ปลูกดอกไม้ในใจ

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ตอนนี้ผมทำหลักสูตร VAIP กับ “อาจารย์อ้น” ปฤณ จำเริญพานิช และ “พี่เน่ง” ดร.รัชนีพร พุกกะมาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม

VAIP เป็นหลักสูตรเรียนรู้เรื่อง AI แบบ VIP

ช้าๆ ไม่รีบ มีคนคอยช่วยเหลืออย่างดี

และอาหารอร่อย 555

ทุกครั้งที่ได้ทำอะไรใหม่ๆ ผมจะได้ประสบการณ์ใหม่ๆ เสมอ

สนุกมากครับ

อย่างวันก่อน หลังจบรุ่น 1 ผมกับ “อ้น” พาทีมงานและน้องๆ นักศึกษาที่ทำหน้าที่ผู้ช่วยสอนหลักสูตร VAIP ไปเลี้ยงที่ร้านครัวแล้วแต่จั๊ก

ร้านอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยศรีปทุม

แต่ต้องนั่งรถไป

น้องๆ นักศึกษายังไม่มีรถยนต์ส่วนตัว ทุกคนจึงกระจายไปตามรถของพี่ๆ

ผมรับมา 3 คน

ระหว่างทางทั้งตอนขาไปและขากลับได้นั่งคุยกับน้องๆ

ไม่ได้คุยกับเด็กรุ่นใหม่แบบจริงจังมานานมาก

ผมชื่นชมน้องๆ กลุ่มนี้มาก เพราะแต่ละคนทำงานพาร์ตไทม์กัน บางคนทำกิจกรรมเพื่อขอทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัย

มีคนหนึ่งพูดได้ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ

คนหนึ่งกำลังจะไปเรียนปี 3 ที่จีนตามหลักสูตรของ ม.ศรีปทุม

อีกคนหนึ่งก็ทำงานเพื่อหารายได้

ทุกคนเก่งมาก

และนิสัยดีมาก

หลักสูตร VAIP เป็นหลักสูตรที่ 2 ที่ผมร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม หลักสูตรแรก คือ ABC

การที่ “พี่เน่ง” อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุมมาเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการ ถือว่า “จุดเด่น” ของ ABC และ VAIP

เหมือนเราได้ทำ “ดีลลับ” กับ “ผู้มีอำนาจ”

ใน ม.ศรีปทุม เราอยากทำอะไรก็ได้

ถ้า “พี่เน่ง” เห็นด้วย

ผมเคยทำงานกับมหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่ง

รู้เลยว่าทำงานกับมหาวิทยาลัยเอกชน คล่องตัวกว่ามาก

ยิ่งอธิการบดีหรือเจ้าของมหาวิทยาลัยลงมาเล่นด้วย

ทุกอย่างเหมือนเนรมิตเลยครับ

อย่างวันก่อน ผมบ่นกับ “พี่เน่ง” ว่าจอในห้องเรียนเล็กไปหน่อย เวลาวิทยากรมีสไลด์

มองจากแถวหลัง จะเห็นไม่ค่อยชัด

ผ่านไปไม่ถึงเดือน

วันนี้ “พี่เน่ง” เปลี่ยนจอใหม่แล้วครับ 555

 

ตอนที่ทำ VAIP เราตั้งใจเจาะกลุ่มเป้าหมาย “ผู้ใหญ่” ที่ไม่เชี่ยวชาญเรื่องคอมพิวเตอร์ หรือพวกที่ใช้ iPad หรือมือถือเป็นหลัก

คนที่เป็น “ตัวแทน” ของกลุ่มเป้าหมาย คือ ตัวผมเอง

เป็นกลุ่มที่ “รู้ว่าไม่รู้อะไร”

ส่วน “อ้น” คือ คนที่ “รู้ว่ารู้อะไร”

ผมเสนอว่าน่าจะมีนักศึกษาเป็น TA หรือ “ผู้ช่วยสอน” เผื่อใครมีปัญหาเรื่องลงโปรแกรม หรือตามเรื่องที่ “อาจารย์อ้น” สอนไม่ทัน

“พี่เน่ง” หันไปสบตา “อาจารย์ฮั้ว” ดร.รวิภา อัครจินดานนท์ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ

“อาจารย์ฮั้ว” พยักหน้า

1 สัปดาห์ต่อมา ทางคณะทำประกาศรับสมัครใหญ่โตเลย

ให้นักศึกษาส่งคลิปมาประกวด มีนักศึกษาส่งคลิปมาเกือบ 100 คน

มีการสอบสัมภาษณ์อย่างเป็นจริงเป็นจัง

งานนี้ “อาจารย์ฮั้ว” ส่ง “อาจารย์เมย์” มาเป็นหัวหน้าทีมดูแล

นักศึกษาทุกคนได้รับการเทรนจาก “อาจารย์อ้น” 2 ครั้งก่อนลงสนามจริง

เราจัดเตรียมทีม TA ไว้ 12 คน เพื่อช่วยพี่ผู้ใหญ่ลงโปรแกรม และนั่งประกบเผื่อมีปัญหาอะไรให้ช่วยเหลือ

