจ่ายใช้สอยอยู่ในงานเช่นกัน โดยพวกเขาไม่ได้รับรู้อะไรด้วยเลยเกี่ยวกับกิจกรรมดาราพบแฟนคลับหย่อมนั้น
พูดอีกแบบได้ว่า ในขณะที่หลายคนเริ่มสบประมาทว่า “วงการวาย” มีศักยภาพเป็นแค่ธุรกิจ “แฟนเซอร์วิส” ขนาดเล็กๆ (หรือเป็น “นิชมาร์เก็ต” เอามากๆ)
“หนังวายที่มากกว่าวาย” อย่าง “วิมานหนาม” กลับพยายามต่อสู้กับบทสรุปข้างต้น บนฐานคิดที่ว่า “เรื่องราวของตัวละครวาย” สามารถข้องเกี่ยว-เป็นส่วนหนึ่งกับระบบเศรษฐกิจที่ “ใหญ่” และ “จริง” กว่านั้นได้
สาม
ประเด็นที่ผมรู้สึกชอบที่สุดใน “วิมานหนาม” ก็คือ ต่อให้ “ชาวบ้านคนชนบทกึ่งเมือง” หรือ “พลเมืองผู้ตื่นรู้” (เรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ) ในหนังเรื่องนี้ จะโหดร้าย เลือดเย็น หลอกลวง และกดขี่ขูดรีดต่อกันเพียงใด
แต่ทุกคนต่างชิงไหวชิงพริบผ่านการเล่นเกม “ต่อรอง-ยื้อแย่งผลประโยชน์” กันอย่างสุดฤทธิ์และเขี้ยวลากดิน โดยต่างฝ่ายคล้ายจะเข้าใจตรงกันว่าการขาดใคร (มิตร/ศัตรู) ไปสักคนหนึ่ง ย่อมส่งผลให้ดุลอำนาจ-รูปแบบการยังชีพใน “สวนทุเรียน” แห่งนี้ต้องเปลี่ยนแปลงไป อย่างที่จะสร้างความยากลำบากให้แก่คนที่เหลืออยู่
ดังนั้น การจะลงมือกำจัดใครสักคนจึงต้องผ่านการคิดใคร่ครวญอย่างถ้วนถี่ และต้องรอคอยจังหวะ-เวลา-โชคชะตาที่เหมาะสม ซึ่งไม่ได้มาถึงง่ายๆ
ทว่า บุคคลที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวเกี่ยวกับบริบท-ปูมหลังความขัดแย้งของตัวละครรายอื่นๆ มากที่สุด (ส่วนเรื่องการเกษตร-การค้าขายก็ไม่น่ารู้ แถมยังเปิดตัวมาในฉากที่เป็น “รัฐนาฏกรรม” อันเปล่าประโยชน์ทางเศรษฐกิจสุดๆ อย่างพิธีกรรมยิงบั้งไฟขอฝน) ซึ่งเข้ามาทำให้ “วิมานหนาม” ต้องพังทลายลงอย่างแท้จริง ผ่านการใช้ความรุนแรงอย่างบ้าคลั่ง โดยไม่คิดไตร่ตรองอะไรทั้งสิ้น แล้วฉกฉวยผลประโยชน์หนีหายไป ก็คือข้าราชการอย่าง “ปลัดต๊าง”
(โครงเรื่องส่วนนี้จะล้อไปกับคำอธิบายที่ตัวละครทนายความเคยบอกกับ “ทองคำ” ตอนต้นเรื่องว่า สุดท้าย ถ้า “แม่แสง” ตายไปอีกคน ทรัพย์สิน คือ ที่ดิน บ้าน สวนทุเรียน ก็จะไม่ตกไปถึงมือ “โหม๋” หรือ “ทองคำ” หรอก แต่จะไปอยู่ในความครอบครองของ “รัฐ” แทน)
จึงอาจสรุปได้ว่า ไม่ว่า “วิมานหนาม” จะเละเทะฟอนเฟะเพียงใด แต่ผู้คนดีๆ เลวๆ ในนั้นยังคงมีความหวัง-ความฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า กระทั่งมี “ข้าราชการ” หรือ “ตัวแทนของรัฐราชการ” โผล่เข้ามานั่นแหละ ความหวัง-ความฝันทั้งหลายจึงสูญสลายยุติลง และการออกเดินทางไปแสวงหาโอกาสอื่นๆ ในโลกภายนอก ก็กลายเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่
ส่วนคนที่ต้องจมปลักกับ “วิมานหนาม” ที่พังทลายลงไปเรียบร้อยแล้วในเชิงคุณค่า ก็คือตัวละครที่หลงดึง “ข้าราชการ/รัฐราชการ” เข้ามายุ่งพัวพันในเกมนี้นั่นเอง
ป.ล. ขออนุญาตแถมท้ายด้วยการกล่าวถึงฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งใน “วิมานหนาม” ที่ผมประทับใจมาก นั่นคือฉากพิพากษาคดี (ตัดสินข้อพิพาทเรื่องมรดก) ในศาล (จำลอง) ที่แลดูเล็กน้อย จิ๊บจ๊อย รวบรัด จนเหมือนเป็น “ละครเวทีหน้าชั้นเรียน” ซึ่งถูกใส่แทรกเข้ามาในภาพยนตร์จอใหญ่แบบผิดฝาผิดตัว
อย่างไรก็ดี คนดูน่าจะสังเกตเห็นได้ว่าองค์ประกอบความเป็นศาล/ระบบกฎหมายไทยกลับดำรงอยู่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ในฉาก “มินิมอล-ไม่สมจริง” นั้น ราวกับหนังกำลังบอกพวกเราว่า “กระบวนการยุติธรรมไทย” มันก็มีน้ำยาแค่ประมาณนี้แหละ •
| คนมองหนัง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022