เจดีย์หลวง บนยอดเขาตังกวน สัญลักษณ์ของความเป็นไทยเหนือทะเลสาบสงขลาในยุคล่าอาณานิคม

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“เขาตังกวน” เป็นเนินเขาสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 105 เมตร (ราว 2,000 ฟุต) ตั้งอยู่ที่ ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา อันเป็นบริเวณพื้นที่ส่วนของแหลมที่งอกออกจากแผ่นดินทางด้านทิศใต้ไปรอบบริเวณปากทางออกอ่าวไทยของทะเลสาบสงขลา

พูดง่ายๆ ว่า เขาตังกวน ตั้งอยู่ตรงบริเวณพื้นที่ปากทางคือ “ประตู” ทางเข้า-ออกของทะเลสาบสงขลา โดยตั้งอยู่ทางบริเวณใกล้ฝั่งเมืองสงขลาเก่านั่นแหละครับ

ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจเลยสักนิด ถ้าหากว่านักเดินเรือในสมัยโบราณจะเคยใช้เนินเขาสูงลูกโดดอย่าง “เขาตังกวน” เป็นจุดหมายตา (landmark) สำคัญ ในการเดินเรือมายังเมืองสงขลา, ทะเลสาบสงขลา หรือคาบสมุทรสทิงพระ อันเป็นปริมณฑลที่ต่อเนื่องถึงกัน

โดยมีลักษณะหน้าที่การใช้งานคล้ายๆ กับเป็น “ประภาคาร” นั่นเอง

 

มีผู้รู้พยายามอธิบายว่า “ตังกวน” มาจากคำภาษามลายูว่า “ควน” หมายถึง ที่สูง ซึ่งมีขนาดเตี้ยกว่าภูเขา แต่สูงกว่าเนินเขา โดยแต่เดิมคงเรียกว่า “เขาควน” แล้วค่อยเรียกเพี้ยนมาเป็น “เขาตะกวน” ในที่สุด

แต่ผมยังไม่ค่อยจะพอใจกับคำอธิบายข้างต้นนัก ดังนั้น จึงสอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย พ่วงตำแหน่งผู้รู้ภาษามลายูอย่าง ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล แห่งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงคำว่า “ตังกวน”

อ.อรอนงค์ ก็เมตตาตอบผมกลับมาว่า คำมลายูที่มีเสียงใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็นคำว่า “tangyuang” (ออกเสียงว่า “ตังยวน”) แปลว่า “บัวลอยน้ำขิง” โดยเป็นคำที่ยืมมาจากภาษาจีนกลางคือ “ทังหยวน”

แน่นอนว่า เขาตังกวน ไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับขนมบัวลอยของจีน ดังนั้น ชื่อ “ตังกวน” ของเขาขนาดย่อมลูกนี้ จึงอาจจะไม่ได้มีที่มาจากภาษามลายู โดย อ.อรอนงค์ได้ชี้แนะทางสว่างให้กับผมด้วยว่า ลองไปเทียบกับภาษาจีนดู

 

ว่าแล้วผมก็เลยขอคำปรึกษาจากผู้รู้ภาษาจีน ที่ผมคุ้นเคยอีก 3 ท่าน ได้แก่ คุณสมชาย แซ่จิว, อ.ดร.อุษณีย์ เลิศรัตนานนท์ วิทยาลัยปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคุณศุภากร สุวรรณพิพิธ อดีตผู้เข้าแข่งขันแฟนพันธุ์แท้ประวัติศาสตร์จีน ที่อายุน้อยที่สุดในการแข่งขันครั้งนั้น พ่วงตำแหน่งเจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจเกี่ยวกับจีนศึกษาอย่าง Jamez Wenzong

คุณสมชายให้ความเห็นว่า ชื่อ “ตังกวน” อาจมาจากภาษาจีนคือ “ตงกวน” ซึ่งแปลว่า “ด่านทางทิศตะวันออก” (คำนี้ออกเสียงแบบจีนกลาง แต่เป็นไปได้ว่าเลียนเสียงมาจากเสียงจีนถิ่นอื่น เพราะคำว่า ตงกวน ในภาษาจีนกลางมักจะหมายถึง ข้าราชการ หรือรับราชการ) โดยทั้ง อ.อุษณีย์ และคุณศุภากร ก็ไม่ได้มีความเห็นคัดค้าน

ผมเองก็เห็นว่า ข้อสันนิษฐานนี้มีความเป็นไปได้สูงมากทีเดียวนะครับ

เพราะพื้นที่บริเวณที่ตั้งของเขาลูกนี้ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของแหลมมลายู อันเป็นที่ตั้งของเมืองสงขลา และทะเลที่ตั้งอยู่ทางฟากตะวันออกนี้ก็คือ อ่าวไทย ซึ่งจะไหลออกไปบรรจบกับทะเลจีนใต้ หมายความว่า เป็นเส้นทางเดินเรือที่ติดต่อกับเครือข่ายของจีนเป็นสำคัญ

ดังนั้น ถ้าจะมีชื่อเรียกเขาลูกนี้ด้วยภาษาจีนก็ไม่เห็นจะเป็นเรื่องแปลก?