นอกจากนั้นยังมีรุ่นพี่ผู้เชี่ยวชาญที่เราเรียกว่า “หน่วยอรินทราช” อีก 5 คน

ถ้าเกินความสามารถของ TA

“อรินทราช” จะเข้าไปช่วยทันที

เตรียมไว้ขนาดนี้ นึกว่าจะพอ

ไม่พอครับ…

ใครจะไปนึกว่าน้อง TA หรือ “ผู้ช่วยสอน” ได้รับความนิยมสูงมาก

บางคนขอให้น้องนั่งประกบจนจบคอร์ส

จนเราต้องทำพื้นที่ “เรดโซน” สำหรับผู้ใหญ่ที่มั่นใจว่าจะให้น้องๆ ช่วยเหลือ

ให้น้องนั่งประจำจุดเลย

ครับ…”เรดโซน” กลายเป็นชุมชนแออัดในบัดดล

หลังจบรุ่นแรก ผมกับ “อ้น” สรุปเลยว่าต้องเพิ่มกองกำลังน้อง TA

จาก 12 คน เป็น 20 คน

หันไปสบตา “อาจารย์เมย์”

เธอพยักหน้า

“ได้ค่ะ”

ครับ ถ้าถามว่าหลักสูตร VAIP มีอะไรเป็น “อาวุธลับ”

คำตอบคือ น้องๆ TA

การเรียนแบบ VIP ของเราคือแบบนี้ครับ

ไม่ได้หรูหราอะไรเป็นพิเศษ

แต่ถ้ามีปัญหา จะมีคนช่วยเหลือดูแลตลอด

“กองกำลัง” ของมหาวิทยาลัยศรีปทุมยิ่งใหญ่มากครับ

ถ้าทำร่วมกับที่อื่น เราจะไม่มีทางได้แบบนี้

ผมแกล้งบอกท่านคณบดี “อาจารย์ฮั้ว” ว่าถ้ารุ่น 2 น้อง TA 20 คนยังไม่พอ

เราจะขอเพิ่มเป็น 30 คนได้ไหม

คำตอบเหมือนเดิม

“ได้ค่ะ”

 

ตอนที่สรุปงาน ผมถามน้องๆ ว่าพี่ผู้ใหญ่ทั้งหลายเป็นอย่างไรบ้าง

น้องๆ บอกว่าตอนที่รู้ว่าได้ทำงานนี้ ทุกคนจะเกร็งมาก

กลัวผู้ใหญ่ดุ

ยิ่งเห็นโปรไฟล์ของผู้ใหญ่แต่ละคน ยิ่งเกร็งหนักกว่าเดิม

เพราะระดับเจ้าของกิจการ หรือซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่

เห็นชื่อแล้วหนาว

“แต่พี่ผู้ใหญ่ใจดีมาก ไม่มีใครดุเลยค่ะ พูดเพราะกับหนูทุกคนเลย”

กลายเป็นความประทับใจที่น้องๆ ทุกคนได้รับจากหลักสูตรนี้

ผมบอกพี่ผู้ใหญ่ในวันปิดคลาสว่าทุกคนคงไม่รู้ว่า 3 วันที่เรียน เขาได้ปลูก “ดอกไม้” ในหัวใจของเด็กทุกคน

เป็น “ต้นแบบ” ให้น้องๆ จดจำว่าหากวันหนึ่งโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่

ต่อให้รวยแค่ไหนก็ตาม

จงพูดจาและมีเมตตากับเด็กที่อายุน้อยกว่า

เมื่อเราเคยได้รับความรู้สึกดีๆ แบบนี้มา

ก็ส่งมอบความรู้สึกนี้ให้กับเด็กรุ่นต่อไป

อีกคำถามหนึ่งที่ผมถามน้องๆ

“ผู้ใหญ่ให้ช่วยเหลืออะไรบ้าง”

เรื่องช่วยลงโปรแกรมให้เป็นเรื่องธรรมดา

หรือเวลาที่มีปัญหา หาปุ่มกดไม่เจอ หรือไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร

ขอให้ช่วยก็ธรรมดา

แต่มีพี่หลายคนที่ไม่เคยมี Gmail ที่ใช้ลงโปรแกรม

น้องๆ ก็ช่วยลงทะเบียน Gmail ให้

แต่ช่วงกรอกรหัส เขาจะให้พี่ๆ กรอกเองเพราะเป็นความลับส่วนตัว

พอได้ Gmail แล้ว ตอนลงโปรแกรมให้พี่ น้องก็ช่วยกรอก Gmail ให้

ส่วนรหัสให้พี่กดเอง

“แต่ก็ยังลงโปรแกรมไม่ได้ค่ะ”

“มีปัญหาตรงไหนเหรอ” ผมถาม

“พี่เขาลืมรหัสค่ะ”

ทุกคนทำท่าแปลกใจว่าทำไมพี่ถึงลืมรหัสทั้งที่เพิ่งลงทะเบียน Gmail

มีคนเดียวที่หัวเราะเสียงดัง

…ผมเองครับ

ดีใจมีคนเหมือนผมหลายคนเลย

บอกแล้วไงว่าหลักสูตรนี้ผมคือ “ตัวแทน” ของคนเรียน

…อย่าเถียง 555 •

 

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์