ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เหยี่ยวถลาลม |
เผยแพร่ |
อ่านวรภัทรคัดมาคุย หัวข้อเรื่อง “ครม.ในฝัน” ซึ่งเขียนโดย วรภัทร โตธนะเกษม จาก “กรุงเทพธุรกิจ” สัปดาห์ที่แล้วชวนให้มั่นใจยิ่งขึ้นว่า “การเมืองเลว” ทำลายประเทศในทุกด้าน
คุณวรภัทรเริ่มเรื่องว่า ในคืนก่อน ครม.อุ๊งอิ๊งคลอดนั้น “ฝันแปลกๆ” ฝันเห็นรายชื่อรัฐมนตรี มีประวัติการศึกษาและประสบการณ์ที่น่าทึ่ง ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีการค้าอุตสาหกรรม รัฐมนตรีศึกษา สาธารณสุข กระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพัฒนาประเทศ ฯลฯ คุณภาพแน่นเปรี๊ยะทุกคน
แต่พอ “ตื่น” ขึ้นมาปรากฏว่า ไม่ใช่ “ครม.ไทย” แต่เป็น “ครม.สิงคโปร์”
หากอยู่ในยุคก่อนหน้า สำนวนประชดแบบนี้อาจถูกคนประเภทหนึ่งรุมกระหน่ำว่า ชังชาติ
น่าเศร้าหนักเข้าไปอีก เมื่อคุณวรภัทรตอบท้ายว่า สิงคโปร์เพิ่งเกิดเมื่อปี 1965 (ปี พ.ศ.2508) ประเทศเต็มไปด้วยคนจน ขาดการศึกษา ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ แม้แต่น้ำสะอาดยังขาดแคลน ในขณะที่แผ่นดินไทยอุดมสมบูรณ์ ประเทศมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 ก่อนสิงคโปร์เกิดถึง 4 ปี
แต่ใน ค.ศ.2024 ไทยห่างจากสิงคโปร์ชนิดไม่เห็นฝุ่น!
ข้อแตกต่างอย่างสิ้นเชิงคือ ตั้งแต่ ค.ศ.1965-2024 เป็นเวลา 59 ปี สิงคโปร์ไม่เคยมี “รัฐประหาร”!
เมื่อปักธงว่าจะเป็นรัฐที่ปกครองด้วยกฎหมายก็ต้องไม่ให้ค่ากับการเมืองป่าเถื่อน ที่ช่วงชิงอำนาจกันด้วย “กำลัง” และ “อาวุธ”
“รัฐประหาร” คือรากเหง้าของปัญหา
ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยต้อง “เชื่อมั่น” ในระบบ กับจะต้อง “ให้โอกาส” กับพลเมืองได้พัฒนาศักยภาพในการปกครองภายใต้หลักการ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” และการใช้อำนาจของทั้ง 3 ผ่านฝ่ายบริหาร, นิติบัญญัติ และตุลาการ นั้นต้องมีการแบ่งแยก ตรวจสอบและถ่วงดุลกัน
สังคมที่พัฒนาทางปัญญาแล้วจะไม่ยินยอมให้คณะบุคคลใด “ฉวยโอกาส” รวบรัดตัดตอนด้วยการใช้กำลังและอาวุธเข้ายึดอำนาจ
ต่างไปจากกรณีของประเทศไทย
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 คณะราษฎรล้มลุกคลุกคลาน 15 ปี (2475-2490) และเมื่อเกิด “รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490” ก็นับว่าปิดฉากยุคคณะราษฎร
ตั้งแต่ปี 2490-2557 เป็นเวลา 67 ปี ประเทศไทยปกครองด้วย “รัฐประหาร”!
มีรัฐประหารเกิดขึ้น 11 ครั้ง เฉลี่ยแล้วทำกันทุกๆ 6 ปี
หากเริ่มนับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2490 ถึงปัจจุบันรวม 77 ปี “ครม.ไทย” ที่มาจากคณะรัฐประหารรวมทั้งเครือข่าย บริหารประเทศรวมกัน 51 ปี
ลองคิดดูว่า “คณะรัฐมนตรี” จะมี “ใบหน้า” เป็นอย่างไร
เด็กฮาร์วาร์ด เคมบริดจ์ ออกซ์ฟอร์ด จะมีโอกาสได้ใช้ความรู้ความสามารถบริหารประเทศหรือ
ประเทศไทยปกครองด้วยกฎหมายก็แต่เพียง “ฉากหน้า” นิติรัฐลวงๆ พลเมืองถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมได้เสียในอำนาจรัฐ ระบบยุติธรรมไม่เกรงอกเกรงใจ “คนตัวเล็ก” นักการเมือง “พลเรือน” ก็ไม่ได้มีพิษสงอะไร จะกำจัดออกจากเส้นทางเสียก็ง่ายนิดเดียว แค่มี “นักร้อง” เขี่ยลูกให้ “ครม.ไทย” ก็ร่วงทั้งคณะ
ต่อให้เป็นถึง “นายกรัฐมนตรี” ประมุข 1 ใน 3 สถาบันที่ใช้อำนาจอธิปไตยก็ “ไม่เหลือ”!