ที่สำคัญก็คือ เป็นที่รับรู้กันดีด้วยว่า บริเวณเมืองสงขลาเก่า ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากเขาตังกวนเต็มไปด้วยชาวจีนโพ้นทะเล ดังนั้น ชื่อนี้จึงเป็นชื่อที่เรียกมาจาก “คนใน” คือผู้คนที่อยู่ในเมืองสงขลา เพราะเขาตังกวนตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแหลมมลายู แต่จากมุมมองของ “คนนอก” ที่เดินเรือมาจากทะเลจีนใต้นั้น เขาลูกนี้ย่อมอยู่ทางทิศตะวันตกต่างหาก

คุณศุภากรยังหล่นข้อมูลเพิ่มเติมให้อีกด้วยว่า คำนี้ในภาษาจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า “ตังเกวิน” ส่วนการออกเสียงแบบจีนฮกเกี้ยน ซึ่งเป็นกลุ่มชาวจีนที่มีอยู่มากทางภาคใต้ของไทย รวมถึงในเขตเมืองสงขลาด้วยนั้น ก็อาจจะออกเสียงแบบที่พยายามดึงเสียงให้ใกล้เคียงกับชื่อภูเขาลูกดังกล่าวในปัจจุบันว่า “ตังโกน” ก็พอจะเป็นไปได้

ภูเขาที่ขนาดสูงพอประมาณ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของแหลมมลายู อันเป็นเหมือนประภาคาร คือจุดหมายสำคัญที่จะเข้าสู่เมืองสงขลา, ทะเลสาบสงขลา และคาบสมุทรสทิงพระ จะถูกเรียก “เขาตังกวน” คือ “ภูเขาที่เป็นด่านทางทิศตะวันออก” ก็ไม่เห็นจะเป็นไปไม่ได้

 

ที่บนยอดของเขาตังกวน นอกจากจะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองสงขลาได้โดยรอบ ราวกับเป็น “หอชมเมือง” แล้ว ยังเป็นที่ประดิษฐานของพระเจดีย์หลวง อันเป็นที่สักการบูชาของชาวสงขลาเป็นอย่างยิ่ง

ข้อมูลของกรมศิลปากรระบุว่า ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า พระเจดีย์หลวงบนเขาตังกวนนั้น ใครเป็นผู้สร้าง และสร้างขึ้นเมื่อไรแน่?

มีเพียงข้อมูลจากพงศาวดารเมืองสงขลา ที่เขียนขึ้นโดยเจ้าพระยาวิเชียรคิรี (บุญสัง) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาลำดับที่ 5 (ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ.2390-2408) ที่ระบุว่า เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 4 เสด็จประพาสเมืองสงขลา เมื่อระหว่าง วันที่ 20-26 สิงหาคม พ.ศ.2402 ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปบนเขาตังกวน เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2402 เพื่อสักการะพระเจดีย์และทอดพระเนตรทัศนียภาพเมืองสงขลาจากมุมสูง

และก็เป็นในครั้งนั้นเอง ที่ทรงมีพระราชดำริให้บูรณะพระเจดีย์หลวงให้มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าของเก่า โดยเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2402 โปรดเกล้าฯ ให้สมุหพระกลาโหม (ช่วง บุนนาค) ในขณะนั้น เอาตัวอย่างพระเจดีย์มาให้กับเจ้าพระยาวิเชียรคิรี ถึงทำเนียบผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาเลยทีเดียว

แถมเมื่อเสด็จนิวัติกลับถึงพระนครแล้ว ยังโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสามภพพ่าย (หนู เกตุทัต) เป็นข้าหลวงออกไปให้เจ้าพระยาวิเชียรคิรี ดำเนินการบูรณะพระเจดีย์บนยอดเขาแห่งนี้ พร้อมพระราชทานเงินจำนวน 37 ชั่ง 4 บาท มาเพื่อใช้ในการบูรณะด้วย

ในการนี้เจ้าพระยาวิเชียรคิรีจึงได้ทำการบูรณะพระเจดีย์หลวงบนยอดเขาตังกวน พร้อมกับสร้างคฤห (ซุ้มพระ) ต่อที่ฐานประทักษิณทางด้านทิศเหนือ และทิศใต้ รวมจำนวน 2 ซุ้ม เพื่อเป็นการสักการะพระเจดีย์

