ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 กันยายน 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ |
เผยแพร่ |
ฤดูฝน
ทำงานในป่าช่วงเวลานี้ จะว่าไปก็ไม่น่ารื่นรมย์นักหรอก แต่ก็ไม่ได้ยากลำบากอะไรนัก จะยุ่งยากบ้าง ในขณะเดินทาง ไม่ว่าจะด้วยพาหนะ หรือเดินด้วยเท้า
เดินทางด้วยพาหนะในช่วงเวลานี้ ประโยคคลาสสิคที่คนกำลังเดิน ปฏิเสธ เมื่อเราชวนขึ้นรถ คือ “กำลังรีบ” เส้นทางลื่นไถล หล่มลึก กว่าจะผ่านพ้นไปได้แต่ละหล่มนั้น เดิน จะใช้เวลาน้อยกว่ามาก
แต่อีกนั่นแหละ พาหนะช่วยขนอุปกรณ์ รวมทั้งเสบียงต่างๆ ได้จำนวนมากกว่า
มีบ้างบางครั้งที่เสบียงที่ขนไปถูกใช้หมดก่อนถึงจุดหมาย เพราะต้องรอระดับน้ำในลำห้วยที่สูงเกินกว่าจะฝ่าไป
นี่ไม่ใช่เรื่องทุกข์ยาก เป็นเพียงการเล่าถึงสภาพเส้นทาง ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล
บางครั้งจุดหมายที่จะไป พาหนะก็ไปไม่ถึง ต้องใช้เครื่องมืออย่างเท้า
เดินป่าในช่วงนี้สิ่งอันเลี่ยงไม่พ้นคือ ความเปียกชื้นแฉะของรองเท้า เพราะเส้นทางมักต้องข้ามลำห้วยหลายครั้ง ลำห้วยสายเดิมนั่นแหละ
การเดิน เราใช้จีพีเอส ประกอบแผนที่ในการกำหนดทิศทาง
แต่ขณะเดินจริงๆ การค้นหาด่านที่สัตว์ป่าใช้ การเดินจะสบายมากขึ้น แม้ว่าเส้นทางด่านมักจะอ้อมวกวน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ช้าง, กระทิง ผู้บุกเบิกเส้นทางก็หลีกเลี่ยงการตัดขึ้นไปบนเส้นทางชันๆ เช่นกัน
ร่องรอยการลื่นบนทางชันของช้างและกระทิง ทำให้ภาพ “สี่ตีนยังพลาด” ชัด
วันนั้น ดูจากจีพีเอส เส้นทางทำให้เราต้องเดินล่องไปตามลำห้วยร่วมสองกิโลเมตร ก่อนจะตัดขึ้นป่าเต็งรัง และเข้าป่าดงดิบ สัญญาณที่มาจากเสือตัวผู้ตัวหนึ่ง อยู่ในบริเวณนั้นหลายวัน ผมตามผู้ช่วยนักวิจัยเพื่อเข้าไปตรวจสอบ
ในแผนที่ แจ้งระยะทาง 12 กิโลเมตร แต่ผมรู้ดีว่า เส้นทางเดินจริงจะมากกว่าเท่าตัว เส้นต่างๆ ในแผนที่ กว่าจะถึงจุดหมายบอกชัดเจนว่า ต้องผ่านสันเขาสูง รกทึบ จุดหมายไม่ใช่หนทางอันสะดวกสบาย
ผมยกเป้ขึ้นหลัง เริ่มต้นเดินไปสู่จุดหมายที่ยังไม่เคยไป ผมกำลังไปพบกับเส้นทางไกล น้ำหนักเป้ ความเมื่อยล้า ทาก หนามแหลม เส้นทางสูงชันรกทึบ
จะไปถึงจุดหมาย ไม่มีผู้ใดช่วยได้ นอกจากตัวเราเอง
ระดับน้ำในห้วยค่อนข้างสูง ไหลแรง เป็นเรื่องปกติของลำห้วยในช่วงฝน
หินใต้น้ำค่อนข้างลื่น ผมพยายามวางเท้าบนตำแหน่งที่เป็นทราย และพอมองเห็นรางๆ
รองเท้าทวีความหนัก แต่ผมก็รู้ว่า การถอดรองเท้าเดินเมื่อต้องข้ามลำห้วยควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจเกิดบาดแผลกับเท้าง่ายๆ จากหนาม หรือแนวหินคมๆ ที่มีอยู่ทั่วไป
บาดแผลแม้เพียงเล็กน้อยบริเวณเท้าขณะต้องเดินหนักๆ ย่อมไม่ใช่เรื่องสนุก
สัตว์ผู้ล่า โดยเฉพาะเสือ สอนไว้เช่นนี้ พวกมันหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บของร่างกายไม่ว่าจะจากอะไร บาดแผลเล็กๆ ขยายใหญ่ได้ง่าย เมื่อชีวิตจำเป็นต้องพึ่งพาอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ความบาดเจ็บย่อมเป็นอุปสรรคในการดำรงอยู่
วันใดที่ล่าเหยื่อไม่ได้ หนทางของเสือย่อมจบสิ้น
เราไม่แน่ใจนักว่า ทำไมเสือตัวนี้อยู่กับที่เกินหนึ่งสัปดาห์ สัญญาณมันหายไปหลังจากหนึ่งสัปดาห์ ภูมิประเทศอันเป็นร่องหุบ เป็นอุปสรรคในการรับสัญญาณอย่างหนึ่ง หรือมันอาจล่าเหยื่ออย่างกระทิงตัวโตๆ ได้ โดยปกติ หากเป็นซากขนาดใหญ่ มันจะใช้เวลากินราวๆ หนึ่งสัปดาห์ ระหว่านั้น มันจะวนเวียนอยู่ไม่ไกล และเข้ามากินซากตอนพลบค่ำ และเช้ามืด
เราไม่รู้การเข้าไปตามหาจะต้องใช้เวลานานเท่าใด
แต่ก็หวังว่า เสบียงที่เตรียมมาสำหรับ 15 วันจะเพียงพอ
ช่วงบ่ายเราผ่านป่าดิบ จนกระทั่งพลบค่ำ เรามาถึงริมลำห้วยสายใหญ่
เป็นที่ซึ่งเราจะใช้พักแรม จุดหมายยังอีกไกล
สายฝนโปรยหนักขึ้น หลังจากตกมาตลอดตั้งแต่บ่าย เราขึงผ้ายางกันฝนเหนือเปล และตรงที่จะก่อไฟ จากนั้น ผมทรุดตัวลงนั่ง ถอดรองเท้าเปียกชื้น หยิบรองเท้าจากเป้ขึ้นมาใส่
พรุ่งนี้ จุดหมายจะอีกไกลหรือไม่ ดูจะไม่ใช่เรื่องสำคัญนัก
ตอนนี้ได้นั่งข้างกองไฟอุ่นๆ ย่างเสื้อ กางเกง และรองเท้าให้แห้ง
เท่านี้ก็สบายที่สุดแล้ว
………
อยู่กับช่วงเวลานี้ ผมเชื่อว่า เสือที่เรากำลังตามหา ก็ทำอยู่
การ “กระทำ” ของมันเช่นนี้ ผมเรียกว่า เป็นบทเรียน •
หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022