เทียบกับ “ครม.” สายรัฐประหาร เช่น ครม.ประยุทธ์ ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2566 แล้ว นักร้องปากดี “เงียบกริบ”
แต่พลันที่มีนักการเมือง “จากการเลือกตั้ง” ขึ้นบริหารประเทศ พวกวิจารณ์อาวุโสจอมโวทั้งหลายที่เคยกบดาบเงียบเหมือนกบจำศีลก็เริ่มเพ่นพ่านและ “เพ้อ” กระฉูดโลดแล่นกันอีกแล้ว
อาการความจำสั้น หรือนิสัยจำนนกับ “คนมีปืน”
จำกันไม่ได้หรือ สิ้นสุดเดือนกันยายน 2565 นายกฯ ประยุทธ์ประกาศว่า “คนจนจะหมดประเทศ” ไม่เห็นมีใครกล้าโผล่ออกมาว่า ลวงชัดๆ
จุดตัดบนเส้นทางของ “ไทย” กับ “สิงคโปร์” คือมุมที่หักเหระหว่าง “ความล้าหลัง” กับ “ก้าวหน้า”
ในรัฐสมัยใหม่ ผู้บริหารประเทศ “เปลี่ยนถ่ายอำนาจ” ระหว่างกันด้วย “สันติวิธี” และตามวาระ
ส่วนในรัฐที่ล้าหลังซึ่ง “ขาดปัญญา” ไม่มีความคิดความอ่าน ไม่มีจินตนาการ ชอบใช้แต่กำลัง ใช้ความรุนแรงเข้าแย่งชิงอำนาจ แล้วจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์และทรัพยากรกระจุกอยู่ในแวดวงจำกัดนั้นสุดท้ายประชาชนจะยากจน ประเทศล้าหลัง มากไปด้วยปัญหาสังคม เช่น ยาเสพติด อาชญากรรม และการทุจริตคอร์รัปชั่น
ควรจะต้อง “จำ” กันได้ว่า ในห้วงก่อนปี 2549 นั้นการเมืองไทยได้พลิกเปลี่ยนโฉมไป พรรคการเมืองและนักการเมืองริเริ่มสร้างสรรค์สู้กันด้วย “นโยบาย” ทั่วทุกด้านเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่เว้นแม้แต่ “ระบบราชการ” รวมไปถึงวิธีบริหารราชการ “คนตัวเล็ก” เริ่มมีเสียง ได้รับความสำคัญ และมีความหวัง
แต่ชั่วเวลาไม่นาน “เห็บ” รัฐประหารก็ร่วมกันปู้ยี่ปู้ยำเสียยับเยิน ต้นปี 2549 ทักษิณ “ถอย” จนแทบไม่มี “ที่ยืน” ยุบสภาก็แล้ว จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปก็แล้ว ประกาศ “เว้นวรรค” จะไม่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็แล้ว กระนั้น “มือเผา” ก็ไม่หยุดจุดไฟ
โจทย์ง่ายๆ คือล้มเจ้า ไม่จงรักภักดี ปลุกระดมลากยาวตั้งแต่ต้นปีจนจบที่ “รัฐประหาร” ในวันที่ 19 กันยายน 2549
ไทยก็มืดสนิทมาตั้งแต่วันนั้น อันดับโลกทุจริตคอร์รัปชั่นร่วงจาก 70 กว่า ไปถึง 100 กว่า แทบทุกหน่วยงานโกงกินกันเป็นปกติ ไม่มีใต้โต๊ะไม่มีบริการ ไม่มีเงินทอนก็ไม่มีงานไม่มีกิน บางคนถึงกับว่าความทุจริตคิดคดฝังลึกอยู่ใน “ดีเอ็นเอ”
วันนี้ นักรัฐประหารและเครือข่ายเพิ่งลงจากเก้าอี้ไปหยกๆ รัฐบาลที่มาตามระบบเพิ่งจะสตาร์ต ผู้คนเริ่มมีความหวังเล็กๆ ว่า ด้วยปัจจัยแวดล้อมทางการเมืองที่เปลี่ยนไปจาก 2 ทศวรรษที่แล้ว ควรจะเป็น “โอกาส” ให้ประเทศได้ตั้งต้นใหม่
“ครม.” ชุดใหม่แถลงว่า คนจนเต็มประเทศ ประชาชนอยู่ยาก หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่ากว่า 16 ล้านล้านบาท หรือมากกว่าร้อยละ 90 ของจีดีพี ประชากรวัยแรงงานไทยมีความรู้อ่านออกเขียนได้ขั้นพื้นฐานต่ำกว่าเกณฑ์ ถึงร้อยละ 64.7 คะแนนวัดผล PISA ของเด็กไทยต่ำสุดในรอบ 20 ปีทุกทักษะ มีคนติดยาเสพติดเพิ่มสูงขึ้น 1.9 ล้านคน มีผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศกว่า 10 ล้านคน มีระบบราชการที่คร่ำครึ ไม่ได้รับการปฏิรูปพัฒนา เอาแต่ขยายใหญ่โต เทอะทะ และเชื่องช้า สร้างปัญหาและเป็นภาระกับประชาชน ขณะเดียวกันกับที่การเมืองก็ฟอนเฟะ ไร้เสถียรภาพ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจ
ในประเทศที่ผ่านการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่ามา 2 ชั่วคน ประชาชนย่อมต้อง “ฝันร้าย”!?!!!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022