พร้อมทั้งสร้างอาคารเก๋งจีนขนาดเล็ก อยู่ทั้ง 4 มุม มีกำแพงแก้วล้อมรอบ เพื่อน้อมถวายโดยเสด็จพระราชกุศลเข้าไปในพระเจดีย์หลวง คิดเป็นเงิน 17 ชั่ง 3 บาท

จนการบูรณะแล้วเสร็จเมื่อเรือน พ.ศ.2409 ดังปรากฏความอยู่ในจารึกการบูรณปฏิสังขรณ์ ซึ่งเคยประดับอยู่ที่ผนังเหนือแท่นบูชาภายในคฤหทางด้านทิศใต้ (ปัจจุบันจารึกดังกล่าวถูกจัดแสดงอยู่ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา)

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ข้อมูลที่ผมยกเอามาให้อ่านทั้งหมดข้างต้นนี้ แสดงให้ว่า รัชกาลที่ 4 ทรงให้ความสำคัญกับพระเจดีย์หลวง และเขาตังกวน มากขนาดไหน

แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ ทำไมพระองค์จึงทรงต้องให้ความสำคัญกับพระเจดีย์ที่อยู่ห่างไกลลิบโลก จากพระนครของพระองค์ที่กรุงเทพฯ มากถึงเพียงนี้?

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้เราอาจจะสังเกตได้ว่า ในปีเดียวกันกับที่รัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระเจดีย์หลวงบนเขาตังกวนนั้น เป็นเรือน พ.ศ.เดียวกันกับที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังพระนครคีรี (เขาวัง) ขึ้นที่เขาสมณะ (คงเพราะมีวัดเก่าชื่อ วัดสมณะ อยู่ก่อนสร้างวัง) ต.คลองกระแซง อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี โดยได้พระราชทานชื่อเขาลูกนี้เสียใหม่ว่า “เขามหาสวรรค์” (ปัจจุบันเรียกเพี้ยนเป็น “เขามไหศวรรย์”)

ดูเหมือนว่า รัชกาลที่ 4 ทรงให้ความสำคัญกับการสร้างพระนครคีรีแห่งนี้มากทีเดียวเลยนะครับ ดังจะเห็นได้ว่า ทรงแต่งตั้งให้บุคคลที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในแวดวงการเมืองการปกครองสยามในขณะนั้นอย่างสมุหพระกลาโหมคือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองก่อสร้างพระราชวังแห่งนี้

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่พระองค์จะรับสั่งให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้นำเอาแบบอย่างพระเจดีย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทยอย่างหนึ่ง ลงไปเป็นแบบให้กับเจ้าพระยาวิเชียรคิรีที่สงขลา เพื่อใช้เป็นแบบการบูรณะเจดีย์หลวง บนเขาตังกวน อย่างมีนัยยะสำคัญทางการเมืองระหว่างประเทศ ในยุคอาณานิคม

น่าสนใจด้วยว่า พระเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (ท้วม บุนนาค) ผู้เป็นทั้งปลัดเมืองเพชรบุรี และเป็นนายงานก่อสร้างพระนครคีรีนั้น เคยร่วมเดินทางไปกับคณะทูตของสยาม ในการเจริญสัมพันธไมตรีกับอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.2400 อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริ่งระหว่างสยามกับอังกฤษ เพียง 2 ปีเท่านั้น

และก็ต้องอย่าลืมด้วยนะครับว่า ชาติเจ้าอาณานิคมจากโลกตะวันตก ที่เข้ามามีบทบาทในแหลมมลายูขณะนั้นก็คือชาติที่ได้ชื่อว่าพระอาทิตย์ไม่เคยตกดินอย่าง “อังกฤษ” นี่แหละ

โดยสิ่งที่ควรจะระลึกเอาไว้ในกรณีนี้ก็คือ เมื่อคราวที่ เซอร์ จอห์น เบาว์ริ่ง ได้เดินทางเข้ามายังสยามเมื่อ พ.ศ.2398 นั้น ไม่ได้มีการเจรจาความเมืองกันเฉพาะเรื่องราวของการทำสนธิสัญญาเพียงอย่างเดียว แต่อังกฤษยังพยายามจะขออนุญาตทำทางรถไฟเชื่อมผ่านระหว่างทะเลอันดามัน กับอ่าวไทย ที่บริเวณ “คอคอดกระ” อีกด้วย

แน่นอนว่า เงื่อนไขของสถานการณ์เดียวกันนี้ ก็เกิดขึ้นในช่วงการการบูรณะเจดีย์หลวงบนยอดเขาตังกวนด้วย กิจกรรมการสร้างและบูรณะสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ของรัชกาลที่ 4 บนแหลมมลายูในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ จึงมีนัยยะของเบื้องหลังทางการเมืองที่น่าขบคิดเป็นอย่างยิ่ง •